ThaiPublica > คนในข่าว > “วิลเลียม วิน แอลลิส” คู่กรณีการเพิกถอนปริญญาเอก “ศุภชัย หล่อโลหการ” 5 ปีของการทวงสิทธิผู้ประพันธ์

“วิลเลียม วิน แอลลิส” คู่กรณีการเพิกถอนปริญญาเอก “ศุภชัย หล่อโลหการ” 5 ปีของการทวงสิทธิผู้ประพันธ์

2 กรกฎาคม 2012


นายวิลเลี่ยม วิน แอลลิส
นายวิลเลี่ยม วิน แอลลิส

หลังจากที่มีการร้องเรียนและสอบสวนกันมายาวนานเกือบ 5 ปีกรณีการลอกเลียนผลงานในการทำวิทยานิพนธ์ ของ “บุคคลนั้น” ในที่สุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เพิกถอนปริญญาเอกไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555

หลังจากนั้น “บุคคลนั้น” ได้ออกมาแถลงข่าวในวันที่ 25 มิถุนายน 2555 โดยนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการที่ สนช. โดยตอบโต้การเพิกถอนปริญญาเอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ทั้งนี้ คู่กรณีที่ได้ร้องเรียนคือนายวิลเลียม วิน แอลลิส ได้กล่าวหานายศุภชัยว่าลอกเลียนผลงานวิจัย “การเพิ่มศักยภาพของภาคเกษตรอินทรีย์ไทยในภาคการส่งออก” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture ) ทำวิทยานิพนธ์

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ถอดเทปคำต่อคำที่นายศุภชัยได้แถลงข่าวก่อนหน้านี้ ครั้งนี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายวิลเลียม วิน แอลลิส ถึงเรื่องราวในการร้องเรียนจนทำให้มีการฟ้องร้องอยู่หลายคดีในขณะนี้ ระหว่างนายศุภชัย หล่อโลหการ และนายวิลเลี่ยม วิน แอลลิส

ไทยพับลิก้า : จุดเริ่มต้นที่คุณวินร้องเรียนกับจุฬาฯ เกี่ยวกับการลอกเลียนผลงานไปทำวิทยานิพนธ์ และรู้ได้อย่างไรว่าซ้ำ

ตอนแรกผมร้องเรียนเกี่ยวกับบทความย่อ ที่รู้เพราะนายศุภชัยบอกผมเอง และจากการพูดกับอาจารย์ที่ปรึกษาตอนที่ผมเข้าเรียนจุฬาฯ

ไทยพับลิก้า : มีคนบอกว่าคุณวินจะเอางานชิ้นนี้ไปทำวิทยานิพนธ์ด้วย เพราะคุณวินมีสถานะเป็นนิสิตจุฬาฯ เรียนปริญญาเอกด้วย

ตอนที่ผมสมัครจุฬาฯ ผมเสนอหัวข้อ “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ไม่เกี่ยวกับเกษตร หลังจากนั้นผมคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา และผมถามอาจารย์ที่ปรึกษาว่าการทำวิทยานิพนธ์มีกฏระเบียบอย่างไร เพราะผมมีเปเปอร์หลายเปเปอร์ บางเปเปอร์ยังไม่ได้ตีพิมพ์ อาจารย์บอกว่าถ้ายังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่เขียนแล้วก็ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าเป็นหัวข้ออะไร ..ก็จบ

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าคุณวินไม่พอใจ เพราะคุณวินก็จะเอาเรื่องนี้ไปใช้ด้วย

เขาก็ตีผมเรื่องนี้มาตลอด หลักสูตรที่ผมเรียนเป็นหลักสูตรธุรกิจนวัตกรรม หลังจากนั้นผมได้เปลี่ยนหัวข้อ โดยอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าในเมื่อคุณเชี่ยวชาญเรื่องเกษตร ก็น่าจะใช้ประสบการณ์ทำทางด้านนี้ ผมจึงเปลี่ยนมาเป็น “ระบบนวัตกรรมในการจัดการการเกษตรในพืชตระกูลกะหล่ำปลี” ไม่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น เปเปอร์ของ ITC (International Trade Center) ไม่มีประโยชน์ และผมรู้ดีว่า งานวิจัย “การเพิ่มศักยภาพของภาคเกษตรอินทรีย์ไทยในภาคการส่งออก” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) ที่ทำให้ ITC ไม่ใช่เปเปอร์ทางวิชาการ ผมเขียนเปเปอร์มานาน ผมรู้ดีว่าสถานะเปเปอร์นั้นเป็นอย่างไร มี 3 เหตุผลที่ผมรู้ว่าใช้ไม่ได้ คือ 1. เปเปอร์เกิดขึ้นก่อนที่ผมมาเรียน 2. ไม่ได้เป็นเปเปอร์วิชาการ 3. ไม่เกี่ยวกับหัวข้อที่ผมทำ

ไทยพับลิก้า : ตอนสมัครปริญญาเอกนักศึกษาต้องส่งหัวข้อก่อน

ใช่ ผมส่งหัวข้อระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่ผมสนใจ หลังจากนั้น 2 ปี 3 ปีที่ผ่านมา ผมก็ช้าเพราะมีคดีฟ้องร้อง ทำอะไรไม่ออก หลังจากนั้นเปลี่ยนหัวข้อเป็นระบบนวัตกรรมทางด้านเกษตร กรณีศึกษากะหล่ำปลี

ไทยพับลิก้า : แล้วรู้ได้อย่างไรว่ามีเอกสารนี้อยู่ในวิทยานิพนธ์ของคุณศุภชัย

ผมคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ผมถามอาจารย์และหยิบเล่มนี้มาให้ดูว่าผมมีบทความย่อ(จากงานวิจัยของITC)มาให้อาจารย์ดู อาจารย์บอกว่าใช้ไม่ได้อยู่แล้ว เป็นบทความที่คุณเขียนมาก่อนเข้ามาศึกษา แล้วอาจารย์ก็บอกอีกว่า รู้สึกว่าเป็นบทความที่นายศุภชัยใช้อยู่ ผมไม่รู้ว่านายศุภชัยเรียนที่จุฬาฯ ด้วยซ้ำ เขาไม่เคยบอกใคร ณ จุดนั้นผมก็เข้าใจแล้ว

ไทยพับลิก้า : คุณวินเอาบทความย่อไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาดูทำไม

ให้เขาดูว่าประวัติผมเป็นอย่างไร เพราะส่งเปเปอร์ที่เคยทำให้เขาดูหลายฉบับ และผมอยากรู้ระเบียบการทำวิทยานิพนธ์ว่าเป็นอย่างไร

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่เพื่อเอาไปใช้ทำวิทยานิพนธ์ตัวเอง

ไม่ ไม่ ผมถามเพราะโดยหลักการผมอยากรู้ระเบียบเป็นอย่างไร เพราะผมมีเปเปอร์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้พิมพ์ด้วย มันใช้ได้ไหม อาจารย์บอกว่าไม่ได้ แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับหัวข้อที่ทำ

