ThaiPublica > เกาะกระแส > กสศ. จับอาการความเสมอภาคการศึกษา “ให้น้องได้กลับโรงเรียน” ชี้รุนแรงขึ้นหลังโควิด-19

กสศ. จับอาการความเสมอภาคการศึกษา “ให้น้องได้กลับโรงเรียน” ชี้รุนแรงขึ้นหลังโควิด-19

23 มิถุนายน 2020


เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 สถาบันวิจัยความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดงาน Equity Forum ครั้งแรกภายใต้หัวข้อ “จับชีพจรความเสมอภาคทางการศึกษารับเปิดเทอม: สู้วิกฤติให้น้องได้กลับโรงเรียน” โดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก ประจำสำนักงานประเทศไทย ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และนายชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)

3 สถานการณ์ – แบ่งเด็กเป็นสองกลุ่ม

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีความเห็นต่อความเสมอภาคทางการศึกษาหลังวิกฤตโควิด-19 และแนวทางการรับมือหลังเปิดภาคเรียนว่า ผลกระทบของโควิด-19 ต่อการกลับมาเรียนของเด็กนักเรียนอาจจะแบ่งได้เป็น 3 ด้าน อันแรกเรื่องของการที่เด็กต้องขาดจากการเรียนเป็นเวลานาน ทำให้ผลการเรียนแย่ลง หรือ Learning Loss ซึ่งสถานการณ์ของโควิดที่ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดเทอมไป 2 เดือน อาจจะรุนแรงมากขึ้นเล็กน้อย

“ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าจะไม่มีโรคระบาดก็มีปัญหาอยู่แล้ว จากเดิมที่มีเด็กไทยอายุ 10 ปีที่ไม่สามารถอ่านเขียนระดับที่ใช้งานได้ หรือ Learning poverty มีประมาณ 23.5% ตัวเลขนี้อาจจะย่ำแย่ลง หรือคะแนน PISA ด้านการอ่านที่ต่ำกว่ามาตรฐานถึง 59.5% และสุดท้ายคือการเข้าถึงทรัพยากรทั้งในบ้านหรือในโรงเรียนที่เหลื่อมล้ำกันค่อนข้างมากอาจจะแย่ลง”

อีกประเด็นคือผลต่อโภชนาการที่ลดลงได้สำหรับเด็กกลุ่มยากจนหรือด้อยโอกาสอยู่แล้ว จากเดิมที่สามารถรับสารอาหารได้มากกว่าจากโรงเรียน ประเด็นที่สามคือผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ส่งผ่านจากครอบครัวและคาดว่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมากในกลุ่มเด็ก เช่นค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับการศึกษา ในกรณีเลวร้ายที่สุดคือเด็กอาจจะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปช่วยพ่อแม่หาเลี้ยงครอบครัวด้วย

“จากการศึกษาปัจจุบันก็ชี้ว่ากว่า 40% ของเด็กในชนบทก็อยู่ในครอบครัวแหว่งกลางหรือไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ซึ่งอาจจะนำมาสู่ปัญหาความอบอุ่นในครอบครัว สุขภาพจิต ความรุนแรงในครัวเรือนต่างๆด้วย”

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ภูมิศรันย์ กล่าวต่อไปถึงฉากทัศน์ หรือ Scenario ภายหลังจากการระบาดโควิด-19 ผ่านไปไว้ 3 สถานการณ์ โดยจะแบ่งเป็นว่าโควิดจะส่งผลอย่างไรต่อผลสัมฤทธิ์โดยเฉลี่ยของทั้งประเทศคือเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบเหมือนกันทุกคนและอีกกลุ่มที่มีผลการเรียนต่ำกว่ามาตรฐานอยู่แล้วจะได้รับผลอย่างไร

สถานการณ์แรกคือพบว่าทุกคนอยู่ภายใต้สถาการณ์เดียวกันและได้รับผลกระทบเท่าเทียมกัน ทำให้ผลการเรียนตกลงไปพร้อมๆกันทั้งประเทศ กรณีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีทรัพยาการเท่าเทียมกันทั้งกรณีที่เข้าถึงเท่าเทียมกันและเข้าไม่ถึงเลยในกลุ่มประเทศยากจนมากๆ ซึ่งคิดว่าอาจจะไม่ใช่สถานการณ์ของไทย

