วันที่ 29 ธันวาคม 2559 เป็นวันสุดท้ายที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ต้องนำรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน มาส่งมอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามสัญญา แต่บริษัทเบสท์ริน ไม่สามารถส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้ ขสมก. ได้ เนื่องจากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าของบริษัทเบสท์ริน ยื่นใบขนสินค้าโดยนำใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ที่ออกโดยจากกระทรวงพาณิชย์มาเลเซีย ระบุว่า รถเมล์เอ็นจีวีลอตแรก 100 คัน เป็นรถเมล์ที่ประกอบในมาเลเซีย จึงมาขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้า ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งปกติทั่วไปเสียภาษีในอัตรา 40% ของราคานำเข้า
เนื่องจากในใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าระบุว่ารถเมล์ลอตนี้ใช้วัตถุดิบ แรงงานในประเทศมาเลเซีย รวม 90.11% กรมศุลกากรได้ตรวจสอบ โดยการส่งเจ้าหน้าที่ไปมาเลเซียเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ข้อมูลและพยานหลักฐานสรุปได้ว่า รถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีน ส่งออกจากเมืองเซี่ยงไฮ้มาที่ท่าเรือประเทศมาเลเซียได้ 2 สัปดาห์ ก่อนส่งต่อมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงทำการยึดอายัดรถเมล์ลอตนี้ พร้อมกับทำหนังสือแจ้งว่าบริษัทซุปเปอร์ซาร่ามีความผิดตามมาตรา 99 และ 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ฐานสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ หากบริษัทซุปเปอร์ซาร่าประสงค์จะนำรถออกจากด่านศุลกากรแหลมฉบัง ต้องนำเงินมาจ่ายค่าภาษีและค่าปรับรวม 370 ล้านบาท หรือนำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์มาวางเป็นประกันเทียบเท่าจำนวนค่าภาษีหรือค่าปรับ
ประเด็นดังกล่าวกำลังจะถูกส่งไปที่กรมการขนส่งทางบกและ ขสมก. โดยในวันที่ 29 มกราคม 2559 เวลา 13.00 น. บริษัทซุปเปอร์ซาร่าส่งตัวแทนมาเจรจากับกรมศุลกากร ขอนำรถเมล์เอ็นจีวี 1 คัน ออกจากด่านศุลกากรแหลมฉบัง โดยบริษัทซุปเปอร์ซาร่ายอมจ่ายเงินค่าภาษีและค่าปรับ 3.7 ล้านบาท หรือนำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารมาวางเป็นหลักประกันกับกรมศุลกากร เพื่อนำรถไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และส่งมอบให้กับ ขสมก. ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560
ในวันเดียวกันนายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงข่าวสรุปความคืบหน้าของคดีนี้ว่า ขณะนี้ บริษัทซุปเปอร์ซาร่าได้นำรถเมล์เอ็นจีวีเข้ามาจอดที่ท่าเรือแหลมฉบังแล้ว 391 คัน ที่เหลืออีก 98 คัน ยังจอดอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย สำหรับรถเมล์ที่นำเข้ามาแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก นำเข้ามา 2 เที่ยวเรือ จำนวน 100 คัน กลุ่มนี้มีการใช้ Form D เป็นเท็จประกอบการยื่นใบขนสินค้าแล้ว 1 คัน อีก 99 คัน ยื่นใบขนสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มที่ 2 นำเข้ามาแล้ว 2 เที่ยวเรือ รวม 291 คัน กลุ่มนี้ยังไม่ได้ยื่นใบขนสินค้า จึงไม่มีความผิดฐานสำแดงเท็จ แต่อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายศุลกากร กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องยื่นใบขนสินค้าต่อกรมศุลกากรภายใน 2 เดือน หากครบกำหนดแล้วไม่ยื่นใบขนสินค้า กรมศุลกากรจะทำหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้นำเข้ามายื่นใบขนสินค้าภายใน 15 วัน ครบกำหนดเวลาตามหนังสือแจ้งเตือน ผู้นำเข้าไม่มายื่นอีก ถือเป็นของตกค้าง กรมศุลกากรมีอำนาจสั่งยึดรถเมล์ลอตนี้ขายทอดตลาดได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีบริษัทยอมจ่ายเงินค่าภาษีและค่าปรับ กรมศุลกากรจะออกเอกสาร หรือที่เรียกว่า “แบบ 32” ให้ผู้นำเข้าใช้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งอย่างไร บันทึกเป็นรถเมล์ที่ผลิตในมาเลเซียหรือจีน
นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ณ วันนี้ ผู้นำเข้าขอสงวนสิทธิข้อโต้แย้งต่อกรมศุลกากร กล่าวคือ ไม่ยอมรับว่ารถเมล์ผลิตในประเทศจีนตามข้อกล่าวหาของกรมศุลกากร ยอมจ่ายค่าภาษีหรือวางประกันเพื่อนำรถเมล์ออกจากด่านแหลมฉบัง กรมศุลกากรก็ต้องใบทึกในใบขนสินค้าว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ประเด็นถิ่นกำเนิดของสินค้ายังไม่ได้ข้อยุติ ผู้นำเข้าสามารถนำแบบ 32 จากกรมศุลกากรไปขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้หรือไม่
นายชัยยุทธตอบว่า ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมการขนส่งทางบก
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าบริษัทสามารถนำไปอ้างกับกรมการขนส่งทางบกได้ไหมว่าผ่านการรับรองจากกรมศุลกากรแล้วว่าเป็นรถที่ผลิตในประเทศมาเลเซีย
นายชัยยุทธตอบว่า กรมศุลกากรก็ต้องลงบันทึกในใบขนสินค้า รถลอตนี้ยังมีปัญหาข้อโต้แย้งในเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าอยู่ ส่วนจะจดทะเบียนให้ได้หรือไม่ ต้องไปถามกรมการขนส่งทางบก ยกตัวอย่าง รถเมล์ลอตที่ 2 จำนวน 291 คัน ถ้าไม่ใช้ Form D แต่ขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมาย และอาจจะมาใช้สิทธิ์โต้แย้งภายหลัง ยอมจ่ายค่าภาษีที่อัตรา 40% ของมูลค่า เพื่อนำรถออกจากกรมศุลกากร กรณีนี้ก็ต้องบันทึกในใบขนสินค้า โดยอ้างอิงถึงใบขนสินค้าฉบับแรก (ลอต 1 คัน) อยู่ระหว่างการดำเนินคดี
นายกรีชากล่าวเสริมว่า ตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก กำหนดให้ผู้นำเข้ารถยนต์ต้องนำแบบ 32 ออกโดยกรมศุลกากรและใบเสร็จในการชำระค่าภาษีมายื่นต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อขอจดทะเบียน เป็นการรับรองว่าผู้เข้ารถยนต์ชำระภาษีถูกต้อง ในแบบ 32 ระบุหมายเลขเครื่องและหมายเลขตัวถัง ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเครื่องยนต์หรือตัวถังรถผลิตจากประเทศอะไร
หากบริษัทซุปเปอร์ซาร่านำใบเสร็จรับเงินและแบบ 32 จากกรมศุลกากรไปยื่นร้องขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้สำเร็จ ประเด็นที่จะเป็นปัญหาต่อไป คือ คณะกรรมการตรวจรับรถของ ขสมก. จะตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีคันนี้ได้หรือไม่
เนื่องจากใน TOR ข้อ 5.1 ตามข้อเสนอด้านเทคนิคกำหนดให้ผู้ประมูลงานต้องแจ้ง “คุณสมบัติและรายละเอียดด้านเทคนิคของรถเมล์ทั้งคัน และชิ้นส่วนต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศใด” ขณะที่ในสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมบำรุงรถเมล์เอ็นจีวีที่ทำกันไว้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ระหว่าง ขสมก. กับกลุ่มของบริษัทเบสท์ริน ทำข้อตกลงกันไว้ว่า “จะนำรถเมล์เอ็นจีวี ขนาด 12 เมตร ยี่ห้อ Sunlong รุ่น SLK 6129 CNG ผลิตในประเทศจีน ประกอบ ณ โรงงาน R&A Commercial Vihicles SDN BHD ประเทศมาเลเซีย” มาส่งมอบให้ ขสมก. ทั้งหมด 489 คัน แต่ข้อเท็จจริงที่กรมศุลกากรตรวจสอบพบคือเป็นรถเมล์ที่ผลิตในจีน ไม่ได้ประกอบที่โรงงานในมาเลเซีย
ผู้สื่อข่าวจึงนำประเด็นนี้สอบถามนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวนี้ ถือเป็นสาระสำคัญหรือไม่
