ThaiPublica > คอลัมน์ > The Anti-Corruption Summit 2016 อีกย่างก้าวของการต่อต้านคอร์รัปชันในเวทีสากล

The Anti-Corruption Summit 2016 อีกย่างก้าวของการต่อต้านคอร์รัปชันในเวทีสากล

1 มิถุนายน 2016


Hesse004

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ปัญหาคอร์รัปชันได้กลายเป็นปัญหาสากลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ “การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน” ถูกทำให้เป็นสินค้าและบริการซึ่งตัวละครหลักที่เข้ามาผลิตสินค้าบริการชนิดนี้ คือ ภาครัฐ โดยรัฐบาลหลายประเทศได้จัดตั้งหน่วยงานต่อต้านทุจริตภาครัฐ (Anti-Corruption Agencies) หรือ ACAs ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ผลิตสินค้าต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งในเชิงป้องกันและปราบปรามการทุจริต

อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าประเภทนี้ยังไม่เพียงพอที่จะลดปัญหาคอร์รัปชันในสังคมลงได้ ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อ จึงเข้ามามีส่วนร่วมผลิตสินค้าบริการชนิดนี้ด้วย

ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน มีส่วนสำคัญที่ช่วยภาครัฐต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ ต้องการเห็นสังคมโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการบังคับใช้กฎหมาย

ในเวทีโลก องค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นหัวเรือใหญ่ต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 จนถึงทุกวันนี้ คือ Transparency International (TI) หรือ องค์กรความโปร่งใสสากล

TI นำเสนอโครงการต่อต้านคอร์รัปชันมากมาย เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้ถึงพิษภัยของปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะบทบาทหลักของ TI คือ การประกาศอันดับความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประเทศต่างๆ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Corruption Perception Index (CPI)

นอกจากนี้ TI ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดประชุม สัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อต้านทุจริตจากทั่วโลก โดยกำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) TI จัดประชุมวิชาการด้านต่อต้านคอร์รัปชันโดยใช้ชื่อว่า International Anti-Corruption Conference หรือ IACC ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตลอด โดยปีแล้ว เมืองปุตราจายา (Putrajaya) ประเทศมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IACC ครั้งที่ 16

ส่วนการประชุม IACC ครั้งที่ 17 จัดในเดือนธันวาคม ปีนี้ เจ้าภาพคือประเทศปานามา

จะเห็นได้ว่า TI เป็นองค์กรภาคประชาสังคมระดับสากล (International Civil Society Organization) ที่สร้างเครือข่ายการต่อต้านทุจริตได้ทรงพลังมากที่สุด ขณะเดียวกัน ประเด็นต่อต้านคอร์รัปชันที่ TI ต่อสู้มาตลอด 20 ปี เริ่มผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเป็นประเด็นที่สามารถดึงความสนใจจากแขกระดับผู้นำจากประเทศต่างๆ มานั่งถกปัญหาเรื่องต่อต้านทุจริตได้

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา TI ได้รายงานข่าวการประชุมครั้งสำคัญ โดยเป็นการประชุม ผู้นำเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันในเวที The Anti-Corruption Summit 2016 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กับบทบาท Moderator ในเวที The Anti-Corruption Summit 2016 ณ กรุงลอนดอน ที่มาภาพ : http://www.humanosphere.org/wp-content/uploads/2016/05/26938730076_69f9e5aa33_b.jpg
David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กับบทบาท Moderator ในเวที The Anti-Corruption Summit 2016 ณ กรุงลอนดอน ที่มาภาพ : http://www.humanosphere.org/wp-content/uploads/2016/05/26938730076_69f9e5aa33_b.jpg

การประชุมครั้งนี้นับว่ามีความพิเศษหลายอย่าง เริ่มจากรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

นายคาเมรอน เป็นหนึ่งในผู้นำที่ติดอยู่ในรายชื่อของ Panama paper ด้วย ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ เราจึงเห็นบทบาทของนายคาเมรอนพูดได้ “ขึงขัง” เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเวทีนี้น่าจะพอมีส่วนต่อการกู้ภาพลักษณ์ทางการเมืองของเขาอยู่บ้าง หลังจากต้องเผชิญกับมรสุม Panama paper

นอกจากนายคาเมรอนแล้ว ผู้นำระดับ “บิ๊กเนม” ที่คุ้นชื่ออีกคน คือ นายจอห์น เคอร์รี (John Kerry) United State Secretary of States ที่มาประชุมแทนประธานาธิบดีบารัก โอบามา นางคริสทีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การประชุมรอบนี้นับเป็นครั้งแรกที่รวมผู้นำรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่สนใจปัญหาคอร์รัปชัน ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ที่ต่างเข้ามาร่วมเสวนา อภิปราย พร้อมทั้งเสนอชุดทางออกของการต่อต้านคอร์รัปชันในอนาคต

