นางประภัสสรกล่าวว่า การขอฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ ซึ่งมีหนี้ 12,000 ล้านบาท มีสมาชิกผู้เสียหาย 56,000 ราย นับเป็นคดีการขอฟื้นฟูกิจการที่มีผู้เสียหายมากที่สุด และเป็นครั้งแรกที่ “สหกรณ์” ขอฟื้นฟูกิจการ โดยคาดว่าการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจะแล้วเสร็จในต้นเดือนมีนาคม 2558
“ความยากลำบากในการฟื้นฟูกิจการก็คือ จำนวนสมาชิกที่มีจำนวนมากและเป็นผู้สูงอายุที่นำเงินก้อนสุดท้ายมาฝากไว้ที่สหกรณ์ฯ ไม่สามารถเบิกถอนได้ในช่วงการไต่สวนของศาลที่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งความล่าช้าในการไต่สวนคำร้องส่วนหนึ่งคือการคัดค้านของเจ้าหนี้จำนวนหนึ่ง ความเดือดร้อนของสมาชิกทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่างๆ ตามที่เป็นข่าว”
ส่วนภาระของคณะกรรมการในการดำเนินคดีเพื่อติดตามทรัพย์สินของสหกรณ์ และการดำเนินคดีกับผู้ทุจริตหรือทำให้เกิดความเสียหายที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือ
1. ปี 2556 สหกรณ์ฯ มีคำสั่ง09/2556 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการอนุมัติเบิกจ่ายเงิน การลงบัญชีการเงิน การอนุมัติให้นิติบุคคล หรือสมาชิกสมทบที่ไม่ได้ถือหุ้นในสหกรณ์กู้ยืมเงิน จำนวน 27 ราย และการยืมทดรองของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการดำเนินการ ทำให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นได้รับความเสียหาย 15,000 ล้านบาท ผลการสอบสวนนำไปสู่การฟ้องร้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร นางศรัณยา มานหมัด ข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ 3 คดี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556
ต่อมาเดือนมิถุนายน 2556 นายศุภชัยได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานกรรมการดำเนินการชุดที่ 29 ได้ใช้อำนาจคณะกรรมการดำเนินการถอนฟ้องคดีทั้งสามเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556
จากนั้นวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 นายพิษณุ ชีวะสิทธิ์ และนายปฏิพันธ์ จันทรภูติ สมาชิกสหกรณ์ ได้รับมอบอำนาจจากสมาชิกรวม 311 คน เข้าร้องทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับนายศุภชัย คดีอยู่ในความรับผิดชอบของนากิตติก้อง คณาจันทร์ โดยที่ความเสียหายมีผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ดีเอสไอจัดเป็นคดีพิเศษ ผลการสอบสวนเส้นทางการเบิกจ่ายเช็คและการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ คดีได้ถูกส่งต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อทำการยึดทรัพย์ผู้กระทำผิด ซึ่งผู้รับผิดชอบติดตามทรัพย์และการยึดทรัพย์คือนายนพดล อุเทน
2. การฟ้องคดีในช่วงการบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 30 ได้แก่
1) ปปง. ได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ยึดได้จากการติดตามเส้นทางการเงิน 592 รายการ ให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นเพื่อฟ้องคดี และได้ฟ้องไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เป็นคดีดำที่ 1674/2557 และการขอคุ้มครองฉุกเฉินระหว่างดำเนินคดี รวมมูลค่าทรัพย์ที่ยึดไว้และขอการคุ้มครองเป็นเงิน 3,800 ล้านบาท จำเลย 18 คน ศาลนัดพิจารณาคดีต่อจากครั้งก่อน วันที่ 28 เมษายน 2558
นอกจากทรัพย์ที่ยึดได้ในครั้งแรกที่ฟ้องคดีแล้ว การขยายผลของ ปปง. ยังพบการลงทุนในหุ้นบริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) และบริษัทอื่นๆ รวม 5 บริษัท เป็นเงิน 1,200 ล้านบาท (มูลค่าหุ้นตามบัญชี) ซึ่งปัจจุบันนายศุภชัยได้โอนให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์แทนสหกรณ์ ได้มีหนังสือ ปปง. เพื่อขอให้ส่งมอบทรัพย์สินที่ยึดใหม่ให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อใช้สิทธิทางศาลในการขอคุ้มครองเช่นที่ดำเนินการในครั้งก่อน
สำหรับคดีอาญา ดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการ โดยมีความเห็นให้ฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก รวม 5 คน ขณะนี้พนักงานอัยการได้ขอให้ดีเอสไอสอบสวนเส้นทางเช็คเพิ่มเติม
2) การดำเนินคดีเพื่อติดตามทัพย์สิน นอกจากข้อ 1) สหกรณ์ได้ยื่นฟ้องนายศุภชัยและพวกเป็นคดีแพ่งอีก 3 คดี คือ
– คดีหมายเลขดำที่ พ.736/2557 นายศุภชัย ที่ 1 วัดธรรมกาย ที่ 2 และพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ที่ 3 ติดตามทรัพย์คืน จำนวน 818 ล้านบาท ศาลนัดพิจารณาคดีวันที่ 16 มีนาคม 2558
– คดีหมายเลขดำที่ พ.4462/2557 นายศุภชัยกับพวก 8 คน ติดตามยึดทรัพย์คืน จำนวน 10,641 ล้านบาท ศาลนัดพิจารณาคดีวันที่ 28 เมษายน 2558
– คดีหมายเลขดำ ที่ พ.3628/2557 นายศุภชัย ที่ 1 กับพระครูปลัดวิจารณ์ ธีรางกุโร ที่ 2 ติดตามยึดทรัพย์คืนจำนวน 119 ล้านบาท ศาลนัดพิจารณาคดี 28 เมษายน 2558
3. การดำเนินคดีอาญากับนายศุภชัย นอกจากคดีการร้องทุกข์กับดีเอสไอ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 แล้ว สหกรณ์ได้ร้องทุกข์ต่อดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับนายศุภชัยอีก 2 คดี คือข้อหาปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตกแต่งบัญชีงบดุล หมายเลขคดี 63/2557 และข้อหายักยอกเงินจำนวน 27 ล้านบาท ซึ่งนายศุภชัยได้ยักยอกไปเมื่อเข้ามาบริหารสหกรณ์ในชุดที่ 29 หมายเลขคดี 64/2557 ซึ่งทั้งสองคดียังอยู่ในระหว่างการสอบสวนชองดีเอสไอ คาดว่าคดียักยอกเงิน 27 ล้านบาท น่าจะส่งให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีได้เร็ววันนี้
4. การติดตามทรัพย์สิน นอกจากข้างต้นแล้ว สหกรณ์ได้ฟ้องบังคับทุกสัญญาที่มีการผิดนัดชำระหนี้ บังคับจำนองทุกสัญญา ขณะนี้มีคดีที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีประมาณ 10 คดี