สถานการณ์ที่สองคือมีกลุ่มที่ขาดแคลนจะมีคะแนนน้อยลง แต่กลุ่มที่เข้าถึงทรัพยากรจะสามารถทำคะแนนได้มากขึ้น แบบนี้จะมีกลุ่มหนึ่งที่เรียนตามไม่ทันและอีกกลุ่มที่สามารถเร่งตัวให้เรียนได้อย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นกลุ่มนี้ในลักษณะที่มีเด็กลุ่มหนึ่งที่คะแนนจะตกต่ำลงมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง

สุดท้ายคือกรณีที่เลวร้ายที่สุดคืออุปสงค์และอุปทานของการศึกษาได้รับผลกระทบรุนแรง โดยด้านหนึ่งครอบครัวเด็กได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรง มีรายได้ลดลง และไม่สามารถเรียนหนังสือได้ ทำให้ความต้องการที่จะไปโรงเรียนหรือความสามารถที่จะไปโรงเรียนน้อยลง อีกด้านหนึ่งเมื่อเด็กมาโรงเรียนน้อยลง รายได้โรงเรียนจะลดลงด้วย รวมไปถึงงบประมาณที่อาจจะลดลง ในที่สุดโรงเรียนต้องปิดตัวลงไปด้วย ทำให้เด็กอีกจำนวนมากต้องออกจากการศึกษาไปด้วย กรณีนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นสำหรับประเทศไทยหรือไม่ แต่หากมีความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนได้จะสามารถหลีกเลี่ยงได้

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อไปถึงตัวอย่างในต่างประเทศว่าประเด็นสำคัญที่ดูกันคือจะปรับพื้นฐานของนักเรียนที่แตกต่างกันให้เข้ากันได้อย่างไร รวมไปถึงให้ครูสามารถประเมินความแตกต่างนี้ได้อย่างไร และจะสามารถออกแบบการเรียนการสนออนไลน์กับออฟไลน์อย่างไรให้เหมาะสมกับเด็กนักเรียน

“แนวคิดถึงคือ Teach at the right level คือหาอาสาสมัครมาช่วยติวให้เด็กแต่ละคนสามารถปรับพื้นฐานได้เท่ากันและกลับมาเรียนในห้องเรียนได้พร้อมกัน มีการปรับพื้นฐานทางด้านอารมณ์และจิตใจด้วยให้สามารถกลับมาเรียนได้อยางมีความสุขด้วย”

อีกระบบคือเงินอุดหนุนที่มุ่งไปที่เด็กที่ด้อยโอกาสหรือมีการลดหย่อนหนี้ออกไป อย่างเช่นของอินโดนีเซียในอดีตจะใช้การรณรงค์ให้เด็กกลับสู่โรงเรียนด้วยการให้งบประมาณลงไปที่โรงเรียนเพิ่มเติม และทำให้เด็กหลุดออกจากนอกระบบลดลงไป 38%

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.ได้เตรียมชุดความรู้สำหรับสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง เพื่อเตรียมรับมือ New Normal ในปีการศึกษา 2563 ประกอบด้วย (1) คู่มือรับเปิดเทอม: เรียนรู้และเข้าใจโควิด-19 (2) ชุด Poster หนึ่งวันที่โรงเรียนกับวิธีรับมือโควิด-19 และ (3) คู่มือจัดกระบวนการเรียนด้วยตนเองและครอบครัว (Self-directed distant learning handbook) สำหรับเด็กประถมศึกษาสำหรับครู นักเรียน และผู้ปกครอง สามารถ Download และใช้งานได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://research.eef.or.th

