ThaiPublica > คอลัมน์ > Virunga สุดยอดสารคดีต่อต้านคอร์รัปชัน

Virunga สุดยอดสารคดีต่อต้านคอร์รัปชัน

7 มีนาคม 2016


Hesse004

การสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “คอร์รัปชัน” นับเป็นความท้าทายสำหรับคนทำหนังอยู่ไม่น้อย เนื่องจากผู้สร้างหนังแนวนี้ต้องเข้าใจกลไกการโกงเป็นอย่างดี ตลอดจนต้องถ่ายทอดอารมณ์ความยากลำบากในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันออกมาให้ได้

อย่างไรก็ดี การสร้างหนังคอร์รัปชันกลับดู “ปลอดภัย” กว่าการผลิตภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film) ที่มีประเด็นคอร์รัปชันเป็นแก่นของเรื่อง…แน่นอนว่า สารคดีเดินเรื่องโดยมีผู้แสดงจริง และเหตุการณ์ที่ถูกชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งจะว่าไปแล้ว การผลิตสารคดีลักษณะนี้มีความสุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย

แต่ละปี มีการเผยแพร่สารคดีต่อต้านคอร์รัปชันเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดมีจัดประกวดรางวัลโดยใช้ชื่อรางวัลว่า Corruption Reporting Award ผู้มอบรางวัล คือ เวที One World Media Awards ร่วมกับองค์กรความโปร่งใสสากลหรือ Transparency International ในฐานะผู้สนับสนุนหลักในการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

ปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา สารคดีต่อต้านคอร์รัปชันมากกว่า 30 เรื่อง ถูกส่งเข้าประกวด สารคดีเหล่านี้มาจากทั่วทุกมุมโลก สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้เป็นวาระแห่งชาติของที่ใดที่หนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกควรจะช่วยกันขบคิดว่าจะทำอย่างไรในการจำกัดขนาดของปัญหานี้ให้ลดลง

สารคดีเจ๋งๆ หลายเรื่องจากทวีปเอเชีย ยุโรป ลาตินอเมริกา และแอฟริกา ต่างพาเหรดถ่ายทอดเรื่องราวต่อต้านทุจริตได้น่าสนใจ หลายเรื่องเป็นสารคดีประเภท Investigative Journalism หรือสารคดีข่าวเชิงสืบสวนที่นักข่าวทำหน้าที่ “ชำแหละ” เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในรูปแบบสารคดีข่าว

ยกตัวอย่าง สารคดีเรื่อง Africa Investigates: Uganda’s Temple of Injustice ของ Emmanuel Mutaizibwa แห่งสำนักข่าวอัลจาซีรา ภาคภาษาอังกฤษ (Aljazeera English) ที่เปิดโปงความเละเทะ ฉ้อฉลของกระบวนการยุติธรรมในยูกันดา

นอกจากนี้ ยังมีสารคดีเรื่อง People’s Republic of Offshore ของ Gerad Rye นักข่าวสืบสวนผู้ขุดคุ้ยพฤติกรรมของเหล่าชนชั้นนำจีน1 ที่ฉ้อฉลงบประมาณแผ่นดินและฟอกเงินด้วยการเปิดบริษัทในต่างประเทศบังหน้า

สำหรับสารคดีต่อต้านคอร์รัปชันที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประจำปี ค.ศ. 2015 ตกเป็นของ Virunga (2014) สารคดีน้ำดีจากประเทศอังกฤษ กำกับโดย Orlando Von Einsiedel ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการพิทักษ์ผืนป่าอุทยานแห่งชาติ Virunga National Park ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democracy Republic of Congo)

ความโดดเด่นของสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้เชิดชูวีรบุรุษคนใดคนหนึ่งที่ปกป้องผืนป่า หากแต่นำเสนอภาพการต่อสู้ของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มี “ลูกบ้า” คอยทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผืนป่าอุทยานแห่งชาติตกไปอยู่ในน้ำมือของกองกำลังกบฏและบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ละโมบเข้ามาสำรวจขุดเจาะน้ำมัน

อุทยานแห่งชาติ Virunga ยังเปรียบเสมือนบ้านหลังสุดท้ายของ “ลิงกอริลลา” ซึ่งนับวันมีแต่จะร่อยหรอสูญพันธุ์ไปด้วยน้ำมือของมนุษย์ผู้รุกราน

โครงเรื่องสารคดีนำเสนอภาพคนกลุ่มเล็กๆ ประกอบด้วย ผู้ดูแลกอริลลา หัวหน้าอุทยาน นักข่าวสืบสวน รวมถึงตัวผู้กำกับเองที่เข้ามาทำสารคดีอนุรักษ์ผืนป่าใน Virunga พอดี

ที่มาภาพ : http://greenfilmnet.org/wp-content/uploads/virunga-poster.jpg
ที่มาภาพ: http://greenfilmnet.org/wp-content/uploads/virunga-poster.jpg

แต่เดิมนั้น Einsiedel ผู้กำกับ ตั้งใจเข้ามาทำสารคดีเกี่ยวกับอุทยาน Virunga เพื่อช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ป่าไม้ในคองโก แต่การณ์กลับตาลปัตร เพราะขณะถ่ายทำเมื่อปี ค.ศ. 2012 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายในขึ้นระหว่างกลุ่มกบฏที่เรียกตัวเองว่า M23 Rebellion กับกองกำลังรัฐบาล ซึ่งทั้งคู่ต่างใช้ Virunga เป็นสมรภูมิรบ

หนำซ้ำ กองถ่ายยังเจอกับโครงการสำรวจขุดเจาะน้ำมันของบริษัทน้ำมันสัญชาติอังกฤษที่เข้ามาขุดหาน้ำมันในเขตอุทยานแห่งชาตินี้ด้วย และพยายามจะติดสินบนเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลป่าไม้ในเขตอุทยาน

…พูดง่ายๆ คือ ไม่มีใครที่สนใจป่า ไม่มีใครสนใจกอริลลา ทุกฝ่ายต่างสนใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง

Virunga เป็นสารคดีความยาว 100 นาที ที่แสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะในการรักษาผืนป่า ขณะเดียวกันคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้พยายามยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองภายในคองโก

สารคดีฉายภาพให้เห็นถึงความเลวร้ายของสงครามกลางเมืองและความเห็นแก่ตัวของบริษัทน้ำมัน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้ Virunga ถูกใจกรรมการตัดสินจนมอบรางวัลสารคดีดีเด่นในการต่อต้านคอร์รัปชัน

Virunga ยังได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเวทีฉายหนังระดับนานาชาติ และเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87 สาขาสารคดียอดเยี่ยม รวมถึงได้รับรางวัล Peabody Award ซึ่งเป็นรางวัลของมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน George Foster Peabody ที่ตั้งใจมอบรางวัลนี้ให้กับสื่อภาพยนตร์น้ำดีที่สร้างสรรค์เรื่องราวดีๆ ให้กับสาธารณะ

1 เหล่าอีลิทของจีนจะถูกเรียกว่า Princeling แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าเหล่าอ๋องน้อย คนกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นแรกๆ ที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่มากับประธานเหมา เจ๋อตุง ซึ่งพวกอ๋องน้อยนับเป็นชนชั้นนำใหม่ที่ได้รับการศึกษาที่ดีและโอกาสมากกว่าลูกหลานชาวจีนทั่วไป ปัจจุบัน Princeling เติบโตขึ้นมากุมอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน หนึ่งใน Princeling คนสำคัญ คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง