ThaiPublica > คนในข่าว > คำต่อคำ “ศุภชัย หล่อโลหการ” กรณีจุฬาฯ ถอนปริญญาเอก-ลอกเลียนผลงานทำวิทยานิพนธ์ ยอมรับ “ลอกจริง”แต่ขออนุญาตแล้ว

คำต่อคำ “ศุภชัย หล่อโลหการ” กรณีจุฬาฯ ถอนปริญญาเอก-ลอกเลียนผลงานทำวิทยานิพนธ์ ยอมรับ “ลอกจริง”แต่ขออนุญาตแล้ว

26 มิถุนายน 2012


งานวิจัยเล่มที่นายศุภชัย หล่อโลหการ อ้างถึง
งานวิจัยเล่มที่นายศุภชัย หล่อโลหการ อ้างถึง

หลังจากที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีมติให้เพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้ “บุคคล” นั้น ตามข้อเสนอและมติของคณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัย และคณะกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป โดยเป็นที่ทราบกันว่า “บุคคล” นั้นเป็นใคร

ซึ่ง “บุคคล” นั้นได้ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างต่อเนื่องหลังจากที่ทราบมติสภาจุฬาลงกรณ์ และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการที่ สนช. ทางสำนักข่าวไทยพับลิก้าถอดเทปสัมภาษณ์คำต่อคำดังต่อไปนี้

“ที่จริงผมเพิ่งไปให้ถ้อยคำเมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิ.ย. 2555 นี้เอง (คณะวิทยาศาสตร์สอบสวนข้อเท็จจริงล่าสุด) 12 วันเอง อาจารย์สุพจน์ หารหนองบัว บอกว่าให้ถ้อยคำเสร็จแล้วจะส่งมาให้ผมลงนามบันทึกว่าให้ถ้อยความอะไรบ้าง ปรากฏว่ารวบรัดเลย ไม่ได้ลงนามเลย พอวันที่ 21 มิ.ย. ออกข่าวมาแล้ว เพิกถอนปริญญาเอก”

คณะชุดสอบสวนสุดท้ายที่สอบสวนผมไป ผมเป็นฝ่ายถูกไง พอเป็นฝ่ายถูกขึ้นมาก็รีบรวบรัดตัดความเลย เป็นกระบวนการสอบสวนซึ่งตลกที่สุด ขัดกับหลักธรรมาภิบาล ขัดหลักนิติธรรมอย่างมากที่สุดเลย ผมยังแปลกใจ เขากลัวว่าคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 3 ท่านได้แก่ ดร.ศิริวัฒน์ วงศ์ศิริ ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์ ดร.สมเกียรติ ปิยะธีรธิติวรกุล ได้ลงนามว่าวิทยานิพนธ์ผมมีคุณค่า merit มากเพียงพอที่จะจบปริญญาเอกได้ และมีความถูกต้องในกระบวนการทั้งหมด และสร้างองค์ความรู้ใหม่

ผู้สื่อข่าว : จะให้ลงนามถ้อยคำเมื่อไหร่

ศุภชัย : ต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งยังไม่ผ่านไปยังขบวนการสภามหาวิทยาลัย แต่รวบรัด เลิกแล้ว ไม่สอบสวนต่อแล้ว แต่มีการเอาผลการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนปี 2552 (คณะกรรมการชุดศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ) มาบอกว่าวิทยานิพนธ์ของผมไม่มีความรู้ใหม่เกิดขึ้น แล้วผมจะเชื่อใครล่ะ ชุดนี้ (นายแพทย์ยง) เป็นชุดที่ผมเถียง ว่าเป็นชุดการสอบสวนที่ไร้จริยธรรม เพราะว่าในกระบวนการสอบสวน ต้องแจ้งผมก่อนว่าผมลอกมาจากเล่มไหนบ้าง ก็บอกเพียงแค่ว่าผมลอกมาจากเล่มเดียวคือเล่มนี้ (พร้อมชูหนังสือ Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) ซึ่งมีชื่อผมเป็นชื่อแรก ผมบอกว่าผมลอกมาจริง

และผมได้แจ้งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์แล้วว่า ผมเอามาจากเล่มนี้ เพราะการร้องเรียนเกิดขึ้นก่อนผมสอบวิทยานิพนธ์ และเกิดขึ้นก่อนผมจบการศึกษา พอร้องเรียนมา …เรื่องนี้ ไปถาม ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ได้ว่าเพราะท่านเป็นคนแจ้งหนังสือเมื่อ 1 เมษายน ขอให้มีการพิจารณาข้อร้องเรียน เกี่ยวกับการสำเร็จการศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบมาตรฐานบัณฑิตวิทยาลัย เนื่องจากมีข้อร้องเรียนของนายวิลเลียม วิน เอลลิส นิสิตปริญญาเอกของจุฬาฯ มีหนังสือร้องเรียนถึงอธิการบดี คาดว่านายศุภชัยที่กำลังศึกษาหลักสูตรนี้จะจบการศึกษา กำลังจะเอาหนังสือเล่มนี้มาใช้ในวิทยานิพนธ์

“เรื่องเกิดขึ้นก่อน เพราะฉะนั้น กรรมการสอบต้องไม่ยอมอยู่แล้วใช่ไหมครับ ถ้าผมเอามาใช้ ผมสอบกลางเดือนเมษายน 2551 ผมแจ้งกรรมการสอบว่าผมเอามาใช้จริง ผมเอาบทนำบทแรกในส่วนนี้ทั้งหมด ไม่ได้เอามาทั้งเล่ม ผมเอามาบางส่วนในเล่มนี้ เฉพาะบางส่วนที่ผมทำมาไว้ ผมเอาหนังสือเล่มนี้และวิทยานิพนธ์ส่งให้กรรมการสอบล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์ก่อนสอบวิทยานิพนธ์ว่ารับได้ไหม เพราะเป็นเรื่องร้องเรียนอยู่ กรรมการ (มีการประชุมกันเพื่อพิจารณาว่าจะให้สอบหรือไม่) เชิญผมออกจากห้องประชุมและคุยกันข้างใน

และถัดมาเป็นคำให้การ ดร.ศิริวัฒน์ในศาล บอกว่ากรรมการพิจารณาแล้วว่าการร้องเรียนดังกล่าวไม่มีมูลความจริง ที่จะไม่ให้ผมเข้าสอบ กรรมการเรียกผมเข้าสอบ และให้ใช้เล่มนี้เข้าไปอยู่ในวิทยานิพนธ์ได้

