Hesse004
การต่อสู้กับคอร์รัปชันโดยภาคประชาชนนั้นเริ่มง่ายๆ ด้วยการเคารพกฎหมายและกติกาในสังคม หากพูดเพียงอย่างเดียวคงเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะต่อต้านคอร์รัปชัน แต่การกระทำต่างหากที่เป็นเครื่องพิสูจน์เจตนาว่าเราต่อต้านคอร์รัปชันกันจริงจังหรือเป็นแค่ “วาทกรรม” รังเกียจคนโกง
การต่อต้านคอร์รัปชันด้วย “มือเรา” อีกช่องทางหนึ่ง คือ การร้องเรียนเรื่องทุจริต เพราะการร้องเรียนเรื่องทุจริตเป็นอีกขั้นหนึ่งของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน
ในอดีตนั้น เท่าที่สืบค้นหลักฐานการรับเรื่องร้องเรียน พบว่า รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยออกประกาศเรื่องการร้องเรียนความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการกระทำของข้าราชการทุจจริต ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2493
สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว คือ การแจ้งช่องทางการร้องเรียนต่อคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492
…เพราะผู้ร้องเรียนมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หรือ ได้รับความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐที่คอร์รัปชัน
ปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดช่องทางการร้องเรียนไว้หลายช่องทาง เช่น ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ www.nacc.go.th หรือส่งเรื่องร้องเรียนมาโดยตรงที่สำนักงาน ป.ป.ช.
การร้องเรียนเรื่องทุจริตนับเป็นวิธีการที่ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมช่วยแจ้งเบาะแสการทุจริตได้ โดยเฉพาะหากถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบน ต้องจ่ายส่วย หรือถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูลแข่งโครงการรัฐ โดยหลักการของการร้องเรียน สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดให้ผู้ร้องเรียนควรร้องเรียนโดยมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายหรือระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนกำหนดไว้ เช่น
(1) มีชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา (ผู้ร้องเรียน)
(2) มีชื่อหรือตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา
(3) มีข้อกล่าวหาการกระทำความผิด
(4) บรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดตามข้อกล่าวหาโดยละเอียด พร้อมระบุพยานหลักฐานที่ยืนยันสนับสนุนการกล่าวหาเรื่องร้องเรียน และ
(5) ผู้ร้องเรียนควรป้อนชื่อข้อมูลตนเอง หมายเลขประชาชน และที่อยู่ติดต่อให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ติดต่อกลับ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นความลับอย่างที่สุด (รายละเอียดที่ว่านี้สืบค้นได้จาก คำแนะนำการร้องเรียนทางเว็บไซต์ ป.ป.ช.)
กรณีผู้ร้องเรียนกล่าวหาไม่ระบุชื่อสกุลของผู้ร้องเรียน สำนักงาน ป.ป.ช. จะจัดเรื่องดังกล่าวเป็น “บัตรสนเท่ห์” ซึ่งหากไม่ระบุพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจไม่รับหรือยกเรื่องร้องเรียนให้ตกไป
ด้วยเหตุนี้ การกล่าวหาว่าใครทุจริต ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหานั้นด้วย ซึ่ง ป.ป.ช. พยายามสร้างขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียนให้รัดกุมไว้ด้วยเช่นกัน
หัวใจสำคัญของการร้องเรียน คือ การปกปิดข้อมูลของผู้ร้องเรียนไว้เป็นความลับ เพราะผู้ที่รวบรวมพยานหลักฐานและกล้าที่จะร้องเรียนนั้นย่อมมีต้นทุนต่อต้านทุจริต ต้นทุนดังกล่าว เมื่อบวกรวมกับความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้ร้อง บางทีอาจไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้รับ
ดังนั้น หากหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันไม่ช่วยอำนวยความสะดวก หรือลดขั้นตอนความยุ่งยาก ความซ้ำซ้อนในเรื่องร้องเรียนลง ย่อมทำให้ผู้ร้องเรียนหมดกำลังใจ และล้มเลิกที่จะต่อต้านคอร์รัปชันเอาง่ายๆ ซ้ำร้ายยิ่งทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจว่า ร้องเรียนไปแล้ว มีแต่เปลืองตัวเปล่าๆ
อย่างไรก็ดี สำนักงาน ป.ป.ช. มีกระบวนการติดตามเรื่องร้องเรียนซึ่งจะทำให้ผู้ร้องเรียนทราบความคืบหน้าของเรื่องที่ตนเองร้องว่าอยู่ในขั้นตอนใดของ ป.ป.ช. แล้ว
การจัดการกับเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช. แบ่งออกเป็น 3 กรณี กล่าวคือ
(1) กรณีบัตรสนเท่ห์ ถ้า ป.ป.ช. ไม่รับเป็นเรื่องร้องเรียน เรื่องดังกล่าวจะถูกตีตกไป แต่หากรับเป็นเรื่องร้องเรียนจะออกเลขเรื่องร้องเรียนเป็น “เลขดำ”
(2) กรณีผู้ร้องแจ้งชื่อ ที่อยู่ ของผู้ร้องชัดเจน ป.ป.ช. จะรับและออกเลขดำให้ และส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานภายในที่ทำหน้าที่รับดำเนินการต่อไป
(3) กรณีมีคำร้องเกี่ยวกับทรัพย์สิน โดยเฉพาะพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ป.ป.ช. จะออกเลขที่เรื่องร้องเรียนเป็นเลขดำ และส่งให้หน่วยงานภายในที่ตรวจสอบทรัพย์สินตรวจสอบ
หลังผ่านกระบวนการคัดกรองเรื่องร้องเรียนแล้ว ขั้นตอนต่อมาประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ (1) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยจะเดินไปสู่ขั้นตอนที่ (2) คือ การเสนอเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง กรณีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพบว่าเรื่องนั้นมีมูล ก็จะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากไม่มีมูลก็ตีตกไป ต่อมาในขั้นตอนที่ (3) คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาสำนวน หากเห็นว่ามีมูลจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นพิจารณา แต่หากไม่มีก็ไม่รับ และให้ตกไปโดยแจ้งผู้กล่าวหาร้องเรียนให้รับทราบด้วย
หากคณะอนุกรรมการเห็นว่าเรื่องร้องเรียนนั้นมีมูล จะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบและแจ้งข้อกล่าวหา
หลังจากไต่สวนเสร็จแล้ว ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลก็จะตกไป กรณีมีมูลหรือมีพฤติการณ์ทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการโดย (ก) หากมีความผิดทางวินัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะชี้มูลและส่งเรื่องไปให้ต้นสังกัดดำเนินการ (ข) หากมีความผิดทางอาญา คณะกรรรมการฯ จะส่งอัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลยุติธรรม
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ กลไกการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน มีหลายคดีเริ่มต้นจากการร้องเรียนโดยประชาชน กระบวนการเหล่านี้ย่อมใช้ระยะเวลานาน เพราะการจะพิสูจน์ว่าใครคนใดคนหนึ่งกระทำทุจริตนั้น “เจตนา” และหลักฐานพยานแวดล้อมคือเครื่องสะท้อนพฤติการณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิสูจน์และชี้มูลออกมาให้เห็น