ThaiPublica > เกาะกระแส > ไอโอดี เตรียมออกใบรับรองบริษัทโปร่งใส แก้ภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทยตกต่ำ

ไอโอดี เตรียมออกใบรับรองบริษัทโปร่งใส แก้ภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทยตกต่ำ

6 พฤศจิกายน 2012


การประชุมในหัวข้อ “ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน” โดยสมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD)
การประชุมในหัวข้อ “ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน” โดยสมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD)

สมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD) ห่วงภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทยในสายตาชาวโลกแย่ลง เร่งผนึกกำลังแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต เตรียมสร้างกระบวนการรับรอง (Certification Process) เพื่อสร้างกลไกป้องกันตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 สมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในฐานะองค์กรก่อตั้งและเลขานุการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต จัดการประชุมในหัวข้อ “ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน” เพื่อเน้นเรื่องของหน้าที่และบทบาทของคณะกรรมการบริษัท ในการสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในระดับบริษัท และในระดับอุตสาหกรรม

ภายในงาน น.ส.จีน โรเจอส์ รองผู้อำนวยการศูนย์องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ (Center for International Private Enterprise – CIPE) ได้กล่าวถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันว่า ความคิดในการต่อต้านทุจริตของคณะกรรมการบริษัท จะเป็นผลดีต่อการบริหารงานในองค์กรในระยะยาว ในปัจจุบันนี้ สังคมได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้บริหารต่อการทุจริตมากขึ้น ในฐานะผู้ที่กำกับดูแลบริษัท และความคิดของผู้บริหารในการต่อต้านการทุจริต จะส่งผลต่ออนาคตของบริษัทอย่างแน่นอน

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการทุจริตเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ตนเห็นว่า ประเทศไทยกำลังมีการพัฒนาเรื่องความโปร่งใสไปในทางที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องต่อต้านการทุจริตในไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต เหมือนกับทุกประเทศที่มีความตระหนักเรื่องการต่อต้านการทุจริตมากขึ้นเช่นกัน” น.ส.จีนกล่าว

นอกจากการพูดถึงบทบาทของคณะกรรมการบริษัทแล้ว ในการเสวนายังมีการพูดถึงการต่อต้านการทุจริตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยนายชาบิน อาลี โมฮิบ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลกระบุว่า ความตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตของประเทศต่างๆ ทำให้ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ ทั่วโลกหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นในการทำงาน เนื่องจากการทุจริตทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงกว่าที่ควรจะเป็น

“การเติบโตทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ และขณะเดียวกันการทุจริตจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงหรือไม่ เป็นคำถามท้าทายที่ทั่วโลกกำลังสนใจในตอนนี้” นายชาบินตั้งคำถามในวงเสวนา

ด้านนายเชอร์วิน มาจเลซซี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านทุจริต องค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นรูปแบบหนึ่งของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ในปี 2005 องค์การสหประชาชาติได้ออกกฎหมายอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต เพื่อเสริมสร้างมาตรการป้องกันการทุจริต การติดตามทรัพย์สิน และการบังคับใช้กฎหมายในระดับนานาชาติ โดยประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ในปี 2011 ปัจจุบันอนุสัญญาฉบับนี้มีประเทศที่เป็นภาคีทั่วโลกทั้งสิ้น 163 ประเทศ

“จากผลการสำรวจของธนาคารโลกที่ระบุว่า การให้สินบนที่เกิดขึ้นทั่วโลกกว่า 90% เกิดขึ้นในระดับ SMEs ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องมีมาตรการในการกำกับดูแลเรื่องการทุจริตของภาคเอกชน หากภาคเอกชนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ จะต้องมีการคว่ำบาตร ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการดูแลเรื่องการฟอกเงิน และการติดสินบนในภาคเอกชนด้วย” นายเชอร์วินกล่าว

ขณะที่องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD น.ส.คริสติน ยูเรียต ที่ปรึกษาฝ่ายต่อต้านการทุจริต OECD กล่าวว่า OECD ผ่านอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบน ในปี 1999 เพื่อผลักดันให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมการต่อต้านการติดสินบนในต่างประเทศ

อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เป็นอนุสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อประเทศสมาชิก โดยบังคับให้รัฐภาคีต้องกำหนดเรื่องการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศเป็นความผิดทางอาญา และต้องดำเนินการกำหนดนโยบายในการป้องกันและปราบปราม อีกทั้งกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าว

โดยอนุสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นเครื่องมือต่อต้านการทุจริตในระดับสากลฉบับแรกและฉบับเดียว ที่มุ่งเน้นการเอาผิดกับฝ่ายที่ทำการให้สินบน (supply side) กล่าวคือ บุคคลหรือบริษัทเอกชนซึ่งเสนอหรือสัญญาว่าจะให้ หรือได้ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและรัฐภาคี จะต้องแสดงเจตนารมณ์ รวมทั้งให้การรับรองว่า บริษัทเอกชนในประเทศจะดำเนินกิจการและทำการลงทุนอย่างมีจริยธรรม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทุจริต และไม่ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศ

“ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาทั้งหมด 39 ประเทศ ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีแต่อยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ที่ผ่านมามีบริษัททั่วโลกกว่า 210 บริษัท ที่ถูกคว่ำบาตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อนุสัญญาฉบับนี้ให้ความสำคัญและจริงจังในการต่อต้านการทุจริต” น.ส.คริสตินกล่าว

ดร.บัณฑิต นิจถาวร  กรรมการผู้อำนวยการ IOD (ขวาสุด)
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD (ขวาสุด)

สำหรับประเทศไทย นอกจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐแล้ว ในภาคเอกชนยังมีสมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในฐานะองค์กรก่อตั้งและเลขานุการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต ที่มีโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนผนึกกำลังเข้าร่วมเป็นแนวร่วมทั้งสิ้น 124 บริษัท เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD ได้พูดถึงสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทย และความพยายามในการต่อต้านการคอร์รัปชันขององค์กรต่างๆ ในงานเสวนาว่า จากการสำรวจของ IOD ร่วมกับหอการค้า ในปี 2010 ภาคธุรกิจไทยส่วนใหญ่เห็นว่า การคอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ และทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ มีผลการประเมินเรื่องความโปร่งใสและการทำงานของภาครัฐที่ตกต่ำลงในหลายตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดด้านความสามารถการแข่งขันในภาครัฐของ World Economic Forum มีอันดับที่ตกต่ำลงจากปี 2009 อันดับของความโปร่งใสในการทำนโยบายสาธารณะ และความเชื่อถือของนักการเมืองไทยในสายตาสาธารณะชน ประเทศไทยมีอันดับที่ตกต่ำลง

“การแก้ไขปัญหาการทุจริต ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากด้านภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐจะต้องมีการพัฒนาธรรมาภิบาล เพิ่มความโปร่งใสในการทำงานเพื่อลดการทุจริตในด้านอุปสงค์ ส่วนด้านอุปทาน ภาคเอกชนจะทำให้การทุจริตลดลงได้จากการตกลงร่วมกันของแต่ละบริษัท ที่ต้องมีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน” ดร.บัณฑิตกล่าว

การจะเอาชนะปัญหาการทุจริตได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ต้องมีการจับผู้กระทำผิดที่เป็นรายใหญ่ให้เห็นเป็นตัวอย่าง ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ตลาดมีการแข่งขันได้อย่างเสรี และในการทำงานของภาครัฐ ต้องมีการลดขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลยพินิจลง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

ปัจจุบัน มีบริษัทเข้าร่วมกับแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตรวมทั้งสิ้น 124 บริษัท เนื่องจากแนวร่วมฯ นี้เพิ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่นาน จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้น อะไรที่ได้ผลและไม่ได้ผล แต่ด้วยหลักการของแนวร่วมฯ ที่ไม่เป็นองค์กรทางการเมือง และมุ่งเน้นการปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างให้เกิดการแข่งขันในตลาด และสร้างความโปร่งใส จะทำให้สมาชิกของแนวร่วมฯ ได้รับการยอมรับจากสังคม

“การดำเนินการขั้นต่อไปคือ จะจัดให้มีกระบวนการรับรอง เพื่อเป็นสิ่งที่ช่วยเน้นย้ำให้คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแล ให้กิจการมีกลไกป้องกันตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างเป็นระบบ” ดร.บัณฑิตกล่าว