“มาถึงตอนหลัง นพ.ยงมาสอบสวนบอกว่าผมลอกมาทั้งดุ้น ผมบอกว่าจริง ผมแจ้งกรรมการสอบแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าผมไม่ได้ลอก ผมลอกมาจริง ผมแจ้งแล้ว เพราะตัวนี้เป็นการทบทวนเอกสารที่ค่อนข้างเยอะ เป็นการอ้างอิงเอกสารในส่วนที่ผมเคยทำมาก่อน เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นการร้องเรียน ที่แจ้งผมว่าผมลอกเลียนมาจากเล่มเดียว แต่ผลสอบสวนออกมาผมลอกมาจาก 4 เล่ม ผมลอกมา 80% แต่ไม่บอกผมเลยว่ามีเล่มไหนบ้างที่ผมลอกมาอีก ผมมารู้จากรายงานผลสอบสวนข้อเท็จจริง (คณะกรรมการชุด นพ.ยง) ผมจึงแย้งไปกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดที่แล้ว (ประเด็นแรก) บอกว่าผลสอบสวนข้อเท็จจริงไม่แจ้งข้อกล่าวหาให้กับผู้ถูกกล่าวหาครบถ้วน

นายศุภชัย หล่อโลหการ
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ประเด็นที่สอง ใช้เอกสารที่ได้มาโดยมิชอบ คืออีกเล่มหนึ่งเป็นเรื่องหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ ที่นายวิลเลียม วิน เอลลิส อดีตลูกจ้าง สนช. ลักลอบเอาออกไปจาก สนช. เอาไปให้จุฬาฯ ว่าผมลอกมาจากเล่มนี้ เอกสารเล่มนั้นเป็นเอกสารภายในของผม เป็นเอกสารที่ผมทำขึ้นมาเอง และผมใส่ในไฟล์กลางของ สนช. เพราะทำในนาม สนช. ผมอยากทำเป็นภาษาอังกฤษ เพราะต้องการทำเป็นวิทยานิพนธ์ ทำในเวลาไล่เลี่ยกัน ผมทำภาษาไทยให้เป็นภาษอังกฤษขึ้นมา เล่มนี้..เขาบอกว่าผมลอกมาจากเล่มนี้ทั้งหมด แต่ไม่ดูเลยว่าเล่มนี้มันเกิดหลังจากที่วิทยานิพนธ์ออกมาแล้ว แต่บังเอิญว่าวันที่ที่ลงเป็นวันเดียวกับเล่มภาษาไทยคือ 30 ธันวาคม 2550 แต่ผมสอบวิทยานิพนธ์วันที่ 9 เมษายน 2551 คือช่วงระหว่างที่แปลหนังสือภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเราแปล เราต้องลงวันที่เหมือนกับภาษาไทย แต่มันเกิดขึ้นหลังวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษผมเสร็จแล้ว กรรมการไม่เคยถามผมประเด็นนี้เลย แต่มีรายงานออกมา

พอผมชี้แจงไป กรรมการสภามหาวิทยาลัยคงจะตกใจว่ากระบวนการสอบสวนนี้ไม่ถูก มีหลายข้อเลย เช่น บอกว่าผมใช้กระดาษหัวจดหมาย สนช. มาเขียนหนังสือขออนุญาตการใช้ผลงานไปยังบริษัทสวิฟท์ ผมใช้ว่า “เขียนที่สำนักงานนวตกรรมแห่งชาติ” ผมไม่รู้ว่าเจตนาหรือจงใจ ถ้าหัวจดหมายของ สนช. เป็นแบบนี้ แต่มันคล้ายๆ กันว่าผมใช้หัวจดหมาย สนช. คือผมใช้ว่า “เขียนที่ สนช.” แต่เป็นหัวจดหมายบันทึกข้อความที่ผมใช้แบบนี้เป็นประจำ หากเป็นหัวจดหมาย สนช. ต้องเป็นแบบนี้

อันนี้ทำความเสียหายให้ผมมากมายมหาศาลเลย ผมเชื่อเลยว่านี่เป็นการจงใจให้ด่างพร้อยว่าผมใช้หัวจดหมาย สนช. ผมเขียนจดหมายไปยังจุฬาฯ ให้แก้เลยนะ เพราะผมไม่ได้ใช้ ที่ระบุว่าผมใช้หัวจดหมายของ สนช. ของราชการไปใช้ในงานส่วนตัว ผมทำงานมา 30 ปีแล้ว ผมแยกไม่ออกหรือว่าอันไหนราชการอันไหนส่วนตัว ไม่มีทางเลย

นี่อยู่ในรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง (คณะกรรมมการชุด นพ.ยง) นี่เป็นเรื่องหนึ่งผมแย้งไปว่าไม่ถูกต้อง มีหลายเรื่องที่ผมแย้งไป ที่การสอบสวนเขียนแบบคิดเอง เออเองโดยไม่ถามผมสักคำ แต่ถามผมเล่มนี้เล่มเดียว

หลังจากนั้นก็พูดในทำนองว่ารายงานฉบับนี้ไม่เอาแล้ว แต่ไม่ได้พูดกับผมแล้ว แต่ผมเข้าใจทำนองนี้ เพราะสภามหาวิทยาลัยบอกว่าตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีกชุดแล้ว มีอาจารย์ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล เป็นประธานกรรมการสอบสวน ก็เรียกผมไปใหม่ ผมชี้แจงไปแล้วทั้งหมด บังเอิญว่ามีการเปลี่ยนกรรมการสภามหาวิทยาลัย จากอาจารย์จรัส สุวรรณเวลา ออกไป คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ มาแทน

คุณหญิงสุชาดาก็มาแทงหนังสือถึงคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ คือ ดร.สุพจน์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 หลังจากที่นายวิลเลียม วิน เอลลิส ไปร้องเรียนในวารสารต่างประเทศฉบับหนึ่งเมื่อเมษายน 2555 ว่าผมลอกงานวิทยานิพนธ์ และจุฬาฯ ไม่ดำเนินการเสียทีหนึ่ง จุฬาฯ จึงรีบไปสั่งการให้คณะวิทยาศาสตร์พิจารณาทบทวนการอนุมัติการสำเร็จการศึกษาของนายศุภชัย หล่อโลหการ ขึ้นมา ขอให้ทบทวน

ทางคณบดี (คณะวิทยาศาสตร์) เรียกผมให้ไปชี้แจงเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 ใช้เวลา 12 วัน ก่อนที่จะมีผลออกมา ผมยังไม่ลงนามในการบันทึกการให้ถ้อยคำเลย เป็นการสอบสวนที่เร็วและเลวที่สุดในโลก ตั้งแต่ที่เคยเห็นการสอบสวน วันที่ 21 มิถุนายน 2555 ประกาศเพิกถอนปริญญาแล้ว

ผมว่ากระบวนการเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ และเป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์มากๆ เลย เพราะใช้เวลาแค่ 13 วัน หากไม่นับเสาร์อาทิตย์ก็แค่ 9 วัน ฝ่ายนิติการจุฬาฯ บอกว่าจะถอดเทปออกมา ให้ผมลงลายมือชื่อ

