ThaiPublica > คอลัมน์ > Carlos Cardoso ฮีโร่ต่อต้านคอร์รัปชันกับราคาที่ต้องจ่าย

Carlos Cardoso ฮีโร่ต่อต้านคอร์รัปชันกับราคาที่ต้องจ่าย

11 มิถุนายน 2016


Hesse004

โดยทั่วไป แนวทางหลัก ๆ ในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันโดยภาคประชาชนที่พบเห็นอยู่เสมอมี 2 แนวทาง กล่าวคือ (1) การต่อสู้ในแบบกลุ่มก้อนองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้มีอุดมการณ์ต่อต้านคอร์รัปชันโดยต้องการเห็นสังคมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ (2) การต่อสู้แบบปัจเจกซึ่งเป็นการต่อสู้โดยคน ๆคนเดียว… การต่อสู้ลักษณะนี้มีความเสี่ยงและมีต้นทุนสูงมาก

การต่อสู้แบบปัจเจก (Individual fighting corruption) เป็นการต่อสู้ที่เกิดจากการพบเห็นเรื่องทุจริตแล้วตัดสินใจแจ้งเบาะแส ให้ข้อมูล การต่อสู้แบบ “ลุยเดี่ยว” นี้ แม้จะมีความเสี่ยงและต้นทุนที่ต้องจ่ายก็ตาม แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะต่อสู้ด้วยแนวทางแบบนี้

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวการลักพาตัวและลอบทำร้ายแกนนำการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันในประเทศโมซัมบิค แกนนำคนดังกล่าว คือ Professor Jose Jaime Macuane ปัญญาชนโมซัมบิคที่ลุกขึ้นมาปลุกกระแสการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลที่มีเรื่องอื้อฉาวอยู่บ่อยครั้ง

โมซัมบิคตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปอัฟริกา เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส มีเมืองหลวงชื่อมาปูโต (Maputo) ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 25 ล้านคน โมซัมบิคใช้ภาษาโปรตุกิสเป็นภาษาราชการ

โมซัมบิคได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1975 แต่หลังจากได้รับเอกราชเพียงสองปี ประเทศต้องเผชิญกับสงครามกลางเมือง (Mozambican Civil War) ยาวนานถึง 15 ปี (1977-1992)

ด้วยเหตุที่เสถียรภาพทางการเมืองที่ “ง่อนแง่น” ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของโมซัมบิคจึงต้องใช้เวลายาวนานเพื่อฟื้นฟูประเทศให้กลับมาสู่สภาพปกติ

นับตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา โมซัมบิคกลับเข้าสู่โหมดการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคม และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก

ในปี 2015 Transparency International ให้คะแนนความโปร่งใส (Corruption Perception Index) ของโมซัมบิค อยู่ที่ 31 คะแนน (จากคะแนนเต็มร้อย) ครองอันดับที่ 112 จากทั้งหมด 168 ประเทศ ตัวเลขความโปร่งใสดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลโมซัมบิคยังไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ดีพอ หนำซ้ำ คนในภาครัฐเองกลับเป็นส่วนหนึ่งที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันขยายตัวมากขึ้น

สภาพความไม่โปร่งใสดังกล่าว ทำให้ภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนช่วยต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

Centro de Integridade Pública หรือ CIP เป็นองค์กรภาคประชาสังคมสำคัญที่ต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในโมซัมบิค ดังนั้น กรณีลอบทำร้าย Professor Jose Jaime Macuane ทาง CIP จึงเข้ามาช่วยเป็นกระบอกเสียงกระจายข่าวการทำร้ายโปรเฟสเซอร์ท่านนี้พร้อมประนามอย่างเป็นทางการเพื่อให้เห็นความป่าเถื่อนของผู้ใช้อำนาจมืดที่มุ่งเล่นงานคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านทุจริต

Macuane พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลโมซัมบิคเปิดทางให้มีการตรวจสอบบัญชีสืบสวน (Forensic audit) กรณีมีเรื่องอื้อฉาวว่าคนในรัฐบาลชุดก่อนมีส่วนร่วมยักยอกเงินที่รัฐอุตส่าห์ไปก่อหนี้สาธารณะร่วม 2 พันล้านเหรียญ

…แต่ผลลัพธ์ที่ตามมา โปรเฟสเซอร์ท่านนี้กลับถูกลอบยิง แต่โชคดีที่ยังไม่ตาย

ที่ผ่านมา การต่อต้านคอร์รัปชันในทุกสังคมล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น กรณีโมซัมบิค เรื่องราวของฮีโร่ผู้ต่อต้านทุจริตถูกกล่าวขานในทำนองที่ว่า สู้ไปแล้วก็เหลือเป็นเพียง “ตำนาน” เพราะระหว่างทางของการต่อสู้ ฮีโร่เหล่านี้ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตเพียงเพื่อต้องการให้สังคมรับรู้และตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชัน

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา Transparency International ได้มอบรางวัลสำหรับสุจริตชนที่อุทิศตนต่อต้านคอร์รัปชัน รางวัลดังกล่าวใช้ชื่อว่า Integrity Award

แต่ละปี มีผู้ได้รับการเสนอชื่อจากทุกมุมโลก ว่าสมควรได้รับรางวัลนี้ โดยเฉพาะการแสดงบทบาทต่อต้านคอร์รัปชันในฐานะที่เป็นผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower) และต่อสู้กับผู้มีอำนาจรัฐอย่างไม่ลดละ

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ชนะรางวัล Integrity award มักเป็นสื่อมวลชนสายข่าวสืบสวนหรือข่าวเจาะ (Investigative journalism) โดยเฉพาะนักข่าวหรือบรรณาธิการข่าวที่อยู่ในประเทศที่ไม่ใคร่จะมีเสรีภาพให้กับสื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือปกปิดข้อมูลรัฐ ตลอดจนปฏิเสธบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อโดยมองว่า สื่อเสรี คือ ศัตรูการเมืองรูปแบบหนึ่ง

น่าสนใจว่า สุจริตชน ฮีโร่ผู้ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันผู้ได้รับรางวัลนี้ เกือบครึ่งหนึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้รับมอบรางวัล

ยกตัวอย่าง Dr. Alfredo Maria Pochat ที่ประเดิมรางวัลนี้เป็นคนแรกในปี 2000 Dr. Pochat เป็นนักกฎหมายของธนาคารกลางอาร์เจนติน่า (Central Bank of Argentina) ที่เข้ามาทำเรื่องสืบสวนกรณีการทุจริตทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในทศวรรษที่ 90 โดยธนาคารกว่า 70 แห่งในอาร์เจนติน่ามีเอี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ท้ายสุด เพียงไม่กี่วันก่อนที่เขาจะแถลงผลการสอบสวน ปรากฏว่า Dr. Pochat ถูกลอบยิงเสียชีวิต

Carlos Cardoso : Telling the truth in Mozambique หนังสือของ Paul Fauvet และ Marcello Mosse หนังสือว่าดว้ยอัตชีวประวัติของ Carlos Cardoso ผู้ที่กลายเป็นฮีโร่ต่อต้านคอร์รัปชันในโมซัมบิค  ที่มาภาพ : http://ecx.images-amazon.com/images/I/512YK04XTCL._SY344_ BO1,204,203,200_.jpg
Carlos Cardoso : Telling the truth in Mozambique หนังสือของ Paul Fauvet และ Marcello Mosse
หนังสือว่าดว้ยอัตชีวประวัติของ Carlos Cardoso ผู้ที่กลายเป็นฮีโร่ต่อต้านคอร์รัปชันในโมซัมบิค
ที่มาภาพ : http://ecx.images-amazon.com/images/I/512YK04XTCL._SY344_
BO1,204,203,200_.jpg

กรณีโมซัมบิคมีผู้ได้รับรางวัล Integrity Award 2 คน คือ Carlos Alberto Cardoso นักข่าว บรรณาธิการมือทองของสำนักข่าวสืบสวน (ได้รับรางวัลเมื่อปี 2001) และ Antonio Siba-Siba Macuacua นักการธนาคารผู้เปิดเผยเรื่องราวการฉ้อฉลทางการเงิน (ได้รับรางวัลปี 2003)

อย่างไรก็ตาม ทั้ง Cardoso และ Macucua ต่างถูกลอบสังหาร หลังจากที่ออกมาเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน

Carlos Alberto Cardoso นับเป็น “ตำนาน” นักข่าวสาย Investigative journalism ก็ว่าได้ อันที่จริงแล้ว Cardoso เป็นชาวโปรตุกีสที่ครอบครัวอพยพมาอยู่ที่โมซัมบิค เขาจัดเป็นนักข่าวสายลุย ไม่ยอมแพ้และพยายามขุดคุ้ย ทำข่าวเชิงสืบสวนจนได้รับยกย่องว่าเป็นสื่อน้ำดีของโมซัมบิค

ระหว่างที่โมซัมบิคเกิดสงครามกลางเมือง ข่าวเชิงลึกของ Cardoso กลายเป็นความหวังอย่างหนึ่งในสังคมที่โหยหา “ข้อเท็จจริง”

