ThaiPublica > คนในข่าว > แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ผู้เปิดโปง “วัน มาเลเซีย ดีเวลอปเมนต์ เบอร์ฮัด:1เอ็มดีบี” วิกิลีกส์แห่งซาราวัก

แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ผู้เปิดโปง “วัน มาเลเซีย ดีเวลอปเมนต์ เบอร์ฮัด:1เอ็มดีบี” วิกิลีกส์แห่งซาราวัก

27 กรกฎาคม 2015


รายงาน อิสรนันท์

ที่มาภาพ : http://www.sarawakreport.org/
ที่มาภาพ : http://www.sarawakreport.org/

ดูเผินๆ เหมือนกับว่าคลื่นลมการเมืองในแดนเสือเหลืองมาเลเซียค่อนข้างจะสงบเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย พม่า หรือกัมพูชา แต่จู่ๆ ก็เกิดไต้ฝุ่นลูกใหญ่โหมกระหน่ำครอบครัวหมายเลขหนึ่งจนแทบล้มระเนนระนาด ท่ามกลางการจับจ้องของทั่วโลกว่านาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีวัย 61 ปี จะสามารถประคับประคองตัวเองและครอบครัวให้รอดพ้นจากการถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชันได้หรือไม่ หรือว่าจะตกม้าตายดื้อๆ จากฝีมือการเจาะข่าวของเว็บไซต์ข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งที่เกาะติดข่าวนี้อย่างไม่ยอมปล่อย ก่อนหน้านี้นาจิบ ราซัก มีชื่อพัวพันกับข่าวฉาวมาตลอดตั้งแต่การรับสินบน แบล็คเมล์ การทรยศหักหลัง การปกปิดทางการเมือง รวมทั้งอาจมีส่วนรู้เห็นกับการฆาตกรรมที่กลายเป็นคดีอื้อฉาวมานานหลายปี

นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. เป็นต้นมา เว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน และหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลอันทรงอิทธิพลได้ช่วยกันกระหน่ำ “ตีเหล็กขณะกำลังร้อน” ว่าบริษัท วัน มาเลเซีย ดีเวลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1เอ็มดีบี) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียในระยะยาวที่นาจิบ ราซัก เป็นคนตั้งขึ้นมากับมือเมื่อปี 2552 เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทในตะวันออกกลางให้มาร่วมลงทุนในประเทศ คล้ายๆ กับบริษัทเทมาเส็กของสิงคโปร์ ได้แอบทยอยโอนเงินถึง 5 ครั้ง เข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ ซึ่งสวมหัวโขนประธานกรรมการที่ปรึกษาของ 1เอ็มดีบีด้วย รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้นถึง 700 ล้านดอลลาร์ (ราว 22,400 ล้านาท) โดยการโอนเงินที่มีมูลค่าสูงสุด 2 รายการคือ 620 ล้านดอลลาร์ และ 61 ล้านดอลลาร์ มีขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มี.ค. 2556 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ดุเดือดครั้งหนึ่งโดยเฉพาะที่รัฐปีนัง

ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นสุดยอดของข่าวฉาวใน 1เอ็มดีบี ที่เว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต เกาะติดมานานกว่าปีและเป็นเว็บไซต์ข่าวแห่งแรกที่เปิดประเด็นข่าวนี้ อีกทั้งยังนำเสนอข่าวต่อเนื่องติดต่อกันอย่างชนิดกัดไม่ปล่อยถึงความไม่ชอบมาพากลในการบริหาร 1เอ็มดีบี ที่ผิดพลาดและไม่โปร่งใส กระทั่งมีหนี้สินผูกพันถึง 11,000 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาแค่ 6 ปีเท่านั้น จนต้องผิดนัดชำระหนี้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ครั้งแล้วครั้งเล่า

เว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต ยังเปิดโปงด้วยว่า 1เอ็มดีบียังได้ทยอยโอนเงิน 523,000 ดอลลาร์ (ราว 18 ล้านบาท) เข้าบัญชีส่วนตัวในธนาคารอัฟฟิน แบงค์ บีเอชดี ของนางรอสมาห์ มันซอร์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของแดนเสือเหลือง ถึง 8 ครั้งด้วยกันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาเป็นระยะว่านางรอสมาห์ มันซอร์ มีรสนิยมหรูหราใช้แต่ของแบรนด์ดังราคาแพง โดยมีนักธุรกิจบางคนเป็นคนออกเงินให้ นอกเหนือจากชอบซื้ออัญมณีเป็นประจำคราวละหลายล้านดอลลาร์