สิ่งที่จุฬาฯ ทำทั้งหมด ที่จะต้องรวบรัดตัดความ เพราะไม่มีความกล้าหาญที่จะเอาเทปที่ผมให้ปากคำออกมาสู่สาธารณะ กลับไปถามจุฬาฯ ว่ากล้าเอาเทปที่ผมให้ปากคำที่คณะวิทยาศาสตร์ออกมาเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ไหม จะเห็นภาพเลยว่ามีหลายคนที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ หลายๆ อย่าง เช่น รองอธิการบดีท่านหนึ่ง ฝากลูกมาทำงานที่นี่ แล้ว (ลูก) ลาออกไป ซึ่งมีชื่อปรากฏในบทความ และผมได้แจ้งในกรรมการสอบสวนว่าให้ไปเชิญมาอยู่ในกระบวนการสอบสวนคือ รมณียา ติงศภัทิย์ ที่เคยมาทำงาน (สนช.) และเป็นคนเขียนบทความที่มีปัญหาอยู่ บทความที่ยกเลิกไม่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ มีชื่อของลูกสาวของรองอธิการบดี ทำไมไม่เรียกมาสอบ เรียกมาไม่ได้ เพราะเป็นลูกสาวรองอธิบดีที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ เรียกมาได้อย่างไร

รวมถึงรองอธิการบดีหลายคน เช่น อาจารย์เกื้อ วงศ์บุญสิน ไปพูดในที่สาธารณะว่าผมมีพฤติกรรมชอบเอางานนวัตกรรมคนอื่นมาเป็นของตนเอง เพราะบังเอิญผมอยู่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ คือไปเอาความรู้คนอื่นมาเป็นนวัตกรรม ก็เลยเป็นภาพลักษณ์ของผมที่ว่าเหมือนไปขโมยงานคนอื่น ที่จริงไม่มีเรื่องร้องเรียนอะไรเลย
หรือ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว เคยพูดกับผมว่า ผมไม่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าผมไม่ให้ความสำคัญ ก็ไม่เคยมีใครฟ้องร้องว่าผมไปละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มีกรณีนี้กรณีเดียวคือนายวิลเลียม วิน เอลลิส รายเดียว ที่เอาไปร้องเรียนขึ้นมา

ผมย้ำประเด็นนี้นิดหนึ่ง ทำไมกระบวนการสอบสวนไม่เอาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานจริงๆ มาสอบสวน อย่างลูกสาวรองอธิการบดี ที่เกี่ยวข้องกับบทความที่เป็นปัญหาว่าผมลอกไม่ลอก จะได้ดูว่าชื่อใครเป็นชื่อแรก ใครเป็นเจ้าของผลงาน ใครเป็นคนไปตีพิมพ์ ใครเป็นคนส่งบทความนั้นไปตีพิมพ์ ทำไมไม่สอบสวน รวมถึงคุณไพชยนต์ เอื้อทวีกุล (ประธานกรรมการบริษัทสวิฟท์ จำกัด) ทำไมไปเอาเจ้าของมาสอบสวน ทำไมไปเอาลูกจ้างมาสอบสวน มาให้ปากคำ เจ้าของไม่อยากมาเพราะมันเป็นเรื่องไร้สาระ

ผู้สื่อข่าว : บทความกรณีลูกสาวรองอธิการบดี

ศุภชัย : เรื่องเป็นอย่างนี้นะครับ หลังจากหนังสือเล่มนี้เสร็จแล้ว ผมอยากตีพิมพ์บทความเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อตีพิมพ์ในระดับโลกในวารสาร Outlook Agriculture ผมบอกว่าให้วิลเลียม วิน เอลลิส และรมณียา ติงศภัทิย์ ที่ฝากเข้ามาทำงานที่นี่ มาทำเรื่องนี้กันไหม เขียนกัน 6-7 คน ทุกคนก็มาเขียนด้วยกัน และผมบอกว่าชื่อผมต้องเป็นชื่อแรก วางแผนว่าจะเป็นบทความแบบไหนๆ โดยชื่อผมเป็นชื่อแรก ชื่อนายวิลเลียมเป็นชื่อที่สอง ชื่อรมณียาเป็นชื่อประมาณที่ 4 ที่ 5 ก็เขียนด้วนกัน ไปตีพิมพ์ พอตีพิมพ์ปรากฏว่าชื่อผมเป็นชื่อที่สอง ชื่อนายวินเป็นชื่อที่หนึ่ง เป็นการสลับตำแหน่งกัน ผมเลยไม่ยอม ผมจึงแจ้งไปที่สำนักพิมพ์ ว่าให้ถอดบทความนี้ทิ้ง ไม่ให้พิมพ์ เพราะผมแค้น ในส่วนตัวเกิดจากความแค้น

ผู้สื่อข่าว : คุณวินเป็นคนเขียนหรือคนแปล

ศุภชัย : ก่อนเป็นหนังสือเล่มนี้ต้องเป็นภาษาไทยมาก่อน เพราะเรื่องนี้ทำเป็นภาษาไทย In Thailand of Thailand มันต้องเป็นข้อมูลภาษาไทยก่อน เขาเป็นก็อปปี้ไรท์เตอร์ เขาจะเขียนให้มันดีขึ้น ในหนังสือเล่มนี้มีหลายบท มีหลายคนเขียน บางส่วนที่ผมเขียนและเขาอีดิท ปรับปรุงให้เป็นภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น อ่านรื่นหูขึ้น เราไม่ถือว่าเป็นคนเขียนอยู่แล้ว แต่ไอเดียทั้งหมดเป็นความคิดของผมทั้งหมดแหละ ผมทำตามมติ ครม. คือกรรมการสอบสวนไม่ดูกระบวนการว่าทำไมผมต้องทำ หรือนายวินต้องทำ หรือคนอื่นต้องทำ

แต่หลังจากจบ (ปริญญาเอก) มาเรียบร้อยแล้ว ผมอยากทำหนังสือเล่มนี้เป็นบทความภาษาอังกฤษ รวบรัดให้สั้น 4-5 หน้า เพื่อไปตีพิมพ์ในต่างประเทศ ผมต้องเป็นชื่อแรกอยู่แล้ว ไม่ใช่ชื่อที่สอง และผมไม่ได้ใช้ชื่อผมที่เรียนในจุฬาฯ ผมใช้ชื่อ ผอ.สนช. ต้นฉบับที่ส่งไปชื่อผมเป็นชื่อแรก ถ้าเป็นชื่อที่สองผมไม่ยอมอยู่แล้ว ทำในเมืองไทย ผลงานประเทศไทย แล้วให้ฝรั่งเป็นชื่อแรก ผมไม่ยอมอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าว : ทำไมคนแปลต้องมีชื่อด้วย

ศุภชัย : ต้องใส่ เพราะเขาเป็นคนอีดิทเป็นภาษาอังกฤษ เราให้เกียรติกันอยู่แล้ว เราต้องใส่ชื่อทั้งหมด เหมือนรมณียา ไม่เกี่ยวเลยแต่เป็นคนรู้กระบวนการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เราก็ใส่ชื่อในตอนท้ายๆ หลังส่งบทความไปตีพิมพ์ พอออกมา ชื่อผมมาเป็นชื่อที่สอง มีชื่อนายวินเป็นชื่อแรก เขาไปสลับเปลี่ยนชื่อ ผมก็ยกเลิกการพิมพ์

