ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกเผยระบบการเรียนดีเยี่ยมของโลก (ตอน 1): เอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกติด 7 ใน 10 อันดับแรก

ธนาคารโลกเผยระบบการเรียนดีเยี่ยมของโลก (ตอน 1): เอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกติด 7 ใน 10 อันดับแรก

17 มีนาคม 2018


ที่มาภาพ : https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/29365/211261ov.pdf?sequence=2&isAllowed=y

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานGrowing Smarter: Learning and Equitable Development in East Asia and the Pacific ระบุว่า เอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกมีระบบการศึกษาที่ดีสุดของโลก โดยใน 10 อันดับแรกของระบบการศึกษาที่ดีที่สุดนั้น มีเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกติดอันดับถึง 7 แห่ง โดยโรงเรียนในจีนและเวียดนามมีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งการประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ได้แสดงบทเรียนให้กับประเทศอื่นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่อื่นของภูมิภาคนี้สัดส่วน 60% ของเด็กนักเรียนศึกษาอยู่ในโรงเรียนที่ระบบการเรียนการสอนยังไม่ดีขึ้น และส่งผลให้เด็กไม่มีทักษะที่จำเป็นติดตัว ทั้งๆ ที่เป็นทักษะที่จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จ

ในรายงานวิจัย เห็นว่าการปรับปรุงการศึกษามีความจำเป็นต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ และยังแสดงว่าประเทศทั้งหลายในภูมิภาคนี้ได้พยายามที่จะปรับปรุงผลของการศึกษาให้ดีขึ้น

Victoria Kwakwa Vice President for East Asia and Pacific แห่งธนาคารโลก กล่าวว่า “การให้การศึกษาที่มีคุณภาพต่อเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ไม่ใช่เพียงสิ่งถูกต้องที่จะต้องทำ แต่เป็นการสร้างพื้นฐานให้กับเศรษฐกิจและเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหยุดยั้งและลดความเหลื่อมล้ำที่กำลังเพิ่มขึ้น”

รายงานวิจัยระบุว่า สัดส่วน 1 ใน 4 ของเด็กในวัยเรียน หรือประมาณ 331 ล้านคน อยู่ในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิก โดยที่ 40% ของเด็กเหล่านี้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนซึ่งทำให้เด็กมีความก้าวหน้ามากกว่าเด็กโดยเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD โรงเรียนเหล่านี้อยู่กระจายทั้งในประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เช่น จีน เวียดนาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีผลการเรียนดีไม่จำเป็นต้องอิงกับระดับรายได้ของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เด็กวัยเรียนอายุ 10 ปี ในเวียดนามโดยเฉลี่ยมีผลการเรียนที่ดีกว่าประเทศอื่น ยกเว้นเด็กที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมในอินเดีย เปรู และเอธิโอเปีย

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในภูมิภาคยังไม่สามารถผลักดันการศึกษาให้มีผลสำเร็จตามที่ต้องการ เช่น ในอินโดนีเซีย คะแนนสอบยังตามหลังประเทศอื่นที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมในภูมิภาคมากกว่า 3 ปี  ขณะที่ในกัมพูชา ติมอร์-เลสเต นั้น 1 ใน 3 หรือมากกว่า ของเด็กประถม 2 (Grade 2) ไม่ผ่านการทดสอบด้านการอ่าน

Jaime Saavedra Senior Director for Education ของธนาคารโลกให้ความเห็นว่า “นโยบายที่มีประสิทธิภาพสำหรับการเลือก การสร้างแรงจูงใจ และการสนับสนุนครูผู้สอน ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ในห้องเรียน คือปัจจัยที่กำหนดว่าเด็กจะเรียนได้มากแค่ไหน สำหรับผู้วางนโยบายแล้วการแสวงหาแนวทางปรับปรุงระบบการเรียนการสอน การจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการมุ่งมั่นกับการดำเนินนโยบาย ก็จะทำให้เห็นความแตกต่างที่แท้จริงของชีวิตเด็กในทั่วภูมิภาค”

รายงานชิ้นนี้ต่อยอดจากงานวิจัย เรื่อง World Development Report 2018: Learning to Realize Education’s Promise ของธนาคารโลกที่เผยแพร่เดือนกันยายน 2560 ที่พบว่า หากไม่มีการเรียน การศึกษาจะไม่สามารถส่งมอบพันธสัญญาการลดความยากจน การแบ่งปันโอกาส และความรุ่งเรืองสำหรับทุกคน

