ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อจีนเปิดเมือง โรงงานกลับมาผลิตอีกครั้ง แต่ผู้บริโภคยังหายไป

เมื่อจีนเปิดเมือง โรงงานกลับมาผลิตอีกครั้ง แต่ผู้บริโภคยังหายไป

29 เมษายน 2020


เมืองอู่ฮั่นยามกลางคืน ที่มาภาพ: https://www.chinadaily.com.cn/a/202004/15/WS5e96a683a3105d50a3d16659.html

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 นิวยอร์กไทม์รายงานว่าจีนในฐานะเศรษฐกิจอันดับสองของโลกและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญปัญหาของการใช้จ่ายที่ลดลงของผู้บริโภค และจนกว่าปัญหานี้จะหาทางออกได้ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและรวมไปถึงของโลกด้วยคงยากที่กลับมาติดเครื่องได้อีกครั้ง

ภายหลังจากที่การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไป บริษัทและหน่วยงานราชการต่างเริ่มกลับมาเปิดเมืองและเศรษฐกิจของตัวเองอีกครั้ง โรงงานต่างๆ ซึ่งต้องหยุดนิ่งไประหว่างการระบาด ได้เริ่มกลับมาเดินเครื่อง และรวมไปถึงมลพิษทางอากาศก็เริ่มกลับมาปกคลุมประเทศอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายเหมือนเดิมอีกครั้งกลับเป็นเรื่องที่ยากกว่า หลายคนสูญเสียงานและเงินเดือนถูกตัดไป รวมไปถึงอีกหลายคนที่เงินออมเริ่มร่อยหรอไปภายหลังต้องกักตัวอยู่แต่ภายในบ้านหลายอาทิตย์ กลายเป็นว่าแม้แต่คนรุ่นใหม่ของจีน ซึ่งมีค่านิยมการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนคนอเมริกา ยังหันกลับมาเน้นแนวทางการออมและประหยัดมัธยัสถ์แทน

ตัวอย่างเช่นนางสาวโคล เฉา นักแปลบทละครภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเคยใช้เงินไปกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐในร้านอาหาร 70 ดอลลาร์สหรัฐในร้านกาแฟ และอีกเกือบ 170 ดอลลาร์สหรัฐไปกับครีมทาหน้านำเข้า แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เธอต้องตกงาน เธอต้องกลับมาทำอาหารเอง ชงกาแฟดื่มเอง และซื้อครีมทาหน้าเพียง 28 ดอลลาร์สหรัฐ

“กำลังการใช้จ่ายของเธอตกฮวบลงเหมือนตกหน้าผา และเมื่อเธอหางานได้อีกครั้ง เธอจะเริ่มจากการออมเงินก่อน และคงไม่สามารถใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป”

ปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีนจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ภายหลังจากนี้ ซึ่งยังอยู่เพียงขั้นต้นของแผนการที่กลับมาเปิดเมืองและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรค แม้ว่าธุรกิจจะกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ความท้าทายที่แท้จริงกลับอยู่ที่การจูงใจและหาทางให้ผู้บริโภคที่กำลังหวาดกลัวกลับมาใช้จ่ายอีกครั้งมากกว่า

จากข้อมูลหลายส่วนเศรษฐกิจจีนกำลังกลับเข้าร่องเข้ารอยมาตั้งแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ โรงงานและเหมืองแร่ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำงานอีกครั้ง นับตั้งแต่เหมืองเหล็กกล้าจนถึงโรงงานมือถือ และกำลังการผลิตก็เด้งกลับมาที่จุดเดิมอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลอีกหลายส่วนยังชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงกระโผลกกระเผลก เช่น ยอดขายค้าปลีก ที่หดตัวลงไปกว่า 1 ใน 6 เทียบกับช่วงเดือนมีนาคมของปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับภาพถ่ายทางอากาศที่สะท้อนว่าแสงไฟในเขตอุตสาหกรรมลดลง เป็นสัญญาณว่าโรงงานหรือเขตก่อสร้างต่างๆไม่ได้ทำงานตลอดเวลาเหมือนเช่นเดิม สุดท้ายแม้แต่งานในโรงงานที่กลับมาทำงานอีกครั้งอาจจะไม่ได้เปิดต่อไปได้นานนัก หากผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ภายหลังโรคระบาดผ่านไป ไม่ซื้อหรือบริโภคสินค้าเหมือนเดิม

“ตัวเลขการว่างงานของคนเมืองของจีน ซึ่งอยู่ที่ 5.9% ในเดือนมีนาคม อาจจะเป็นตัวเลขที่เชื่อถือไม่ได้มากนัก ตัวเลขที่แท้จริงอาจจะมากกว่านี้ 2 เท่าในปีนี้ และคาดการณ์ว่าตัวเลขอาจจะสูงถึง 20% หากรวมไปถึงพื้นที่ชนบทด้วย”

ด้วยการเติบโตที่ต่อเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษโดยไม่เคยเผชิญการถดถอยของเศรษฐกิจแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้คนรุ่นใหม่ในจีนยินดีที่จะใช้จ่ายและกู้ยืมเงินเหมือนเศรษฐกิจอเมริกา อย่างไรก็ตาม จีนต้องการมาตรการใหม่ๆที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของตนเอง ภายหลังจากวิถีเดิมๆ เริ่มไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาผู้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และการขยายโครงข่ายทางสังคม หรือ Social Safety Net เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้จ่ายมากกว่าเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

ที่มา: https://www.nytimes.com/2020/04/28/business/china-coronavirus-economy.html