ไทยพับลิก้า : พออาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าคุณศุภชัยจะเอาไปใช้ ก็เลยรู้ ก็ร้องเรียนทันทีหรือไม่

ไม่ได้ร้องเรียนทันที ตอนนั้นเดือนสิงหาคม 2550 แต่ผมได้รับก็อปปี้ไรต์จากสำนักพิมพ์ที่อังกฤษประมาณเดือนพฤศจิกายน 2550 จะตีพิมพ์บทความสรุปย่องานวิจัย ITC ผมได้ส่งต่อให้นายศุภชัย จากนั้นวันที่ 10 ธันวาคม 2550 นายศุภชัยก็ยืนยันว่าจะเอางานวิจัยนี้ไปใช้ โดยให้ใส่ชื่อนายศุภชัยเป็นชื่อที่หนึ่งและชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา แม้อาจารย์ที่ปรึกษาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานเขียนเลย ผมก็ไม่ยอม

ณ ตอนนั้นผมก็เข้าใจพฤติกรรมของนายศุภชัย ว่าทำไมเขาเร่งผมให้ออกงานวิจัยเป็นบทความทางวิชาการ ซึ่งเป็นบทความย่อจากรายงานวิจัย Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture เล่มนี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นการทดลอง แล้วจะแปลงเป็นงานทดลองได้อย่างไร ซึ่งมันเป็น review paper เพราะเป็นเรื่องนโยบาย

นายวิลเลียม วิน แอลลิส

ผมเป็นคนร่างโครงการนี้ตั้งแต่แรก เพราะนายศุภชัยบอกว่าเขาต้องการขอรับความช่วยเหลือเชิงวิชาการจาก ITC ซึ่งเป็นหน่วยงานจากอียู ผมเขียนโครงการในนามองค์กร (สนช.) เมื่อหน่วยงานภายนอกให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ความรู้และลิขสิทธิ์ของงานจะเป็นของใคร ก็แล้วแต่สัญญา และในสัญญาที่ สนช. เซ็นกับ ITC ไม่ได้พูดถึงลิขสิทธิ์เลย แต่ในสัญญาที่ ITC เซ็นกับผม งานที่ผมทำในฐานะที่ปรึกษาอิสระ ลิขสิทธิ์เป็นของ ITC และผู้เขียนร่วมทุกคนต่างคนต่างเซ็นสัญญากับ ITC แต่ไม่ได้ทำสัญญากับ สนช. เพราะ สนช. ไม่ได้จ่ายเงินให้กับผู้เขียนทั้ง 4 คน ดังนั้นเขาจะมาอ้างว่าเป็นงานของ สนช. ได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า : ประเด็นสิขสิทธิ์จะเป็นของใคร ITC กับ สนช. เขาต้องไปคุยกันเอง แต่ที่คุณวินบอกว่าเป็นเจ้าของผลงาน

ผมเป็นลิขสิทธิ์ผู้ประพันธ์

ไทยพับลิก้า : ถ้างานวิจัยเล่มไหนมีชื่อหลายคน จะอ้างอย่างไร

ผมเป็นคนเขียน คนอื่นป้อนข้อมูลมาให้ คุณอเล็กซ์ก็เป็นเจ้าหน้าที่ ITC คอยตรวจงาน และผมไม่เคยเคลมว่าผมเป็นคนเขียนทั้งหมด ผมเห็นว่าลิขสิทธิ์ไม่ใช่เรื่องหลักในเรื่องนี้ ผมไม่เคยอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ก่อนที่ผมจะรู้ว่าผมมีสิทธิมากกว่าที่ผมคิด ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 18 ผมมีสิทธิห้ามเจ้าของสิทธิเผยแพร่ดัดแปลงที่ทำให้เราเสียหาย หมายความว่า สิทธิผู้ประพันธ์เหนือเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่เป็นการโอนลิขสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยอ้างเรื่องลิขสิทธิ์ ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ITC หรือ สนช. แต่สำคัญอยู่ที่ใครเขียน และนายศุภชัยไม่มีสิทธิ์อ้างว่าเป็นคนเขียนหลัก

และการประชุมวันสุดท้ายของโครงการงานวิจัยเรื่องนี้ วันที่ 30-31 สิงหาคม 2549 บอกว่ามีผู้เขียน 4 คน นายศุภชัยไม่ได้โต้แย้งอะไรในวันนั้น และนายศุภชัยไม่ได้มีส่วนในทีมวิชาการ 4 คน

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าเป็นผลงานของเขา และเขายอมรับว่าลอกผลงานของเขาเอง

แต่อย่างไรก็ผิด นายศุภชัยเป็นคนคิดว่าจะขอเงินช่วยเหลือจาก ITC โดยบอกผมว่าให้เขียน proposal แบบนี้ได้ไหม ผมก็เขียนขอเงินช่วยเหลือให้ แต่คนที่ออกไอเดียเพื่อทำให้เกิดโครงการนี้เกิดขึ้น แล้วมีคนเขียนรายงานให้ เขาต้องเป็นเจ้าของทุกสิ่งที่เกิดหลังจากนั้นหรือ และเขาก็เป็นเจ้าของทั้งหมดหรือ ผมว่าไม่ถูก

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าคุณวินเป็นลูกน้อง ไอเดียทั้งหมดเป็นของเขา

เขาแค่เขียนว่าอยากมีโครงการเกษตรอินทรีย์ เพราะ ครม. มีวาระแห่งชาติในเรื่องนี้ ก็เป็นแค่นั้น ผมเป็นคนเขียนว่าจะให้มีนวัตกรรมในเกษตรอินทรีย์อย่างไร ควรจะแก้ปัญหาและทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าในเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างไร การเขียนโครงการเราดูข้อจำกัดในเรื่องการให้เงินสนับสนุน และให้ฟิตกับนโยบายของคนให้เงิน ซึ่งโฟกัสตลาดอียูอย่างเดียว เรา (ผู้คิดโครงการ) ก็ดูเป้าหมายของเราและข้อจำกัดของคนให้เงิน ผมเขียนตามประสบการณ์ของผมที่ผมทำมานาน 20 ปี ตั้งแต่จบปริญญาตรีออกซ์ฟอร์ด ผมทำในบริษัทที่ปรึกษา เขียน proposal ทุกวัน

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นคุณวินได้รับเงินจาก สนช. ด้วย แต่ในสัญญาบอกว่าไปทำงานนอกได้ และงานนอกนั้นเจ้าของโครงการมาทำกับ สนช. ด้วย

ใช่ ผมก็ถามนายศุภชัยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนไหม นายศุภชัยบอกว่าไม่เป็นไร เพราะผมเป็นที่ปรึกษาอิสระกับ สนช. เขาไม่ได้เป็นเจ้าของผม แต่ผมมีสัญญากับ ITC ในฐานะที่ทำสัญญากับ ITC ผมมีหน้าที่กับ ITC

