ThaiPublica > คอลัมน์ > Behemoth เมื่อจีนเปลี่ยนสวรรค์ให้กลายเป็นนรก

Behemoth เมื่อจีนเปลี่ยนสวรรค์ให้กลายเป็นนรก

30 มิถุนายน 2017


1721955

ภาพเปิดของหนังเรื่องนี้คือเหมืองถ่านหินแล้งร้อน ตั้งกล้องมุมกว้างสงบนิ่งสักพักก่อนเสียงระเบิดจะสนั่นไหว ตัดภาพเหมืองระเบิดในมุมต่างๆ ก่อนจะสโลว์ภาพในระยะประชิดของเศษหินและเถ้าธุลีที่ลอยคละคลุ้งในแบบช้าๆ ชัดๆ แล้วขึ้นชื่อเรื่อง Behemoth คลอเสียงดนตรีพื้นเมืองประหลาดๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนผู้คนคร่ำครวญ หรือไม่ก็เสียงโหยหวนของสัตว์ร้าย แล้วตามมาด้วยคำบรรยายสั้นๆ ว่า ‘พระเจ้าทรงสร้างบิฮีมอทในวันที่ 5 มันคืออสูรร้ายใหญ่ยักษ์ที่สุดบนผืนโลก ภูเขานับพันต่างสยบยอมเป็นอาหารของมัน’

ไม่น่าเชื่อว่าแค่ฉากเปิดของ Behemoth (2015) สารคดีเจ้าของ 2 รางวัลพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนกับด้านสิ่งแวดล้อม จากเทศกาลหนังเก่าแก่ระดับโลกอย่างเวนิส จะทำให้ผู้ชมตะลึงงงได้ขนาดนี้ เพราะมันช่างมีภาษาหนังไม่ซ้ำใคร สิ่งที่เห็นและเสียงบรรยาย อาจมีความหมายมากกว่านั้น เฉพาะแค่ 2 นาทีแรกก็ทำให้เอ๋อไปแล้วว่า เบเฮโมทคืออะไร? แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเหมืองถ่านหินที่เห็น?

ตามไบเบิลแล้ว สัตว์ประหลาดยักษ์ใหญ่ที่สุดมี 3 ตน คือ เลวีอาธาน ใหญ่ที่สุดในท้องทะเล, ซิซ ใหญ่ที่สุดบนผืนฟ้า และเบเฮโมทใหญ่ที่สุดบนผืนโลก ซึ่งถูกอธิบายใน โยบ 40:15-24 ว่า “ดูเบเฮโมทเถิด ซึ่งเราได้สร้างอย่างที่เราได้สร้างเจ้า มันกินหญ้าเหมือนวัว ดูเถิด กำลังของมันอยู่ในเอว และฤทธิ์ของมันอยู่ในกล้ามเนื้อท้อง มันขยับหางของตนให้แข็งเหมือนไม้สนสีดาร์ เอ็นโคนขาของมันก็สานเข้าด้วยกัน กระดูกของมันเหมือนท่อนทองเหลือง และกระดูกของมันเหมือนท่อนเหล็ก มันเป็นพระราชกิจชิ้นที่สำคัญของพระเจ้า ผู้ทรงสร้างมันนำดาบมาให้ ภูเขาผลิตอาหารให้มันแน่ เป็นที่ที่สัตว์ป่าทุ่งทุกชนิดเล่น มันนอนอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีร่มเงา ในเพิงอ้อและในบึง ต้นไม้ที่มีร่มเงาเป็นเงาคลุมมัน ต้นหลิวแห่งธารน้ำล้อมมันไว้ ดูเถิด มันดื่มแม่น้ำจนหมดและไม่รีบหนีไป มันวางใจว่าจะดูดแม่น้ำจอร์แดนเข้าใส่ปากมัน มันจ้องตาดูแม่น้ำ จมูกมันทะลุผ่านบ่วงทั้งหลายได้”

หนังยิ่งทำให้คนดูงงหนักไปอีก เมื่อมีเสียงบรรยายเป็นบทกวีว่า “ครึ่งหนึ่งของการเดินทางในช่วงชีวิตเรา ข้าเห็นเหมือนดั่งฝันไป ในความฝันข้าถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยเสียงกัมปนาทของแรงระเบิด ข้าเบิกตาโพลงในม่านหมอกคลุ้งสุดลูกหูลูกตา”

