ThaiPublica > คอลัมน์ > ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 3): Anna Hazare ผู้ปลุกจิตวิญญาณต่อต้านคอร์รัปชันของชาวอินเดีย

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 3): Anna Hazare ผู้ปลุกจิตวิญญาณต่อต้านคอร์รัปชันของชาวอินเดีย

17 เมษายน 2014


Hesse004

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

มีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการต่อสู้ของ “อันนา ฮาซาเร” นักต่อสู้คอร์รัปชันของชาวอินเดีย บทวิเคราะห์ที่อยากจะนำมากล่าวถึงคือบทวิเคราะห์ของ Vikas Jha แห่ง Society for Participatory Research in Asia (PRIA)

Vikas เขียนบทความเรื่อง Anti-Corruption Movement in India: Do Democracies need reinvention? ซึ่งได้วิเคราะห์ถึงบทบาทของอันนา ฮาซาเร ไว้น่าสนใจ

ในบทความ เขาเกริ่นถึงที่มาของอันนา ฮาซาเร ว่าเป็นใครมาจากไหน และเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการต่อต้านคอร์รัปชันของอินเดียเมื่อไร

จุดเริ่มต้นที่อันนาสนใจปัญหาคอร์รัปชัน เพราะเขามองเห็นว่าคอร์รัปชันคือภัยร้ายแรงต่อการพัฒนาชนบทอินเดีย

อย่างที่กล่าวไปเมื่อตอนที่แล้วว่า ชื่อเสียงของอันนา ฮาซาเร นั้นโด่งดังมาจากการพัฒนาหมู่บ้านราเรกัน สิทธิ (Ralegan Siddhi Village) ให้กลายเป็นชุมชนตัวอย่างของการพัฒนาชนบทอินเดีย

เมื่ออันนาหันมาสนใจการต่อต้านคอร์รัปชัน เขาเริ่มตั้งองค์กรเอกชนหรือ NGO ที่ชื่อว่า The Bharshtachar Virodhi Jan Andolan หรือที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า People’s movement against Corruption ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน

อันนา ฮาซาเร สัญลักษณ์ใหม่ของการต่อต้านคอร์รัปชันในอินเดีย ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com/-gdpS5o30zLc/TlO552bDkcI/AAAAAAAAAOA/4JnQUH-lVWA/s1600/anna-hazare.jpg
อันนา ฮาซาเร สัญลักษณ์ใหม่ของการต่อต้านคอร์รัปชันในอินเดีย
ที่มาภาพ: http://4.bp.blogspot.com/-gdpS5o30zLc/TlO552bDkcI/AAAAAAAAAOA/4JnQUH-lVWA/s1600/anna-hazare.jpg

Vikas ได้วิเคราะห์ว่า อันนาเลือกที่จะใช้เครื่องมืออันทรงพลังในการต่อต้านกับอำนาจรัฐ คือการอดอาหารตามแนวทางสัตยานุเคราะห์ของท่านมหาตมะคานธี

การอดอาหารจนตายหรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Gandhian Fast unto Death เป็นแนวทางการต่อสู้แบบสันติ อหิงสา โดยเอาชีวิตตนเองเป็นเดิมพัน

ผู้อดอาหารประท้วงหรือ Hunger Strikes คือผู้ที่ยอม “พลีชีพ” ตัวเองเพื่อแลกกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลและผู้คนนั้นหันมาใส่ใจและเกิดความเห็นอกเห็นใจ

วิธีการของอันนานั้นได้ผล ในปี 1995-1996 เขาเริ่มต้นอดอาหารประท้วงรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมหาราษฎระ เพื่อให้รัฐบาล “ปลด” สองรัฐมนตรีที่มีส่วนพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน หลังจากนั้นในปี 2003 เขาอดอาหารประท้วงอีกครั้ง เพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นตั้งคณะกรรมการสืบสวนสี่รัฐมนตรีที่มีมลทินเรื่องทุจริต

การเคลื่อนไหวแบบอหิงสาของอันนา ทำให้รัฐบาลรัฐมหาราษฎระยอมตามเงื่อนไขเพื่อแลกกับชีวิตของนักอดอาหารมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันนาได้อดอาหารเพื่อกดดันให้รัฐบาลท้องถิ่นนั้นต้องออกกฎหมายสิทธิข้อมูลข่าวสารหรือ The Right to Information Act

Hunger Strikes ของอันนา ฮาซาเร ที่มาภาพ : http://samvada.org/files/download.jpg
Hunger Strikes ของอันนา ฮาซาเร
ที่มาภาพ: http://samvada.org/files/download.jpg

หลังจากนั้น แนวร่วมของอันนาเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอันนาและกลุ่มเพื่อนได้ร่วมกันสร้างเว็บไซต์I Paid a Bribe ซึ่งถ้าเป็นไทยคือ “ฉันติดสินบน”

เว็บไซต์นี้เปิดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เคยจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมสามารถแจ้งเรื่องการจ่ายสินบนเข้ามาทางช่องทางเว็บไซต์นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาคนติดสินบนหรือคนถูกเรียกรับสินบนไม่กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลหรือแจ้งหน่วยงานของรัฐเพราะเกรงกลัวอิทธิพลเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งคิดว่าแจ้งไปแล้วก็คงไม่ได้ผลอะไร

ต่อมา ในปี 2011 อันนา ฮาซาเร ประกาศอดอาหารประท้วงรัฐบาลอินเดียโดยหนนี้ยอมที่จะอดอาหารตายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายที่ชื่อว่า The Lokpal Bill ซึ่งเป็นกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่มีบทลงโทษรุนแรงและเข้มงวดมากกว่ากฎหมายฉบับเดิม นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจกับภาคประชาชนในการตรวจสอบนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้คือคนที่มีสิทธิพิเศษในสังคมอินเดีย

