หลังจากที่นายศุภชัย หล่อโลหการ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.)ได้ถูกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ซึ่งการประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมลับเพื่อพิจารณากรณีเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ของนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนั้น โดยสรุปเหตุของการเพิกถอนวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยว่า ไม่ได้คุณภาพและไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการ เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับรายงานการวิจัยอื่นจำนวนมาก ทั้งนี้ แม้ระเบียบจะไม่ได้กำหนดว่าการกระทำที่เข้าข่ายการคัดลอกหรือลอกเลียนงานอื่น เป็นการกระทำที่มีความผิดหรือมีผลต่อการขาดคุณสมบัติการศึกษา แต่เรื่องความซ้ำซ้อนหรือการคัดลอกหรือลอกเลียนงานอื่น เป็นประเด็นที่สามารถนำมาใช้พิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือมาตรฐานทางวิชาการได้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวสะท้อนถึงมาตรฐานทางวิชาการและคุณสมบัติของผู้ที่จะสำเร็จการศึกษา ว่ามีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาหรือไม่ หรือสอดคล้องกับขนบ จารีต และมาตรฐาน ที่เป็นที่ยอมรับทั้งระดับสากลและระดับประเทศหรือไม่
ต่อเรื่องนี้ นายศุภชัยได้ฟ้องศาลปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ 1) อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ 2) และสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ 3) ในปี 2555 ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ศาลปกครองมีคำพิพากษายกฟ้อง
โดยระบุว่า จากรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่อธิการบดี จุฬาฯ แต่งตั้ง ได้เสนอความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทำวิทยานิพนธ์ โดยคัดลอกจากเอกสารงานวิจัยหรือบทความของบุคคลอื่น หรือที่บุคคลอื่นเป็นผู้เขียนร่วม จำนวน 4 ฉบับ จำนวน 4,019 บรรทัด 122 ตาราง 53 รูปภาพ เป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 80 จากวิทยานิพนธ์ทั้งหมดจำนวน 205 หน้า ซึ่งเพียงพอที่ผู้ถูกฟ้องที่ 3 (สภาจุฬาฯ) จะมีมติเพิกถอนปริญญาบัตรของผู้ฟ้องได้แล้ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
อ่านเพิ่มเติม ซีรี่ย์วิกฤติมาตรฐานงานวิจัย