ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เกาะติดคดีสหกรณ์ฯคลองจั่นตามรอยเช็ค 878 ฉบับ – DSI ฟ้องอาญา “ศุภชัย ศรีศุภอักษรและพวก – ธรรมกาย ” 13 คดี – สหกรณ์ฯ ฟ้องแพ่ง 8 คดี

เกาะติดคดีสหกรณ์ฯคลองจั่นตามรอยเช็ค 878 ฉบับ – DSI ฟ้องอาญา “ศุภชัย ศรีศุภอักษรและพวก – ธรรมกาย ” 13 คดี – สหกรณ์ฯ ฟ้องแพ่ง 8 คดี

15 กรกฎาคม 2016


จากการดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก ร่วมกันยักยอกทรัพย์ โดยสั่งจ่ายเช็ค 878 ฉบับ มูลค่า 11,367 ล้านบาท จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นไปเข้าบัญชีเครือข่าย เป็นเหตุให้สมาชิกที่ฝากเงิน เจ้าหนี้ ไม่สามารถถอนเงินได้ตั้งแต่ปี 2556

ล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคองจั่นจำนวน 60 ฉบับที่ยังตรวจไม่เสร็จมาสอบทานอีกครั้ง พบเช็คสั่งจ่ายจากบัญชีสหกรณ์ฯ ไปเข้าบัญชีวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโยและเครือข่าย จำนวน 7 ฉบับ มียอดเงินเพิ่มขึ้นมาอีก 405 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 พ.ต.ท. สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงเชิญนายประกิต พิลังกาสา ประธานกรรมการบริหารลูกหนี้ และผู้จัดทำแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มาหารือ เพื่อสอบทานตัวเลขความเสียหาย ก่อนสรุปผลการตรวจสอบเส้นทางเช็คสั่งจ่ายจากบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นทั้งหมด 878 ฉบับ มีมูลค่าความเสียหายเกือบ 12,000 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ความคืบหน้าคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

จากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายกล่าวรายงานสรุปความคืบหน้าในการดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีอาญาทั้งหมด 13 คดี ส่วนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นดำเนินคดีแพ่งเพื่อติดตามทรัพย์คืน 8 คดี มีรายละเอียดดังนี้

1. คดีพิเศษที่ 27/2559 หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับแจ้งความร้องทุกข์นายธรรมนูญ อัตโชติ กับพวก 49 คน โดยขอให้ดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กับพวก 4 คน ประกอบด้วย พระธัมมชโย, น.ส.ศรัณยา มานหมัด, นางทองพิน กันล้อม และนางศศิธร โชคประสิทธิ์ ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และร่วมรับของโจร ทำให้สหกรณ์ฯ เสียหายเป็นมูลค่า 2,993 ล้านบาท

ล่าสุด ดีเอสไอสรุปสำนวนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 ตามกำหนดการ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดนัดฟังผลการพิจารณาสั่งคดีว่าให้สอบเพิ่มเติม สั่งฟ้อง หรือไม่สั่งฟ้อง ในวันที่ 11 สิงหาคม 2559

2. คดีพิเศษที่ 146/2556นายพิษณุ ชีวะสิทธิ์ กับพวก แจ้งความร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 13,334.15 ล้านบาท คดีนี้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556 พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์ผู้ต้องหา 3,811 ล้านบาท ความคืบหน้าของคดีนี้ ทางดีเอสไอสรุปสำนวนคดีส่งสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558

3. คดีพิเศษที่ 63/2557 นายสมาน ครองเมือง กับพวก รวม 2,205 คน ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และนายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ ผู้รับมอบอำนาจจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอ ขอให้ดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก 13 คน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมาตรา 343 มูลค่าความเสียหาย 6,866.06 ล้านบาท ดีเอสไอรับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ต่อมาได้มีการสรุปสำนวนคดีส่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดีวันที่ 13 ตุลาคม 2558 รวมทั้งทำหนังสือแจ้งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559