เด็กเอเชียตะวันออกนำ OECD – ความยากจนไม่ใช่อุปสรรค

รายงานวิจัยระบุว่า สัดส่วน 1 ใน 4 ของเด็กในวัยเรียนของโลก หรือประมาณ 331 ล้านคนอยู่ในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิก และเด็กส่วนใหญ่ได้เข้าโรงเรียน ในระดับประถมศึกษา (Primary Level) มีเด็กที่ไม่เข้าโรงเรียนจำนวน 6 ล้านคนหรือประมาณ 3% ของเด็กอยู่ในวัยประถมศึกษาทั้งหมด แต่อัตราเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนกลับสูงขึ้นในระดับมัธยมศึกษา ในบางประเทศอัตราเด็กต้องออกจากระดับมัธยมปลายสูงขึ้น แต่ทั้งภูมิภาคก็ประสบความสำเร็จในการจัดการให้เด็กไปโรงเรียน

ในเอเชียตะวันออกและภาคฟื้นแปซิฟิกมีเด็กที่ไม่ไปโรงเรียนเพียง 13% เท่านั้น โดยระบบการศึกษาที่ใหญ่สุดของภูมิภาคคือ จีน มีเด็ก 182 ล้านคนอยู่ในระบบการศึกษาพื้นฐาน และมี 5 ประเทศในภูมิภาคที่ระบบการศึกษาแห่งชาติรับเด็กเข้าเรียนเกินกว่า 10 ล้านคน ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มี 10 ประเทศที่รับเด็กเข้าเรียนต่ำกว่า 100,000 คน ประทศที่มีเด็กเข้าเรียนน้อยที่สุดคือ ตูวาลู มีเด็กเข้าเรียนเพียง 3,000 คน

ในระดับเด็กวัยก่อนเรียน 3-6 ปี เอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกมีความก้าวหน้าไปมาก เพราะอัตราเด็กเข้าเรียนในระดับนี้สูงถึง 76% ในปี 2014 จาก 13% ในปี 1980 เพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเข้าเรียนของทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเป็น 48% จาก 21% ในช่วงเดียวกัน

เมื่อพูดถึงคุณภาพการศึกษาบางครั้งต้องใช้คะแนนประเมินเป็นมาตรวัดในสิ่งที่เด็กได้เรียน จากเด็กนักเรียนทั้งหมดในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิก 55% อยู่ในโรงเรียนที่ประเทศหรือภูมิภาคเข้าร่วมรับการประเมินผลตามมาตรฐานสากลอย่างน้อย 1 มาตรฐานตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งมีตั้งแต่โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) ที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD, โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยเทียบกับนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study:TIMSS), การประเมินการอ่านของวัยก่อนเรียน (Early Grade Reading Assessments: EGRAs)

การศึกษานี้แบ่งการวัดผลการเรียนจากประเทศเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ระบบการเรียนที่ดีเยี่ยม (Top Performing Systems) เป็นประเทศที่มีคะแนนสูงต่อเนื่องและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม OECD ในระดับที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือเทียบเท่า 1.6 ปีในโรงเรียน ประเทศในกลุ่มนี้คือ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเก๊า

กลุ่มที่ 2 ระบบการเรียนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (Above-Average Performing Systems) โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงต่อเนื่องและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม OECD ในระดับครึ่งหนึ่งของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ประเทศในกลุ่มนี้คือ จีนกับเวียดนาม กลุ่มที่ 3 ระบบการเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (Below-Average Performing Systems) โดยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม OECD อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย กลุ่มที่ 4 ระบบการเรียนที่เพิ่งพัฒนา (Emerging Systems) ไม่ได้เข้าร่วมการวัดผลที่เป็นมาตรฐานของโลก แต่มีข้อมูลจากแหล่งอื่นว่าการศึกษายังอ่อนมาก ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา ฟิจิ ลาว หมู่เกาะมาร์แชล มองโกเลีย เมียนมา ปาปัวนิกินี หมู่เกาะโซโลมอน ติมอร์-เลสเต ตองกา วานูอาตู ตูวาลู

ผลการวัดระบบการเรียนในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

การศึกษาพบว่า 40% ของเด็กนักเรียนภูมิภาคนี้อยู่ในระบบการเรียนที่ให้ผลการเรียนสัมฤทธิ์สูง โดยข้อมูลที่ผ่านการวัดผลแบบคุณภาพชี้ให้เห็นว่าเด็กนักเรียนประมาณ 64 ล้านคนในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกมีการเรียนในระดับสูง ขณะที่ 98 ล้านคนอยู่ในระบบการเรียนที่กำลังวิกฤติ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มาจากเกณฑ์ที่นำค่าเฉลี่ย PISA และ TIMSS มารวมกัน และประมวลซ้ำ 9 ครั้ง โดยใช้คะแนน PISA ตั้งแต่ปี 2000 และ TIMSS ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ระบบให้คะแนนที่เหมือนกันคือ ค่าเฉลี่ย 500 คะแนน และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 100 คะแนน สำหรับ PISA แล้ว คะแนน 30 คะแนน เท่ากับการเรียน 1 ปี

