ThaiPublica > คนในข่าว > “สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผอ.ขสมก. แจงปมร้อนตรวจรับรถเมล์ NGV ยันต้องปฏิบัติตาม”สัญญา” จี้กรมศุลตอบกรณี ” รีมาร์ก”

“สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผอ.ขสมก. แจงปมร้อนตรวจรับรถเมล์ NGV ยันต้องปฏิบัติตาม”สัญญา” จี้กรมศุลตอบกรณี ” รีมาร์ก”

25 มกราคม 2017


เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 เวลา 13.00 น. บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ส่งตัวแทนติดต่อศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ขอนำรถเมล์เอ็นจีวีล็อตที่ 2 จำนวน 291 คัน  ผ่านพิธีการศุลกากร
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 เวลา 13.00 น. บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ส่งตัวแทนติดต่อศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ขอนำรถเมล์เอ็นจีวีล็อตที่ 2 จำนวน 291 คัน ผ่านพิธีการศุลกากร

กรณีการไม่สามารถส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้ขสมก.หรือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ตามสัญญาในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 เนื่องจากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี ถูกกรมศุลกากรสั่งอายัดรถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน พร้อมตั้งข้อกล่าวหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ หากประสงค์จะนำรถเมล์ลอตนี้ออกจากด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง บริษัทซุปเปอร์ซาร่าต้องจ่ายภาษีและค่าปรับ 2 เท่า หรือวางหลักประกันเทียบเท่าวงเงินค่าภาษีและค่าปรับก่อนนำรถออกจากกรมศุลกากร

หลังจากที่ต้องจ่ายค่าปรับเพราะส่งมอบไม่ได้ตามสัญญาบริษัทซุปเปอร์ซาร่า ปรับเปลี่ยนวิธีการนำรถเมล์เอ็นจีวี 389 คันผ่านพิธีการศุลกากรต่างจากลอต 100 คัน โดยมายื่นใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมกับสำแดงถิ่นเนิดรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ว่าผลิตจากประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ได้ยื่นใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า(Form D)บริษัทซุปเปอร์ซาร่าจึงขอใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนภาษีตามมาตรา 10 วรรค 5 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยยอมจ่ายภาษีอัตรา 40% ของมูลค่า (อัตราทั่วไป) เพื่อนำรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก

เมื่อจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกเรียบร้อย มาสู่ขั้นตอนของการตรวจรับรถ ขณะที่กรมศุลกากรแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่ารถเมล์เอ็นจีวี 389 คัน ยังมีปัญหาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้บันทึกหมายเหตุ (Remark) ดังกล่าวนี้ลงในใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อทำการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าว่ามาจากแหล่งใด ซึ่งผลการตรวจสอบดังกล่าวอาจจะมีผลต่อสัญญาที่บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป ได้ทำไว้กับขสมก. ปมเรื่องนี้จึงเป็นปมร้อนของคณะกรรมการตรวจรับรถของ ขสมก. สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งได้ตอบคำถามในประเด็นต่างๆดังนี้

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

“ผมทำหนังสือไปถามอัยการสูงสุด ทั้งลอต คือ 489 คัน ไม่ได้ถามเฉพาะ 100 คันตามที่ถูกกรมศุลกากรมีคำสั่งอายัด หากไปดูคำถามที่ผมเขียนไปถามอัยการสูงสุด ข้อ 2 ระบุว่า ใน TOR โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีพร้อมซ่อมบำรุงรักษารถเมล์จำนวน 489 คัน กำหนดคุณลักษณะเอาไว้กว้างๆ ว่าเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากต่างประเทศหรือจะเป็นรถที่ประกอบในประเทศไทยก็ได้ ขณะที่ในสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ข้อ 2 ระบุว่า ผู้ขายต้องนำรถยี่ห้อ Sunlong ผลิตจากประเทศจีน ประกอบที่โรงงานประเทศมาเลเซีย มาส่งมอบ ขสมก. ถือว่าข้อความดังกล่าวขัดแย้งกันหรือไม่ และ ขสมก. สามารถตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ได้หรือเปล่า จากข้อความที่เขียนไปถามอัยการสูงสุด ในข้อ 2 สรุปว่าผมทำหนังสือสอบถามครบทั้ง 489 คัน ไม่ได้ถามแค่ 100 คัน”

