ThaiPublica > คอลัมน์ > จาก Always on the road ถึง In the Name of People ภาพสะท้อนเรื่องคอร์รัปชันของคนจีนยุคใหม่

จาก Always on the road ถึง In the Name of People ภาพสะท้อนเรื่องคอร์รัปชันของคนจีนยุคใหม่

14 มิถุนายน 2017


Hesse004

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา เมื่อสี จิ้นผิง ขึ้นเป็นผู้นำบริหารประเทศจีน นโยบายสำคัญประการหนึ่ง คือ การปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังแบบ “ถอนรากถอนโคน” ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ฆ่าเสือ ตีแมลงวัน” (Killing tiger and Swatting flies)

โดยนัยของ “เสือ” หมายถึง เจ้าหน้าที่พรรคระดับสูง ขณะที่ “แมลงวัน” เปรียบได้กับข้ารัฐการระดับผู้ปฏิบัติ

แน่นอนว่า นโยบายรณรงค์ขจัดปัญหาคอร์รัปชันของสี จิ้นผิง เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวจีน เพราะปัญหาคอร์รัปชัน ติดสินบน เล่นพรรคเล่นพวก เป็นปัญหาที่ค้างคาหมักหมมกันมานานแล้ว

อย่างไรก็ดี ในสายตาของนักวิเคราะห์การเมืองมองว่า สี จิ้นผิง ใช้เรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันเป็นเครื่องมือกำจัดคู่แข่งทางการเมือง กรณีที่เห็นได้ชัด เช่น คดีป๋อ ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครรัฐฉงชิ่ง

ผ่านไป 5 ปีแล้ว ดูเหมือนว่ายุทธการ “ฆ่าเสือ ตีแมลงวัน” ของสี จิ้นผิง จะประสบผลสำเร็จอยู่ไม่น้อย เพราะหน่วยงานปราบปรามทุจริตของพรรค คือ คณะกรรมการกลางตรวจสอบวินัยแห่งพรรคคอมมิวนิสต์หรือ Central Commission for Discipline Inspection สามารถเอาผิดดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่พรรคระดับสูง รวมทั้งเหล่าแม่ทัพนายกองได้นับร้อยคน ไม่นับรวมคดีคอร์รัปชันเล็กๆ นับแสนคดีที่ถูกสั่งลงโทษอย่างรวดเร็ว

ผลงานเช่นนี้ทำให้ภาพลักษณ์ สี จิ้นผิง กลายเป็นมือปราบคอร์รัปชันไปด้วย ที่สำคัญประธานาธิบดีสีทำตัว “สมถะ” และอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ แต่เมื่อต้องเอาจริงกับเรื่องปราบคอร์รัปชัน เขาได้แสดงความเด็ดขาดออกมาให้เห็นตลอดเวลา

เมื่อผลงานดูจะเป็นที่ประจักษ์แล้ว ในแง่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของพรรคจึงออกมาหลายรูปแบบ ที่น่าสนใจ คือ เราสามารถหาอ่านกรณีศึกษาคอร์รัปชันของประเทศจีนในฉบับภาษาอังกฤษได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการมุ่งประชาสัมพันธ์ให้เวทีโลกเข้าใจว่ารัฐบาลจีนไม่ได้ละเลยต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

นอกจากจะออกข่าวเป็นภาษาอังกฤษแล้ว กระบวนการผลิตชุดความคิดต่อต้านคอร์รัปชันผ่านสื่อสารคดีและซีรีย์ละคร ก็เป็นกลยุทธ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์ใช้ประชาสัมพันธ์ความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชันอีกเช่นกัน

เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการกลางตรวจสอบวินัยพรรคได้อุตส่าห์ผลิตสารคดีชุด Always on the road ซึ่งเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับกรณีเคสคอร์รัปชันจริงที่เจ้าหน้าที่พรรคระดับสูงเคยกระทำผิด

ทีเด็ดของสารคดีชุดนี้ คือ ตั้งกล้องสัมภาษณ์คนโกงแบบ “ประจาน” ให้อับอาย ว่าเหตุจูงใจที่ต้องโกง วิธีการโกง รวมถึงถูกจับอย่างไร

เล่นประจานแบบนี้ คงยากยิ่งนักที่จะอยู่ได้ต่อไปอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