และฉบับนี้เป็นฉบับที่ถูกกล่าวหาว่าผมไปลอกมา ก็จริง ผมไปลอกมา แต่ลอกมาจากฉบับที่ยกเลิกไปแล้ว มันผิดตรงไหน ผมจะอ้างอิงได้อย่างไร อ้างอิงไม่ได้ เพราะผมยกเลิกไปแล้ว เพราะฉบับนี้ไม่มีในโลก เอกสารการอ้างอิง หรือการคัดลอกต้องเป็นเอกสารที่มีในโลก

ถามที่จุฬาฯ เลยว่านายศุภชัยคัดลอกมาจากเล่มไหน คัดลอกมหาวิทยาลัยไหน คัดลอกมาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยไหน คัดลอกจากศาสตราจารย์คนไหน ไม่มีแจ้งเลยครับ เขาบอกไม่ได้ เขาพูดไม่ได้ บอกแต่ว่าคัดลอกมางานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ซึ่งผมเลยย้ำว่า คนที่จะร้องเรียนว่าผมคัดลอก มีคนเดียวแค่นั้นเองในโลกนี้คือผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ ว่านายศุภชัยคัดลอกผลงานมา มีอยู่คนเดียวเท่านั้นครับที่จะสามารถทำได้ เพราะว่าผมคัดลอกมาจริง แต่ผมยอมรับเลยว่าตอนผมคัดลอกผมขออนุญาตแล้วไงครับ ขออนุญาตจากเจ้าของผลงานบริษัทสวิฟท์ และตอนผมขออนุญาต ผมใช้หัวจดหมายของ สนช. ไปขออนุญาต ผมขออนุญาตเสร็จเรียบร้อยแล้ว และขอจะใช้ผลงานมาใช้ประกอบผลงานในวิทยานิพนธ์ แต่ไม่ผิดอะไร และผมขอมาสังเคราะห์ความรู้ในบทที่ 5

ถ้าใครทำวิทยานิพนธ์จะรู้ว่าบทที่ 1-2-3-4 และ5 บทที่ 5 เป็นบทเดียวที่ไม่ถูกกล่าวหาว่าคัดลอกมีประมาณ 20% ของทั้งหมด บทที่ 5 โชคดีที่เป็นบทที่เป็นไฟล์อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผม เอาออกไปไม่ได้ เป็นบทที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ และได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ แม้ว่านายวินจะทำหนังสือไปขอให้ถอดบทความจากวารสารนานาชาติ แต่ตอนนี้ก็ยังปรากฏอยู่ในวารสารวิทยาศาสตร์การเกษตรอยู่ นี่คือองค์ความรู้ใหม่ที่ทำให้เกิดวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ขึ้นมา

ผู้สื่อข่าว : หลังจากที่เป็นข่าวออกมาได้พูดคุยผู้ใหญ่ในกระทรวงหรือยัง

ศุภชัย : ผมยังไม่คุย แต่เรื่องที่ผมอยากจะชี้แจงในวันนี้คือ 1. กระบวนการสอบสวนของจุฬาฯ 2. เนื้อหาสาระวิทยานิพนธ์ 3. เรื่องการหารือกับผู้ใหญ่ในกระทรวง 4. เรื่องผมจะตัดสินอนาคตผมอย่างไร

ผู้สื่อข่าว : พอผลตัดสินออกมาแล้ว มีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือไม่

ศุภชัย : อันนี้ผมงงๆ ให้มีผลตั้งแต่ 21 มิถุนายน โดยไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน จะนวัตกรรมมากเกินไปแล้ว ผมจึงไม่เข้าใจ ความที่ต้องการรวบรัดตัดความให้เร็ว กลัวผมจะไปฟ้อง รวมทั้งเรื่องการใช้อำนาจโดยไม่ชอบในการฝากฝังลูกเข้ามาทำงาน ตอนหลังลาออกไปเพราะกลัวจะประเมินไม่ผ่านหรืออย่างไร รวมทั้งการอาฆาตแค้นส่วนตัวของผู้บริหารจุฬาฯ หลายคน ใช้วิธีการนี้มากลั่นแกล้ง ที่ทำออกมาทั้งหมดเลย จากกระบวนการสอบสวนที่ไม่โปร่งใส มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ขัดต่อหลักนิติธรรมทั้งหมด ทำให้ขาดความเลื่อมใส

ถ้าหากว่ากระบวนการสอบสวนนี้ได้พิสูจน์ออกมาชัดเจน การร้องเรียนเกิดขึ้นหลังจากที่ผมจบแล้ว ยังเป็นเรื่องที่น่าคิดเลย แต่นี่เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะจบ เป็นหน้าที่ของจุฬาฯ ที่จะต้องจัดการให้เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดชอบของคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอาจารย์สุพจน์ หารหนองบัว ที่ได้รับหนังสือเรื่องเรียนมาก่อนที่ผมจะจบ อาจารย์สุพจน์ต้องแสดงจริยธรรม คุณธรรม ออกมา ถ้าผมเป็นอาจารย์สุพจน์ผมลาออกไปตั้งนานแล้ว

กระบวนการสอบสวนก่อนจบ ปี 2551 มีการสอบสวนก่อน ว่าผมควรจะให้ผมสอบวิทยานิพนธ์ไหม ที่เรียกให้ผมไปให้การทุกอย่าง ผมจบ (การศึกษา) ประมาณพฤษภาคม 2551

ผมจะบอกความไม่โปร่งใสอีกเรื่อง คือ เดือนพฤษภาคม 2551 ผมต้องส่งวิทยานิพนธ์ไปที่บัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งผมจะไปยื่นศาลปกครอง ปรากฏว่าเดือนสิงหาคม นายวิน เอลลิส ได้ส่งหนังสือ คุณหญิงกัลยา ติงศภัทิย์ บอกว่าได้ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ผมเรียบร้อยแล้ว และขอร้องเรียนว่ามีการลอกมา เดือนสิงหาคม (วิทยานิพนธ์) ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเลยนะครับ ผมร้องเรียนไปที่จุฬาฯ บอกว่าให้ไปสืบเลยว่าใครเป็นคนเอาวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ส่งไปให้นายวินตรวจสอบ หลังจากเพิ่งส่งไปหมาดๆ มีการวิ่งเส้นสาย กระบวนการแบบนี้จุฬาฯ เรียกว่าความโปร่งใสไหม ซึ่งทำเร็วมากเกินไปจนกระทั่งว่า ที่จริงต้องเป็นเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคมที่จะเปิดเผยในเว็บไซต์ แล้วค่อยร้องเรียนตอนนั้น