ส่วนกรณีกรมศุลกากรออกมาแถลงข่าว 2 ครั้ง ยืนยันเป็นรถประกอบในจีน ผมไม่เถียง แต่ผมจะเอาหลักฐานที่ไหนมายืนยันว่าเป็นรถประกอบในประเทศจีน ผมก็อ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี รายงานข่าวกันว่ามีหลักฐานเป็นรถเมล์เอ็นจีวีที่ประกอบในประเทศจีน แต่ผมก็ไม่ได้ยินสักประโยคเดียวว่าผลิตที่จีน 100% แถมยังออกหนังสือราชการให้ผู้นำเข้าไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกด้วย ข้อมูล ณ วันที่ 21 มกราคม 2560 ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ากรมการขนส่งทางบกจะทะเบียนรถเมล์เอ็นจีวีแล้ว 100 คัน

ไทยพับลิก้า: กรณีกรมศุลกากรแถลงข่าวยืนยันเป็นรถเมล์นำเข้าจากจีน ขสมก. จะตรวจรับรถได้หรือไม่

ตอนที่กรมศุลกากรแถลงข่าว ผมก็ไม่เคยเห็นหลักฐานใบขนสินค้าขาออก ผมขอถามคุณกลับว่าคุณเคยเห็นหลักฐานชิ้นนี้หรือไม่ คุณบอกว่าไม่เคยเห็น ผมเองก็ไม่เคยเห็น ทั้งสื่อและผมก็ไม่เคยเห็นหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นรถเมล์ประกอบในจีน ผมจะเอาหลักฐานที่ไหนมายืนยันกับคู่สัญญา เพื่อปฏิเสธการตรวจรับรถ

ไทยพับลิก้า: ถ้าผลการตรวจสอบว่าเป็นรถผลิตในจีน ถือว่าไม่ตรงตามสัญญา แต่ ขสมก. ตรวจรับรถแล้วทำอย่างไร

วันนี้ถ้าเราพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นมาเลเซียหรือจีน แต่ถ้าวันข้างหน้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นรถเมล์ผลิตในจีน ก็ถือว่าเขาทำผิดสัญญา ซึ่งมีอายุ 10 ปี เราก็บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในสัญญา วันนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นจีนหรือมาเลเซีย แต่สัญญามันยังเดินอยู่

ไทยพับลิก้า: กระบวนการตรวจรับ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า ถือว่ามีความเสี่ยงหรือไม่

หากข้อมูลหลักฐานไม่ชัดเจน ผมไม่ตรวจรับได้ ผมขอถามคุณกลับว่าแล้วเมื่อไหร่จะชัดเจน 1 เดือน 3 เดือน หรืออีก 4 ปี เหมือนกรณีการนำเข้ารถดับเพลิงหรือไม่ อย่าไปมองด้านเดียว ต้องมองให้ครบองค์ประกอบ และที่ถามผมว่าตรวจรับรถในสภาวะแบบนี้มีความเสี่ยงหรือไม่ ก็ต้องมองอีกมุมหนึ่ง และถ้าผมไม่ตรวจรับมีความเสี่ยงหรือไม่ จะโดนคู่สัญญาฟ้องไหม อย่ามองด้านเดียว ผู้บริหารที่ดีต้องมองให้ครบทุกมิติ

“หลักในการตรวจรับรถของผม คือ ผมจะปฏิบัติตาม TOR และสัญญาอย่างเคร่งครัด จะนำเข้ามาจากประเทศไหนในโลกนี้เป็นเรื่องของเขา เสียภาษีกี่เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของเขา ถูกไหม แต่ถ้ารถเมล์ไม่ตรงตาม TOR ไม่ตรงตามเงื่อนไขของสัญญา ผมไม่ตรวจรับ”

คุณทราบหรือไม่ TOR จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ยกตัวอย่าง ในประกาศองค์การเกี่ยวกับการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี เอกสารภาคผนวก 10 ที่อยู่ใน TOR ท่อนนี้ถูกนำมาบรรจุอยู่สัญญาด้วย นอกจากนี้ สัญญาข้อที่ 3 ยังระบุว่าเอกสารเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาทุกภาคผนวก แม้แต่แคตตาล็อกก็ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องทำหนังสือไปสอบถามอัยการสูงสุดว่าใน TOR กำหนดคุณสมบัติรถเมล์ที่จะมาส่งมอบเอาไว้กว้างๆ แต่ในสัญญาระบุว่าต้องเป็นรถเมล์ที่ประกอบในมาเลเซีย ข้อความดังกล่าวขัดแย้งกันหรือไม่ ดังนั้น ในการตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีต้องตรวจรับตามเงื่อนไขทั้งที่กำหนดใน TOR และสัญญาด้วย