TI สรุปผลการเสวนารอบนี้ไว้น่าสนใจ ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางการต่อต้านคอร์รัปชันต่อไปในอนาคตด้วย โดย TI ใช้คำว่า Ambitious and Concrete Commitments หรือ การสร้างพันธะผูกพันอย่างทะเยอทะยานและเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

สิ่งที่ผู้นำจากวงการต่างๆ เห็นพ้องต้องกัน คือ การต่อสู้กับคอร์รัปชันในอนาคตไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไปแล้ว ในทำนองเดียวกัน การต่อต้านคอร์รัปชันคงไม่ได้แค่ “โลกสวย” เพียงแต่รอปลูกฝังจิตสำนึก จนลืมสร้างมาตรการที่เป็นรูปธรรม โดยต้องทำให้ทั้งสองอย่างเดินคู่ไปพร้อมๆ กัน

การประชุมครั้งนี้ มีคีย์เวิร์ดอยู่ 3 คำ คือ Prevention-Punishment-Protection

การประชุมพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะลงนามร่วมกันของประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ในการร่วมกันตั้ง International Anti-Corruption Coordination Centre ที่จะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระดับสากลที่สนับสนุนและลงโทษผู้กระทำผิดคอร์รัปชัน โดยเฉพาะปัญหาการติดสินบนข้ามชาติ

พร้อมกันนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมยังเห็นชอบกับแนวทางที่ทั่วโลกต้องแชร์ข้อมูลเรื่องคอร์รัปชันระหว่างประเทศร่วมกัน น่าสนใจว่ากรณีเคส Panama Paper กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรื่องการแชร์ข้อมูลถูกหยิบมาพูดอีกครั้ง

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยังเกี่ยวพันกับการฟอกเงิน (Money Laundering) และการติดตามทรัพย์สินคืน (Asset Recovery) ซึ่งเป็นเรื่องยากยิ่งนักที่คนตามจับจะเร่งเอาทรัพย์สินคืนกลับมา เพราะแม้ความเข้าใจเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริง ปรากฏว่ามีความซับซ้อนและติดเงื่อนไขทางกฎหมายหลายประการ

เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งที่มีการพูดคุยกัน คือ การสร้างมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลการทำสัญญาต่างๆ ของรัฐ นับเป็นการต่อยอดแนวคิดเรื่อง Open Contracting ซึ่งได้กล่าวถึงมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ เพื่อสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในกระบวนการทำธุรกรรมสัญญาต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ภายใต้หลักคิดที่ว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงประเด็นการคุ้มครองความปลอดภัย (Protection) ของผู้ให้ข้อมูลการทุจริตหรือที่ในทางสากลเรียกว่า Whistleblower เรื่องดังกล่าวนับว่าจำเป็นอยู่ไม่น้อยในการที่รัฐจะต้องคุ้มครองสุจริตชนที่ต้องการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน การออกมาตรการคุ้มครองผู้ให้เบาะแสต้องถูกผลักดันออกมาเป็นกฎหมายที่คุ้มครองอย่างจริงจังทั้งสื่อที่ทำข่าวเจาะปัญหาทุจริต และคุ้มครองคนให้ข้อมูล

ประเด็นสุดท้ายที่หยิบมาพูดในเวที Anti-Corruption Summit คือ ปัญหาคอร์รัปชันในวงการกีฬา เรื่องนี้ดูจะอยู่ในกระแสเช่นกัน เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC ประกาศแล้วว่าจะดำเนินการสอบสวน กรณีเกิดข้อกล่าวหาร้องเรียนว่าคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นติดสินบนคณะกรรมการคัดเลือกเจ้าภาพเพื่อให้ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ปี 2020

เรามักพบคอร์รัปชันในวงการกีฬาอยู่เสมอ ตั้งแต่ การโด๊ปยาของนักกีฬา การล็อกผลการแข่งขัน หรือล็อกผลการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งกีฬา การติดสินบนกรรมการให้ช่วยเหลือทีมใดทีมหนึ่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ที่ประชุมมีแนวคิดจัดตั้ง The International Sport Integrity Partnership ในปี 2017 ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการคอร์รัปชันในวงการกีฬา

การประชุม Anti-Corruption Summit ครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับสากล ซึ่งทุกภาคส่วนช่วยกันมองไปข้างหน้า “แบบไม่ฝันกลางวัน” หรือพ่นพูดแค่วาทกรรมต่อต้านคอร์รัปชันเพียงอย่างเดียว