Always on the road หยิบเคสสำคัญๆ มานำเสนอ 10 ตอน แต่ละตอนเผยให้เห็นความเน่าเฟะของสภาพการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมจีนยุคปัจจุบัน ที่ถึงแม้เศรษฐกิจจะขยายตัว เติบโตต่อเนื่อง แต่ก็เร่งให้ปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงเป็นเงาตามตัว

อ่านบทวิจารณ์เกี่ยวกับสารคดีชุดนี้ มีอยู่ตอนหนึ่งที่สัมภาษณ์ Bai Enpei อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงของพรรค ที่สารภาพออกมาทั้งน้ำตาว่าพูดถึงเหตุผลการรับสินบนก็ด้วยความโลภ อยากได้ใคร่มีเช่นเดียวกับอาชีพอื่น(ผู้สนใจอ่านบทวิจารณ์เรื่อง Always on the road ได้ที่นี่

สารคดี Always on the road สารคดีที่ว่าด้วยการสารภาพบาปของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ทุจริต ที่มาภาพ : http://anticorruptiondigest.com/wp-content/uploads/sites/6/2016/10/91972586_23239732-5886-409e-b2dc-dc6f5e9e2f72.jpg

เช่นเดียวกับ ซีรีย์ละครดราม่าเรื่องล่าสุด In the Name of People ที่เพิ่งออนแอร์ออกอากาศไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ว่ากันว่า ซีรีย์ชุดนี้คนจีนติดกันงอมแงม ถูกเปรียบเทียบว่าเป็น House of Cards เวอร์ชันจีนเลยทีเดียว

In the Name of People ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกับซีรีย์ โดยผู้แต่ง คือ Zhou Meisen หนังเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเพราะเนื้อหาหลักมุ่งประชาสัมพันธ์กระบวนการปราบปรามทุจริตในยุคของ สี จิ้นผิง

ซีรีย์ชุดนี้ดึงดูดดารานักแสดงจีนระดับซูเปอร์สตาร์ เช่น Lu Yi (ที่เราคุ้นกับบทจูกัดเหลียง “ขงเบ้ง” ในสามก๊ก เวอร์ชั่นปี 2010 ที่กำลังฉายอยู่ในบ้านเรา)

เพียงแค่เปิดตัว In the Name of People ใน Season แรก ก็มีคนกล่าวขวัญกันมากมาย เสียงตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทางชื่นชม มีชาวจีนบางคนเขียนคอมเมนต์ว่า ดูซีรีย์นี้แล้วแทบจะร้องไห้ เพราะมันเป็นภาพสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันในชีวิตประจำวันที่พบกันได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

ที่มาภาพ : https://cdn3.i-scmp.com/sites/default/files/styles/980×551/public/images/methode/2017/04/05/6a2fe9c2-18f9-11e7-b4ed-ac719e54b474_1280x720_232422.jpg?itok=83crTSD7

ใครที่มีโอกาสดู Trailer ซีรีย์ชุดนี้ จะมีอยู่ฉากหนึ่งที่จับกุมเจ้าหน้าที่พรรคซึ่งยักยอก รับสินบนเงินหยวน แล้วเอาเงินนับพันล้านหยวนไปเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า วางเรียงบนเตียงนอน หรือไม่ก็เก็บไว้ในตู้เย็น

แหม่! ฉากนี้นึกถึงเคสคลาสสิกของบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน กรณีที่โจรขึ้นบ้านปลัดกระทรวงหนึ่ง แล้วพยายามจะขโมยเงินออกมา แต่ขนเงินออกมาไม่หมด เพราะมีเงินสดเก็บไว้เยอะเหลือเกิน

อย่างไรก็ดี In the Name of People ก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตจากสำนักข่าวต่างประเทศที่มองว่าเป็นความพยายามฉายภาพการปราบปรามคอร์รัปชันในยุค สี จิ้นผิง รวมทั้งโฆษณาชวนเชื่อถึงความสำเร็จและความเข้มแข็งของพรรคที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้

แม้ว่าปัญหาคอร์รัปชันในจีนจะยังรุนแรงอยู่ก็ตาม แต่การเริ่มต้นและลงมือทำโดยไม่ปราบคอร์รัปชันเพียงแค่สร้าง “วาทกรรม” ไปวันๆ นั้น นับว่า สี จิ้นผิง และทีมงานประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย

สำหรับผู้สนใจอยากชม In the Name of People ติดตามได้ทาง YouTube จะมีซับภาษาอังกฤษกำกับไว้