การศึกษาไทยเหลื่อมล้ำรุนแรงอยู่แล้ว

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก ประจำสำนักงานประเทศไทย

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก ประจำสำนักงานประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและวิกฤติทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนของไทยก่อนและหลังวิกฤติโควิด-19 ว่าจากการคาดการณ์เศรษฐกิจจะหดตัวอย่างน้อยๆ 5% ในปีนี้จะมีกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงจะกลับมายากจนอีกล้านคน รวมกับที่มีอยู่อีกประมาณ 7 ล้านคน อันนี้คือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในปีนี้ แต่อีกมุมหนึ่งปัญหาของการศึกษาไทยมีความรุนแรงอยู่ค่อนข้างมากแล้วก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด

หากดูกลับไปจากผลคะแนนของ PISA ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีเด็กอายุ 15 ปีเพียงแค่ 75% ที่เข้าสอบ หรือแปลว่าอีก 25% ได้หายไปจากระบบโรงเรียนอยู่แล้ว ขณะที่อัตราการเรียนต่อระดับมัธยมปลายจากที่เพิ่มขึ้นมาตลอดกลับเริ่มอยู่ในแนวโน้มลดลงและอยู่ที่ประมาณ 70% เท่านั้น ซึ่งจากระดับรายได้ของประเทศควรอยู่ที่ประมาณ 90%

ในรายละเอียดของคะแนนวิชาการอ่านที่เน้นในการสอบครั้งนี้ก็มีแนวโน้มลดลงมาต่ำสุด สอดคล้องกับคะแนนวิชาอื่นๆ ที่แนวโน้มลดลงด้วย และประมาณ 60% ของนักเรียนทั้งหมดที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีกลุ่มที่เป็นมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าปกติเพียง 0.2% เท่านั้น เทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เฉลี่ยประมาณ 9%

ในแง่เงินที่ใช้ไปในการศึกษา แม้ว่างบประมาณการศึกษาต่อหัวกลับเพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วง 10 กว่าปี แต่การใช้จ่ายด้านการศึกษาไทยไม่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งในรายละเอียดส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนนักเรียนที่ลดลงโดยหายไปล้านกว่าคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และใน 10 กว่าปีนี้คะแนนก็ตกลงมาตลอด หรืองบประมาณที่ใช้ไปแทบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา

ขาดแคลนครู-อุปกรณ์ดิจิทัล

ดร.ดิลกะ กล่าวต่อไปถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียนอย่างไร ถ้าหากดูจำนวนครูต่อนักเรียนจะพบว่าครูของโรงเรียนไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ธนาคารโลกแนะนำ และถ้าเทียบกับเด็กนักเรียนกลุ่มที่ได้เปรียบมีทรัพยากรมากกว่ากับโรงรียนที่เสียเปรียบจะพบว่าโรงเรียนที่เสียเปรียบจะยิ่งขาดแคลนครู และเป็นความเหลื่อมล้ำที่มากกว่าภูมิภาคด้วย ขณะที่โรงเรียนที่ได้เปรียบนอกจากไม่ได้ขาดแคลนแล้วยังมีความภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยซ้ำ เช่นเดียวกัน โรงเรียนในชนบทก็ขาดแคลนครูมากกว่าในเมือง

ในด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนก็พบความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก โรงเรียนที่ยากจนขาดแคลน โรงเรียนที่ได้เปรียบมีมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และหากเจาะลงไปที่อุปกรณ์ทางด้านดิจิทัลที่เกี่ยวกับโควิดโดยตรง โดยโรงเรียนที่เสียเปรียบที่สุดมีเพียงครึ่งหนึ่งที่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและทรัพยากรที่จะอบรมครูให้มีทักษะดิจิทัลพร้อม ส่วนโรงเรียนที่ได้เปรียบที่สุดมีอุปกรณ์และทรัพยากรอบรมครูที่พร้อมจะสอนออนไลน์ได้เกือบ 100% ขณะที่ทักษะของครูทางด้านดิจิทัลยังไม่แตกต่างกันมาก

“แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นพอไปดูที่บ้านของเด็กว่าเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่ กลุ่มเด็กที่เสียเปรียบมีแค่ 20% เท่านั้นที่มี และมีเพียง 61% เท่านั้นที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต ส่วนเด็กกลุ่มที่ได้เปรียบร่ำรวยสามารถเข้าถึงได้เกือบ 100% ดังนั้นนี่คือความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วชัดเจน”

