เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานGrowing Smarter: Learning and Equitable Development in East Asia and the Pacific ระบุว่า เอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกมีระบบการศึกษาที่ดีสุดของโลก โดยใน 10 อันดับแรกของระบบการศึกษาที่ดีที่สุดนั้น มีเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกติดอันดับถึง 7 แห่ง โดยโรงเรียนในจีนและเวียดนามมีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งการประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ได้แสดงบทเรียนให้กับประเทศอื่นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่อื่นของภูมิภาคนี้สัดส่วน 60% ของเด็กนักเรียนศึกษาอยู่ในโรงเรียนที่ระบบการเรียนการสอนยังไม่ดีขึ้น และส่งผลให้เด็กไม่มีทักษะที่จำเป็นติดตัว ทั้งๆ ที่เป็นทักษะที่จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จ
เด็ก 92 ล้านคนจาก 4 ประเทศอ่านหนังสือไม่ออก
รายงานวิจัยระบุว่า 40% ของเด็กวัยเรียนในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนที่มีผลงานโดดเด่น ซึ่งทำให้เด็กเรียนได้มากเท่าที่ต้องการและมากกว่าเด็กในภูมิภาคอื่นของโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่อยู่ในโรงเรียนแต่ไม่ได้เรียน เพราะเด็กในสัดส่วน 60% หรือราว 98 ล้านคนในภูมิภาคนี้อยู่ในโรงเรียนที่มีระบบการเรียนที่แย่ โดยที่ผลการเรียนวิชาหลักมีทั้งความรู้อยู่ในระดับต่ำและไม่รู้เลย เด็กจำนวนมากมีผลการเรียนที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน จึงเป็นข้อเสียเปรียบ
รายงานยังเปิดเผยว่า ในบรรดาเด็ก 98 ล้านคนนั้น จำนวนราว 92 ล้านคนอยู่ในกลุ่มที่ 3 (Below-Average Performing Systems) ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มีคะแนนต่ำและมีระดับการเรียนรู้ต่ำ ดังนั้น เด็กในสัดส่วน 90% ของประเทศเหล่านี้กำลังดิ้นรนที่จะทำคะแนนให้ได้เท่ากับเด็กในสัดส่วน 10% ของเวียดนามและจีน และการกระจายคะแนนของประเทศกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ทับซ้อนกับประเทศในกลุ่มที่ 1 (Top Performing Systems)
การวัดผลแบบ EGRA ก็ยังบ่งชี้อีกด้วยว่าระบบการเรียนเป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มที่ 4 ที่ยังไม่เข้าร่วมรับการประเมินผลในมาตรฐานสากล ดังนั้นจึงต้องศึกษาจากการอ่านในระดับประถมศึกษาตอนต้น ทั่วไปคือ ป.1-ป.3 (Grade 1-3) แต่คะแนน EGRA นี้ไม่สามารถเปรียบเทียบทุกประเทศได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนเด็กในแต่ละช่วงอายุที่ไม่สามารถอ่านหนังสือออกแม้แต่คำเดียวก็พอจะให้ภาพได้ว่าระบบการศึกษาเป็นอย่างไร ซึ่งในกัมพูชา ติมอร์-เลสเต วานูอาตู มีเด็ก ป.2 สัดส่วนมากกว่า 30% อ่านหนังสือไม่ออกแม้แต่ตัวเดียว
PISA ที่มีการประเมิน 3 ด้านคือการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จากเด็กนักเรียนอายุ 15 ปีขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่จบการศึกษาภาคบังคับและมีการวัดเป็นระยะ สามารถใช้เป็นตัวสะท้อนคุณภาพการศึกษาที่สะสมมากต่อเนื่องหลายปีได้ มากกว่าการทดสอบทักษะหรือการเรียนแบบท่องจำ ซึ่งการศึกษาของรายงานพบว่า เด็กจะมีความแตกต่างกันมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ชั้นประถม ดังตัวอย่างของเวียดนาม ที่เมื่อเข้าชั้นประถม ทักษะด้านปัญญาและความสามารถอยู่ในระดับเดียวกับเด็กในอีก 3 ประเทศที่นำมาเปรียบเทียบ แต่เมื่อเลื่อนสู่ประถม 3 เด็กเวียดนามก็นำหน้าเด็กในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางที่เป็นคู่เทียบในวิชาคณิตศาสตร์ และในวัย 10 กับ 12 ปี เด็กเวียดนามทำได้ดีกว่าเด็กทั่วไป ยกเว้นเด็กหัวกะทิในเอธิโอเปีย อินเดีย และเปรู