การที่คนอินเดียลุกขึ้นมาต่อต้านคอร์รัปชันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งใหญ่นั้น สาเหตุหลักมาจาก “การอดรนทนไม่ได้” กับปัญหาคอร์รัปชันที่แทบจะซึมลึกและเกาะกินอยู่ในสังคมอินเดียมายาวนาน

สื่อมวลชนอินเดียตีแผ่ข่าวการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองไม่เว้นแต่ละวัน ในทำนองเดียวกันคนอินเดียแทบทุกคนต่างมีประสบการณ์เรื่องการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

พูดง่ายๆ คือ สภาพปัญหาคอร์รัปชันของอินเดียกลายเป็นเรื่องที่ “น่าเบื่อหน่าย” และต้องจำยอมจนแทบจะมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

ดังนั้น ถ้าใครคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมา “จุดประกาย” และต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันของอินเดียอย่างจริงจังและเด็ดเดี่ยว คนคนนั้นมักจะได้รับ “เครดิต” ในเรื่องความกล้าหาญ ดังเช่น นายวิโนด ไร (Vinod Rai) อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของอินเดีย (Comptroller & Auditor General of India) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐที่ไม่โปร่งใสและรายงานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา จนวิโนดกลายเป็นบุคคลที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมอินเดีย

เมื่อ วิโนด ไร หมดวาระจากตำแหน่งผู้ว่า สตง. อินเดียแล้ว เขาอำลาตำแหน่งนี้ไปอย่างไม่อาลัยอาวรณ์หรือเป็นห่วงว่าจะไม่มีใครมาทำงานต่อจากเขาได้ เพราะเขาได้วางรากฐานการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินอินเดียไว้เป็นอย่างดีแล้ว (ถ้ามีโอกาส ผู้เขียนจะเขียนถึงเรื่องนี้ในภายหลัง)

Vinod Rai อดีตผู้ว่า สตง.อินเดีย ที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการต่อต้านคอร์รัปชันของอินเดีย ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2012/11/08/article-2230067-15E6F496000005DC-447_233x423.jpg
Vinod Rai อดีตผู้ว่า สตง.อินเดีย ที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์การต่อต้านคอร์รัปชันของอินเดีย
ที่มาภาพ: http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2012/11/08/article-2230067-15E6F496000005DC-447_233x423.jpg

กรณีของอันนา ฮาซาเร ก็เช่นกัน การลุกขึ้นมาอดอาหารประท้วงเพื่อให้รัฐบาลหันมาสนใจกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจังทำให้ “ขบวนการเคลื่อนไหวอันนา” (Anna Movement) กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอินเดีย

Anna Movement ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย http://rajeshpadmar.files.wordpress.com/2011/09/indias-fight-against-corruption-anna-hazare-movement.jpg
Anna Movement ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย
ที่มาภาพ: http://rajeshpadmar.files.wordpress.com/2011/09/indias-fight-against-corruption-anna-hazare-movement.jpg

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของอันนา นอกจากจะสามารถระดมมวลชน “เรือนแสน” ให้ออกมาบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลผ่านกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว อันนายังมีกลุ่มก้อนในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ภายใต้การทำงานของ NGO ใหญ่อย่าง India Against Corruption หรือ IAC

ปัจจุบัน IAC คือองค์กรเอกชนหรือองค์กรภาคประชาสังคมใหญ่ที่สุดที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันในอินเดียและจัดเป็น “แนวหน้า” ภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน

IAC องค์กร NGO ที่เป็นแนวหน้าสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันของอินเดีย ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/b7/India_against_corruption_.png
IAC องค์กร NGO ที่เป็นแนวหน้าสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันของอินเดีย
ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/b7/India_against_corruption_.png

องค์กรนี้ก่อตั้งร่วมก่อตั้งโดยคนสามคน คือ นาย Arvind Kejriwal นาย Kiran Bedi และนายอันนา ฮาซาเร ต่อมาภายหลัง Arvind ได้ไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนในการทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชัน (ซึ่งจะกล่าวต่อไปในตอนหน้า)

สำหรับอันนา ฮาซาเร แล้ว เขายังคงเลือกทางเดินที่จะต่อต้านคอร์รัปชันตาม “วิถี” ของเขาเอง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบทบาทของอันนา ฮาซาเร จะดูราวกับ “มหาตมะคานธี” กลับชาติมาเกิด แต่ก็มิวายที่จะถูกโจมตีว่าการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันของเขานั้นเป็นเพียงแค่การ “สร้างภาพ” และกระทำไปโดยมีเป้าหมายอื่นแอบแฝงอยู่ โดยเฉพาะเป้าหมายทางการเมือง

ใครที่มีโอกาสดูคลิปต่างๆ ของอันนาใน Youtube จะเห็นคลิปที่ทั้งชื่นชมและต่อต้านอันนา ฮาซาเร ที่บางคลิปพยายามนำเสนอภาพของอันนาอีกภาพว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เป็นคนดีเด่หรือทำอะไรเพื่ออินเดียนักหรอก

น่าคิดเหมือนกันว่า “ขบวนการต่อต้านคอร์รัปชัน” เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่งแล้ว การสลัดให้พ้นจาก “ตัวบุคคล” ดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะหากเรามัวแต่คาดหวังหรือยึดติดที่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวแล้ว คงเป็นเรื่องยากลำบากที่เราจะก้าวข้ามจากการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันที่นำโดยบุคคลมากกว่าที่ต่อสู้รณรงค์เพื่อหา “ระบบที่ดีกว่า” มาแก้ปัญหา