ตำแหน่งผมที่ สนช. คือที่ปรึกษาอิสระ เป็นคอนแทรคเตอร์ ไม่ใช่ลูกจ้าง เป็นผู้รับจ้าง ตำแหน่งผมเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ เช่น จัดงาน innovasia ดังนั้น หากอิงในฐานะผู้รับจ้าง ก็ต้องอิงกับขอบเขตของงานตามสัญญา

ไทยพับลิก้า : กฏหมายสิทธิผู้ประพันธ์ ถ้าเขียน 4 คน จะอ้างสิทธิผู้ประพันธ์อย่างไร

อ้างแต่ละคนก็ได้ แต่ละคนมีสิทธิเท่ากัน โดยหลักการนักวิชาการคนแรกถือว่าทำเยอะที่สุด แทบจะเรียกได้ว่าได้สิทธิอยู่คนเดียว เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติ ซึ่งได้แก่ Wyn Ellis, Vitoon Panyakul, Daniel Vildozo, Alexander Kasterine

วิน เอลลิส

ไทยพับลิก้า : ไม่ได้แปลว่าต้องรอให้ครบ 4 คน แล้วมาอ้าง

ในแง่นักวิชาการชื่อคนหลังๆแทบจะไม่มีความหมาย

ผมแปลกใจที่ได้ฟังคำตอบของปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่อ้างว่าการทำงานที่สนช. ไม่เกี่ยวกับความผิดทางจริยธรรมเชิงวิชาการ ถ้าเราไปที่กระทรวงวิทย์ฯเราจะเห็นสโลแกนในทุกแห่งว่า”จริยธรรมๆๆ” และบอกว่านายศุภชัยไม่ได้ใช้ปริญญาเอกเป็นวุฒิสมัครงาน สนช. จริยธรรมสำคัญมากในการสร้างองค์กรและความน่าเชื่อของหน่วยงาน หากผู้นำไม่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากมีความผิดเชิงจริยธรรม องค์กรก็อยู่ไม่ได้ ต่างประเทศก็จะไม่ยอมรับ สนช. ทางปลัดกระทรวงฯ คิดว่าจริยธรรมไม่สำคัญในหน่วยงาน ผมจึงไม่รู้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยแถลงข่าวว่าคุณวินเป็นลูกน้องที่ สนช.

บทบาทของผมใน สนช. ที่นายศุภชัยได้อ้างว่าผมเป็นลูกจ้าง อันนี้ไม่ถูก ผมไม่เคยเป็นลูกจ้างของ สนช. ผมเป็นผู้รับจ้าง โดยมีสัญญาจ้าง มีบทบาทตามขอบเขตงานคือการจัดงานประชุมนานาชาติของ สนช. โดยผมเป็นที่ปรึกษาอิสระ และในสัญญาจ้างไม่ได้ห้ามผมทำอย่างอื่นที่ไม่มีผลกระทบต่อ สนช. และไม่มีบทบาทเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เลย

แต่บังเอิญนายศุภชัยได้ขอให้ผมเขียนข้อเสนอขอความช่วยเหลือเชิงวิชาการจาก ITC ซึ่งเป็นหน่วยงานสหประชาชาติ และที่ผ่านมาผมเป็นที่ปรึกษาด้านเกษตร มีความชำนาญทางด้านนี้มา 20 กว่าปี ในการเขียนโครงการ และนายศุภชัยได้แนะนำให้ผมสมัครงานกับ ITC ด้วย ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการนี้ ผมได้สมัคร และเขาเขียนหนังสือรับรองให้ผมด้วย ผมได้ทำงานกับ ITC โดยทำสัญญากับ ITC 3 ฉบับ คือ

1. สัญญากับสหประชาชาติ มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและหัวหน้าทีมระดับชาติที่จะนำทีมวิชาการให้ศึกษา “การเพิ่มศักยภาพของภาคเกษตรอินทรีย์ไทยในภาคการส่งออก”

2. สนช. ได้ทำข้อตกลงกับ ITC ในฐานะเป็นหน่วยงานรับรอง โดยมีหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดห้องประชุม ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้ทีมวิชาการ

3. สำหรับทีมวิชาการ มีผมเป็นหัวหน้า รวมเป็น 4 คน (Wyn Ellis, Vitoon Panyakul, Daniel Vildozo, Alexander Kasterine) และหน้าที่ผมต้องรายงานต่อ ITC โดยในสัญญาว่าจ้างห้ามผมรับคำสั่งจากรัฐบาลไหน และลิขสิทธิ์ที่ออกมาทางตรงและทางอ้อมต้องเป็นของ UN ที่เดียว

นั่นคือบทบาทของผม ถ้านายศุภชัยอ้างว่าผมเป็นลูกจ้าง คงไม่ถูก และอ้างว่าผมเป็นผู้แปล เป็นก็อปปี้ไรเตอร์ ซึ่งผมได้ทำหน้าที่เขียนบทความมานานแล้ว ผมเป็นบรรณาธิการหลายแห่ง ไม่ได้เป็นก็อปปี้ไรเตอร์ ผมเป็น original writer และผมเป็นคนเขียนรายงานเล่มนี้ (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) เป็นภาษาอังกฤษ

และที่นายศุภชัยอ้างว่าเอกสาร final report ของโครงการนี้เขียนเป็นภาษาไทยก่อนภาษาอังกฤษ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ผมได้รับจ้างจากภายนอก ผมไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชานายศุภชัยแต่อย่างใดในเรื่องนี้ เขาต่างหากที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผมด้วยซ้ำ เพราะในเอ็มโอยูที่ สนช. ลงนามกับ ITC ระบุชัดเจนว่า เขาได้ค่าตอบแทนจากค่าห้องจัดประชุมและทำเล่ม วงเงิน 17,000 เหรียญ และต้องรายงานกับ ITC ด้วย ซึ่งต้องผ่านผม (หัวหน้าทีมวิชาการ) ก่อน ว่า สนช. ได้ทำหน้าที่เป็นที่พอใจไหม ผมเป็นคนส่งรายงานให้ ITC ถามว่าเป็นโครงการ ITC ใช่ไหม ใช่ ในมุมมองของ สนช. เขาอาจจะคิดว่าเป็นโครงการของเขา เป็นกิจกรรมของเขา แต่หน้าที่ของเขาเป็นงานธุรการ