ไทยพับลิก้า: กรณีบริษัทซุปเปอร์ซาร่าถูกกรมศุลกากรตั้งข้อหาสำแดงเท็จ ถือว่าบริษัทเบสท์รินฯ ทำผิดสัญญาคุณธรรมด้วยหรือไม่

ผมปฏิบัติตามสัญญาคุณธรรมทุกข้อ ไม่มีข้อไหนที่ผมไม่ปฏิบัติ ผมลงนามในสัญญาคุณธรรมกับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป แต่ผมไม่ได้ลงนามกับบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด คุณกำลังให้ผมไปตรวจสอบบริษัทซุปเปอร์ซาร่าซึ่งเป็นคู่สัญญาของบริษัทเบสท์รินฯ ตรงนี้มันไม่เกี่ยวกับผมน่ะ สมมติว่าบริษัทซุปเปอร์ซาร่าถูกโรงงานที่ประเทศมาเลเซียหลอก ผมต้องไปตรวจโรงงานที่มาเลเซียด้วยหรือไม่ และถ้าจีนหลอกมาเลเซียมาอีกทอดล่ะ ผมต้องเดินทางไปตรวจสอบที่ประเทศจีนด้วยหรือเปล่า แต่วันนี้ผมตรวจสอบบริษัทเบสท์รินฯ ครบถ้วนทั้งหมดแล้ว มีข้อไหนที่ผมยังไม่ได้ทำ ช่วงที่เปิดประมูลงานก็มี ดร.ต่อตระกูล ยมนาค มานั่งสังเกตการณ์ และยังทำรายงานมาให้ผมดู ไม่เห็นมีคำถามอะไรเลย

ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมา ขสมก. ทำหนังสือไปขอข้อมูลจากกรมศุลกากรหรือไม่

ผมสอบถามกรมศุลกากรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล

ไทยพับลิก้า: กลัวหรือไม่ หากตรวจรับรถเมล์ไปแล้วทราบภายหลังว่าไม่ตรงตามเงื่อนไขของสัญญา

ผมไม่ได้บอกว่าผมไม่กลัว และผมก็ไม่ได้บอกว่าผมกลัว แต่ผมต้องทำหน้าที่ สัญญาต้องเป็นสัญญา TOR เป็น TOR ผมปฏิบัติตามกฎหมายทุกข้อ

ไทยพับลิก้า: ขสมก. มีทางออกเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เช่น ตรวจรับไปก่อน แต่ชะลอจ่ายเงินจนกว่าจะได้คำตอบชัดเจน

ผมคิดว่าวิธีนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่จะชะลอการจ่ายเงินนานแค่ไหน ตาม TOR กำหนด ต้องจ่ายเงินภายใน 30 วัน ภายหลังการรับมอบรถเอ็นจีวี หากชะลอการจ่ายเงินออกไปเป็น 45 วัน อย่างนี้ก็พอฟังได้ แต่ถ้าชะลอออกไป 7 เดือน ถ้าเป็นคุณ คุณรับได้หรือไม่ อย่ามองด้านเดียว ผมทำหนังสือสอบถามอัยการสูงสุดไปทั้งหมด 489 คัน ไม่ได้ถามแค่ 100 คัน

ไทยพับลิก้า: ถามอัยการสูงสุดทั้งหมด 489 คัน แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดกรณีนำรถเมล์ถูกกรมศุลกากรรีมาร์กเรื่องถิ่นกำเนิดมาส่งมอบ ขสมก. จะตรวจรับรถได้หรือไม่

ผมไม่ใช่กรมศุลกากร ผมไม่รู้หรอก รีมาร์กในใบขนสินค้าตรงไหน ผมก็ยังไม่เคยเห็นใบขนสินค้าที่ถูกรีมาร์ก และเท่าที่ผมได้ยินมา ในใบขนสินค้าไม่ได้บันทึกว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน แต่เขียนว่ารีมาร์กถิ่นกำเนิดไม่ใช่มาเลเซีย ทำไมคุณไม่ไปถามกรมศุลกากรบ้าง แบบที่ถามผม มันรีมาร์กตรงไหน ขอดูหน่อย คุณไม่เคยถามกรมศุลกากร

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ ขสมก. ไม่ได้รับหลักฐานอะไรจากกรมศุลกากร

