ThaiPublica > เกาะกระแส > “การบินไทย” ไต่ระดับแผนฟื้นฟู ปรับระบบไอทีอุดรูรั่ว – ใช้ Big Data เสริมความปลอดภัย ดันรายได้โตขั้นต่ำ 6% 

“การบินไทย” ไต่ระดับแผนฟื้นฟู ปรับระบบไอทีอุดรูรั่ว – ใช้ Big Data เสริมความปลอดภัย ดันรายได้โตขั้นต่ำ 6% 

25 กรกฎาคม 2016


เมื่อดูความคืบหน้ากว่า 2 ปีของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หลังจากรัฐบาลชูธงเป็นนโยบายหลักที่จะจัดสรรสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ของประเทศใหม่ โดยหนึ่งในมาตรการหลักที่หลายฝ่ายจับตาอย่างใกล้ชิดคือการ “ฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ” ที่ประสบปัญหาอย่างหนัก 7 แห่ง อันรวมไปถึง “การบินไทย” ซึ่งถือว่าเป็น 1 ในรัฐวิสาหกิจที่คืบหน้ามากที่สุดในประเด็นนี้

โดยการประชุมคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ครั้งที่ 3/2559 เมื่อ 11 กรกฎาคม 2559 ระบุว่าการบินไทยปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูคืบหน้าเป็นอย่างดี ทั้งนโยบายการสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับการจัดอันดับในปีล่าสุด การบินไทยซึ่งได้ฉลองปีที่ 56 ด้วยการคว้าอันดับ 1 ของสายการบินที่มีการพัฒนามากที่สุดใน 12 เดือนที่ผ่านมา จาก Skytrax World Awards

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมถึงการสร้างรายได้ว่าบริษัทกำลังจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร แบ่งเป็น

1) ระบบบริหารราคา หรือ Fair Management system จากเดิมที่ต้องใช้เวลาอัปเดตราคาผ่านเครือข่ายหลังจากคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดอนุมัติ 3 อาทิตย์ ให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มได้ขั้นต่ำประมาณ 2-3% ของรายได้รวม โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างจัดวางระบบเครือข่ายและจะเปิดใช้ระบบในเดือนสิงหาคมนี้

“คือเรื่องราคาตั๋วตอนนี้มันบริหารไม่ได้  อยากบริหารจัดการ แต่พอตัดสินใจแล้วกลับต้องรอ 3 อาทิตย์ราคาจึงจะขึ้น พอราคาออกไป คู่แข่งปรับราคาแล้ว เราก็ค้างฟ้าอยู่ ไม่ทันใคร” นายจรัมพรกล่าว

นอกจากนี้ การบินไทยจะต้องใช้เครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยเฉลี่ยสายการบินอื่นจะมีรายได้จากช่องทางของพันธมิตร 20-25% ขณะที่การบินไทยมีเพียง 5% ดังนั้น การบินไทยจะใช้ช่องทางเหล่านี้มากขึ้น โดยลงนามกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อเพิ่มเส้นทางและกำหนดราคาตามเส้นทางต่างๆ ให้ครบถ้วนและอัปเดตได้รวดเร็ว

2) การบริหารโครงข่ายเส้นทางบิน หรือ route-network management system จะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม เพื่อเพิ่มการเชื่อมโยงให้ดีขึ้น เช่นเวลาเข้าออกของเครื่องบินให้สอดคล้องกัน โดยจะเริ่มต้นปรับ 13 เส้นทางก่อน ตัวอย่างเช่น เส้นทางออสเตรเลีย เส้นทางญี่ปุ่น-อินเดีย เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มรายได้อีก 3%

3) ระบบให้บริการบนเครื่อง หรือ Service Ring เช่น การแจ้งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเครื่อง การขายหรืออัปเกรดที่นั่งได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มได้ประมาณ 3-5%

“เรื่อง Service Ring เรายังไม่ได้ขายของใหม่เลย อัปเกรดอยู่ แต่ศักยภาพของคนอื่นขายได้เฉลี่ยที่ 5-6% ของเรา 1% แปลว่ามันมีศักยภาพ มีช่องทางที่จะเพิ่มรายได้อีก “นายจรัมพรกล่าว

4) การขายตั๋วออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันมือถือ คาดว่าจะเริ่มต้นปีหน้า โดยเบื้องต้นจะใช้งานระบบใหม่ควบคู่กับระบบเก่า ก่อนจะค่อยๆ ลดจำนวนการใช้งานและปลดระบบเก่าออกหากเหมาะสมต่อไป