แน่นอน ทั้งสองสามีภรรยาหมายเลขหนึ่งของมาเลเซียต่างปฏิเสธเสียงแข็งว่ารายงานนี้เป็นเท็จและมีเจตนารังควานพวกตน อันเป็นส่วนหนึ่งของการสมคบคิดหวังจะบีบให้ตัวเองยอมถอดหัวโขนทิ้ง อีกทั้งขู่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต ฐานทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

ขณะที่คณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (เอ็มซีเอ็มซี) ได้สั่งปิดเว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต โดยไม่มีกำหนดอ้างว่าทำผิดกฏหมายการสื่อสารและมัลติมีเดีย ปี 2541 ที่ห้ามบุคคลใช้เว็บไซต์เผนแพร่เนื้อหาอันเป็นเท็จ ล่วงละเมิด ข่มขู่บุคคลอื่น อันอาจทำให้เกิดความไม่สงบ คุกคามเสถียรภาพของประเทศ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม รวมทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย

แต่ยิ่งปิดเว็บไซต์นี้ ก็ยิ่งทำให้คนยิ่งเชื่อมากขึ้นว่าข่าวชิ้นนี้มีมูลความจริงแน่นอน เพราะ “ถ้าไม่มีมูลฝอย หมาคงไม่ขี้” และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของมาเลเซียรวมทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคงไม่เร่งสอบสวนคดีนี้รวมไปถึงการอายัดบัญชีฉาวของนาจิบ สุดท้าย ดีไม่ดี นาจิบ ราซัก อาจจะถูก “นารีพิฆาต” ทำให้กระเด็นหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ง่ายๆ

แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ที่มาภาพ: http://www.freemalaysiatoday.com/wp-content/uploads/2015/07/Clare-Rewcastle-Brown-sr.jpg
แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ที่มาภาพ: http://www.freemalaysiatoday.com/wp-content/uploads/2015/07/Clare-Rewcastle-Brown-sr.jpg

นารีที่ว่านี้ก็คือ แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ วัย 56 ปี นักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนประจำบีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส มาตั้งแต่ปี 2526 และเป็นน้องสะใภ้ของกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีเมืองผู้ดีอังกฤษ ซึ่งได้ตั้งเว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต เมื่อปี 2553 เพื่อให้เป็นสื่อออนไลน์แนวสืบสวนสอบสวนที่เน้นมุมมองใหม่ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความโปร่งใส และอนาคตที่สดใสของรัฐซาราวัก และมักจะจุดชนวนการอภิปรายโต้เถียงทางการเมืองอย่างดุเดือดในรัฐนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวที่มาเลเซียกับอินโดนีเซียแบ่งกันครอบครอง พร้อมกันนี้ เธอก็ยังได้ตั้งวิทยุซาราวักเสรีควบคู่กันไป ถือเป็นสถานีวิทยุอิสระที่นำเสนอข่าวในอีกมุมมองหนึ่ง โดยรายงานข่าวผ่านคลื่นสั้นไปยังพื้นที่ห่างไกลที่เต็มไปด้วยชนพื้นเมืองในรัฐซาราวัก แต่ละวันจะออกอากาศแค่วันละ 2 ชั่วโมง

แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ เปิดเผยว่าแรงบันดาลใจของการทำสื่อใหม่ทั้งสื่อนี้โดยใช้แฟลตส่วนตัวในลอนดอนเป็นสำนักงานใหญ่ มีขึ้นหลังจากเธอเดินทางไปที่ซาราวัก เมื่อปี 2548 เพื่อกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่านักข่าวท้องถิ่นต่างรุมให้ข้อมูลและซักถามความคิดเห็นของเธอเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าในรัฐซาราวัก จนขณะนี้เหลือพื้นที่ป่าบริสุทธิ์ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ และตัวการใหญ่ในเรื่องนี้ก็คืออับดุล ทาอิบ มาห์มูด มุขมนตรีรัฐซาราวักและคนในตระกูลที่ใช้อำนาจล้นฟ้ายึดที่ทำกินของชาวบ้านไปเป็นสมบัติส่วนตัว ไม่นับรวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชันในธุรกิจน้ำมันและน้ำมันปาล์มจนร่ำรวยล้นฟ้ามีทรัพย์สินกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ไม่เคยกระจายรายได้หรือผลกำไรไปถึงมือชาวซาราวักทำให้ส่วนใหญ่ยังคงยากจนแทบไม่มีกิน

นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอระดมทุนเพื่อทำเว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต เพื่อต่อต้านการครอบครองที่ดินของอับดุล ทาอิบ มาห์มูด นอกเหนือจากเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองอาวุโสของประเทศนี้ เว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือน มิ.ย.2553 จึงประเดิมด้วยการแฉเรื่องอับดุล ทาอิบ มาห์มูด และคนในตระกูล เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายผืนในคานาดา ตามด้วยการเปิดโปงการเป็นเจ้าของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐและลอนดอน โดยแหล่งข่าวสำคัญก็คือรอสส์ โบเยิร์ท อดีตคนสนิทของทาอิบ มาห์มูด ที่ดูแลกิจการในสหรัฐฯ ผลตามมาก็คือ หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และคานาดา ได้เข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินของตระกูลของทาอิบ มาห์มูด ในยุคของทาอิบ

แม้ว่าการนำเสนอของ 2 สื่อ จะจุดชนวนการิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเนื่องจากมีขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ปรากฏว่าผู้สมัครพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนพุ่งขึ้น แต่ยังมากพอที่จะล้มบัลลังก์อันเหนียวแน่นของอับดุล ทาอิบ มาห์มูด ที่ครองมานานถึง 33 ปี สุดท้าย ทาอิบ มาห์มูด ได้ลาออกเองเมื่อปี 2557 เพื่อไปรั้งตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ อันเป็นตำแหน่งพิธีการมากกว่า

เว็บไซต์นี้ยังเจาะข่าวกรณีบริษัทซิโนไฮโดรของจีน ที่ได้รับสัญญาก่อสร้างเขื่อนบากุน หนึ่งในเขื่อนใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานในการสร้างเขื่อน ระหว่างการนำเสนอข่าวเจาะชิ้นนี้ปรากฏว่าเว็บไซต์นี้ถูกเจาะข้อมูล แต่ตอนหลังบริษัทนี้ก็ยอมรับว่าการก่อสร้างมีปัญหาจริง

นอกจากนี้ เว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต ยังนำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนเมื่อเดือน ส.ค. 2554 เปิดโปงว่าบริษัทเอฟบีซี มีเดีย บริษัทสื่อชั้นนำของมาเลเซียได้ทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ให้กับนักการเมืองมาเลเซียหลายคนรวมไปถึงอับดุล ทาอิบ มาห์มูด และนาจิบ ราซัก

ที่มาภาพ : http://www.straitstimes.com/sites/default/files/styles/x_large/public/articles/2015/07/24/newspaper240715e.jpg?itok=MDROLiMA
ที่มาภาพ : http://www.straitstimes.com/sites/default/files/styles/x_large/public/articles/2015/07/24/newspaper240715e.jpg?itok=MDROLiMA

ผลการเจาะข่าวนี้ปรากฏว่าส่งผลกระทบในวงกว้างตามมา เมื่อพบว่าบีบีซีของอังกฤษและซีเอ็นบีซี เครือข่ายเคเบิลทีวีของสหรัฐฯ ที่เสนอข่าวความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบริษัทเอฟบีซี มีเดีย ท้ายสุด บีบีซีและซีเอ็นบีซีต้องประกาศตัดความสัมพันธ์กับเอฟบีซี มีเดีย ตามด้วยบีบีซี ได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งขอโทษไปทั่วโลกหลังจากมีการเปิดเผยว่าได้รับสิทธิพิเศษในการทำสัญญาทางธุรกิจกับเอฟบีซีแลกกับการเป็นเครื่องมือพีอาร์ในการติดต่อกับลูกค้าทางธุรกิจและการเมือง ด้านรัฐบาลก็ได้สอบข้อเท็จจริงของรายงานชิ้นนี้

ซาราวัก รีพอร์ต ยังได้เกาะติดการเจาะข่าวริซา อาซิซ ลูกติดของนางรอสมาห์ มันซอร์ ที่เกิดจากสามีคนแรก เกี่ยวกับความโปร่งใสในการบริหารเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนบริษัทโฆษณาเรด แกรนิต พิกเจอส์ ของตัวเอง ที่ได้ทุ่มเงินราว 100 ล้านดอลลาร์ สร้างภาพยนต์เรื่อง “หมาป่าแห่งวอลสตรีท” ที่ได้ชิงรางวัลออสการ์ และยังเจาะข่าวว่าอาซิซได้ซื้อคอนโดมิเนียมสุดหรูในนิวยอร์กเมื่อเดือน พ.ย. 2555 ในราคา 33.5 ล้านดอลลาร์ เรด แกรนิต ขู่จะฟ้องซาราวัก รีพอร์ต แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำตามคำขู่ ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป

เม.ย. 2555 ซาราวัก รีพอร์ต ได้นำเสนอรายงานหลายตอนจบอ้างอิงเอกสารที่รั่วไหลมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน (เอ็มเอซีซี) ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์เชิงธุรกิจระหว่างมูซา อามัน มุขมนตรีรัฐซาบาห์ กับไมเคิล เจี๋ย ซึ่งเป็นคนกลางในการจ่ายสินบนเพื่อให้บริษัทแห่งหนึ่งได้สิทธิพิเศษในการบริหารวนอุทยานซุนไก ปินากาห์ ในซาบาห์ ไมเคิล เจี๋ย เคยถูกจับขณะพยายามจะขนเงิน 16 ล้านดอลลาร์ ของซุนไกออกจากฮ่องกงเมื่อปี 2551 ผลจากการขุดคุ้ยข่าวนี้ทำให้อับดุล กานี ปาเตล อัยการสูงสุดของมาเลเซียซึ่งเป็นญาติกับครอบครัวของมูซา อามัน ถูกกล่าวหาว่าพยายามขัดขวางการสอบสวนของเอ็มเอซีซี ขณะที่ทางการสวิตเซอร์แลนด์ได้ร่วมมือกับฮ่องกงสอบสวนคดีของมูซา อามัน

ในส่วนของการทุจริตคอรัปชันใน 1เอ็มดีบี ซึ่งซาราวัก รีพอร์ต เป็นสื่อแรกที่เปิดประเด็นนี้ หนึ่งในนั้นก็คือการเปิดโปงว่าผู้เสนอโครงการลงทุนร่วมระหว่าง 1เอ็มดีบีกับเปโตรซาอุด อินเตอร์เนชันแนล เมื่อต้นเดือนกันยายน 2552 ก็คือ หลอ เต็ก โฮ หรือโฮ หลอ นักการเงินที่เกิดที่ปีนัง และเรื่องที่หลอยักยอกเงิน 700 ล้านดอลลาร์จากสัญญานี้ไปเข้าบัญชีส่วนตัว หรือเรื่องที่ชอบตัวเป็นคนดังคลุกคลีกับไฮไซและคนดังในแคลิฟอร์นีเยอย่างปารีส ฮิลตัน ทั้งยังร่วมมือกับริซา อาซิส ลูกเลี้ยงของนาจิบ ราซัก ผลักดันบริษัทโฆษณาเรด แกรนิต พิกเจอส์ ของตัวเองทุ่มเงิน 100 ล้านดอลลาร์สร้างภาพยนตร์เรื่อง “หมาป่าแห่งวอลล์สตรีท”

ตอนหนึ่งของรายงานการสืบสวนสอบสวนของซาราวัก รีพอร์ต ยังเผยด้วยว่า หลอ เต็ก โฮ ผู้นี้นี่เองที่เป็นคนคอยควักกระเป๋าจ่ายเงินตอนที่นางรอสมาห์ มันซอร์ เดินช็อบปิ้งสินค้าแบรนด์หรูราคาแพง หรือซื้อเครื่องเพชรทีละหลายล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ : https://lh3.ggpht.com/1vRBZK9wpBm-TrmdYbaz4k9DBtoIyvNXnr3nkyIYfJ_07TsPzhKtZu9-lxLwPjNpL93vtZJDV5WSExcPKXo
ที่มาภาพ : https://lh3.ggpht.com/1vRBZK9wpBm-TrmdYbaz4k9DBtoIyvNXnr3nkyIYfJ_07TsPzhKtZu9-lxLwPjNpL93vtZJDV5WSExcPKXo

เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ได้รายงานเปิดโปงว่า หลอ เต็ก โฮ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดกับครอบครัวของนาจิบ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับ 1เอ็มดีบี ได้ทุ่มเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์สุดหรูมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ในแดนอินทรี