ผมแจ้งไปที่กรรมการสอบว่าผมต้องการรู้ว่าใครเอาวิทยานิพนธ์ของผมเอาไปให้นายวินตรวจสอบ ผมจึงร้องเรียนไปยังจุฬาฯ ว่าผมส่งปั๊บเอาไปให้นายวินเลย ทำการร้องเรียนได้ มีใครมีอำนาจ ถ้าไม่ใช่ผู้บริหารจุฬาฯ ตอนนั้นมีคุณหญิงกัลยา ติงศภัทิย์ คือคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เป็นต้นสังกัดอยู่แล้ว ผมให้ช่วยหาคำตอบ แต่ไม่มีคำตอบอะไรทั้งสิ้น

คงลืมไปว่าในที่สุดผมจะแถลงข่าว และผมจะแฉให้หมดเลยว่าความเหลวแหลกของผู้บริหารจุฬาฯ ทำโดยวิธีการไม่โปร่งใสและเจตนากลั่นแกล้ง แต่ผมเห็นใจกรรมการสภาฯ ชุดใหม่ คงไม่รู้ว่ายังมีเรื่องที่จะส่งไปให้คณะวิทยาศาสตร์ทบทวนอีกทีหนึ่ง ยังไม่เสร็จเลย แต่รวบรัดตัดความเพิกถอนเลย

ผมย้ำนิดหนึ่ง คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสภาผู้แทนราษฏร ที่นายวินไปร้องเรียน เขาสรุปออกมาแล้วว่างานนี้เป็นงานของผม นายวินเป็นคนแค่ปรับปรุงให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง และผมเป็นคนที่ไม่ขัดจริยธรรม 9 ข้อ ธรรมาภิบาล เขาสรุปออกมาเมื่อ 17 เมษายน 2554 รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง ว่าผมลอกไม่ลอก ว่างานเป็นของใคร สรุปออกมาแล้วว่างานนี้เป็นของผม

แต่จุฬาฯ ไม่ดูเลย ที่ผมส่งไป เพราะเขาตั้งธงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ว่าผมต้องเป็นฝ่ายผิด หากปล่อยให้ผมเป็นฝ่ายถูก กระบวนการก็เสียหายหมด เพราะมีเรื่องในหนังสือพิมพ์เยอะแยะว่าผมลอกเลียนงานของฝรั่ง แล้วฝรั่งเป็นใคร อยู่เมืองไทยมา 20-30 ปี เป็นลูกน้องผมเอง ทุกอย่างทำตามคำบังคับบัญชาของผมทั้งนั้น ผมต้องการเพียงอย่างเดียวแค่ความรู้ของเขาเท่านั้นเอง คือเขียนภาษาอังกฤษให้ดูสวยเท่านั้นเอง ต้องการเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

ผู้สื่อข่าว: สภาจุฬาฯ ชุดใหม่เอาผลการสอบสวนชุดเก่ามาใช้

ศุภชัย : ไปเอารายงานของชุดที่หนึ่ง (คณะกรรมการชุด นพ.ยง) ซึ่งเป็นชุดที่ถูกผมร้องเรียนว่ากระบวนการสอบสวนไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม จนต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดที่สอง และตั้งชุดที่สาม คือพูดง่ายๆ ตั้งจนกระทั่งผมผิดให้ได้ และก่อนหน้านั้นก็มีการตั้งชุดที่บอกว่าผมทำถูกต้องไหมในการจบหลักสูตร ไม่ได้พูดถึงลอกไม่ลอกนะครับ ดูว่าผมทำถูกไหมในการเข้าเรียน คือ 1. สอบคุณสมบัติว่าจะจบไหม คือข้อสอบในการทดสอบว่ามีความสามารถในการจบหรือไม่ -ผ่าน 2. ถามต่อว่าผมเข้าสัมมนาเพื่อรายงานความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์เป็นระยะๆ ไหม -ผ่าน 3. ผมมีผลงานตีพิมพ์ในต่างประเทศที่เป็นข้อสรุปวิทยานิพนธ์ไหม -มี 4.ผมมีวิทยานิพนธ์ที่เสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนไหม -มี เรียบร้อย จบ คือกระบวนการตรงนั้นจบเรียบร้อย

พอชุดที่สองมา (คณะกรรมการ) ตั้งว่าลอก-ไม่ลอก ผมร้องเรียนว่าลอกมาจากเล่มเดียวหรือเปล่า ถามอย่างเดียวเลยครับ ยกตัวอย่างของหมอยง (นพ.ยง) ลอกมาจากเล่มเดียว อันนี้หลอกผม ไม่เคยถามถึงเล่มอื่นเลย ถามแค่เล่มเดียว แล้วก็สรุปออกมาบอกว่าลอกมาจาก 4 เล่ม ซึ่งผมแย้ง มันเหมือนคุณบอกว่าคนนี้ฆ่าคนมาคนเดียวทั้งๆ ที่ฆ่ามา 4 คน แล้ว ไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง คนที่ 2-4 ซึ่งต้องชี้แจงเพราะมันเป็นกระบวนการสอบสวน ตอนนั้นผมยังชมสปิริตของคนสอบสวนเลยว่าคงจะรู้ว่าเล่ม 2-4 นั้นเป็นของโจร พูดง่ายๆ คือจุฬาฯ เอาของโจรมาสอบสวนผม ว่าผมคัดลอกของโจรมา ก็คงกลัวเลยไม่พูดถึงเล่มนั้น ก็พูดว่าถูกขโมยไป

ปรากฏว่าพอผมร้องเรียนไป อธิการบดีทำหนังสือบอกให้ผมเอาหนังสือที่เป็นของโจรมามอบให้ด้วย แล้วผมจะมอบได้ยังไง มันเป็นของของผม และเขียนมาถึง ผอ.สนช. ว่ามีการร้องเรียนหนังสือเล่มนี้ ขอให้ส่งมอบ เหมือนให้เอาความลับในกระเป๋าของคุณส่งมอบไปเพื่อที่จะเป็นเอกสารที่ถูกต้องขึ้นมา เขียนจดหมายแบบนี้ขึ้นมาได้ยังไง ซึ่งมันตลกและเป็นการกระทำซึ่งไม่ฉลาดที่สุด ไม่เหมาะกับสถาบันที่ทรงศักดิ์ศรีขนาดนี้ ในการทำงานระดับนี้ขึ้นมาเลย คือเอาของโจรมาเป็นหลักฐานในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ต่อมาก็ตั้งชุดที่สาม แล้วสรุปว่าผมให้การรวบรัดไปเอาชุดที่ 1 มาดีกว่า