ขณะที่นโยบายลดค่าใช้จ่าย นายจรัมพรกล่าวว่า การบินไทยยังมีเครื่องบินปลดระวางรอการขายอยู่ 11 ลำ โดยปี 2559 ขายไปได้แล้ว 1 ลำ ปีที่ผ่านมาขายได้ 24 ลำ โดยจะพยายามขายให้หมดภายในปีนี้ ซึ่งการบินไทยยังมีแผนจะเปิดเส้นทางบินอีกหลายเส้นทางที่มีศักยภาพ เริ่มจาก 1) เส้นทางกรุงเทพฯ-สหรัฐอเมริกา 1 จุดบิน หลังจากได้รับมอบเครื่องบินใหม่มา (ซึ่งมีความเหมาะสมกับระยะทางและความต้องการมากกว่าเครื่องลำเดิม) โดยอยู่ระหว่างการเลือกเมืองซานฟรานซิสโกหรือเมืองซีแอตเทิล เนื่องจากมีเส้นทางใกล้กว่าเมืองลอสแอนเจลิส เป็นเส้นทางบินเดิมที่ถูกปิดไป และสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองอื่นๆ ได้ง่าย โดยเบื้องต้นจะเปิดบินให้ได้ทุกวันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม อาจจะติดปัญหาที่ประเทศไทยถูกประเมินจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ที่ระดับ Category 2 ซึ่งคงต้องเริ่มเจรจาต่อไป

2) เส้นทางบินกรุงเทพฯ-เตหะราน ประเทศอิหร่าน เนื่องจากเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง มีประชากร 70-80 ล้านคน และเป็นตลาดที่ดีต่อธุรกิจการบิน และ 3) เส้นทางกรุงเทพฯ-มอสโก (รัสเซีย) ซึ่งมีแนวโน้มตลาดดีขึ้น

“การที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ไม่ใช่คิดอย่างเดียวหรือแนะนำหรือวิจารณ์อย่างเดียว มันอยู่ที่เราทำหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการขึ้นมาระดับนี้แปลว่าตั้งแต่ต้นมีการวิเคราะห์ว่าต้องแก้ไขอะไร เราฟังคำแนะนำจากทุกคน แต่ผลที่จะออกมาได้เราต้องเลือกแผน แล้วทำจริงจัง ผลมันถึงออกมาว่าส่วนการให้บริการลูกค้าเห็นชัดเจน cabin factor ไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ 76.8% แล้ว แต่เราตั้งเป้าให้ถึง 80% เหมือนสายการบินอื่นๆ ตัวเลขแบบนี้เรามีเป็น dashboard อัปเดตตลอดเวลา มีการวัดผล วางแผน แก้ไข ผลออกมาก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ผ่านมาได้สักครึ่งทางแล้ว มีอีกหลายอย่างต้องทำ หวังว่าจะได้รางวัลใหญ่ๆ ปีหน้า อันดับ 1 หลายๆ ด้าน อีกเยอะ” นายจรัมพรกล่าว

อนึ่ง ผลประกอบการล่าสุดในไตรมาส 1 ของปี 2559 การบินไทยมีกำไรสุทธิ 6,010.66 ล้านบาท โดยมีเหตุผลหลักจากผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินที่ลดลงเหลือเพียง 174 ล้านบาท เทียบกับการด้วยค่าที่สูงถึง 11,480 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิพลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 3 ปีที่ 11.92% จาก -5.67%, -7.65% และ -6.78% ในปี 2556 2557 และ 2558 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังขาดทุนสะสมอยู่ที่ -13,555.62 ล้านบาท ขณะที่ค่าสถิติสำคัญอื่นได้แก่ อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.5% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 75.4%, จำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.92 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 5.3% และ มี Aircraft Utilization เพิ่มขึ้นเป็น 11.5 ชั่วโมง จาก 10.7 ชั่วโมง

การบินไทย ยกระดับความปลอดภัยด้วย Big Data

ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินที่กำลังขยายตัวข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ระบุว่า ในปี 2558 ใน 31.5 ล้านวินาที มีเที่ยวบินออกจากท่าอากาศยานทั่วโลกจำนวน 37.6 ล้านเที่ยว ซึ่งรวมระยะเวลาทั้งหมดคิดเป็น 2,700 ปี ระยะเวลาทั้งหมดนี้เป็นช่วงที่ผู้ที่อยู่บนเครื่องบินมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ เรื่องความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกสุดในขนส่งมวลชนทางอากาศ และเนื่องจากในปี 2558 ที่ผ่านมา องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (Signicant Safety Concerns: SSC) นำไปสู่การปักธงแดง ส่งผลให้การบินได้ถูกตรวจสอบเข้มขี้น