ข่าวสืบสวนสอบสวนแต่ละชิ้นของเว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต จนรับฉายาว่า“วิกิลีกส์แห่งซาราวัก” ล้วนแต่สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ กระทั่งอับดุล ทาอิบ มาห์มูด ซึ่งภายหลังได้ลาออกจากตำแหน่งมุขมนตรีไปเป็นผู้ว่าการรัฐซาราวัก ได้ขึ้นบัญชีดำห้ามเธอเดินทางไปที่ซาราวักเมื่อเดือน ก.ค. 2556 ทั้งๆ ที่เธอเดินทางไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติคูชิงแล้ว แต่ก็ถูกกักตัวที่สนามบินและถูกประกบตัวให้ต้องขึ้นเครื่องบินไปที่สิงคโปร์ เพียงวันเดียวก่อนหน้าที่เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีกำหนดพบกับนาจิบที่ลอนดอน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมแคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ นักข่าวหญิงเหล็กแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นชาวอังกฤษแท้จึงสนใจปัญหาในรัฐซาราวักเป็นพิเศษ ใช่เป็นเพราะเธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวหรือไม่ แต่ข้อสงสัยนี้ก็หายไปถ้าทราบว่าแรงบันดาลใจสำคัญมาจากการที่เธอเกิดที่รัฐซาราวักเมื่อปี 2503 และได้เรียนหนังสือที่นี่จนอายุ 8 ขวบ พ่อแม่จึงพากลับมาเรียนต่อที่กรุงลอนดอน จนกระทั่งจบปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน จบแล้วก็ยึดอาชีพเป็นนักข่าวที่บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส แต่งงานกับแอนดรูว์ บราวน์ น้องชายของกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกฯ อังกฤษ มีพยานรักด้วยกัน 2 คน

ตั้งแต่ต้นเธอปิดบังตัวเองไม่ยอมบอกว่าเป็นน้องสะใภ้ของกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าจะกระทบต่องานของกอร์ดอน บราวน์ ช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งเมื่อกอร์ดอน บราวน์ พ้นจากตำแหน่งนี้แล้วก็ตาม จนกระทั่งเมื่อเธอถูกขู่ฆ่า ถูกตามราวีทุกรูปแบบ ถูกใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานาผ่านสื่อพีอาร์ขายตัว อาทิ ปล่อยข่าวว่าเธอสมคบคิดกับมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯ ที่จะล้มรัฐบาลนาจิบ ราซัก นอกจากนี้ก็มีการกล่าวหาเธอเมื่อปี 2554 ว่าเสนอข่าวบิดเบือนหมายจะล้มรัฐบาลบาริซาน นาซิอองนาล ในซาราวัก เธอยืนกรานปฏิเสธข่าวนี้โดยยืนยันว่าแค่ต้องการเปิดเผยความจริงทั้งปวงในฐานะนักข่าวคนหนึ่งเท่านั้นและจะตามล่าตัวการทำลายป่าอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ซาราวัก รีพอร์ต ถูกแฮ็กเป็นประจำ ส่วนคลื่นสั้นของวิทยุซาราวักเสรีถูกคลื่นลึกลับรบกวนการออกอากาศเสมอๆ

ถึงจุดนี้ กอร์ดอน บราวน์ จึงแนะนำให้เธอกล้าเปิดเผยตัวตนว่าเป็นใครและกำลังทำอะไรอยู่ แถมยังออกโรงมาช่วยปกป้องด้วยการประกาศจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนเธอที่เปิดโปงข่าวการตัดไม้ลายป่าในซาราวัก แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ยอมรับว่าหลังจากเปิดเผยตัวตนโดยเฉพาะกล้าบอกว่าเป็นน้องสะใภ้ของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันไปได้มาก เธอย้ำว่ากุญแจความสำเร็จอยู่ที่ความซื่อสัตย์ ยิ่งทำข่าวสืบสวนสอบสวนยิ่งต้องระมัดระวังและต้องมีหลักฐานแน่นหนาอยู่ในมือจนมัดมือนักการเมืองกังฉินเหล่านั้นให้ดิ้นไม่หลุด

เพียงแค่ 3 ปีที่ก่อตั้งวิทยุซาราวักเสรี วิทยุนี้ก็ได้รับรางวัลนักบุกเบิกสื่อเสรีของสถาบันสื่อระหว่างประเทศ (ไอพีไอ) ประจำปี 2556 ขณะที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่นิวยอร์กไทมส์ ยกย่องแคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ว่าเป็น “หนึ่งในเสียงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการเรียกร้องความสนใจในปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการทุจริตคอร์รัปชันในมาเลเซีย”

ตอนนี้เธอจึงได้รับการจับตามองว่าจะเป็นนารีผู้พิฆาตนาจิบ ราซัก หรือไม่