ผู้สื่อข่าว : ที่ผ่านมาเคยชี้แจงไหมว่าของโจรนั้นเป็นยังไง

ศุภชัย : เคยชี้แจงครับ แต่เขาไม่เคยสนใจ แล้วมาขอผมอีก เพื่อที่จะทำของโจรให้ถูกต้อง เรื่องของโจรก็คือ ยังมีอีกเล่มหนึ่ง (ไม่ใช่เล่มนี้) เป็นงานที่ผมทำกับบริษัท สวิฟท์ พอทำเรียบร้อยก็ทำออกเป็นหนังสือเป็นรายงาน แต่ก่อนที่ถึงตรงนี้ ผมเขียนหนังสือไปยังบริษัท สวิฟท์ ถึงคุณไพชยนต์ เอื้อทวีกุล ว่าผมต้องการพิสูจน์กลยุทธ์ฉบับนี้ เพราะตอนนั้นคุณไพชยนต์มาล้อผมว่าสร้างเป็นแต่กลยุทธ์ ไม่มีการมาทดลองจริงๆ ผมจริงพิสูจน์ว่าทำได้ เดี๋ยวทำให้ดู ก็เลยบอกคุณไพชยนต์ว่าเอาไหม ลองทำแปลงทดลองสักแปลงที่สวิฟท์ ที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอาจารย์วิชัย อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ก็เข้าไปดูในแปลงด้วย ก็วางแผนกันเสร็จเรียบร้อยก็ทำรายงาน

ในรายงานก็ระบุว่าเป็นความลับของ 2 คน คือ สนช. กับคุณไพชยนต์ ห้ามเอาไปเผยแพร่เพราะเป็นความลับทางการค้า คือจะบอกว่าวิธีการทำเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องใช้หน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ให้เป็นพืชตัวอย่างเป็นกรณีศึกษา นี่คือวิทยานิพนธ์ผมเรื่องนี้ คือการสร้างกลยุทธ์ระดับชาติด้านเกษตรอินทรีย์ โดยใช้หน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์เป็นกรณีศึกษา แล้วก็เก็บไว้เป็นไฟล์ บังเอิญมันเป็นไฟล์กลาง ใครก็ดึงข้อมูลได้ นายวินทำงานที่นี่ก็เลยไปดึงข้อมูลตัวนี้พิมพ์ออกมาแล้วส่งไปให้จุฬาฯ แล้วบอกว่าลอกมาจากเล่มนี้ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นงานของผม ระหว่างนี้ยังอยูในการฟ้องร้องกันอยู่เลยว่าลักลอบนำออกจากสำนักงาน ผมเลยไปแจ้งจุฬาฯ ว่าคืนมาซะนะเล่มนี้ ทางจุฬาฯ ก็บอกว่าเล่มนี้ได้มาจากคณะกรรมการอุดมศึกษา ไม่คืนเพราะอยู่ระหว่างการสอบสวน แล้วยังมีหน้ามาเขียนหนังสือขอเล่มนี้จากผมอีก ทำอย่างนี้ได้ไง เพราะมันเป็นของโจรแล้ว คือจะแปลงสภาพของผมที่เป็นของโจรให้เป็นสภาพที่ถูกต้อง ที่บอกว่าจะเอามาเป็นที่มาของแหล่งการคัดลอกไม่ได้ เพราะเล่มนี้เป็นสมบัติของผมที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่นั่นเป็นของที่ส่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติซึ่งเป็นภาษาไทย

เล่มภาษาอังกฤษผมรวบรวมขึ้นมา อย่าลืมว่าผมเป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์แห่งชาตินะครับ ซึ่งอยู่ภายใต้รองนายกรัฐมนตรี ผมจึงต้องรวบรวมความรู้ทั้งหมดเลย ซึ่งผมชอบทำเรื่องนี้อยู่แล้ว แล้วก็รวบรวมเป็นภาษาอังกฤษ พูดง่ายๆ คือสิ่งที่เขาพูดทั้งหมดก็คือ ผมลอกงานตัวเอง เป็นงานตัวเองที่ถูกขโมยไป ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่งานตัวเองที่ลอกอยู่ในความเห็นชอบของกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ด้วย

ผู้สื่อข่าว : โครงการที่ทำร่วมกับบริษัทสวิฟท์ เป็นโครงการส่วนตัวหรือของสำนักงาน

ศุภชัย : เป็นโครงการของสำนักงาน ผมยอมรับ แต่เป็นโครงการทั้งหมดที่ทำเป็นภาษาไทยนะ แต่ในสิ่งที่ผมรวบรวมโดยขออนุญาตบริษัทสวิฟท์นั้น เพื่อที่จะนำผลมาทำเป็นภาษาอังกฤษเป็นเพียงส่วนเดียว เพื่อจะสร้างรูปแบบองค์ความรู้ใหม่ในบทที่ 5 ซึ่งทำได้อยู่แล้วครับ

ผู้สื่อข่าว : ในเมื่อเป็นของสำนักงาน ทำไมยังบอกว่าเป็นของโจร

ศุภชัย : คือเป็นของที่ขโมยมาจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติไง เฉพาะภาษาไทย แต่ที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นเป็นของผม โอเคง านคืองานเดียวกัน แต่จุดที่กระทรวงเคยสอบสวนผมแล้วบอกว่าผมอาจจะมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ซึ่งผมก็ยอมรับว่าอาจไม่เหมาะสม เพราะเอางานวิจัยของบริษัทสวิฟท์ แต่ผมก็ขออนุญาตแล้ว ตอนนั้นยังไม่เป็นบริษัทมหาชน ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เคยคุยกับท่านปลัดศักดิ์สิทธิ์ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ยอมรับว่าผมผิดแล้ว ก็นึกไม่ถึงว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา

ก็เลยบอกว่าขอได้ไหม จะเอาตรงนี้มาใช้ในวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นงานส่วนเดียวเท่านั้น ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสรุปมาว่าอาจมีความประพฤติไม่เหมาะสม ว่าจะตักเตือนก็ไม่เห็นตักเตือนอะไร แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีความเป็นต้นตำรับอยู่ภายใน ที่ผมเป็นคนทำ ไม่เกี่ยวกันเลยกับคนภายนอกและไม่เกี่ยวกับนายวินด้วยนะครับสำหรับงานชิ้นที่ 2 นี้

หากเอกสารชุดนี้ผมเก็บล็อกไว้ในลิ้นชักก็จะไม่เกิดการลอกขึ้น เพราะการลอกคือลอกจากเอกสารที่เผยแพร่สาธารณะ แต่ขณะนี้จุฬาฯ ยังไม่กล้าบอกไงว่าคัดลอกมาจากเอกสารที่ใครเป็นเจ้าของ

ผู้สื่อข่าว : สำหรับความสัมพันธ์ส่วนตัวของคณะกรรมการที่พิจารณาของจุฬาฯ ชุดใหม่ขัดแย้งกันไหม