สิ่งที่เห็นจากกลุ่มที่ 1 คือ มีผลการเรียนดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากการประเมินผลตามมาตรฐานสากล โดยปี 2014 ได้มีการคำนวณแนวโน้มคุณภาพของโรงเรียน 24 ประเทศที่มีรายได้สูง ปรากฏว่า 3 อันดับแรกที่มีอัตราการเติบโตของความสำเร็จสูงสุดต่อปีอยู่ในเอเชียตะวันออก คือ สิงคโปร์ 0.98% เกาหลี 0.90% ฮ่องกง 0.55% ซึ่งทั้ง 3 ระบบเศรษฐกิจนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ 0.165% ถึง 3-6 เท่า ญี่ปุ่นเติบโตในอัตราค่าเฉลี่ย ไทยคะแนนลดลงเฉลี่ย 0.26%
ในประเทศระดับรายได้ปานกลางและต่ำบางประเทศ ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่ดีภายใต้ข้อจำกัด เพราะจัดการให้มีการเรียนกับเด็กทุกคนได้ การปรับปรุงการศึกษาให้มีคุณภาพควบคู่กับการขยายการเข้าถึง เป็นสิ่งจำเป็นและมีคุณค่าสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ ในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นของโลก เพื่อให้เด็กได้เรียน และบทเรียนนี้สำคัญมากเพราะหลายประเทศในภูมิภาคและทั่วโลกกำลังประสบกับวิกฤติทางการศึกษา
ประสาน 4 องค์ประกอบเดินทิศทางเดียวกัน
ความสำเร็จของประเทศที่มีระบบการเรียนดีเยี่ยมแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของการเชื่อมโยงสถาบันและระบบการบริหารจัดการที่ดีในหลายระดับ เพื่อที่จะได้นำนโยบายไปปฏิบัติและปฏิรูปให้ได้การเรียนการสอนในระบบโรงเรียนได้ผลที่ดีขึ้น ดังนั้น การเชื่อมโยงของสถาบันคือองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้นโยบายสำหรับทุกกลุ่มมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการนำไปใช้ มีการประยุกต์ ประเมิน และทบทวน เพื่อที่จะให้มีผลที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
รายงานชิ้นนี้ยังได้เสนอแนวทางการปรับปรุงการเรียนการสอนสำหรับระบบการศึกษาที่ยังล้าหลังในภูมิภาค โดยเริ่มจากการที่สถาบันต้องปรับเป้าหมายและความรับผิดชอบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบและต่อเนื่อง รวมไปถึงยังได้กระตุ้นให้ตระหนักและให้ความสำคัญ ใน 4 เรื่องด้วยกัน คือ การใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ, ความพร้อมของเด็กที่จะเรียน, การคัดครูและการสนับสนุน และการประเมินผลที่เป็นระบบเพื่อให้แนวทางได้ถูกต้อง ซึ่งแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไป แต่ทั้งนี้ต้องยึดโยงและมีการประสานกัน
รายงานวิจัยเปิดเผยว่า ระบบการเรียนการสอนที่ให้ผลดีเยี่ยมได้ใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพไปกับโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนและครู มีกระบวนการสรรหาที่ดีเพื่อให้ครูที่มีคุณภาพและใส่ใจกับการสอน รวมทั้งมีโครงสร้างเงินเดือนและผลตอบแทนที่ดีให้กับครูที่ทำให้ชั้นเรียนมีผลการเรียนที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังพบว่า โรงเรียนทั่วภูมิภาคได้เปิดรับเด็กก่อนวัยเรียนมากขึ้น รวมทั้งรับเด็กยากจน ตลอดจนได้ปรับใช้ระบบประเมินผลการเรียนของเด็กในนโยบายด้วย
จากการสำรวจทั่วภูมิภาค พบว่าประเทศที่มีการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพนั้นเน้นหนักใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สอง จัดการกับปัจจัยสำคัญที่มีผล และ สาม ใช้ส่งเสริมความเสมอภาค รวมทั้งมีการใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ หลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายแบบหลอกเพียงเพื่อที่จะได้จัดสรรงบประมาณไปกับการศึกษา เนื่องจากมีข้อมูลแล้วว่า การใช้จ่ายเงินของภาครัฐไม่มีความสัมพันธ์กับการเรียน
การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาในสัดส่วนของจีดีพีมีความแตกต่างกันมากทั้งในระดับโลกและในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิก ไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนใน 4 กลุ่ม แม้ที่ผ่านมาประเทศที่มีผลการเรียนดีจะใช้เงินงบประมาณส่วนใหญ่กับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การใช้จ่ายต่อนักเรียนรายคนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้มีสัดส่วนต่อจีดีพีและต่องบประมาณภาครัฐต่ำ ในกลุ่มประเทศที่มีการเรียนที่ดี การลงทุนด้านการศึกษาจำนวนมากในช่วงแรกเพื่อที่จะวางระบบให้ดีในระยะต่อไป ดังจะเห็นจากสิงคโปร์ที่ใช้จ่ายไปกับการศึกษาถึง 1 ใน 3 ของเงินงบประมาณในปี 1952 แต่เมื่อรายได้ประเทศเพิ่มขึ้นสัดส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ในปัจจุบัน ส่วนเกาหลีการใช้จ่ายเคยสูงถึง 20.4% ในปี 2000 แต่ปี 2013 เหลือเพียง 12.8% ขณะที่ญี่ปุ่นงบการศึกษาสูงถึง 14.5% ของการใช้จ่ายภาครัฐในปี 1955 แต่เหลือเพียง 8.1-9.3% ในช่วงปี 2009-2013
เงินเดือนครูมีผลต่อการเรียนเด็ก
ระบบเศรษฐกิจที่มีการเรียนการสอนที่ดี มีการจัดการกับปัจจัยทางการเงินที่มีผลต่อการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ไปกับครูผู้สอนและโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน เป็นการจัดสรรทรัพยากรไปให้มากพอที่จะดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้ได้ ด้วยอัตราเงินเดือน ผลตอบแทน รวมทั้งมีการให้รางวัลอย่างเหมาะสมแก่ครูที่มีประสบการณ์และสร้างห้องเรียนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม
สิงคโปร์มีการปรับเงินเดือนครูบ่อยครั้งรวมทั้งให้ผลประโยชน์ด้านอื่น การจ่ายโบนัสตามการประเมินผลงาน ส่วนเกาหลีใต้ครูที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปีจะได้เงินเดือนมากกว่าคู่เทียบในตำแหน่งงานภาคเอกชนหลายกลุ่ม ในเกาหลีและญี่ปุ่นครูที่มีประสบการณ์การสอนเกินกว่า 15 ปีได้รับเงินเดือนสูงกว่าจีดีพีต่อหัวถึง 125% และ 140% ตามลำดับซึ่งสูงกว่าเงินเดือนในกลุ่ม OECE ซึ่งอยู่ที่ 107% ของจีดีพี
เงินเดือนครูมีความสัมพันธ์ต่อผลการเรียนของเด็กในประเทศที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงเกิน 20,000 ดอลลาร์ต่อปี โดยผลการประเมิน PISA ในเวียดนามสูงว่าไทย แม้ไทยจะมีอัตราเงินเดือนครูสูงกว่ามาก ส่วนมาเลเซียเงินเดือนครูมากกว่าจีดีพีต่อหัวถึง 2 เท่า แต่ผลการเรียนของเด็กแย่กว่าเด็กนักเรียนไทยซึ่งมีเงินเดือนครูสูงกว่าจีดีพีต่อหัว 25%
กลุ่มประเทศที่มีระบบการเรียนดีเยี่ยมให้ความสำคัญกับการคัดเลือกครูผู้สอน มีการกลั่นกรอง แม้มีความต้องการครูมาก โดยในสิงคโปร์รัฐบาลรับสมัครจากนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม 3 อันดับแรกเท่านั้นไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยโพลีเทคนิค ในเกาหลีมหาวิทยาลัยจะรับเด็กที่จะเข้าเรียนศึกษาศาสตร์เพียง 10% ของเด็กที่จบมัธยมปลาย และเพียง 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่สอบผ่านการคัดเลือกให้เป็นครู ส่วนในไต้หวันและจีน อัตราการแข่งขันที่จะเป็นครูสูงมาก ส่วนใหญ่แล้วจะคัดจากผู้สมัครที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม 3 อันดับแรกจากคะแนนในระดับมัธยมปลายและคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย
อีกหนึ่งองค์ประกอบคือ ความพร้อมที่จะเรียนของเด็ก ซึ่งในกลุ่มประเทศที่มีระบบการเรียนดีเยี่ยมนั้นรัฐบาลสนับสนุนให้มีการเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนที่จะเรียน อย่างไรก็ตาม ในด่านนี้พ่อแม่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นครูคนแรกของเด็ก โดยพ่อแม่สามารถส่งเสริมความพร้อมของเด็กวัยก่อนประถมได้ด้วยการส่งเด็กเข้าเตรียมอนุบาล รวมทั้งดูแลด้านจิตใจและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