เด็กยากจนยิ่งเรียนช้ายิ่งตามไม่ทัน

ดร.ดิลกะ กล่าวต่อไปว่าถามว่าแล้วเด็กไทยเรียนได้ตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ พบว่าเด็กรวย 90% เรียนได้ตามปกติและอีก 10% ตามหลังแค่ปีเดียว แต่เด็กที่ยากจนไม่ถึง 70% ตามปกติและ 30% ตามหลังไปหนึ่งปี แปลว่าเด็กยากจนมีแนวโน้มจะเรียนช้ากว่าปกติ แล้วเหตุผลของการเรียนไม่ทันคืออะไร

เหตุผลแรกคือช่วงเวลาที่เข้าเรียนช้าไป แล้วถามว่าการเริ่มเรียนช้าไป 1 ปีจะส่งผลต่อคะแนนอย่างไร ความสามารถในการอ่านลดลง 6.2 คะแนน และเมื่อไรเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ปี ความสามารถจะลดลงแบบทวีคูณจาก 6 คะแนนเป็น 19 คะแนน และ 47 คะแนน อีกเหตุผลหนึ่งคือการเรียนซ้ำชั้น ถ้าเด็กเข้าเรียนตามปกติจะมีโอกาสซ้ำชั้นเพียง 3% แต่ถ้าช้าไป 1 ปีจะเพิ่มเป็น 4.85% และเมื่อไรที่เลยไป 2-3 ปีจะกระโดดเป็น 10-19% ที่จะซ้ำชั้นอีก

“ถ้าเทียบกับกรณีมีโควิด ถ้าเข้าเรียนช้าไป 1 ปี ซึ่งเด็กยากจนก็เข้าเรียนช้ากว่าอยู่แล้ว แล้วถ้ามีระบาดรอบสองอีกกลายเป็นเรียนช้าไป 2 ปี ดังนั้นจากที่จะเสียเปรียบเด็กทั่วไป 6 คะแนนจะเป็น 19 คะแนน หรือ 2 ใน 3 ของการเรียน 1 ปีที่หายไปจากที่ไปเรียนช้า แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีระบาดรอบสองหรือไม่ แต่ถ้าหายไปจนถึง 1 ปี นี่คือความเสียเปรียบที่จะเกิดขึ้น”

นอกจากนี้ เรื่องสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กอยากไปเรียนพบว่านักเรียนไทยมีความผูกพันธ์กับโรงเรียนน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ และพบว่าเด็กที่ยากจนกว่าก็จะมีความผูกพันธ์กับโรงเรียนต่ำกว่า หรือเรื่องการโดนกลั่นแกล้งเด็กที่ยากจนกว่าก็มีความรู้สึกว่าโดนกลั่นแกล้งหรือไม่ปลอดภัย มากกว่าด้วย อีกเรื่องที่สำคัญคือการสนับสนุนของครอบครัวก็มีผลต่อการเรียน ยิ่งพ่อแม่สนับสนุนคะแนนการเรียนก็มากขึ้น และพบคล้ายๆกันว่าเด็กยากจนก็มีการสนับสนุนเหล่านี้ต่ำกว่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าเด็กยากจนอยู่กับครอบครัวที่ไม่พร้อมหน้ามากกว่า

กลับมาที่โควิดว่าจะกระทบอย่างไร สิ่งที่พอจะเทียบเคียงได้คือการดูว่าการขาดเรียนหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีจะส่งผลต่อการเรียนอย่างไร จากงานศึกษาพบว่าการโดดเรียนเพียง 5 ครั้งต่ออาทิตย์จะส่งผลต่อคะแนนเกือบจะเท่าการการเรียน 1 ปี หรือการมาเรียนสายก็มีผลกระทบลักษณะเดียวกัน ดังนั้นการขาดเรียนส่งผลกระทบคะแนนที่ออกมา ซึ่งตรงนี้สภาพแวดล้อมที่กล่าวไปข้างต้นมีผลกระทบอย่างมาก เช่นการมีครอบครัวสนับสนุน มีความผูกพันธ์กับโรงเรียน ฯลฯ