นายพิศิษฐ์ตอบว่า “ต้องถือเป็นสาระสำคัญ มิฉะนั้นจะระบุไว้ในสัญญาซื้อ-ขายทำไม ยกตัวอย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อโซนี่ ประกอบที่ประเทศญี่ปุ่น กับประกอบที่ประเทศจีน ยี่ห้อเหมือนกัน คุณจะเลือกซื้อสินค้าผลิตจากประเทศไหน กรณีรถเมล์เอ็นจีวี กรมศุลกากรตรวจพบเป็นสินค้าที่ผลิตจีน ไม่ได้ประกอบที่มาเลเซีย ก็ต้องเสียภาษีนำเข้าแบบจีน คือเสียภาษีที่อัตรา 40% แต่ถ้านำเข้าจากมาเลเซียได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งใบเสร็จชำระเงินที่ออกโดยกรมศุลกากรถือเป็นหลักฐานของทางราชการ ชี้ให้เห็นว่ากรณีนี้อาจจะไม่ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา ประเด็นที่จะเป็นปัญหาคือ ขสมก. จะตรวจรับรถเมล์ได้หรือไม่
“ตามหลักการแล้ว ขสมก. ตรวจรับไม่ได้ เพราะจะต้องตรวจรับรถเมล์ตามเงื่อนไขของสัญญาที่ตกลงกันไว้ หากคณะกรรมการตรวจรับรถของ ขสมก. ทั้งๆ ที่รับรู้ว่ารถเมล์ลอตนี้มีปัญหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จต่อกรมศุลกากร กรณีนี้อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับทางราชการ ถามว่ารถเมล์ 100 คัน เมื่อนำเข้ามาแล้วตรวจรับไม่ได้ทำอย่างไร ผมคิดว่าไหนๆ ก็นำเข้ามาแล้ว ผู้ประมูลงานก็อาจจะยกรถเมล์ลอตนี้ให้กับ ขสมก. โดยไม่เรียกเก็บเงิน ถ้าเป็นกรณีนี้อาจไปปรับลดจำนวนรถที่ต้องส่งมอบให้ ขสมก. ตามสัญญาได้ ถือว่าทางราชการได้ประโยชน์ แต่ถ้าเรียกเก็บเงินกับ ขสมก. กระบวนการในการตรวจรับรถก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา” นายพิศิษฐ์กล่าว
นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า การแก้ไขสัญญาซื้อขายและจ้างซ้อมบำรุงรถเมล์เอ็นจีวีที่ทำไว้กับ ขสมก. จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุสุดวิสัย หรือเป็นความผิดของ ขสมก. ทำให้เอกชนส่งมอบรถไม่ได้ และที่สำคัญ การแก้ไขสัญญานั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ กรณีสัญญาซื้อขายรถเมล์เอ็นจีวีระบุว่าต้องเป็นรถที่ประกอบในมาเลเซีย ประเด็นนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่าเป็นความผิดของใคร เป็นเงื่อนไขที่ ขสมก. กำหนดขึ้นมา หรือเป็นข้อเสนอของผู้ประมูลงานเอง
[scribd id=335385617 key=key-5u6HapzpdSfysWN8UA5T mode=scroll]10 ปี 7 รัฐบาล จัดซื้อรถเมล์ NGV จาก “ทักษิณ” ถึง “ประยุทธ์”
หากย้อนรอยกลับไปดูที่มาที่ไปของ “โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV” จะพบว่าโครงการนี้เริ่มต้นในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 ให้จัดหารถใหม่และนำรถเดิมบางส่วนมาซ่อม ปรับเป็นรถ ปอ. และใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) วงเงิน 23,500 ล้านบาท
14 กุมภาพันธ์ 2549 ครม. มีมติอนุมติในหลักการตามที่คณะกรรมการบริหารของ ขสมก. มีมติอนุมัติโครงการในการประชุมเมื่อ 15 ธันวาคม 2548 ให้จัดทำโครงการรถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนรถเก่า อายุตั้งแต่ 12-16 ปี จำนวน 2000 คัน โดยคาดว่าจะช่วยประหยัดได้ 3.79 บาทต่อคันต่อกิโลเมตร หรือ 638.7 บาทต่อปี รวมทั้งอนุมติให้จัดเป็นโครงการลงทุนพิเศษของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ (โครงการลงทุนฯ) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการลงทุนฯ พ.ศ. 2549 18 เมษายน 2549 ครม. เห็นชอบตามที่เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เสนอให้เลื่อนกำหนดวันจัดส่งข้อเสนอทางเทคนิคของโครงการลงทุนฯ รอ ครม. ชุดใหม่ 23 พฤษภาคม 2549 ครม. เห็นชอบให้เจ้าของหน่วยงานโครงการลงทุนฯ ทบทวนความจำเป็นของโครงการใหม่ 6 มิถุนายน 2549 ขสมก. ทบทวนตามมติวันที่ 23 พ.