ปรากฏว่า เด็กนักเรียนในประเทศที่ระบบการเรียนพัฒนาแล้วและประเทศที่ระบบกำลังพัฒนาทำคะแนนได้ดีในการวัดผล PISA และ TIMSS โดยเด็กนักเรียนในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกมีคะแนนนำและอยู่ในอันดับต้นของคะแนนสูง ใน 10 อันดับแรกเด็กนักเรียนเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกมีจำนวนถึง 6 คน และใน 20 อันดับแรกมีถึง 8 คน และในกลุ่ม Top Performing Systems นั้นมี 7 ประเทศด้วยกันที่มีคะแนนเฉลี่ยมากกว่า 550 คะแนน หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยการเรียน 1.6 ปี ในกลุ่ม OECD เสียอีก

ระบบนี้มีเด็กนักเรียนจำนวน 24 ล้านคนหรือ 7% ของเด็กนักเรียนทั้งภูมิภาค ซึ่งคะแนนสูงที่ทำได้มาจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้สูง แต่ก็มีประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำที่ทำคะแนนได้ดีเช่นกัน

เด็กนักเรียนจีนและเวียดนามมีคะแนนนำ

คะแนนเฉลี่ยในเวียดนาม และในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และกว่างตงในจีน สูงนำกลุ่ม OECD ซึ่งระบบการเรียนในประเทศนี้รับเด็กเข้าเรียน 40 ล้านคน หรือ 12% ของเด็กนักเรียนในภูมิภาคทั้งหมด ผลการเรียนได้แสดงได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือต่ำ สามารถผลิตเด็กนักเรียนที่เรียนได้ดีเท่ากับหรือดีกว่าเด็กนักเรียนในประเทศที่มีรายได้สูง

คะแนนเฉลี่ยของเด็กนักเรียนในกลุ่มที่ 3 (Below-Average Performing Systems) ต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำที่เป็นคู่เทียบในกลุ่ม 2 (Above-Average Performing Systems) ถึง 106 คะแนน โดยคะแนนที่ต่างกันนี้เทียบได้เท่ากับระยะเวลามากกว่า 3 ปีในโรงเรียน ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มีเด็กนักเรียนรวมถึง 92 ล้านคน หรือ 27% ของเด็กนักเรียนทั้งหมดในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิก

คะแนน PISA เด็กเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

เมื่อวัดจากทั่วโลกมีเด็ก 1 ใน 20 ที่เข้าวัดผลได้คะแนนสูงถึงระดับความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ด้านของ PISA เด็กนักเรียนในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกที่เข้ารับการวัดผลมีสัดส่วนถึง 34% ของเด็กที่เข้ารับการวัดผลทั้งหมด แต่ในบรรดากลุ่มนี้มีเด็ก 48% ทำคะแนนได้สูงในระดับนั้นในวิชาวิทยาศาสตร์และ 40% ในวิชาคณิตศาสตร์ แม้เด็กนักเรียนในเวียดนามและจีนทั้ง 4 เมืองรวมกันจะมีจำนวนน้อยกว่าเด็กนักเรียนในสหรัฐอเมริกา แต่สูงกว่าประเทศในกลุ่มที่ 1 (Top Performing Systems) ถึง 2 เท่า

เทียบเท่ากลุ่ม OECD

ถ้าแบ่งรายได้ของประเทศเป็น 5 ระดับ ผลการเรียนในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกกระจายไปทั่วทั้งรายได้ 5 ระดับ เป็นการกระจายที่เท่าเทียมกันมากกว่าในกลุ่ม OECD โดยเด็กนักเรียนจาก 5 ระดับรายได้ในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 มีคะแนนที่เหนือกว่าประเทศที่มีระดับรายได้เดียวกันในกลุ่ม OECD ในรายวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งสำหรับเวียดนามและจีนแล้วนับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมอย่างมาก เมื่อดูจากรายได้ของประเทศและทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่เพียงพอ เด็กนักเรียนจากรายได้ต่ำสุด 2 ระดับล่าง มีคะแนนสูงกว่า 500 คะแนนในการประเมินผลคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ปี 2015

นอกจากนี้ยังพบว่า ทั่วภูมิภาค รายได้ครัวเรือนไม่ได้เป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จการศึกษาของเด็ก ในเวียดนามและจีน โดยเฉพาะปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู กว่างตง เด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจน ก็มีผลคะแนนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ดี แม้จะไม่ดีกว่า แต่ก็อยู่ในระดับเท่าๆ กับคะแนนเฉลี่ยของเด็กในกลุ่ม OECD

รายได้ครัวเรือนไม่ได้เป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จการศึกษาของเด็ก

ผลคะแนนทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า สำหรับเด็กนักเรียนในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกแล้ว ความยากจนไม่ได้กำหนดชะตากรรมด้านการศึกษา คุณภาพของนโยบายและแนวปฏิบัติรวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนต่างหากที่เป็นตัวกำหนดว่าเด็กเรียนรู้ได้แค่ไหน มากว่าประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณ หรือปูมหลังทางสังคมและเศรษฐกิจของเด็ก