กลุ่มประเทศที่มีระบบการเรียนดีเยี่ยมเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางร่างกายและปัญญาของเด็ก รวมทั้งการประเมินปรับปรุงคุณภาพบริการให้กับเด็ก มีการร่วมมือกับหลายภาคส่วน ซึ่งแนวทางนี้ก็ส่งผลดี เพราะเด็กที่ผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนนั้นทำคะแนน PISA ได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ผ่านการเตรียมความพร้อม
การผลักดันการเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนเข้าเรียน ในหลายประเทศเผชิญความท้าทายด้านโภชนาการ โดยสัดส่วน 1 ใน 3 ของภูมิภาคนี้ภาวะแคระแกร็นของเด็กยังคงอยู่ ไม่จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นในหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้น แม้การกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้มีผลดีกับเด็กต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดโภชนาการที่เพียงพอและที่ดีก็เป็นอุปสรรคได้ และหากเด็กไม่พร้อมก่อนที่จะอ่านและเรียน เมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมต้นก็ยากที่จะมีเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป และก็จะมีผลต่อการวัดผล PISA และในระยะยาวต่อการทำงาน
ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางหลายประเทศในภูมิภาคยังไม่สามารถจัดให้มีการบริการที่ครบถ้วน ใน 5 ด้านที่เริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ การคลอด การสนับสนุนของครอบครัว การดูแลสุขภาพและการพัฒนา และโรงเรียนอนุบาล โดยรัฐบาลในกลุ่มที่ 3 (Below-Average Performing Systems) และกลุ่มที่ 4 (Emerging Systems) ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมในหลายวิธี แต่ก็แตกต่างกันมา ประเทศส่วนใหญ่จัดให้มีบริการด้านการตั้งครรภ์และการคลอด แต่ในอีก 3 ด้านกลับมีไม่มากนัก แม้ในประเทศที่อัตราส่วนโรงเรียนอนุบาลสูง
การขาดด้านใดด้านหนึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างของผลลัพธ์ ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างด้านความสามารถของเด็กในครอบครัวยากจนกับเด็กในครอบครังมีเงิน เด็กยากจนไม่สามารถที่จะนับ 1 ถึง 10 ซึ่งเป็นความสามารถพื้นฐานได้ โดยในลาวมีความแตกต่างกันมากถึง 65% ในมองโกเลียต่างกัน 54% รวมไปถึงยังมีช่องว่างในการเข้าถึงโรงเรียนอนุบาลในกัมพูชาระหว่างคนจนและคนมีเงินถึง 31% และช่องว่างในการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพก็สูงถึง 24%
องค์ประกอบสุดท้ายคือการประเมิน การประเมินที่เป็นระบบจะทำให้มีผลการเรียนในห้องเรียนที่มีคุณภาพ ในกลุ่มประเทศ Top Performing Systems การวัดผลการเรียนของเด็กนำไปรวมกับแผนปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับนโยบายและแนวปฏิบัติ สัมพันธ์กับครู นักเรียนและหลักสูตร โดยระบบการวัดผลนี้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ในกลุ่ม Top Performing Systems ได้กำหนดวิธีการชัดเจนถึงการให้ข้อมูลผลการเรียนของเด็กที่ได้จากการประเมินกลับไปสู่ระบบเพื่อปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นต่อเนื่อง แนวทางปฏิบัติกำหนดชัดเจนทั้งในระดับห้องเรียน ระดับโรงเรียน
หลายประเทศในกลุ่ม Top Performing Systems ได้ใช้การสอบเป็นตัววัดผล และใช้เพื่อสอบคัดเลือกในระดับมัธยมศึกษา แต่มีหลายประเทศได้ยกเลิกหรือปรับใช้เฉพาะการศึกษาในระดับต้นๆ เท่านั้น เพราะการให้ความสำคัญกับการสอบมากเกินไปจะสร้างแรงกดดัน ทำให้การเรียนแคบ และลดความเสมอภาค