ITC เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือประเทศที่สาม เขาไม่สามารถเอาเงินมาให้เฉยๆ ต้องมีหน่วยงานของไทยรองรับ สนช.จึงเป็น counterpart agency สนช. มีเอ็มโอยู ซึ่งเป็นงานธุรการ ที่อำนวยความสะดวกให้ทีมวิชาการ จัดประชุม เชิญประชุม เช่าห้อง และ ITC มีค่าใช้จ่ายให้สนช. แต่การเบิกเงินแต่ละครั้ง สนช. ต้องผ่านผม เป็นคนเซ็นรับรองว่ามีกิจกรรมนั้นเกิดขึ้นจริง และได้สังเกตุว่าการลงนามเอ็มโอยู 3 ครั้งกับ ITC ในปี 2548 และ 2549 นายศุภชัยได้ลงนาม “ดอกเตอร์ศุภชัย” ทั้งๆ ที่เป็นการลงนาม 2 ปี ก่อนจะจบปริญญาเอก

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าเป็นโครงการของหน่วยองค์กรไทย การจัดทำต้องทำเป็นภาษาไทยก่อนภาษาอังกฤษ

ที่เขาอ้างว่าเป็นภาษาไทยออกมาก่อน ผมมีหลักฐานว่า ITC ได้จ้างอาจารย์จากมหาวิทาลัยเกษตรศาสตร์ให้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และคุณวิฑูรย์ ผอ. กรีนเนท ประเทศไทย ผู้ร่วมเขียน เขาก็ยืนยันว่าเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และผู้ร่วมอีก 2 คนก็เขียนภาษาไทยไม่เป็น ผมก็เขียนภาษาไทยไม่เป็น เราได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ผมไม่เข้าใจว่าเขาอ้างอย่างนี้ได้อย่างไร ซึ่งเราก็พิสูจน์ได้ว่าไม่เป็นความจริง และทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้เผยแพร่ในการประชุมสุดท้ายของโครงการ ในวันที่ 30-31 สิงหาคม 2549 ที่มีการอ้างว่าต้องมีภาษาไทย ก็ไม่ถูก และอ้างว่าผมทำเอกสารนี้โดยพลการ ก็ไม่ถูก

วิน เอลลิส

ไทยพับลิก้า : พอโครงการ ITC เสร็จ คุณวินลาออกจาก สนช. เลยหรือไม่

โครงการ ITC เสร็จเดือนสิงหาคม 2549 หลังจากนั้นผมก็ทำหน้าที่กับ สนช. ต่อ ตามสัญญาปีต่อปี ในเรื่องการจัดประชุมนานาชาติ และทำหน้าที่ผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศ เป็นตำแหน่งอาวุโสเกี่ยวกับภาพพจน์ของหน่วยงาน ซึ่งเป็นเรื่องนโยบาย กลยุทธ์ของหน่วยงานที่จะต้องไปพูดคุยกับ ผอ. หน่วยงานต่างประเทศ เพื่อสร้างพันธมิตร เครือข่ายเชิงนวัตกรรม ไม่ใช่งานชั่วคราว 3 เดือน ไม่ใช่เป็นงานแปล ไม่ใช่งานก็อปปี้ไรเตอร์

ไทยพับลิก้า : คุณวินมาเกี่ยวข้องกับ สนช. ตั้งแต่เริ่มแรกได้อย่างไร

นายศุภชัยชวนผมเข้าไปทำงานที่สนช. ปี 2547 เพราะผู้บริหารสนช. มีความคิดว่าจะจัดประชุมนานาชาติ หากย้อนไปก่อนหน้านี้ตอนที่เขาว่างงาน ผมเคยจ้างเขาให้ทำโบรชัวร์ เขาเก่งในเรื่องกราฟฟิก ตอนนั้นผมเป็นเลขาสมาคมพืชแห่งเอเชีย แต่ผมไม่ค่อยได้ติดต่อกัน และไม่ได้มีปัญหากัน ผมก็เห็นว่าคนนี้ขยัน ตอนที่เขาชวนมาทำงานที่ สนช. ผมก็สนใจนวัตกรรม ผมก็ไป ในช่วง 2 ปีที่เราจัดประชุมนานาชาติ สนช. ก็ได้ชื่อเสียงมากพอสมควร และมีทุนเข้ามาที่ สนช. พอสมควรจากผลงานการทำประชุมตอนนั้น

หลังจากผมเขียนเปเปอร์ให้ ITC เสร็จเรียบร้อยแล้ว สักประมาณ 6 เดือน ผมเริ่มรู้สึกว่าพอเปเปอร์เสร็จ อะไรที่ผมเสนอนายศุภชัยเขาก็ไม่สนใจ ผมก็เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำงานที่ สนช. ผมเริ่มรู้สึกบอกไม่ถูก อะไรเป็นอะไร ว่ามันคืออะไร ก็ขอลาออก แต่ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย

ไทยพับลิก้า : ลาออกหลังโครงการ ITC เสร็จเรียบร้อย

ผมลาออกก่อนหมดสัญญากับ สนช. เขาก็ให้หนังสือรับรองผม

ไทยพับลิก้า : ตำแหน่งสุดท้ายที่ สนช. คืออะไร

ผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของ สนช. หลังเขียนเปเปอร์ ITC เสร็จแล้ว ช่วงนั้นเขามีประชุมกับคนต่างชาติเกือบทุกวัน และผมก็รู้จักทุกคนที่มาประชุม แต่เขาไม่เชิญผมเข้าประชุม ผมก็คิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ ถ้าเป็นอย่างนี้นะ เขาทำได้เอง ไม่จำเป็นต้องมีฝรั่งมาช่วย

หลังจากนั้นเราได้เขียนบทความย่อจาก final report เพื่อเผยแพร่ใน outlook on agriculture แต่ผมก็แปลกใจปลายปี 2550 ว่านายศุภชัยได้ส่งอีเมล์ให้ผมวันที่ 10 ธันวาคม 2550 ว่า “ให้ขอให้เอาชื่อตามลำดับนี้ และให้ใส่ตำแหน่งเขาในจุฬาฯ ด้วย เพราะผม (ศุภชัย) ต้องใช้เปเปอร์ฉบับนี้ในหลักสูตร (ปริญญาเอก)”

ผมไม่ยอมอยู่แล้ว เพราะผิดจรรยาบรรณเชิงวิชาการ เขาไม่ได้เขียนเลย หากดูประวัตินายศุภชัย ถามว่าเขามีบทความเป็นภาษาอังกฤษกี่ฉบับ ต้องถามถึงความสามารถในการเขียนบทความเชิงวิชาการ ผมมีประมาณ 30 ฉบับ

หลังจากนั้นผมส่งก็อปปี้ไรท์แอสไซน์เมนท์ ให้ correspondent author ผมเป็นผุ้เขียนร่วม ที่สำนักพิมพ์ส่งการโอนลิขสิทธิ์ ผมส่งให้นายศุภชัย มีชื่อผมอยู่ข้างหน้า เขาก็ยอม และเขาบอกผมว่าเขาจะไปญี่ปุ่น ถามว่าผมเซ็นแทนได้ไหม ผมก็เซ็นแทน เป็นความผิดของผม ผมไม่น่าเซ็นแทนเขา