ถ้ามีผมจะมาขอคุณทำไม คู่สัญญากำลังจะนำรถเมล์เอ็นจีวีโดยมีหลักฐานเป็นรถเมล์ที่ผลิตจากมาเลเซียมาส่งมอบให้ผม หากสื่อมวลชนมีใบขนสินค้าขาเข้าที่ถูกกรมศุลกากรรีมาร์กช่วยส่งให้ผมหน่อย อย่างกรณีที่ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวนี้ ถ่ายหนังสือที่ ขสมก. เขียนไปถามอัยการสูงสุดลง ถ่ายรูปคณะกรรมการตรวจรับรถเมล์ลง แต่ทำไมไม่ถ่ายรูปใบขนสินค้าขาเข้าที่ถูกกรมศุลกากรรีมาร์กลงไปด้วย นั่นก็เพราะว่าคุณไม่มี ผมเองก็ไม่มี นี่คือการจินตานาการจากคำพูดที่แหล่งข่าวเขาบอกคุณใช่ไหม

ผมขอถามคุณต่อ ผมจะได้คำตอบจากกรมศุลกากรเมื่อไหร่ว่าเป็นรถเมล์ที่ประกอบในจีนหรือมาเลเซีย ถ้าได้คำตอบพรุ่งนี้ผมจะดีใจมาก ซึ่งผมคิดว่าคงจะใช้เวลาในการตรวจสอบหลายเดือน แต่ตอนนี้คู่สัญญากำลังจะนำรถมาส่งมอบ ขสมก. แล้ว และผมจะอ้างเหตุผลอะไรที่จะไม่ตรวจรับรถเมล์ และที่สำคัญ ถ้าใบขนสินค้าขาเข้าที่ถูกกรมศุลกากรรีมาร์กเอาไว้ บริษัทซุปเปอร์ซาร่าก็ต้องมีถูกไหม ดังนั้น ในวันที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด นำรถเมล์มาส่งมอบ ผมจะขอดู ถ้าใบขนสินค้าขาเข้าระบุว่าเป็นรถผลิตในจีน ผมไม่ตรวจรับ

“ในทางตรงข้าม พวกคุณคิดกันในมุมเดียวว่าจะต้องเป็นรถประกอบในจีน หากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่าเป็นมาเลเซีย ผมไม่ตรวจรับ ผมผิดหรือไม่ คิดอีกมุมหนึ่งด้วย คุณถามผมว่าถ้าเป็นจากจีน และ ขสมก. ไปตรวจรับจะมีปัญหาหรือไม่ ผมจึงต้องถามคุณกลับ และถ้าเป็นรถจากมาเลเซีย ขสมก. ไม่ตรวจรับจะมีปัญหาหรือไม่ หากวันหนึ่งข้างหน้าผมต้องไปขึ้นศาล ผมก็จะชี้แจงต่อศาลว่าผมทำตามสัญญา ผมทำตาม TOR และพยานหลักฐานที่ปรากฏ ณ ขณะตรวจรับรถ คุณจะให้ผมไปมองเห็นอนาคตได้อย่างไร เอกสารหลักฐานที่นำมาแสดง ณ วันส่งมอบรถเมล์เป็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันไปตามนั้น”

ไทยพับลิก้า: หากกรมศุลกากรตรวจสอบตามที่รีมาร์กแล้วพบว่าไม่ใช่รถมาเลเซียจะเกิดอะไรขึ้น

ตัวรถไม่ได้ผิด ผิดที่เรื่องภาษี กรมศุลกากรก็ต้องไปติดตามจัดเก็บภาษีค่าปรับให้ถูกต้อง กรมศุลกากรไม่ต้องการรถเมล์น่ะ กรมศุลกากรได้เงินค่าภาษีไปแล้ว จึงทำการตรวจปล่อยรถเมล์ออกมา หากวันหนึ่งข้างหน้าตรวจพบว่าไม่ถูกต้องก็ไปเรียกร้องค่าภาษีภายหลังได้ เขาไม่ต้องการรถเมล์กลับไปแล้ว และ ขสมก. ก็ไม่เกี่ยวกับค่าภาษี