โดยเกาหลีได้ยกเลิกการวัดผลด้วยการสอบของการเรียนในระดับกลางในปี 1960 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 1970 ตามนโยบายความเสมอภาคทางการศึกษา แต่ได้นำระบบ Free Semester Program มาใช้ตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งเป็นระบบที่ 1 เทอม หรือครึ่งปีการศึกษา นักเรียนเรียนวิชาปกติเพียงครึ่งเช้า แต่ในช่วงบ่ายเลือกเรียนอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ เช่น ศิลปะ กีฬา หรือเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เรียนรู้เป็นผู้นำ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากโรงเรียน ซึ่งปรากฏว่าทั้งเด็กและพ่อแม่มีความพอใจกับการเรียนแบบนี้มาก มีความสนใจในการเรียนมากขึ้น
ฮ่องกงยกเลิกระบบประเมินกลางหลังจากผ่านประถมศึกษา ส่วนมาเลเซียนำระบบการวัดผลแบบรวมศูนย์ที่มีการวัดผลด้านทักษาความคิดมากขึ้น ขณะที่สิงคโปร์ยังคงใช้การสอบกับระดับประถมศึกษา ไต้หวันและจีนใช้ไม่มีการสอบสำหรับเลื่อนชั้นไปมัธยมศึกษา
ระบบการประเมินด้วยมาตรฐานสากลกระตุ้นให้มีการปฏิรูปการเรียนการสอนมากขึ้น เพราะชี้จุดด้อยของการศึกษาได้ชัดเพื่อที่จะปรับปรุงให้มีคุณภาพมากขึ้น เห็นได้จาก Happy Reading Program ที่ไต้หวันและจีนริเริ่มในปี 2008 นั้นเป็นผลจากการที่คะแนน PISA ปี 2006 ต่ำ ส่วนเวียดนามก็เช่นกัน ได้ปรับกรอบกฎระเบียบสำหรับการสอบใหญ่เพื่อปรับปรุงวิธีการสอบและวางแนวทางให้ระบบประเมินมีคุณภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบวัดผลแบบสากลก็แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยญี่ปุ่นและเกาหลีได้นำระบบสอบแข่งขันระดับชาติกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในญี่ปุ่นนั้นวัดผล 3 วิชา คือ ภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กระดับ Grade 6 และ Grade 9 ส่วนเกาหลีใช้กับ Grade 6, Grade 9 และ Grade 10 สิงคโปร์ใช้การสอบระดับชาติสำหรับการประเมินระบบการศึกษา และลาวใช้ระบบประเมินผลการศึกษาสำหรับเด็กระดับ Grade 5 ในปี 2006 2009 ส่วนปี 2012 วัดผลเด็ก Grade 3
การปฏิรูปการศึกษาไม่มีรูปแบบเดียว
รายงานระบุว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่มีรูปแบบเดียว แต่ละประเทศก็เลือกตามความสำคัญ โดยในกลุ่มที่ 4 Emerging Systems ควรมุ่งไปที่การจัดให้มีการศึกษาพื้นฐานสำหรับเด็กทุกคนและทบทวนการใช้จ่ายเพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการเน้นการวินิจฉัยความคืบหน้าของเด็กวัยเริ่มเรียนด้วยการวัดผลแบบ EGRA และใช้ผลที่มาปรับปรุงการสอนการอ่านและคณิตศาสตร์ ตลอดจนใช้หาทางที่จะนำระบบวัดผลแบบมาตรฐานสากลมาใช้
สำหรับกลุ่มที่ 3 (Below-Average Performing Systems) ควรทบทวนนโยบการพัฒนาครู จัดให้มีการอบรม เพื่อปรับปรุงวิธีและคุณภาพการสอน และเพิ่มขีดความสามารถสถาบันเพื่อรองรับการปฏิรูป รวมทั้งต้องมีแนวทางการคัดเลือก การประสานงาน ขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจ เปิดโอกาสให้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพสำรับครู และให้ผลตอบแทนที่ดี นอกจากนี้ ต้องกระจายการเตรียมความพร้อมของเด็กวัยก่อนเรียนให้กว้างขึ้น การพัฒนาและการใช้ระบบประเมินเดียวทั่วประเทศเพื่อเสริมการประเมินระดับห้องเรียนและระดับโรงเรียน และใช้ระบบประเมินมาตรฐานสากลเป็นประจำ
กลุ่มที่ 2 (Above-Average Performing Systems) การเพิ่มคุณภาพครูผู้สอนและการติดตามผล รวมทั้งการเชื่อมโยงการเรียนกับเรื่องใหม่ๆ เช่น การสอนและการวัดผลทักษะด้านที่ไม่ใช่วิชาการและทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 และให้ความสำคัญกับการวัดผลระดับมาตรฐานสากลมากขึ้น พัฒนาโปรแกรมและเพิ่มคุณภาพการเรียนของเด็กในวัยเริ่มเรียนมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้กับครอบครัวที่ยากจน