4. คดีพิเศษที่ 64/2557 นางสาวสุดาภรณ์ กองธรรม รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด มาแจ้งความร้องทุกข์กับดีเอสไอ ขอให้ดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในข้อหายักยอกทรัพย์ 27.64 ล้านบาท ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 จากนั้นมีการสรุปสำนวนคดีให้สำนักงานอัยการสูงสุดส่งฟ้องศาลอาญา โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ต่อมาศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุกนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นเวลา 16 ปี โดยไม่รอลงอาญา

5. คดีพิเศษที่ 68/2558 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบเส้นทางเงิน พบนายศุภชัย ศรีศุภอักษร โอนเงินที่ยักยอกมาจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยสั่งจ่ายเช็คให้แก่นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล เพื่อนำไปซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และสังหาริมทรัพย์ (รถยนต์, ปืน) มูลค่าความเสียหาย 250 ล้านบาท ในนามตนเองและในนามของบริษัท เอสดับบลิวโฮลดิ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด คดีนี้ ดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร และนายสถาพร วัฒนาศิริกุล ร่วมกันฟอกเงิน ความคืบหน้าคดีอยู่ระหว่างเรียกตัวนายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล ผู้ต้องหา มาสอบปากคำ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ดีเอสไอดำเนินคดีอาญา

6. คดีพิเศษที่ 70/2558 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจพบเส้นทางเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงปี 2552 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร นำเงินจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการยักยอกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ไปซื้อที่ดินบริเวณอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในนามตนเองและได้ถือครองกรรมสิทธิ์เรื่อยมา จนกระทั่งมีการร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีพิเศษที่ 164/2556 นายศุภชัยได้ขายที่ดิน 8 แปลง ให้ น.ส.อลิสา อัศวโภคิน และอีก 1 แปลง ให้กับ นางวรรณา จิรกิติ

ดีเอสไอรับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยตั้งข้อกล่าวหานายศุภชัยและพวก กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน รวมมูลค่าความเสียหาย 300 ล้านบาท ความคืบหน้าของคดีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนผู้ต้องหา คาดว่าจะสรุปสำนวนคดีได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2559

7. คดีพิเศษที่ 99/2558 ดีเอสไอตรวจสอบเส้นทางเงิน พบนายศุภชัย ศรีศุภอักษร สั่งจ่ายเช็ค 10 ฉบับ ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการยักยอกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อหุ้นของบริษัท เอ็มโฮมเอสพีวี 2 จำกัด ดีเอสไอจึงตั้งข้อกล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก กระทำความผิดฐานฟอกเงิน มูลค่าความเสียหาย 320 ล้านบาท ความคืบหน้าของคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน

8. คดีพิเศษที่ 42/2559 คดีนี้นายธรรมนูญ อัตโชติ ร้องทุกข์กับดีเอสไอ ขอให้ดำเนินคดีกับกลุ่มนายหน้าค้าที่ดิน กรณีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ขายที่ดิน 1,838 ไร่ ให้บริษัท พิษณุโลกเอทานอล จำกัด เพื่อนำเงินไปชำระหนี้คืนให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ปรากฏว่า การซื้อ-ขายที่ดินครั้งนั้นนายศุภชัยขอให้ผู้ซื้อออกแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 100 ล้านบาท เงินส่วนที่เหลือนายศุภชัยขอให้ผู้ซื้อออกแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายตนเองรวมทั้งกลุ่มนายหน้าค้าที่ดิน คดีนี้ดีเอสไอตั้งข้อหาร่วมกันฟอกเงิน มูลค่าความเสียหาย 1,635 ล้านบาท ความคืบหน้าของคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

9. คดีพิเศษที่ 38/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ มาแจ้งความร้องทุกข์กับดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับนายจิรเดช วรเพียรกุล และนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน มูลค่าความเสียหาย 6,866 ล้านบาท ความคืบหน้าของคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