ศุภชัย : ชุดนี้เพิ่งตั้งมาใหม่ไม่นาน ไม่รู้จักชื่อเลย สภาจุฬาฯ ต้องยอมรับนะครับว่า ถ้าผมฟ้องศาลปกครองก็ต้องฟ้องสภาด้วย แต่สภามหาวิทยาลัยไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว เดือนๆ ประชุมแค่ครั้งเดียวเพราะทำตามเลขา คือคณะกรรมการบริหาร สิ่งที่ผมขัดแย้งคือคณะผู้บริหารจุฬาฯ ขัดแย้งกับคนชงเรื่อง เพราะกล่าวหาผมหลายครั้ง มาอย่างต่อเนื่องว่า ผมไปลอกงานคนอื่น ขณะอยู่ที่ สนช. ชอบไปเอางานคนอื่นมาทำโครงการนวัตกรรม คือในการทำตรงนี้มาทั้งหมดนั้นใช่ไหม จนเกิดการพัวพัน เลยรีบรวบรัดตัดตอนขึ้นมา

ผู้สื่อข่าว : สรุปคือไปคัดลอกงานของตัวเองที่เคยเผยแพร่จริงไหม

ศุภชัย : สำหรับงานที่ออกมาทั้งหมดของตัวเอง จริงครับ แต่งานทั้งหมดเป็นงานที่ผมทำเองและเกิดขึ้นทีหลัง คือเกิดหลังจากที่วิทยานิพนธ์เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นภาษาไทย และผมก็ได้ทำตัวนี้เป็นภาษาอังฤษอีกเล่มหนึ่ง เล่มที่เป็นภาษาอังกฤษเรื่องหน่อไม้ ไม่ได้คัดลอก

ผู้สื่อข่าว : เขาบอกเป็นองค์ความรู้ใหม่ หมายถึงวิทยานิพนธ์ภาษาไทยก็เป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ศุภชัย : ใช่ครับ แต่องค์ความรู้อยู่ที่บทที่ 5 ไม่ได้อยู่ตรงนี้ อันนี้เป็นงานทดลอง ยังไม่เกิดองค์ความรู้ใหม่ เพราะองค์ความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นอยู่สองอย่างคือเล่มนี้กับเล่มของสวิฟท์ เพราะเล่มนี้คือนโยบาย มารวมกันแล้วสังเคราะห์ขึ้นมา ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดที่มาตรวจสอบไม่มีใครสักคนที่มีความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ แม้แต่หมอยง ถ้าไปชี้ได้สักคนนะ ผมลาออกวันนี้เลย เมื่อไม่มีความรู้ยังทะลึ่งมาบอกว่าองค์ความรู้ใหม่ ทั้งๆ ที่กรรมการสอบวิทยานิพนธ์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิชาวต่างชาติ ผมมีความสามารถที่จะนำกลยุทธ์ระดับชาติมาพิสูจน์ได้ ซึ่งโควทไว้ในบทที่ 5 เลยนะครับว่า เป็นงานที่ดีมากในการทดลองวิจัยตรวจสอบกลยุทธ์เกษตรอินทรีย์และสรุปเป็นองค์ความรู้ใหม่ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริง และในบทนี้ผมสามารถสรุปได้ว่า หากจะทำเกษตรอินทรีย์คุณจะต้องใช้พืชที่ให้ตอบแทนที่สูงและเร็วมาก และต้องทำเกษตรแบบสัญญาจ้าง พื้นที่การเกษตรน้อย เพื่อที่จะดูแลได้ทั่วถึง เป็นต้น นี่คือองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งกรรมการไม่เคยดู ได้แต่ตั้งธงโดยไม่ดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร

ผู้สื่อข่าว : จุฬาฯ จะตรวจสอบได้ไหมว่าสัดส่วนขององค์ความรู้ใหม่นั้นน้อยเกินไป

ศุภชัย : คือไปตั้งกรรมการชุดหนึ่งไหมที่มีความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์แล้วมาบอกผม เนื่องจากชุดนี้ไม่มีความรู้เลย ในขณะที่กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ต่างชาติที่มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์บอกอันนี้เป็นความรู้ใหม่และได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ เพราะของที่ตีพิมพ์ได้ต้องเป็นของใหม่อยู่แล้ว และถ้ายังไม่เพียงพออีกผมท้าให้จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการอีกชุดเลย เอาที่มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และเป็นที่ยอมรับมาดูวิทยานิพนธ์ผม ว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ไหม ไม่ใช่ให้คณะกรรมการสอบที่ไม่มีความรู้เลยมาบอกว่าไม่มีองค์ความรู้ใหม่ พูดแบบนี้ได้ยังไง สมมตินะครับ หากไม่มีองค์ความรู้ใหม่ก็เป็นความผิดของคณะกรรมการสารนิพนธ์ไม่ใช่ผม มันเหมือนตบหน้าตัวเองหรือเปล่า ที่ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาบอกว่าที่จบมาไม่มีองค์ความรู้ใหม่ บ้านของคุณเองคุณต้องเคลียร์ให้สะอาด

ผมไปเรียนหนังสือจ่ายเงินไปเรียนนะ ไม่ได้เรียนฟรี ดังนั้น ผมหวังว่าคุณจะมีความรู้เพียงพอที่จะสอนหนังสือผม เมื่อจบมาแล้วจะมีองค์ความรู้หรือไม่อยู่ที่กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ไม่ใช่กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าว : วันที่ตัดสิน ทางสภามหาวิทยาลัยอ้างกฤษฎีกาว่า ทางจุฬาฯ ได้เขียนหนังสือไปถึงกฤษฎีกาว่ามีสิทธิในการตัดสินไหม แล้วกฤษฎีกาก็ตอบว่าหากมีการตรวจสอบภายหลังว่าวิทยานิพนธ์ผิดเงื่อนไข จุฬาฯ มีมติสามารถยกเลิกได้

ศุภชัย : ผมจะยอมรับหากกรรมการชุดที่ให้ผ่านผมมาตรวจสอบภายหลังแล้วพบจึงสั่งยกเลิก ไม่ใช่กรรมการคนละชุดกัน มิฉะนั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ตั้งกรรมการชุดใหม่มาบอกยกเลิกปริญญาเพราะผิดเงื่อนไข ระบบก็จะเสียหมดสิครับ กฤษฎีกาใช้ได้อยู่แล้วครับไม่ต้องไปถามเขาหรอก เพราะคุณมีอำนาจ เป็นคำสั่งทางปกครองในการอนุมัติ/เพิกถอนปริญญา แต่ผู้เสียหายมีสิทธิร้องเรียก มีสิทธิขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย นี่คือที่มาไง เป็นความเจ้าเล่ห์ของจุฬาฯ ที่ไม่ให้มีผลย้อนหลัง เพราะกลัวผมไปเรียกค่าเสียหาย แต่ไม่คิดว่าทำลายชื่อเสียงของคนที่เสียหาย คือมีผลตั้งแต่ 21 มิถุนายนขึ้นมา เพราะหากมีผลย้อนหลังผมจะฟ้องตามกฤษฎีกาได้ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งปริญญาเอกอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าจุฬาฯ จะเจ้าเล่ห์มาทำร้ายคนตัวเล็กๆ ขนาดนี้ ทำในสิ่งที่วิญญูชนไม่ทำกัน นักข่าวไม่สงสัยกันบ้างหรือว่าทำไมไม่มีผลย้อนหลัง ผมเองยังงงๆ อยู่เลย

ผู้สื่อข่าว : คิดว่าจุฬาฯ ก็เป็นสถาบันเก่าแก่อันทรงเกียรติมานาน แล้วกรรมการและผู้บริหารก็เป็นบุคคลที่มีหน้าตาในสังคม คิดว่าทำไมเขากล้าที่จะเอาศักอิ์ศรีของเขามาเสี่ยงกับศักดิ์ศรีของ ผอ.

