ThaiPublica > เกาะกระแส > “ซุปเปอร์ซ่าร่า” อ่วม! กรมศุลฯ ประเมินภาษี-ค่าปรับ “รถเมล์เอ็นจีวี” 1,000 ล้าน ฐานแจ้งถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ หวังสวมสิทธิอาฟตา-เว้นอากร

“ซุปเปอร์ซ่าร่า” อ่วม! กรมศุลฯ ประเมินภาษี-ค่าปรับ “รถเมล์เอ็นจีวี” 1,000 ล้าน ฐานแจ้งถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ หวังสวมสิทธิอาฟตา-เว้นอากร

14 ธันวาคม 2016


เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงผลการตรวจสอบการนำเข้ารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงผลการตรวจสอบการนำเข้ารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร

กรณีพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (รถเมล์เอ็นจีวี) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) จำนวน 489 คัน กลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกรมศุลกากรมีประเด็นข้อสงสัย รถเมล์ที่นำเข้ามาในประเทศไทยลอตแรก 100 คัน โดยบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด แจ้งแหล่งกำเนิดสินค้าไม่ถูกต้อง (Form D) เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งปกติต้องเสียภาษีในอัตรา 40% ของราคานำเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงทำการอายัดรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเดินทางไปมาเลเซีย ตรวจสอบรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ว่า ใช้วัตถุดิบ อะไหล่ ชิ้นส่วน และแรงงานที่มาเลเซีย รวมกันเกิน 40% ของราคาต้นทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือไม่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงผลการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกรถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อ SUNLONG รุ่น SLK6129CNG YEAR 2016 จากประเทศมาเลเซีย พบว่า บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด เป็นผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีจากประเทศมาเลเซียทั้งหมด 5 เที่ยวเรือ คือ เที่ยวละ 1 คัน, 99 คัน, 145 คัน, 146 คัน และ 98 คัน รวมทั้งสิ้น 489 คัน สามารถแบ่งได้ออก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จำนวน 100 คัน กลุ่มนี้ผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มบ้างแล้ว และกลุ่มที่ 2 จำนวน 389 คัน ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร

จากการตรวจสอบเส้นทางการขนส่งรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ พบว่า ก่อนหน้าที่ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD จะส่งรถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวมาประเทศไทยได้มีการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีชนิดเดียวกันมาจากประเทศจีน โดย NORINCO NEW ENERGY CO., LTD. ระบุชื่อผู้ซื้อที่มาเลเซีย คือ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD และพบสินค้านำเข้าเป็นรถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งมีจำนวน ราคา และน้ำหนักตรงกันกับที่บริษัท R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD ส่งมายังประเทศไทย มีรายการหมายเลข Chassis หมายเลขเครื่องยนต์ตรงกัน รวมทั้งแสดงราคาต่อหน่วยและน้ำหนักต่อหน่วยเท่ากัน

นายกุลิศกล่าวว่า กรณีกลุ่มที่ 1 จึงเป็นการสำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จ มีความผิดตามมาตรา 99 และ 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ส่วนกรณีกลุ่มที่ 2 ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากผู้นำเข้ายังไม่ได้ยื่นเอกสารการนำเข้าต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมศุลกากรได้ชี้แจงให้กับบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด รับทราบ และบริษัทฯ ยอมรับว่ามีความเข้าใจที่ผิดพลาดในข้อมูลการนำเข้าจากบริษัทผู้จำหน่ายในมาเลเซีย จึงแถลงข่าวในครั้งแรกตามข้อมูลที่ได้รับ เมื่อรับทราบข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทฯ ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากรทุกประการ ซึ่งตนได้แจ้งต่อบริษัทว่าหากบริษัทมีความประสงค์จะชำระค่าภาษีหรือวางเงินประกัน และมีเอกสารพร้อม สามารถดำเนินการได้ที่กรมศุลกากรหรือสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ทางกรมศุลกากรก็พร้อมที่จะตรวจปล่อยรถเมล์เอ็นจีวีได้ภายใน 1-2 วัน (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thaipublica-รถเมล์เอ็นจีวี

นายกุลิศกล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการส่งออกรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ ดำเนินการส่งออกจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มาที่ประเทศมาเลเซีย และอยู่ที่ท่าเรือประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนจะส่งมายังประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหมายเลข Chassis หมายเลขเครื่องยนต์แล้ว ปรากฏว่ามีหมายเลขตรงกันทั้งหมด สรุปก็คือ รถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ไม่ได้ประกอบในประเทศมาเลเซีย จึงเป็นการแจ้งถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ เพื่อขอยกเว้นภาษี บริษัทซุปเปอร์ซ่าร่าต้องชำระค่าภาษีและค่าปรับให้กรมศุลกากร 370 ล้านบาท หรือวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มจำนวน ก่อนที่จะนำรถเมล์ออกจากอารักขาของกรมศุลกากร

กลุ่มที่ 2 จำนวน 389 คัน ส่งมาที่ท่าเรือแหลมฉบังแล้ว 2 เที่ยวเรือ คือเที่ยวละ 145 คัน และ 146 คัน ตามลำดับ และกำลังจะมาถึงอีก 98 คัน กลุ่มนี้บริษัทซุปเปอร์ซ่าร่าไม่ได้ยื่นใบรับรองสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้า ย่อมชำระค่าภาษีในอัตราทั่วไป คือ เสียภาษีนำเข้าในอัตรา 40% ของราคา และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7%

“ยืนยันว่างานนี้เจ้าหน้าที่ศุลกากร ไม่ได้รับส่วนแบ่งเงินสินบนรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เงินทุกบาท ทุกสตางค์ ที่ผู้นำเข้าจ่ายให้กรมศุลกากร ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด และจากการหารือกับบริษัทในช่วงเช้า ทางบริษัทฯ ยอมชำระค่าภาษีให้กับกรมศุลกากร ส่วนค่าปรับอ้างว่าตัวแทนจำหน่ายในประเทศมาเลเซียเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อมูลการนำเข้า ในส่วนนี้บริษัทอาจจะไปเรียกค่าเสียหายจากตัวแทนจำหน่าย ก็ต้องไปว่ากันเอง แต่บริษัทต้องนำเงินมาจ่ายให้กับกรมศุลกากร หรือนำหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันมากกว่าค่าภาษีและค่าปรับที่ต้องชำระ บริษัทจึงจะนำรถออกไปได้ ซึ่งบริษัทขอเวลา 2 วัน จะไปหาเงินหรือหลักประกันมาวางต่อกรมศุลกากร รวม 2 กลุ่มเกือบ 1,000 ล้านบาท” นายกุลิศกล่าวทิ้งท้าย