10. คดีพิเศษที่ 26/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ มาแจ้งความร้องทุกข์กับดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องหาคดีพิเศษที่ 146/2556 ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน มูลค่าความเสียหาย 2,993 ล้านบาท ความคืบหน้าของคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

11. คดีพิเศษที่ 25/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ มาแจ้งความร้องทุกข์กับดีเอสไอให้ดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีมูลหนี้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน มูลค่าความเสียหาย 1,755 ล้านบาท ความคืบหน้าของคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

12. คดีพิเศษที่ 24/2559 นายธรรมนูญ อัตโชติ มาแจ้งความร้องทุกข์กับดีเอสไอให้ดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก เฉพาะกลุ่มนิติบุคคลที่ไม่มีมูลหนี้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน มูลค่าความเสียหาย 2,297 ล้านบาท ความคืบหน้าของคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

13. คดีสืบสวนที่ 110/2558 นายอริยะ เอี่ยมดิลกวงศ์ รับมอบอำนาจจากสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มาแจ้งความร้องทุกขับดีเอสไอ ขอให้ดำเนินคดีกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้นายศุภชัย ศรีศุภอักษร สามารถยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นไปได้

และจากการสืบสวนของดีเอสไอ พบว่านายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง มีพฤติการณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้รับความเสียหาย เข้าข่ายเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนค

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดีแพ่ง ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2559 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้ดำเนินคดีแพ่งเพื่อติดตามทรัพย์คืนทั้งหมด 8 คดี รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 23,632.90 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

1. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1674/2557 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก รวม 13 คน เป็นจำเลย ในข้อหาเรียกทรัพย์คืนและละเมิด รวมทุนทรัพย์ 3,490.20 ล้านบาท คดีนี้ศาลแพ่งเริ่มพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดยมีคำสั่งให้นัดสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยแล้ว และล่าสุดศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 กันยายน 2559

2. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.736/2557 เดิมคดีนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลจังหวัดธัญบุรีดำเนินคดีนายศุภชัยเป็นจำเลยที่ 1 วัดพระธรรมกายที่ 2 และพระธัมมชโยที่ 3 ข้อหาติดตามเรียกทรัพย์สินคืน ทุนทรัพย์ 134 ล้านบาท (ทุนทรัพย์เดิม 818 ล้านบาท) ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 โจทก์และจำเลยนัดเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ผลการเจรจาวันนั้นคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายตกลงยอมจ่ายเงินเยียวยาครั้งที่ 1 ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 684 ล้านบาท แลกกับการถอนฟ้องคดีจำเลยที่ 2 และ 3 พร้อมกับทำหนังสือยินยอมไม่ประสงค์ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป ต่อมากองทุนเฉพาะกิจลูกศิษย์วัดพระธรรมกายรวบรวมเงิน 371 ล้านบาท จ่ายเยียวยาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559

แต่อย่างไรก็ตาม สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยังคงดำเนินคดีกับ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ จำเลยที่ 1 มูลนิธิรัตนคีรีจำเลยที่ 2 และนายศุภชัย จำเลยที่ 3 เพื่อติดตามทรัพย์สินที่เหลืออีก 34.02 ล้านบาทต่อไป ล่าสุดวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลแล้ว โดยศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 10 สิงหาคม 2559

3. คดีแพ่ง หมายเลขดำที่ พ.4462/2557 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก 9 คน และจำเลยร่วมอีก 33 คน ในข้อหาละเมิด ติดตามทรัพย์คืน ลาภมิควรได้ รวมทุนทรัพย์ 10,641.75 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้นำคดีนี้มารวมกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.3628/2557 ซึ่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำเลยที่ 1 และพระครูปลัดวิจารณ์ ธีรางกุโร จำเลยที่ 2 ข้อหาติดตามเรียกทรัพย์คืน 119.63 ล้านบาท รวม 2 คดี มีทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 10,761.39 ล้านบาท และจากการที่กลุ่มศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายนำเงินชำระคืนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พร้อมกับทำหนังสือยินยอมไม่ประสงค์ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทางสหกรณ์ฯ จึงไปถอนฟ้องวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยออกจากการเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้แล้ว