จากนั้นอีก 10 วัน เขาได้ส่งจดหมายไปที่สำนักพิมพ์ที่อังกฤษ ในช่วงคริสต์มาส บอกว่าการกระทำของนายวินทำโดยพละการ ขอให้สำนักพิมพ์สลับชื่อ ถ้าหากไม่ทำจะดำเนินการตามกฎหมาย และที่เขาอ้างว่าเขาได้ยกเลิกการตีพิมพ์ก็ไม่เชิงเป็นความจริง ถ้าดูจดหมายวันที่ 25 ธันวาคม 2550 เขาได้ขอให้สำนักพิมพ์สลับชื่อให้นายศุภชัยเป็นชื่อแรก และกล่าวหาผมว่าได้กระทำผิด และขอให้ใส่ชื่อนายศุภชัยเป็นชื่อแรก

ไทยพับลิก้า : ตอนที่ชื่อคุณวินชื่อแรก ถือว่าบทความได้ตีพิมพ์หรือยัง

ยัง สำนักพิมพ์ outlook on agriculture ได้แจ้งว่าจะออกในเดือนธันวาคม

ไทยพับลิก้า : เหตุผลที่สำนักพิมพ์ไม่พิมพ์ให้ เพราะคุณศุภชัยขอให้ยกเลิก หรือขอให้เปลี่ยนชื่อ สำนักพิมพ์คิดว่ามีปัญหาจึงไม่พิมพ์ให้

นายศุภชัยขอให้เปลี่ยนชื่อ

ไทยพับลิก้า : แต่คุณศุภชัยบอกว่าขอให้ยกเลิก ใช่หรือไม่ใช่

ไม่ใช่ สำนักพิมพ์ Outlook on agriculture ได้ส่งก็อปปี้มาให้ผมด้วย โดยมีลายเซ็นรับรองของสำนักพิมพ์ด้วย ว่านายศุภชัยได้ขอให้สลับชื่อ และวันถัดไป สำนักพิมพ์ได้ตอบโต้โดยตรงทันที บอกว่าเนื่องจากคุณขู่เราทางจดหมาย เราก็ไม่จำเป็นที่ต้องตีพิมพ์เปเปอร์ของคุณ แม้ว่าจะต้องรื้อใหม่ มีค่าใช้จ่ายในการจ้างคนค่อนข้างสูงในช่วงคริสต์มาส สำนักพิมพ์ตัดสินใจให้ยกเลิก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะนายศุภชัยให้ยกเลิก แต่จากคำขู่ของนายศุภชัยที่ให้สลับชื่อ สำนักพิมพ์บอกว่าสำนักพิมพ์ไม่มีหน้าที่สลับชื่อ ผู้เขียนต้องจัดการเองก่อนที่จะส่งพิมพ์ ซึ่งผมได้ประสานงานกับผู้ร่วมเขียน และมีชื่อผมชัดเจนเป็นชื่อแรก เขา (ผู้เขียนร่วมเขียน) ได้ตกลงในอีเมล์ว่าไม่มีปัญหา

ไทยพับลิก้า : บทความย่อนี้ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ สนช. หรือไม่

ไม่ใช่ เป็นผลงานที่มาจาก final report เป็นแค่การสรุปย่อที่สรุปผลโครงการ ภายใต้สัญญา ITC ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเป็นลิขสิทธิ์ ITC

หลังยกเลิกการตีพิมพ์ ผมได้ข่าวจากอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) ว่าเขาได้รับเปเปอร์ที่ดูเหมือนงานของผมมารีวิว เขาเอามาให้ดู ก็เหมือนของผม ปรากฏว่านายศุภชัยได้ยื่นเปเปอร์นี้ให้สำนักพิมพ์อื่นอีกที่ปารีส โดยตัดชื่อผมออกและใส่ชื่อเขา ใสชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาที่จุฬาฯ และเปลี่ยนหัวข้อ ผมได้ส่งอีเมล์ให้ทางสำนักพิมพ์เพื่อถามเขา และเชิญเขาให้เปรียบเทียบบทความนายศุภชัยกับของผม

นายศุภชัยได้ส่งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 โดยแอบส่ง เขาตัดชื่อผมออกเลย เพราะเขาต้องการให้มีผลงานทางวิชาการ ไม่งั้นไม่จบปริญญาเอก ภายใน 1 ชั่วโมง สำนักพิมพ์ได้ยกเลิกจากปารีส บอกว่าบทความเหมือนกันเลย

หลังจากนั้นนายศุภชัยได้ตีพิมพ์บทความย่อใน Thai Journal Agriculture Science โดยส่วนหนึ่งเอาผลงานของบริษัทสวิฟท์ จำกัด ในส่วนแปลงทดลองมาใช้ด้วย

หลังจาก ITC ได้ทราบว่านายศุภชัยได้พยายามจะตีพิมพ์บทความย่อ ITC ไม่พอใจ และ ITC บอกให้ผมดำเนินการตีพิมพ์โดยไม่มีชื่อนายศุภชัย

ไทยพับลิก้า : ITC สั่ง

ใช่ และ ITC ก็ได้เตือนนายศุภชัยด้วย ว่าให้เคารพสิทธิ์ของ ITC ในบทความนี้หลายครั้งมาก และทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ส่งจดหมายอีเมล์ถึง ITC และทาง ITC ได้ตอบจดหมายวันที่ 26 มิถุนายน 2551 และวันที่ 26 ตุลาคม 2551 ว่านี่เป็นลิขสิทธิ์ของITC

ไทยพับลิก้า : บทความของ ITC ที่คุณวินสรุปย่อ ออกก่อนหรือหลังใน Thai Journal Agriculture Science

ออกหลัง แต่เขียนก่อน มันซับซ้อนหน่อย เพราะตีพิมพ์ไม่ได้ กรณีที่มีปัญหาเรื่องชื่อ และทาง Wageningen Academic Publishers ได้ส่งโนติสถึง Thai Journal Agriculture Science ว่าคุณละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เขาเพิกเฉย

ไทยพับลิก้า : ใน Thai Journal Agriculture Science มีเนื้อหาซ้ำกับเปเปอร์นี้เยอะไหม

เขาเอาบทนำทั้งดุ้นไปใส่ เสริมด้วยบทความของบริษัทสวิฟท์ใส่เข้าไป ซึ่งเรื่องนี้ทาง Thai Journal Agriculture Science ต้องรับผิดชอบด้วย เขามีหน้าที่ดูแลคุณภาพและจริยธรรม

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าคุณวินลักลอบเอาข้อมูลงานวิจัยของบริษัทสวิฟท์ออกมาจาก สนช.

