
นายกฯ ร่วมยินดีเจรจาความตกลง RCEP ครั้งที่ 4 มุ่งยกระดับการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2563) เวลา 10.30 น. ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุมดังนี้
นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังรายงานผลความสำเร็จของการเจรจาและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง RCEP ร่วมกับผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศ และสมาชิก RCEP ได้แสดงเจตจำนงที่จะลงนามในความตกลง RCEP โดยยินดีที่ได้เห็นถึงความพยายามของประเทศสมาชิกในการเจรจาร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ซึ่งความตกลง RCEP ถือเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถ้อยแถลงว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การประชุมครั้งนี้สามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้ และจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม RCEP ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ โดยทราบดีว่าประเทศสมาชิกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความอ่อนไหวที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ และล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นายกรัฐมนตรีไทยเน้นย้ำว่า ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มาตรฐานสูง และมีนัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ พร้อมเชื่อว่า การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคและประชาชนของพวกเราได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนต่อไป
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมพิธีลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยผู้แทนจาก 15 ประเทศ ในส่วนของไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม และนายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยานในการลงนาม
อนึ่ง ในเวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 โดยในพิธี นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวถ้อยแถลง และส่งมอบค้อนประธานอาเซียนให้แก่ เอกอัครราชทูตบรูไนประจำเวียดนาม และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ทรงกล่าวถ้อยแถลงตอบ
RCEP ข้อตกลงการค้าใหญ่ที่สุดในโลก
RCEP ซึ่งถูกเสนอครั้งแรกในปี 2012 มีชาติที่ลงนามประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ทั้ง 15 ประเทศมีประชากรรวมกันถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลกและมีสัดส่วนในจีดีพีโลกถึง 29%
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจะลดอัตราภาษีในหลายด้านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนของสิงคโปร์เข้าร่วมประชุม ได้กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ยกให้การลงนาม RCEP เป็น “ก้าวสำคัญ” และแสดงความยินดีกับ 15 ประเทศที่เข้าร่วมลงนามในความตกลง
“เราบรรลุความสำเร็จครั้งสำคัญจากการลงนามข้อตกลงนี้ในวันนี้ เราใช้เวลา 8 ปี มีการประชุมเจรจา 46 ครั้งและมีการประชุมระดับรัฐมนตรี 19 ครั้งกว่าจะมาถึงวันนี้ ผมขอบคุณมากสำหรับความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของรัฐมนตรี และผู้เจรจาจากทุกประเทศที่ได้ทุ่มเทระหว่างการทำงานร่วมกัน”
“RCEP เป็นก้าวสำคัญของโลก ในช่วงเวลาที่ระบบพหุภาคีกำลังถดถอย และการเติบโตของโลกกำลังชะลอตัว” นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงกล่าว
“วันนี้จึงเป็นการเริ่มต้นของการผลักดันอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตามข้อตกลงและสนับสนุนให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้อย่างเต็มที่”
“เราได้เสียสละหลายอย่างเพื่อให้การเจรจาก้าวหน้า และเราจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อโน้มน้าวใจพลเมืองของเราว่า RCEP จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา แต่สำหรับผม RCEP มีผลบวกสำหรับเราทุกคนและจะช่วยยับยั้งกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์”
“สิงคโปร์หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับประเทศที่เข้าร่วมในการดำเนินการตามข้อตกลงที่สำคัญนี้ในเวลาที่เหมาะสม
ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับ เมื่อ 6 ประเทศในอาเซียนและ 3 ประเทศที่ไม่ใช่อาเซียนให้สัตยาบัน
RCEP จะลดภาษีและกำหนดกฎเกณฑ์ในประมาณ 20 ด้านรวมถึงการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน ข้อตกลง RCEP จะยกเลิกภาษีการนำเข้าให้กับการนำเข้า 61% จากสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จยกเลิกภาษีการนำเข้าให้กับการนำเข้า 56% จากจีนและ 49% ของการนำเข้าจากเกาหลีใต้
สำหรับการส่งออกของญี่ปุ่น ข้อตกลง RCEP คาดว่าจะลดภาษีของจีนสำหรับหอยเชลล์บางชนิดในปีที่ 11 หลังจากมีผลบังคับใช้ ลดภาษีขนมของเกาหลีใต้ในปีที่ 10 และลดภาษีที่เรียกเก็บจากเนื้อวัวบางส่วนของอินโดนีเซียทันทีหลังจากมีผลบังคับใช้ ส่วนการเก็บภาษีเหล้าสาเกและสุราของญี่ปุ่นจะถูกยกเลิกเช่นกัน
ญี่ปุ่นจะคงภาษีนำเข้าสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี เนื้อวัว และเนื้อหมู นมและน้ำตาล แต่ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรและประมง 82% ภายใต้ TPP และข้อตกลงกับสหภาพยุโรป
เรียบเรียงจาก
Asia-Pacific nations sign world’s largest trade pact RCEP
RCEP nations to sign Asian trade megadeal, with clause for India