ThaiPublica > คอลัมน์ > อาเซียนกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน

อาเซียนกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน

21 มีนาคม 2017


Hesse004

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2559 เนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดงานเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “กรรมสนองโกง” ณ บริเวณท้องสนามหลวง

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 จนถึงปี 2016 สถานการณ์ความโปร่งใสในภูมิภาคอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการพัฒนาอยู่

หากจะว่าไปแล้ว การจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชันภายในกลุ่มอาเซียนสามารถจำแนกออกเป็นได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ กล่าวคือ

กลุ่มแรก มีการจัดการปัญหาคอร์รัปชันในระดับดีมากถึงดี สามารถควบคุมปัญหาคอร์รัปชันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งร้ายลุกลามกัดกินประเทศได้ ประเทศดังกล่าว ได้แก่ สิงคโปร์ ค่าคะแนน CPI ล่าสุด ปี 2016 เท่ากับ 84 จาก 100 บรูไน ได้ 58 และมาเลเซีย ได้ 49 คะแนน (ดูตารางประกอบ)

กรณีมาเลเซีย ดูเหมือนจะก้าวข้ามปัญหาการคอร์รัปชันระดับหนึ่งไปได้แล้ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์ 1MDB ที่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค พัวพันเต็มๆ ทำให้ค่า CPI มาเลเซีย ไม่ขยับเท่าที่ควร

สำหรับกลุ่มที่ 2 กลุ่มนี้ คือ กลุ่มกลางๆ มีการจัดการปัญหาคอร์รัปชันในระดับพอใช้ ถูไถกันไปได้ มีการวางโครงสร้างการป้องกันปัญหาไว้ตามมาตรฐานสากล แต่ยังอ่อนแอในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ตีความกันวุ่นวาย จนทำให้การแก้ปัญหาขาดความชัดเจน ไร้ทิศทาง

กลุ่มที่ 2 นี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ค่าคะแนน CPI 2016 เท่ากับ 35 อินโดนีเซีย ได้ 37 และประเทศไทย ได้ 35

โดยกลุ่มนี้ ประเทศที่น่าสนใจในแง่ของการยกระดับการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน คือ อินโดนีเซีย เนื่องจากค่าคะแนน CPI อินโดนีเซียในรอบ 5 ปีดีขึ้นเรื่อยๆ (ดูตารางประกอบ) จากปี 2012 ที่ได้คะแนน 32 (น้อยกว่าไทยซึ่งปีนั้นได้ 37) จนกระทั่งปีล่าสุดได้ 37 คะแนน (ไทยเราลดลงเหลือ 35)

ปัจจัยที่ทำให้ค่าคะแนนความโปร่งใสของอินโดนีเซียดีขึ้น คือ การร่วมแรงร่วมใจกันหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาสังคม โดยมี KPK หรือ ป.ป.ช. อินโดนีเซีย เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา

สำหรับฟิลิปปินส์นั้น เป็นที่น่าเสียดายที่เดิมคะแนน CPI เหมือนจะดีขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2014 ได้คะแนนสูงสุด 38 คะแนน แต่หลังจากนั้นค่อยๆ ร่วงลงมาเหลือ 35 คะแนน

ฟิลิปปินส์ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มแข็งเอาจริงเอาจังของภาคประชาชน ขณะที่สื่อมวลชนสายสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalist) ก็เป็น “เสาหลัก” สำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันแบบกัดไม่ปล่อย แต่ฟิลิปปินส์ก็ยังเผชิญปัญหาเรื่องคอร์รัปชันที่ยังแก้กันไม่ตก โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชันในการเมืองท้องถิ่น รวมถึงการผูกขาดอำนาจของตระกูลการเมือง (Political Dynasty)

ในกลุ่มที่สาม กลุ่มสุดท้าย มีจำนวนมากที่สุด กลุ่มนี้มีปัญหาคอร์รัปชันในระดับรุนแรง โดยโครงสร้างจัดการปัญหาคอร์รัปชันยังขาดความชัดเจน อ่อนแอ รวมทั้งถูกอิทธิพลของโครงสร้างส่วนบนแทรกแซงตลอด

กลุ่มสุดท้ายนี้ ประกอบด้วย เวียดนาม (CPI 33 คะแนน) เมียนมา (CPI 28 คะแนน) สปป.ลาว (CPI 30 คะแนน) ติมอร์ (CPI 35 คะแนน) และกัมพูชา (CPI 21 คะแนน)

ทั้ง 5 ประเทศนี้มีโครงสร้างทางการเมืองที่ผูกขาดโดยพรรคหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ยกเว้นติมอร์ที่เพิ่งจะได้รับเอกราช)

ข้อมูล CPI ปี 2012-2016 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีพัฒนาการความโปร่งใสดีสุด คือ เมียนมา คะแนนขยับเพิ่มขึ้น 13 คะแนน ในรอบ 5 ปี

ปัจจัยสำคัญมาจากการลดบทบาทลงของกองทัพและเปิดโอกาสให้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งอาจไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่า CPI เมียนมาดีขึ้นเพียงอย่างเดียว หากแต่องค์ประกอบอื่นๆ เช่น การผ่อนปรนกฎระเบียบบางอย่างที่ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่น ตลอดจนลดขั้นตอนยุ่งยากที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากเมียนมาแล้ว สปป.ลาวเป็นอีกประเทศที่มีพัฒนาการเรื่องความโปร่งใสดีขึ้น “ผิดหูผิดตา” ย้อนอดีตกลับไป สปป.ลาวเคยเกาะกลุ่ม “รั้งบ๊วย” ของโลกเรื่องความโปร่งใส แต่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นที่จะจัดการปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้ค่า CPI ดีขึ้นมาก

จากตาราง จะเห็นได้ว่า สปป.ลาวได้คะแนน CPI ในปี 2012 เพียง 21 คะแนน ปีต่อมาขยับขึ้นมาอยู่ที่ 25-26 และปีล่าสุดคะแนนเพิ่มเป็น 30 คะแนน

หน่วยงานปราบปรามทุจริตของ สปป.ลาว คือ State Inspect and Anti-Corruption Authority (SIAA) หรือ หน่วยงานตรวจสอบและต่อต้านทุจริตแห่งรัฐ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐ

ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลพรรคประชาชนปฏิวัติลาว หรือ LPP เอาจริงเอาจังเรื่องปราบคอร์รัปชัน SIAA สามารถตรวจสอบสืบสวนและตก “ปลาใหญ่” อย่างคนอดีตระดับรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงที่พัวพันกับเรื่องทุจริตได้ นับว่าการทำงานของ SIAA น่าจับตาต่อไปในอนาคต

ท้ายที่สุด ค่าคะแนน CPI ปีล่าสุดของภูมิภาคอาเซียนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก เพียงแต่สถานการณ์ความโปร่งใสและการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา และ สปป.ลาว มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น