ผมไม่ได้ลักลอบจากที่ไหน ผมได้รับโดยสุจริต หากผมลักลอบจริง เขา (สนช.) มีหน้าที่ฟ้องร้องผม ถ้าเขามีหลักฐานเพียงพอตามที่เขาพูดในที่สาธารณะ และถ้าเขาไม่ฟ้องร้องผม เขาก็ผิดมาตรา 157 ละเลยหน้าที่

ไทยพับลิก้า : คุณวินได้รับจากไหน

ผมได้รับจากเจ้าของ คุณไพชยนต์ เอื้อทวีกุล (ประธานบริษัทสวิฟท์ จำกัด)

วิน เอลลิส

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าเขาขออนุญาตเจ้าของ (คุณไพชยนต์) แล้ว(เพื่อนำมาใช้ในงานวิทยานิพนธ์) และตกลงกันว่าจะไม่เผยแพร่เพราะเป็นความลับทางการค้า ใครเอาไปใช้ ผิด

ไม่มีความลับทางการค้า คุณไพชยนต์ก็ยืนยันในเรื่องนี้ และไม่ได้แสดงหลักฐานว่าเป็นความลับ จริงๆ แล้วบริษัทสวิฟท์ได้ทำสัญญากับ สนช. ผมก็มีก็อปปี้ของสัญญา ไม่มีข้อตกลงว่าห้ามเผยแพร่ แต่จริงๆ แล้ว สนช. มีหน้าที่ที่ต้องเผยแพร่ เพื่อช่วยเหลือประชาชน หากทำข้อตกลงว่าห้ามเผยแพร่ ผมว่าผิด เพราะเงินที่สนับสนุนให้ทำวิจัยเป็นเงินหลวงไม่ใช่เอาไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

โครงการนี้เป็นเงินโครงการนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อสนับสนุนการทำงานวิจัยบริษัทสวิฟท์ วงเงิน 1,348,000 บาท เมื่อรวมค่าทำแปลง เป็นเงิน 2 ล้านบาท ตามสัญญาเมื่อสวิฟท์ส่งมอบเอกสารให้ สนช. เอกสารนั้นจะเป็นทรัพย์สินของ สนช.

ไทยพับลิก้า : อำนาจการตัดสินใจที่จะเผยแพร่อยู่ที่ใคร

เขาต้องตกลงกันในกรณีที่เป็นเรื่องสิทธิบัตร แต่ในฐานะประชาชน เขาใช้เงินหลวง และคุณให้บริษัทเอกชนทำ ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรู้ เพื่อเกษตรกรจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้

หรือถ้าเอกสารนี้ถ้าเป็นความลับจริง แต่นายศุภชัยเป็นคนที่เปิดเผยใน Thai Journal Agriculture Science และในวิทยานิพนธ์ของตัวเอง

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าเขาขออนุญาตคุณไพชยนต์แล้ว

ใช่ เขาขอส่วนตัว แต่เขาไม่มีสิทธิ์ขอส่วนตัว เขาต้องขอจาก สนช. เมื่อบริษัทสวิฟท์ส่งมอบงานวิจัยให้ สนช. ก็เป็นของ สนช. ดังนั้น เมื่อนายศุภชัยจะใช้ ต้องขอ สนช. ซึ่ง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมเป็นคนอนุญาต และ ผอ.สนช. คือนายศุภชัย นี่ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ทั้ง 2 คนคือผู้รับคำสั่งและผู้เซ็นคำสั่ง เป็นคนเดียวกัน ถือว่าผิด

แม้ว่าสวิฟท์อนุญาตให้เอาผลงานมาใช้ แต่ไม่ใช่ความถูกต้องเชิงวิชาการ เพราะงานวิทยานิพนธ์ต้องเป็นงานส่วนตัวจากสมองผู้เสนอเท่านั้น ต้องเป็นงานศึกษาใหม่และต้องทำในระหว่างที่กำลังศึกษา ไม่ใช่ทำก่อนที่ศึกษา ทั้งนี้งานวิจัยของบริษัทสวิฟท์ทำในช่วง 2549-2550 แต่นายศุภชัยจบการศึกษาในเดือนพฤษภาคม ปี 2551 ดังนั้นแม้จะเป็นงานที่ตัวเองทำในอดีต ไม่สามารถนำมาใช้ได้

ไทยพับลิก้า : ทำไม สนช. ให้เงินสนับสนุนสวิฟท์ทำแปลงทดลอง

หลังโครงการ ITC เสร็จแล้ว นายศุภชัยได้ขอให้ทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์นโยบายเกษตรอินทรีย์ โดยอยากทำเป็นแปลงทดลอง ผมบอกว่า ผมไม่เห็นด้วย เพราะว่าอันนี้ (โครงการ ITC) เป็นงานนโยบาย การพิสูจน์นโยบายต้องใช้กลยุทธ์นโยบาย ไม่ใช่แปลงทดลองในพืชเพียงเล็กน้อย และหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ ไม่ใช่พืชหลักของไทย และไม่ได้พิสูจน์อะไร ผมไม่เห็นด้วย

นายศุภชัยถามผมว่า มีหัวข้อเป็นภาษาไทยไหม ผมก็ทราบทันทีว่าเขากำลังทำการทดลองกับสวิฟท์ และผมรู้จักคุณไพชยนต์ด้วย ผมเป็นรองประธานชมรมเกษตรอินทรีย์ไทย คุณไพชยนต์เป็นประธาน

และที่ทราบ สนช.ให้สวิฟท์ทำเรื่องนี้ในเดือนตุลาคม 2549 และนายศุภชัย ได้รับการอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ในเดือนพฤศจิกายน 2549 และนายศุภชัยได้กลับไปที่ สนช. ทำสัญญากับสวิฟท์ในวันที่ 25 ธันวาคม 2549 ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกับหัวข้อที่เขาได้รับอนุมัติแล้ว

งานของสวิฟท์ได้ถูกก็อปปี้ในวิทยานิพนธ์เกือบทั้งหมด ในด้านวิชาการ การทดลองนี้ไม่มีนัยยะความสำคัญทางสถิติ และในวงการเกษตร หากจะทดลองเปรียบเทียบเกษตรอินทรีย์กับเกษตรธรรมดา แปลงการทดลองต้องอยู่ใกล้กัน เพราะมีปัจจัยเรื่องอากาศ พื้นที่ คุณภาพของดิน อุณหภูมิต่างๆ เพราะฉะนั้นในการเปรียบเทียบ ต้องพยายามปลูกในแปลงที่ใกล้ชิดกันเพื่อไม่ให้ปัจจัยอื่นๆ แทรกเข้ามา

แต่นี่แปลงทดลองเกษตรอินทรีย์อยู่ที่จังหวัดสระแก้ว ขณะที่แปลงเกษตรธรรมดาอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร บรรยากาศก็ไม่เหมือนกัน ดินก็ไม่เหมือนกัน พันธุ์ก็ไม่เหมือนกัน เกษตรกรก็ไม่เหมือนกัน เพราะวิธีการปลูกต้องใกล้เคียงกันด้วย และผลการทดลองที่ออกมา เกษตรกรที่ปลูกหน่อไม้อินทรีย์มีรายได้ครึ่งหนึ่งของเกษตรกรที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งธรรมดา