เจ้าเหลียง ผู้กำกับหนุ่มชาวจีนอธิบายว่า “75 เปอร์เซ็นต์ของบทกวีที่เห็นในหนังเรื่องนี้ ซึ่งอ่านออกเสียงโดยตัวผมเอง เป็นบทกวีมาจาก The Divine Comedy ของดันเต ส่วนที่เหลืออีก 25 เปอร์เซ็นต์ ถูกดัดแปลงใหม่โดยผมเอง เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทในหนัง ส่วนตัวแล้วผมคิดว่า 3 ภพภูมิที่ถูกอธิบายเอาไว้ในบทประพันธ์ของดันเตเมื่อ 700 ปีก่อน อาจเป็นการทำนายเกี่ยวกับพวกเราในทุกวันนี้ก็เป็นได้”

สังเกตว่า เจ้าเหลียงใช้คำว่า “พวกเรา” ในคำอธิบายช่วงท้าย เพราะแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะถ่ายทำในจีน และกำลังถ่ายทอดภาพชีวิตชนพื้นเมืองชาวมองโกลที่จำต้องระเห็จหนีออกไปจากบ้านเกิด กับบรรดาคนงานเหมืองถ่านหินชาวจีนที่อพยพเข้ามาค้าแรงงานในเหมืองแห่งนี้ แต่ด้วยน้ำเสียง คำบรรยายเป็นนิทานเปรียบเทียบ เจ้าเหลียงอาจไม่ได้แค่จะเล่าถึงผู้คนในดินแดนแห่งนี้เท่านั้น เพราะภาวะทำนองนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก…ภาวะที่ธรรมชาติถูกผลาญทำลายเพื่อไปหล่อเลี้ยงผู้คนในเมืองใหญ่เป็นสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในอีกหลากหลายประเทศ

The Divine Comedy (เขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1308-1321) ของดันเต มหากวีแห่งอิตาลีในยุคกลาง ซึ่งเขียนจินตนาการว่าตัวเขาเองได้เดินทางไปยัง 3 ภูมิของแดนคนตาย คือ แดนนรก (Inferno) แดนชำระ (Purgatorio) และแดนสวรรค์ (Paradiso) ซึ่งแม้จะเป็นวรรณกรรมศาสนา แต่แท้จริงแล้ว ดันเตกำลังเขียนแดกดันสังคมในยุคนั้น ซึ่งสามารถตีความให้เข้ากับบริบทในโลกปัจจุบันได้ด้วย

ข้อเด่นของบทประพันธ์ชิ้นนี้คือเป็นแนวอุปมานิทัศน์ (Allegory) อันเป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะนิทาน ศิลปะ บทกวี ดนตรี ในลักษณะสัญลักษณ์แฝงคติ เกี่ยวกับผู้คน สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่มีนัยความหมายอื่นมากไปกว่าเรื่องที่เล่าอยู่ โดยที่ความหมายอื่นนั้นมักเป็นการสื่อสารถึงและแสดงออกทางความคิด หรือให้มโนทัศน์ในลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือมีความซับซ้อน ด้วยกลวิธีในการเล่าเรื่อง ในการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ หรือในการเขียนบทประพันธ์ เป็นหนทางสำคัญยิ่งในการส่งผ่านความหมายอย่างมีพลานุภาพ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผูกความ การสร้างภาพแทน และการสอดแทรกน้ำเสียงอื่นเอาไว้ในเนื้อหาของเรื่อง

ดังนั้นความซับซ้อนของ Behemoth ที่มาในคราบสารคดีผสมกับวิดีโออาร์ตจึงเป็นกลวิธีแบบอุปมานิทัศน์อย่างไม่ต้องสงสัย มันจึงมีภาษาภาพประหลาดๆ ผุดขึ้นมาให้เห็นในหลายฉาก ไม่ว่าจู่ๆ ก็มีร่างเปลือยที่มองไม่ออกว่าเป็นชายหรือหญิงไปนอนขดตัวอยู่บนทุ่งหญ้าเขียวขจีที่มีฉากหลังเป็นภาพรถบรรทุก และเครื่องจักรต่างๆ กำลังวิ่งขวักไขว่ไปมา ดูไกลๆ เหมือนของเล่นก็ไม่ปาน แต่กลับมีอานุภาพผลาญทำลายล้างดินแดนที่เคยเป็นสรวงสวรรค์เขียวชะอุ่ม ให้กลายเป็นนรกโลกันต์ทึมทะมึนสุดลูกหูลูกตา แถมภาพยังมีรอยแตกเป็นเสี่ยงๆ ราวกับกระจกที่กำลังปริหัก หรือไม่ก็มีชายลึกลับถือกระจกไปยืนอยู่ตามที่ต่างๆ บางทีก็โคลสอัปภาพใบหน้าใกล้มากของแรงงานชาวเหมือง และชาวบ้านพื้นเมือง