ความคืบหน้าของคดีนี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทุกๆ วันอังคาร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

ผลการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกับวัดพระธรรมกายและพระเทพญาณมหามุณี หรือ พระธัมมชโย  เพื่อติดตามทรัพย์สินของสหกรณ์ฯมูลค่า 814 ล้านบาท กลับคืนได้ 684.78 ล้านบาท
ผลการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกับวัดพระธรรมกายและพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เพื่อติดตามทรัพย์สินของสหกรณ์ฯ มูลค่า 814 ล้านบาท กลับคืนได้ 684.78 ล้านบาท

4. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.590/2558 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา จำเลยที่ 1 นายวัฒชานนท์ นวอิสรารักษ์ จำเลยที่ 2 และ น.ส.ฐิติรัตน์ หงส์เชิดชูสกุล จำเลยที่ 3 ต่อศาลจังหวัดนครปฐม ในข้อหาผิดสัญญา ตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า 1,340.38 ล้านบาท คดีนี้ ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำพิพากษาให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชาชดใช้เงินให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 อยู่ระว่างการบังคับคดี

5. คดีแพ่ง หมายเลขดำที่ พ.334/2558 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ขับไล่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้อยู่อาศัยอาคารยูทาวเวอร์ รวมทุนทรัพย์ 1,792,000 บาท ความคืบหน้าคดี วันที่ 4 ธันวาคม 2558 ศาลพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกจากทรัพย์ วันที่ 28 ธันวาคม 2558 จำเลยส่งมอบทรัพย์สินคืนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสำนักงานกฎหมายผกามาศดำเนินการบังคับคดีให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือแล้ว

6. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.2331/2558 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล กับพวก 18 คน ต่อศาลแพ่งในข้อหาติดตามทรัพย์คืนมูลค่า 7,186.32 ล้านบาท ความคืบหน้าคดีนี้อยู่ระหว่างการนัดสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลย

7. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ฟ.20/2557 ความคืบหน้าของคดีนี้ ล่าสุดสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลาย หมายเลขแดงที่ ฟ.10/2558 โดยขอให้บริษัท มงคลเศรษฐีเอสเตท จำกัด ชำระหนี้ ตามมาตรา 90/38 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 คดีมีความคืบหน้าดังนี้

วันที่ 22 ตุลาคม 2558 ศาลพิพากษาสัญญาประนีประนอมยอมความ

วันที่ 19 ตุลาคม 2558 บริษัท มงคลเศรษฐีเอสเตท จำกัด นำเงินมาชำระหนี้ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 155.13 ล้านบาท

วันที่ 26 ตุลาคม 2558 นำเงินมาชำระหนี้อีก 2 ล้านบาท โดยบริษัทมงคลเศรษฐีเอสเตทหนังสือถึงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ขอชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนที่ดินส่วนที่เหลือมูลค่า 45.56 ล้านบาท

8. คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ฟ.20/2557 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องศาลล้มละลาย หมายเลขแดงที่ ฟ.10/2558 ขอให้บริษัท ช้างแก้วการเกษตร จำกัด ชำระหนี้ตามมาตรา 90/38 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย 2483 ความคืบหน้าของคดีนี้ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลพิพากษาให้นิติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนา เพื่ออำพรางนิติกรรมจำนอง จึงให้บริษัท ช้างแก้วการเกษตร จำกัด ชำระหนี้ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ต่อมาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีมติรับชำระหนี้รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 68.45 ล้านบาท และหลังจากบริษัทช้างแก้วการเกษตรชำระหนี้แล้ว สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินที่พิพาทคืน

อ่านเพิ่มเติม: ซีรีย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ป้ายคำ :