และในวิทยานิพนธ์ไม่ได้อธิบายการทำแปลงทดลอง และรายได้ของเกษตรกรที่เกิดขึ้นไม่ได้สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ได้มีนัยยะสำคัญ

และวิทยานิพนธ์มีปัญหาทางวิชาการด้วย คือ ไม่มีสมมติฐาน ไม่มีการรีวิวงานวิจัยเกี่ยวกับนโยบาย-การปฏิบัติในเชิงเกษตรอินทรีย์ และไม่มีการอธิบายว่าทำไมเลือกวิธีนี้ จึงมีปัญหาเชิงคุณสมบัติทางวิชาการด้วย

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยให้สัมภาษณ์ว่าบทที่ 5 ของวิทยานิพนธ์เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่

บทที่ 5 มี 4 หน้าเท่านั้น บทที่ 5 นี้เขาเขียนเอง เป็นการสรุปจากผลงานที่ไม่ได้สอดคล้องกัน เขาได้ทำแปลงทดลองหน่อไม้ฝรั่งเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันภายนอก ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ หรือเกี่ยวข้องกับตลาดต่างประเทศ หรือศักยภาพพืชอื่นในต่างประเทศ เขาไม่มีสิทธิที่จะอ้างอย่างนี้จากบทความ

วิทยานิพนธ์ต้องอิงกับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้ทดลอง ไม่ใช่อาจจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็จะกลายเป็นสมมติฐานอีก ต้องตั้งต้นสมมติฐานและทำการทดลองเพื่อจะตอบข้อสมมติฐานให้ได้ แต่นี่เป็นการตั้งสมมติฐานอีก และเขาสรุปอีกว่าเกษตรอินทรีย์มีความเป็นไปได้ว่าจะประสบความสำเร็จในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ หมายความว่าถ้าหากหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์อยู่ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ในพืชอื่น หากจะสรุปพืชอื่น เขาต้องอธิบายได้ว่าทำไมใกล้เคียงกัน เช่น ทำไมหน่อไม้ฝรั่งใกล้เคียงกับข้าวโพด ใกล้เคียงกับส้ม เขาไม่ได้เขียน ดังนั้นเขาไม่มีสิทธิจะอ้างพืชตัวอื่น

มีการวิจารณ์ว่าไม่มีหลักฐานที่จะมาใช้กล่าวอ้างว่าแปลงทดลองกับความสัมพันธ์ด้านนโยบาย นายศุภชัยไม่ได้อธิบาย จึงมีถามว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ไหม

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยอ้างว่าstrengthening 2549 ไม่มี ISBN เป็นดราฟท์ แล้วไปแก้ไขเพื่อตีพิมพ์ในปี 2551 โดย สนช. คุณศุภชัยบอกว่าเลมนี้เกิดขึ้นทีหลังวิทยานิพนธ์ของเขา แต่ทำไมไปอ้างอิงในวิทยานิพนธ์

ทั้ง 2 เล่มไม่มีการแก้ไข เนื้อหาเหมือนกันเพียงแต่เปลี่ยนหน้าปกเท่านั้น และการกรอกขอ ISBN ของ สนช. ต้องกรอกแบบฟอร์มระบุว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2

รายละเอียด ISBN
รายละเอียด ISBN

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าเล่มปี 2549 เป็นดราฟท์ และปี 2551 เป็นการจด ISBN จดลิขสิทธิ์

รายงานวิจัยเล่มปี 2549 เป็น final report นายศุภชัยจะอ้างว่าเป็น ดราฟท์ ไม่ใช่ เพราะเล่มปี 2551 เขาไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหา เขาแค่เพิ่มภาคผนวกเข้าไป ในทางกฏหมายเขาฟังขึ้น แต่เขาไม่มีสิทธิใส่ชื่อตัวเองเป็นชื่อแรก และด้วยเหตุใดเขาตัดชื่อคนอื่นออก

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่าเขาไม่รับรู้ว่าเล่มปี 2549 มีอยู่จริง

ถ้าเป็นดราฟท์คงไม่ออกมาเป็นเล่มแบบนี้ เป็นหน้าปกแบบนี้ คงเป็นแค่ไฟล์ สำหรับงานวิจัยเล่มปี 2549 ในตอนนั้น บทบาทสนช. มีหน้าที่เป็นคนทำการพิมพ์ เพราะได้รับเงินจาก ITC โดยสนช. ได้รับค่าตอบแทนจากค่าออกแบบ ค่าพิมพ์ ตามข้อตกลงของ ITC

เมื่อมีการตีพิมพ์ซ้ำ โดยมารยาทและโดยกฎหมาย ต้องขออนุญาตผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เขียน, ITC, อียู รวมทั้งโลโก้ที่อยู่ในหนังสือ เขาไม่ได้ขออนุญาตทาง ITC อียู ไม่ชอบเลย

ไทยพับลิก้า : หาก ITC และอียูไม่ชอบใจ ก็ต้องฟ้องเขา แต่นี่ไม่ฟ้อง

ในแง่ของผู้ให้เงิน เขาไม่อยากมายุ่งเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องเล็กๆ ยิ่งเป็นหน่วยงานรัฐ เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศไป เขาแค่ตัดพวกนี้ออก ต่อไปไม่ให้การสนับสนุน

สำหรับวิทยานิพนธ์ มีประเด็นคือ ต้องเป็นงานใหม่ ต้องเป็นองค์ความรู้ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน ต้องเป็นครั้งแรกที่เผยแพร่ แต่งานวิจัยเล่มนี้เกิดขึ้นปี 2549(ของ ITC) และของ สนช. ในปี 2551 ที่มี ISBN จากการตรวจสอบกับหอสมุดแห่งชาติพบว่าได้ออก ISBN เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2551 (ออกก่อนที่นายศุภชัยสอบวิทยานิพนธ์เดือนเมษายน 2551 และจบในเดือนพฤษภาคม 2551)

โดยสรุปคือ งานวิจัยเล่มปี 2549 เป็นเล่มแรกที่มีชื่อผมเป็นชื่อแรกและมีชื่ออีก 3 คน พิมพ์ในเดือนสิงหาคม 2549 และได้เผยแพร่ในวันที่ 30 สิงหาคม 2549 ในการประชุมสุดท้ายของโครงการ มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทั้ง ITC อียู ITD และผมไปในฐานะทีมลีดเดอร์วิชาการ และนายศุภชัยไปในนามหน่วยงานของรัฐ มีผู้เข้าร่วมประชุมจัดงานที่ รร.เซ็นจูรี่ ประมาณ 100 กว่าคน และในรายงานประจำปีของ ITD ที่พิสูจน์ว่ามีการรายงานยืนยันการประชุมอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นจริง