ดร.ดิลกะ กล่าวต่อไปว่าที่น่าห่วงคือข้อมูลที่เราดูคือเด็ก 15 ปีคือเกือบถึงม.ปลายแล้ว ยังเข้าถึงทรัพยากรได้ 20% แล้วนี่คือเด็กแค่ 75% ของเด็กทั้งหมดที่เรามีข้อมูล แล้วเด็กที่หลุดไปจากระบบเลยอีก 25% ที่ไม่รู้อะไรเลย เพราะไม่มีข้อมูลเลยจะเป็นอย่างไร แล้วจากข้อมูลคือทุกคะแนน 100 คะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นของ PISA จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วขึ้น 2% แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะย้อนกลับไป 2% มากกว่าแล้ว”

กสศ.สำรวจเด็กต้องช่วยงานพ่อแม่

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือค่าอาหาร ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่3 ในสังกัด สพฐ.ตชด.และอปท.จำนวน 753,997คน ทั่วประเทศ กสศ.ได้ใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับครูทั้ง3 สังกัด สำรวจความเสี่ยงของนักเรียนยากจนพิเศษ โดยเฉพาะปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษาไปด้วย

เบื้องต้นพบว่า จากข้อมูลที่คุณครูบันทึกผ่านระบบ isee หรือระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยสุ่มสำรวจนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ซึ่งเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด จากข้อมูล ณ วันที่ 15 มิ.ย.2563 พบ นักเรียนยากจนพิเศษ 3,180 คน ที่ยังไม่ได้สมัครเรียน ประกอบด้วย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน1,246 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,914 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(เฉพาะ ตชด.) จำนวน 20 คน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าว ยังเป็นตัวเลขเพียงร้อยละ 60 ของนักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ทั้งหมด 161,000 คน เท่านั้น

“สาเหตุส่วนใหญ่ที่นักเรียนยังไม่ได้สมัครเรียน คือ (1)ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ร้อยละ 57 (2) มีปัญหาทางการเรียน ครอบครัว สุขภาพ และขาดแคลนทุนทรัพย์ร้อยละ31 (3)ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ร้อยละ10 (4) ไม่มีค่าเดินทางไปสมัครเรียน ร้อยละ 2 ตามลำดับ โดยตัวเลข 3 พันกว่าคนเป็นเพียงชั้น ป.6 และม.3 เท่านั้น ยังมีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงต้นปีการศึกษานี้ด้วยผลกระทบจาก โควิด-19” ดร.ไกรยส กล่าว

รองผู้จัดการกสศ.กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอมในเวลาปกติครัวเรือนยากจน แบกภาระค่าใช้จ่ายเกินกำลัง เมื่อมาเจอผลกระทบโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน หากวิเคราะห์ตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจน จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนของ สำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี2560 พบว่า ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด10% แรกของประเทศและมีบุตรหลานกำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษารัฐ มีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในแต่ละปีสูงสุดในช่วงเดือนเปิดเทอม เช่น ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าเครื่องแบบ และค่าสมุด,หนังสือ,อุปกรณ์การเรียน รวมเป็นตัวเงินแล้วอยู่ระหว่าง 1,195-4,829 บาทต่อครัวเรือน ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาของบุตรหลาน (ไม่รวมค่าเดินทาง)

“หากคิดเทียบเฉลี่ยต่อรายได้ครัวเรือนกลุ่มนี้พบว่า ครัวเรือนยากจนในชั้นรายได้ที่1มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 2,020 บาทต่อเดือน จึงสรุปได้ว่าครอบครัวยากจนที่สุด10% แรกของประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเป็นเกือบทั้งหมดของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ได้รับ ซึ่งนำไปสู่การเกิดหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ และครอบครัวที่ไม่สามารถจัดหาค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ มีแนวโน้มที่จะกระทบโอกาสทางการศึกษา”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ข้อมูลจาก iSEE ทำให้ทราบปัญหาของเด็กๆรายคน สามารถจัดลำดับความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาได้เป็นรายคน เพื่อสนับสนุนการจัดทำ “ระบบเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาทั่วประเทศ” ซึ่งหลังจากที่ กสศ.ได้รับข้อมูลผลการคัดกรองความยากจนและข้อมูลผลกระทบจากโควิด-19แล้ว ทาง กสศ.จะประสานงานกับ ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สพฐ. และสถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือต่อไป