ค. 2549 พบว่าการจัดซื้อรถเมล์จะช่วยประหยัดได้ 971.28 ล้านบาทต่อปีต่อรถ 2,000 คัน กระทรวงคมนาคมจึงเสนอให้ ครม. นำโครงการดังกล่าวออกจากโครงการลงทุนฯ ตามที่ ครม. เดิมได้อนุมัติไว้ สำหรับรถโดยสารที่ทดแทนแล้วให้นำไปใชประโยชน์ต่อไป ห้ามนำไปประมูลหรือนำไปใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะอีก 29 กันยายน 2552 ในสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ครม. มีมติเมื่อวันที่ เห็นชอบให้ “เช่า” รถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ก๊าซธรรมชาติ 4,000 คัน 26 เมษายน 2554 ครม. รับทราบตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 เห็นชอบจัดซื้อรถโดยสารใหม่ 1,757 คัน และให้ใช้บริการต่อรถและซ่อมบำรุงในประเทศเป็นหลัก โดยให้กระทรวงคมนาคมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอ ครม. โดยด่วนต่อไป 11 ตุลาคม 2554 ในสมัยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ครม. มีมติให้กระทรวงคมนาคมกับ ขสมก. จัดทำแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและบริการระบบขนส่งมวลชน โดยรับความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนเสนอ ครม. ใหม่อีกครั้ง 20 มีนาคม 2555 ในสมัยของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ครม. มีมติให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ให้แล้วเสร็จ โดยอาจจะแบ่งเป็นระยะๆ และสามารถนำโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนเสนอก่อนก็ได้ 8 พฤษภาคม 2555 กระทรวงคมนาคมเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติให้ ขสมก. ซื้อรถโดยสารสาธารณะใช้ก๊าซธรรมชาติ 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท แต่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี สั่งให้เสนอคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจพิจารณาก่อนนำให้ ครม. พิจารณาต่อไป 4 กรกฎาคม 2555 คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ มีมติเห็นชอบในหลักการแผนฟื้นฟูฯ และการจัดหารถโดยสาร โดยให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณรับผิดชอบเรื่องงบประมาณและแหล่งเงิน 28 มีนาคม 2556 ในสมัยของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. เห็นชอบให้นำเรื่องเสนอ ครม. ตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ 9 เมษายน 2556 ครม.อนุมัติให้ขสมก. กู้เงินในวงเงิน 13,162 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้พร้อมค้ำประกัน ขณะเดียวกันให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาความคุ้มค่ากรณีมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับรถธรรมดาเป็นรถปรับอากาศ การปรับเส้นทางเดินรถ ค่าโดยสาร ฯลฯ และต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ครม.รับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมและขสมก.เสนอมาว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องปรับโครงการตามที่ครม.มีมติให้ไปศึกษาความคุ้มค่า 8 กรกฎาคม 2557 ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คสช.มีมติให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาเปรียบเทียบข้อดี/ข้อเสียระหว่างการซื้อและการเช่ารถโดยสารสาธารณะ และรายงานให้คสช.ทราบโดยเร็ว 2 ธันวาคม 2557 ครม.เห็นชอบตามรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ของโครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติของขสมก. 20 มกราคม 2558 ครม.มีมติรับทราบให้ใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาบังคับใช้กับโครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติลอตแรก 489 คันของขสมก.เป็นโครงการนำร่องตามที่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) นำเสนอ 13-21 มกราคม 2558 ขสมก.ประกาศขายซองประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) ครั้งที่ 1 จำนวน 489 คัน วงเงิน1,784.85 ล้านบาท 29 มกราคม 2558 ขสมก.ประกาศยกเลิกการประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) ครั้งที่ 1 จำนวน 489 คัน เนื่องจากผู้เสนอราคา เสนอรายละเอียดแตกต่างไปจากร่าง TOR ที่เป็นสาระสำคัญ 19-27 กุมภาพันธ์ 2558 ขายซองประกวดราคาประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน (ครั้งที่ 2) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 6 มีนาคม 2558 กำหนดยื่นเอกสารประกวดราคาและให้ผู้ประมูลงานร่วมลงนามข้อตกลงคุณธรรม มีบริษัทมายื่นข้อเสนอ 3 ราย ได้แก่ บริษัท เบสทริน กรุป จํากัด, บริษัท ซีเอ็น แมเนจเมนท (ไทยแลนด) จํากัด และ บริษัท บานโปงบัสบอดี้ จํากัด 16 มีนาคม 2558 ขสมก.ประกาศยกเลิกประกวดราคาประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน (ครั้งที่ 2) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากผูประสงคจะเสนอราคามีคุณสมบัติไมครบถวน ขอเสนอทางดานเทคนิคไมเปนไปตามเงื่อนไขที่ กําหนดไวในเอกสารประกวดราคาที่เปนสาระสําคัญ 23-26 มีนาคม 2558 ขสมก.ประกาศประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน (ครั้งที่ 3) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 3 เมษายน 2558 มีผู้สนใจเสนอรายชื่อ 5 ราย แต่มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 2 รายได้แก่กลุ่มบริษัทร่วมค้า JVCC ที่มีบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เบสทริน กรุป จํากัด 3 เมษายน 2558 ขสมก.ประกาศราคากลางจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน วงเงิน 2,446.35 ล้านบาท ด้วยวิธีพิเศษ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการว่าจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน ซึ่งจะเจรจากับผู้ชนะการประกวดราคาตามโครงการประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน (ครั้งที่ 3) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 27 กรกฎาคม 2558 ประกาศผู้ชนะการประมูลและเจรจาซ่อมบำรุงภายหลังจัดประกวดราคาโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558 ว่ากลุ่มบริษัทร่วมค้า JVCC ที่มีบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำ เสนอราคาที่ 1,850 บาทต่อคันต่อวัน ต่ำกว่าราคากลาง 1,636 บาทต่อคันต่อวัน และได้ต่อรองลงมาเท่ากับราคากลาง หรือเท่ากับ รวมวงเงิน1,735.55 ล้านบาท ขณะที่ ขสมก.เจรจาค่าซ่อมบำรุงรวม 10 ปี 2,286.31 ล้านบาท 18 พฤศจิกายน 2558 บอร์ดขสมก.มีมติยกเลิกการประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน(ครั้งที่ 3) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของ TOR และต้องการให้การประมูลโครงการดังกล่าวมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ 23-27 พฤษภาคม 2559 ขสมก.ประกาศการประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ วงเงิน 4,021.71 ล้านบาท โดยมีผู้ซื้อซองประกวดราคา 11 ราย และมายื่นซองประกวดราคาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 3 รายได้แก่ กลุ่มบริษัทร่วมค้า JVCC ที่มีบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทย เทคโนโลยี แอนด์ เดเวลลอปเมนท์ จํากัด และ บริษัท เบสทริน กรุป จํากัด 23 มิถุนายน 2559 ขสมก.ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 2 รายได้แก่ กลุ่มบริษัทร่วมค้า JVCC ที่มีบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เบสทริน กรุป จํากัด ก่อนจะเข้าไปประกวดราคาในวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 8 สิงหาคม 2559 ขสมก.ประกาศผู้ชนะการประมูลฯว่าบริษัท เบสทริน กรุป จํากัด เสนอราคาต่ำสุดที่ 3,389.71 ล้านบาท และลงนามสัญญาจัดซื้อเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 และมีกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559