“ผมจะบอกให้นะ ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมาคิดกันว่าจะแก้ไขอย่างไร ทางออกของผมคือปฏิบัติตามสัญญา ปฏิบัติตาม TOR อย่างเคร่งครัด บนจุดที่ผมมีข้อมูล มีเอกสารมากที่สุด ณ ขณะเวลานั้น ผมไม่สามารถบอกศาลได้ว่าผมไม่ตรวจรับรถ เพราะผมคิดว่าวันนั้นจะเป็นอย่างนี้ ศาลก็จะถามผมทำไมไม่คิดว่าเป็นอย่างอื่นบ้าง ผมจะคาดการณ์ได้อย่างไรว่าวันหนึ่งข้างหน้าคุณจะเป็นเจ้าของ นสพ. แห่งนี้ และทำไมผมไม่คาดการณ์ว่าเขาจะไม่ให้คุณทำงาน ในโลกนี้มันมี 2 มุม ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าจะตรวจรับตามสัญญาและ TOR อย่างเคร่งครัด ส่วนที่เป็นประเด็นข่าวขึ้นมาเราก็รับฟัง แต่เราไม่มีหลักฐานตามที่ปรากฏเป็นข่าว เราจึงจำเป็นต้องตรวจรับรถเมล์ตามเอกสารที่หามาได้ทั้งหมด ทั้งกรณีเขายื่นมาให้ผม และผมไปหามาเอง แต่ถ้าผมไม่มีเอกสารหลักฐาน ผมก็ไม่รู้จะไปเอาจากไหน”

กรมการขนส่ง

ยกตัวอย่าง การนำรถเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทย ตามระเบียบกรมการการขนส่งทางบก จะขอดูใบรับรองการนำเข้า ตามแบบ 32 ฉบับจริงที่ออกโดยกรมศุลกากร ในแบบ 32 ไม่ได้ระบุว่าเป็นรถเมล์มาจากจีนหรือมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ในใบขนสินค้าขาเข้า ระบุถิ่นกำเนิดสินค้าว่าเป็นรถที่ผลิตในมาเลเซีย แต่เมื่อถึงวันที่ส่งมอบรถ ผมก็ต้องขอดูว่าตรงไหนที่ระบุเป็นรถนำเข้าจากจีน ขณะนี้ทางกรมการขนส่งทางบกส่งมาให้ผมดูตามที่ผมร้องขอไปทั้งหมดแล้ว ประกอบด้วย ใบรับรองการนำเข้า แบบ 32 ฉบับจริง, ภาพถ่ายใบขนสินค้าขาเข้า, บัญชีแสดงสินค้า (Invoice), ใบเสร็จรับเงินค่าอากรขาเข้า, หนังสือมอบอำนาจ, สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจและผู้มอบอำนาจ และหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทออกไม่เกิน 6 เดือน

กรมการขนส่งทางบกต้องการเอกสารเหล่านี้เพื่อใช้ในการจดทะเบียน ไม่ว่าจะนำเข้ามาจากประเทศไหน หากมีเอกสารครบก็ต้องจดทะเบียนให้ แต่สำหรับ ขสมก. ต้องขอดูเอกสารจากคู่สัญญาว่านำเข้ามาจากประเทศไหน ทั้งใบขนสินค้าขาเข้าและแบบ 32 ที่ผมขอมาจากกรมการขนส่งทางบก ถือเป็นเอกสารราชการใช่ไหม ผมขอมาดูและถ้าผมยึดตามที่ระบุในใบขนสินค้าขาเข้า ผมจะผิดหรือไม่ หากระบุว่ามีถิ่นกำเนินในจีน ผมไม่ตรวจรับ รีมาร์กก็ขอดูด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น

ไทยพับลิก้า: ขสมก. ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ต้องกู้ธนาคารมาจ่ายเงินเดือนพนักงานข้อเท็จเป็นอย่างไร

ไม่จริง ขสมก. ไม่ได้กู้เงินจากแบงก์มาจ่ายเงินเดือน แต่กู้แบงก์มาจ่ายค่าซ่อม ค่าน้ำมัน อันนี้เป็นเรื่องจริง สาเหตุเพราะ ขสมก. คิดค่าโดยสารต่ำกว่าราคาต้นทุนที่แท้จริง แม้จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแต่ก็ไม่เพียงพอ

ปัจจุบันรถเมล์ที่วิ่งอยู่ในปัจจุบัน 2,700 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถเมล์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 20 ปี ประมาณ 90% ของจำนวนรถเมล์ที่มีอยู่ทั้งหมด ที่ถูกปลดระวางไปแล้ว 700 คัน แต่ละปีจึงมีภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาจำนวนมาก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้างถนนหนทางและรางรถไฟไปหลายแสนล้านบาท แต่ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยซื้อรถเมล์สักคันเลย

ไทยพับลิก้า: ทิศทางการใช้พลังงานของโลกเปลี่ยน หลายประเทศหันไปใช้รถไฟฟ้า ขสมก. ปรับตัวอย่างไร

อนาคต ขสมก. จะซื้อรถเมล์ไฟฟ้า สำหรับรถเมล์ที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือ NGV เป็นเชื้อเพลิง เราเอาแค่นี้พอ อนาคตจะหันไปซื้อรถเมล์พลังงานทดแทน