ดร.ไกรยส กล่าวว่า นอกจากนี้ ปีการศึกษา 2563 กสศ.ได้จัดทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขต่อเนื่อง ช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล–มัธยมศึกษาตอนต้น ในสังกัด สพฐ.อปท.และตชด.ทั่วประเทศ ซึ่งนักเรียนทุนเสมอภาคที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองระดับยากจนพิเศษ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมคนละ 3,000 บาท/คน/ปี โดยในภาคเรียนที่1ปีการศึกษา 2563 กสศ.จะจัดสรรเงินให้นักเรียน 2,000 บาทในช่วงเดือนกรฎาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคเรียนของผู้ปกครอง และช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างทันเวลา โดยจะมีเด็กๆได้รับการช่วยเหลือมากกว่า 7.5 แสน งบประมาณราว 1,400 ล้านบาท โดยปีการศึกษา 2563 เป็นปีแรกที่เงินทุนเสมอภาคจะดูแลเด็กอนุบาลทั่วประเทศ และยังขยายการดูแลนักเรียนสังกัดอปท.จากเดิม 10 จังหวัดเป็น 76 จังหวัดด้วย

รองผู้จัดการกสศ.กล่าวว่า นอกจากนักเรียนกลุ่ม 7.5 แสนคน ที่เคยผ่านการคัดกรองเรียบร้อยแล้ว ในช่วงเปิดเทอมนี้ กสศ.ยังเปิดโอกาสให้คุณครูสามารถคัดกรอง ความยากจนของเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นี้และยังไม่เคยได้รับทุนเสมอภาคเข้ามาเพิ่มเติมได้ เพื่อน้องๆ จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 นี้ รวมถึงผู้ปกครองที่พบว่าตนเองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนตกอยู่ในสถานะยากจนหรือยากจนพิเศษก็สามารถแจ้งไปที่คุณครูประจำชั้นเพื่อได้รับสิทธิได้การคัดกรองเพื่อให้บุตรหลายได้รับทุนเสมอภาคช่วยเหลือเพิ่มเติม ในช่วงเดือน ส.ค.2563 เช่นกัน

สพฐ.ดันสร้างครูนักจิตวิทยา – ผ่อนจ่ายค่าเรียน

ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า ก่อนเปิดภาคเรียน1สัปดาห์ สพฐ.พร้อมทีมสหวิชาชีพ ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและสภาพจิตใจของเด็กยากจน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน พบปัญหาส่วนใหญ่หลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง เราจึงได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพป.)ทั่วประเทศ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการผ่อนปรนค่าเล่าเรียน ลด และขยายเวลาชำระค่าเทอมหรือค่ากิจกรรมต่างๆ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดนอกระบบการศึกษา ทั้งนี้หลังเปิดภาคเรียนหากพบนักเรียนขาดเรียนอย่างต่อเนื่องให้ครูประจำชั้นลงพื้นที่สำรวจถึงบ้าน เพื่อสอบถามปัญหาพร้อมหาวิธีช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังได้วางแผนให้ทุกโรงเรียนมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน 225 อัตรา คอยดูแลสภาพจิตใจเด็ก เพราะเชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19ทำให้เด็กมีความเครียดสูง รวมไปถึงให้ฝึกอบรมครูประจำชั้นให้มีความสามารถทางด้านจิตวิทยาด้วย และตั้งเป้าหมายให้มีนักจิตวิทยาในทุกโรงเรียน ทั้งนี้ การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทำให้สพฐ.มั่นใจว่าทุกโรงเรียนมีความพร้อม100%ในการเปิดภาคเรียน

ดูข้อมูลเพิ่มเติม ที่นี่