เจ้าเหลียงอธิบายว่า “ในประเทศจีน สิ่งที่เรียกกันว่าสังคมนิยม แท้จริงแล้วคือการ ‘โกงผลผลิต’ พวกเขาทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้ผลผลิตคราวละมากๆ โดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย สังคมนิยมแบบจีนไม่มีอะไรเหมือนอย่างทฤษฎีของมาร์กซิสม์ ขณะเดียวกันมันก็ไม่เหมือนอย่างทุนนิยมของพวกโลกตะวันตกด้วยเช่นกัน เพราะแบบของจีนนอกจากจะล้างผลาญธรรมชาติแล้วยังทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย ทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่มีอะไรเข้าข่ายความเป็นประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย ไม่แม้แต่จะปกป้องดูแลแรงงานของพวกเขาด้วยซ้ำไป อันที่จริงถ้าจะพูดให้ชัดๆ มันคือระบบศักดินาในโลกปัจจุบันเสียมากกว่า”

“ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมถูกสอนให้เชื่อว่าคอมมิวนิสม์คือสังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร พวกเราเกื้อกูลทำงานกันอย่างขยันขันแข็งมีความสุข แบ่งปันผลผลิตร่วมกันอย่างเท่าเทียม แต่จริงๆ แล้วธรรมชาติมนุษย์ต่างเห็นแก่ตัวและโป้ปด พวกเขาต่างขูดรีดและขายฝันกันเป็นทอดๆ ตั้งแต่ชนชั้นนำรวยอู้ฟู่ลงมาเรื่อยถึงรากหญ้าแร้นแค้น”

“ที่เมืองจีนมีเมืองร้างเป็นร้อยๆ ที่ถูกทำลายลงอย่างที่เห็นในสารคดีของผม ในเมืองเกิดของผมก็เช่นกัน เพราะพวกเขาคิดแต่หนทางแสวงหากำไร ไม่ว่าด้วยวิธีไหนที่จะได้เงินมาเยอะๆ โดยไม่แคร์ว่าใครบ้างจะได้รับความเสียหาย หรือผลกระทบจะขยายเป็นวงกว้างไปสักแค่ไหน ผมวางแผนการทำหนังเรื่องนี้เมื่อสามปีก่อน โดยมีสองประเด็นในหัว คือธรรมชาติที่ถูกทำลาย และชาวบ้านที่ป่วยจากละอองถ่านหินที่สะสมในปอด ถ้าเป็นสารคดีทั่วไปผมคงจะเลือกที่จะไปสัมภาษณ์ชาวบ้านในเหตุการณ์ แต่ผมต้องการถ่ายทอดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของชาวบ้านด้วย พวกเขาไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะบ่นพล่ามเรียกร้องอะไรจากใครได้เลย ได้แต่ทนตรากตรำและสุขภาพถูกทำลายลงเรื่อยๆ นั่นคือเหตุผลที่ผมต้องการให้หนังเรื่องนี้ไม่มีเสียงสัมภาษณ์หรือพูดคุยของชาวเมืองเลยแม้แต่ประโยคเดียว

“ความย้อนแย้งในจีนคือ รัฐบาลประกาศดิบดีว่าจะสนับสนุนผลงานศิลปะๆ ในประเทศ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ศิลปะชั้นดีที่โลกต่างยกย่องกลับถูกรัฐบาลจีนเองนั่นแหละที่ห้ามแสดงในประเทศ หนังของผมก็เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลไม่กล้ายอมรับความจริง เพราะมีความจริงอีกมากมายที่พวกเขาซุกหมกเอาไว้ใต้พรม พวกเขาจึงชอบขายฝันขูดรีดหลอกชาวบ้านไปวันๆ แล้วเมื่อรัฐบาลรับความจริงไม่ได้ พวกเขาจะเข้าใจศิลปะได้อย่างไร ในเมื่อศิลปะคือการหยิบความจริงออกมาตีแผ่ ไม่ใช่แค่ภาพฟุ้งฝันสวยงามที่เอามาหลอกขายในนามของความดีงาม”

มีอะไรให้ขบคิดอีกมากมายเช่นเดียวกับประโยคสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ที่ว่า “นี่ไม่ใช่ความฝัน นี่คือสิ่งที่เราเป็น เราคืออสูรร้ายตนนั้น …เราคือลูกสมุนของอสูรตนนั้น”