และเล่มนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ ITC หากเป็นดราฟท์จะขึ้นเว็บไซต์ได้อย่างไร งานวิจัยปี 2549 เผยแพร่พร้อมกันทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในวันที่ 30 -31 สิงหาคม 2549 แต่ในเว็บไซต์ ITC ไม่มีภาษาไทย

ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยบอกว่ากรณีคนแปล ก็ต้องให้เกียรติ จึงให้ชื่อใส่ในหนังสือด้วย ทำไมภาษาไทยไม่ใส่ชื่อคนแปล และบอกว่าคุณวินทำหน้าที่แปล จึงให้ใส่ชื่อในหนังสือ (เล่มที่ สนช. พิมพ์ในปี 2551) ด้วย

ปกติคนแปลไม่มีชื่ออยู่แล้ว ตอนทำของ ITC ทำเป็นภาษาอังกฤษก่อน และภาษาไทยทำทีหลัง มีสัญญาจ้างการแปลเดือนกรกฏาคม 2549 ก่อนมีการประชุมในเดือนสิงหาคม ส่วนภาษาอังกฤษทำมาก่อนแล้ว และได้เผยแพร่ในวันที่ 30-31 สิงหาคม 2549 จากนั้นมาทำบทความย่อ (เพื่อตีพิมพ์ในต่างประเทศแต่ถูกยกเลิกตามที่กล่าวมาข้างต้น) หลังจากนั้นปรากฎว่ามีเวอร์ชั่นนี้ปรากฏในเว็บไซต์ สนช. ในเดือนพฤษภาคมปี 2551 และได้ตรวจสอบที่หอสมุดแห่งชาติได้ทราบว่ามีการเผยแพร่ตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 และเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 บ่งชี้ชัดเจนว่าอันนี้เป็นฉบับที่2

ไทยพับลิก้า : หอสมุดแห่งชาติจะทราบได้อย่างไรว่าพิมพ์ครั้งที่ 2

ทาง สนช. ต้องกรอกรายละเอียดในการขอ ISBN ซึ่งเล่มที่นายศุภชัยอ้างก็ออกก่อนการสอบวิทยานิพนธ์ในเดือนเมษายน 2551 และอนุมัติปริญญาเดือนพฤษภาคม 2551 จึงไม่ใช่การสร้างงานใหม่

ไทยพับลิก้า : แล้วเรื่องกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างไร

เรื่องเริ่มจากผมได้พบกับปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อ 3 มิถุนายน 2551 หลังพบว่ามีงานวิจัยเล่มนี้อยู่บนเว็บไซต์ สนช. และขอให้สนช.ยกเลิกการเผยแพร่ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิผูกพันของผม และมีการลบชื่อผู้ให้เงินสนับสนุนคือ ITC

หลังจากนั้นกระทรวงไม่ได้ดำเนินการเท่าที่ควร และยกเลิกการสอบสวนเพราะนายศุภชัยได้ฟ้องผม เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี ผมจึงได้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปที่กรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ สภาผู้แทนราษฎรว่ากระทรวงวิทย์ฯ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องเพื่อปกป้องสิทธิประชาชน และผมได้ไปชี้แจงที่กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรปลายเดือนเมษายน ว่ามีผลสอบสวนของรัฐมนตรีในปี 2553 อยู่ระหว่างการสอบสวน หากเสร็จแล้วจะแจ้ง ทางคุณพ้อง ชีวานันท์ ที่เป็นประธานกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ สภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งว่า เนื่องจากกรณีเห็นควรว่ายังไม่สรุปผล เพราะรอผลสอบนายศุภชัยจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จากนั้นไม่กี่วันก็มีการยุบสภา เรื่องนี้ก็ถูกแขวนอยู่ ไม่มีการพิจารณา ไม่มีรายงานเรื่องนี้จากกรรมาธิการฯ ออกมา

สุดท้าย จากการติดตามผลของกรรมาธิการเป็นระยะๆ และเขาไม่ชอบที่จะตอบแบบชัดเจน แต่สุดท้ายทางกรรมาธิการยืนยันว่า 1. ไม่มีการรายงาน ไม่มีการสรุปผล 2. ไม่มีการเผยแพร่เอกสารภายนอกกับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เอกสารที่อ้างว่าเป็นรายงานกรรมาธิการฯ หรืออนุกรรมาธิการ ก็เป็นเอกสารเท็จ ผมทราบจากกรรมการอนุกรรมการและกรรมการกรรมาธิการว่าไม่มีมติอนุมัติเอกสารนี้ และคนที่อนุมัติได้คือท่านพ้อง

ถ้าเคยอ่านรายงานการสอบสวนจะมีแบบฟอร์ม จะเขียนอย่างระมัดระวังมาก แต่นี่ไม่ใช่ แต่อันนี้มีเจตนาใส่ความผมว่าไร้จริยธรรม ขโมยงานสถาบันไทย และรู้สึกแปลกใจว่ามีการออกข่าวว่ากรรมาธิการฯ รับรองว่าเป็นผลงานของนายศุภชัยหลังจากนั้น

วิลเลี่ยม วิน แอลลิสคือใคร

นายวิลเลี่ยม วิน แอลลิส เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและ การพัฒนาชนบทมากว่า 30 ปี ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในประเทศในเอเชีย พำนักในประเทศไทย 26 ปี มีสัญชาติไทย

จบการศึกษาปริญญาตรี และปริญญาโท ( วิทยาศาสตร์การเกษตรและป่าไม้ ) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และได้รับปริญญาโท M.Sc.(การพัฒนาเกษตรเขตร้อน) จากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ด้านธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับหลายหน่วยงาน เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), ศูนย์พานิชยกรรมระหว่างประเทศ (UN- ITC), โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน (GTZ) ในด้านการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน, ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB), Overseas Development Institute (ประเทศอังกฤษ), สถาบันการศึกษาแห่งชาตินันยาง (ประเทศสิงคโปร์) รวมทั้งหลายหน่วยงานรัฐของประเทศไทย

เพิ่งจบโครงการวิจัย 3 ปี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทุนจาก IDRC ประเทศแคนาดา) โดยเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยหลัก ดำเนินการร่วมกับอีก 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ในหัวข้อ Towards Innovative, Liveable and Prosperous Asian Megacities

ได้เคยทำงานในโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการของ ศูนย์พานิชกรรมระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ (UN-ITC ) เพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคการส่งออกเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย หลังจากนั้นได้รับตำแหน่งรองประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย

ช่วงต้นปี 2555 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาค (Regional Expert) ในการดำเนินการศึกษาของ FAO/NACA เรื่อง Application of Aquaculture Assessment Tools for Sustainability in Asia-Pacific

มีงานเขียนบทความงานวิจัย การศึกษาต่างๆ เป็น Editor ของหนังสือ 3 เล่มและเป็น Publications Editor ของสิ่งพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งของหน่วยงาน World Association of Soil and Water Conservation