ช่วงกลางทศวรรษที่ 90 หลังสงครามสงบลง โมซัมบิคเริ่มต้นยุคประชาธิปไตย Cardoso มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชน (The right of people to information) ซึ่งผลสำเร็จครั้งนั้นทำให้รัฐธรรมนูญโมซัมบิคบัญญัติเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนไว้ด้วย

บุคลิก ท่วงทำนองของ Carodoso นับว่ามีเสน่ห์เป็นนักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการที่ทำงานด้วยแรงบันดาลใจจนเขากลายเป็น “ไอดอล” ให้คนข่าวโมซัมบิคในรุ่นต่อมา

ปี 1998 เขาลงเล่นการเมืองท้องถิ่นและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาในเมืองหลวง Maputo

ปี 1999 เขาเริ่มลงมือทำข่าวสืบสวนการทุจริตครั้งใหญ่เกี่ยวกับการโกงเงิน 1,400 ล้านเหรียญกรณีการแปรรูปธนาคารรัฐที่ใหญ่ที่สุดให้เอกชนเข้ามาถือหุ้น

ข่าวลักษณะนี้ ทำให้ Cardoso ลงมือขุดคุ้ยหลักฐาน เชื่อมโยงและรายงานข่าวให้สังคมรับทราบเป็นระยะ แต่อย่างไรก็ดี วันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 2000 เขาถูกมือปืนรับจ้างกระหน่ำยิง ตายคาที่

Cardoso จากไปด้วยวัยเพียง 48 ปี การตายของเขาสร้างความสะเทือนใจครั้งใหญ่ให้กับชาวโมซัมบิค เพราะเขาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในประเทศ

ต่อมาคดีฆาตกรรม Cardoso ได้สืบสาวไปถึงต้นตอผู้จ้างวาน คือ นาย Nyimpie Chissano บุตรชายคนโตของอดีตประธานาธิบดี Joaquim Chissano ซึ่งหลังพ้นจากตำแหน่งได้ไม่ถึงปี อัยการได้ตั้งข้อหากับบุตรชายของเขาว่าจ้างวานฆ่า Cardoso… เรื่องราวแบบนี้พบเห็นได้แทบจะทุกสังคม ช่วงเวลาที่ผู้มีอำนาจยังอยู่ในอำนาจ กฎหมายไม่สามารถทำอะไรพวกเขาได้ แม้ว่าจะกระทำผิดก็ตาม

ภาพรำลึกถึง Carlos Cardoso นักหนังสือพิมพ์ผู้กลายเป็นตำนานของโมซัมบิค ที่มาภาพ  : https://en.wikipedia.org/wiki/Carlos_Cardoso_(journalist)#/media/File:Memoria_Carlos_ Cardoso.jpg
ภาพรำลึกถึง Carlos Cardoso นักหนังสือพิมพ์ผู้กลายเป็นตำนานของโมซัมบิค
ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Carlos_Cardoso_(journalist)#/media/File:Memoria_Carlos_
Cardoso.jpg

Carlos Cardoso เป็นฮีโร่ต่อต้านคอร์รัปชันของโมซัมบิค หลังการตายของเขา ได้จุดกระแสให้มีการผลักดันกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น Anti-Corruption Law ในปี 2004 Law on Public Integrity ปี 2012 กฎหมายคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแส The Witness and Protection Act 2012 หรือแม้แต่การผลักดันกฎหมายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ (Freedom of Information)

การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันมีต้นทุนเสมอ หลายคนเข้ามาต่อสู้กับปัญหานี้เพียงเพราะหวังเป็น “บันไดทอง”กรุยทางสร้างชื่อเสียงเครดิตให้กับตัวเองว่าเป็นพวกใจซื่อมือสะอาด แต่เวลาลงมือสู้จริง เรามักไม่ค่อยได้เห็นคนจำพวกนี้เท่าใดนัก…แต่อีกด้านหนึ่ง ยังมีคนอีกจำพวกที่ทำงานด้านนี้แบบ “ปิดทองหลังพระ” พวกเขาคอยทำหน้าที่ขุดคุ้ยหาความจริงและส่องแสงสว่างนำทางให้สังคมเห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการฉ้อฉลทรัพย์สินส่วนรวม

…แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีราคาที่ต้องจ่ายด้วยชีวิตก็ตาม แต่เพื่อแลกกับการจุดไม้ขีดก้านเล็ก ๆ ในสังคมที่มืดมนได้มองเห็นทางสว่างบ้าง ก็นับว่าคุ้มแล้วที่ได้ลงมือสู้