นายปรารถนา พัฒนศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายความปลอดภัย ความมั่นคง และมาตรฐานดารบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงที่ประสบปัญหา การบินไทยถูกตรวจสอบถึง 124 ครั้งภายใน 1 ปี จากเดิมจะถูกตรวจสอบเพียง 20 ครั้งต่อปี ทำให้การบินไทยต้งเตรียมความพร้อมทุกด้านให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

ที่ผ่านมาการบินไทยได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ สำหรับจัดทำฐานข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงและรับมือสถานการณ์ต่างๆ ไว้โดยใช้ เมื่อต้นปี 2559 การบินไทยได้บูรณาการฐานข้อมูลความปลอดภัยร่วมกับสายการบิน SAS และองค์กรที่ทำการจัดระบบข้อมูลให้สายการบินต่างๆ อย่าง Enplore จัดทำระบบ Safety Intelligence System ที่รวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัย ข้อมูลด้านการใช้พลังงาน การจัดการเที่ยวบินและการทำงานของลูกเรืออย่างเหมาะสม เพื่อวิเคราะห์ปัญหาด้านการบินร่วมกัน และเฝ้าระวังกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนหรือกฎเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

“แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงทดลองใช้ระบบ แต่ก็ช่วยเราได้มาก เพราะจากที่เคยใช้คนในการคิด วิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลจำนวนมากที่รวบรวมได้ ระบบนี้ทำให้การทำงานง่ายขึ้น เรารู้ข้อมูลทั้งสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ประกอบกับข้อมูลเชิงสถิติที่รวบรวมไว้นำมาวางแผนรับมือความเสี่ยงต่างๆ ทำให้นักบินรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที มีการคำนวณทางสถิติให้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยลดปัญหา human error ได้” นายปรารถนากล่าว

ด้านนายชิงชีพ บุรีรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับกิจกรรมด้านการบินองค์กร กล่าวว่า ภายหลังที่ไทยถูกปักธงแดง การบินไทยเองได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาทั้งหมดที่จะต้องรับมือ และได้จัดทำโครงการมาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ (Safety Beyond Compliance) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) โดยมาตรฐานของ EASA มีความทันสมัยสูง ข้อกำหนดต่างๆ จะถูกอัปเดตอยู่ตลอด ซึ่งเป็นข้อดีที่จะทำให้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของการบินไทยถูกยกระดับให้สูงตามสากลอย่างสม่ำเสมอ

“สิ่งที่ต้องเผชิญแน่นอนคือทั้งหน่วยงานของไทย และสายการบินจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากหลายๆ องค์กร อาทิ FAA EASA องค์กรจากประเทศออสเตรเลีย จากญี่ปุ่น ซึ่งการตรวจสอบทั้งหมดการบินไทยสามารถผ่านไปได้อย่างราบรื่น ประกอบกับการบินไทยได้เชิญหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาทำการประเมินมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความเป็นกลางในการตรวจสอบ และแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่ายังอยู่ในมาตรฐานแม้จะเป็นสายการบินจากประเทศที่มีปัญหาก็ตาม” นายชิงชีพกล่าว

นายจรัมพรกล่าวว่า การดำเนินการต่างๆ ทั้งหมดที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล และได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้ในเดือนมิถุนายน 2558 ภายหลังที่ไทยถูก ICAO ปักธงแดง เนื่องจากการบินไทยเป็นสายการบินที่ทำการบินเข้าน่านฟ้ายุโรปจึงต้องเข้าพบ EASA ซึ่งการรวบรวมข้อมูลทางสถิติอย่างจริงจังนำมาสู่การวิเคราะห์ผลให้ EASA ได้รับทราบทำให้ได้รับความเชื่อมั่นให้ได้รับใบรับรองสำหรับสารการบินนอกยุโรปให้ทำการบินเข้าน่านฟ้ายุโรปได้ (Third Country Operators: TCO) ส่วนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สามารถบินและเพิ่มเที่ยวบินได้ปกติ

นอกจากนี้ ประเทศจีนมีระบบคัดกรองสายการบินให้บินเข้าประเทศด้วยคะแนน ซึ่งจะตัดคะแนนสายการบินของประเทศที่ติดธงแดง 5 แต้ม แต่เมื่อบริษัทพิสูจน์เรื่องมาตรฐานที่เชื่อถือได้ให้เห็น การบินไทยจึงไม่ถูกตัดคะแนน เรายังเหลือ FAA ที่ยังอยู่ใน Category 2