ศุภชัย : คนมันหน้ามืดได้อยู่แล้ว กระบวนการมันหน้ามืด อย่างที่บอกว่าทำไมกระบวนการใช้เวลาเพียง 12 วัน เพราะเดือนเมษายน จุฬาฯ ถูกกดดัน ไม่เลือกที่จะแจ้งไปยังไทม์ เอ็ดดูเคชั่น วารสารนานาชาติ พูดง่ายๆ คือปกป้องชื่อเสียงในต่างประเทศ แต่ยอมทำลายชื่อเสียงคนในประเทศ จะเป็นยังไงก็ช่าง อย่าลืมว่าผมจบตรี โท เอก มา ถ้าไม่เหลืออดผมไม่แฉหรอก ท้าคณะกรรมการเลยนะครับ เก่งจริงไปเอาเทปที่ผมให้การกับคณะวิทยาศาสตร์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน มาเปิดเผยต่อสาธารณะให้หมด แต่เขียนออกมา 2 หน้าจากการที่ผมให้การ 2 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าว : จะไปฟ้องศาลปกครองเมื่อไหร่

ศุภชัย : ที่พูดตรงนี้ทั้งหมดเลย ในเรื่องของเนื้อหาสาระ ผมพูดอนสุดท้ายเลยคือ ผมยอมรับว่าการเพิกถอนนั้นมีผลกระทบต่อผมอยู่เยอะ ถ้าในระยะต่อไปมองดูแล้วมีอุปสรรค ผมก็พร้อมที่จะลาออก แต่สิ่งสำคัญคือผมเชื่อในความบริสุทธิ์และจะดำเนินการในศาลปกครอง และหากศาลปกครองมีคำสั่งมาว่าผมผิด ผมลาออกทันทีเลย แต่หากศาลปกครองบอกว่าผมถูกต้อง ผมขอให้ผู้บริหารจุฬาฯ และสภารับผิดชอบในทำนองเดียวกับผมได้ไหม นี่ผมท้านะครับ จุฬาฯ จะรับคำท้าผมหรือเปล่า

ผู้สื่อข่าว : ตอนนี้คุยกับผู้บริหารกระทรวงบ้างไหม

ศุภชัย : ไม่ได้คุยครับ เพราะท่านปลัด (กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ) ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าตามมติของบอร์ด (คณะกรรมการ สนช.) ดังนั้นถ้าบอร์ดมีมติอย่างไรผมก็พร้อมปฏิบัติตาม และผมไม่ฟ้องบอร์ดต่อศาลปกครองด้วย เพราะเชื่อว่าบอร์ดมีมิตรจิตรมิตรใจกับผมพอสมควร ช่วยเหลือเกื้อกูลตลอดเวลา บอร์ดเอาไงผมเอางั้น บอร์ดบอกได้เลยว่าจะเอาแบบไหน ท่านปลัดดีมาก ท่านบอกเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะผมไม่ได้ใช้ปริญญาเอกในการสมัคร ผอ.สนช. และเป็นเรื่องที่คาราคาซังกันอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากระทบต่อความเชื่อมั่นต่อคนและงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งหากบอร์ดประเมินแล้วมันไม่เหมาะไม่ควรก็บอกผมได้ครับ จะให้ลาออกหรือไล่ออกก็ได้ครับ ผมเองก็เป็น ผอ. มานานแล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหากับจุฬาฯ หรอก

ที่มีปัญหาเยอะๆ เลยคือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานี่แหละ บังเอิญเขาไม่พอใจ อย่างที่อาจารย์สุพจน์บอกคือไม่ให้เกียรติคนคิดค้น ก็ผมไม่ได้มีหน้าที่ทำพีอาร์นี่ คนคิดค้นก็ต้องทำพีอาร์เอง ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกัน แต่ภาพลักษณ์มันไม่ดี เหมือนกับว่าเอางานคนอื่นมาทำเป็นของตัวเองซึ่งไม่เกี่ยวกัน งานนี้เป็นกระบวนการของผมซึ่งใช้ความรู้ ไม่ใช่สร้างความรู้ ซึ่งเขาเข้าใจผิดว่าของผมนั้นเป็นกระบวนการสร้างความรู้ เพราะกระบวนการสร้างความรู้ผมไปสร้างเอง แต่ไม่ได้เคลมเป็นผลงาน เพราะกระบวนการ สนช. คือใช้ความรู้มาสร้างให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ไม่ใช่กระบวนการสร้างความรู้แบบมหาวิทยาลัย

อย่างกระบวนการสร้างความรู้ผมก็ทำเองมากมาย แต่ไม่ได้เผยแพร่ เช่น ผลงานตีพิมพ์ในต่างประเทศที่ออกมายกเลิกก็เพราะอยากตีพิมพ์เอง อยากสร้างชื่อเสียงทั้งๆ ที่ไม่มีใครสั่ง ผมไม่ใช่แบบ สวทช. หรือ สกว. ไม่เกี่ยวกัน

ผู้สื่อข่าว : คุยกับผู้บริหารจุฬาฯ หรือยัง

ศุภชัย : ผมไม่คุยครับ ไม่เคยคุย แล้วเขาไม่เคยเรียกผมไปคุยเลยสักครั้งเดียว ส่วนคณะวิทย์ฯ ก็เคยคุยแค่ครั้งเดียวเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งก็แปลกใจมากที่เรียกไปชี้แจงแค่ครั้งเดียวทั้งๆ ที่มีเรื่องมากมาย จุฬาฯ เขาคิดเอง เออเอง แล้วจะให้ผมไปก็ไม่มีผลตอบรับอะไร

ผู้สื่อข่าว : แล้ววันนี้มีหนังสือแจ้งเป็นทางการหรือยัง

ศุภชัย : ยังไม่มีเลยครับ

ผู้สื่อข่าว : จะฟ้องใคร ผู้บริหารจุฬาฯ สภา หรืออธิการบดี

ศุภชัย : หลักๆ เลยที่จะฟ้องศาลปกครองคือจุฬาฯ ในฐานะนิติบุคคล สองคือสภามหาวิทยาลัยในฐานะที่เพิกถอนคำสั่งปริญญา ซึ่งจริงๆ แล้วปริญญาไม่มีผลต่องานใดของผมไม่ว่าจะเงินเดือนหรืออะไร ส่วนตัวบุคคลกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะฟ้องใคร ที่ฟ้องเพราะผมมีหลักฐานเอกสารทุกอย่างและเชื่อมั่นอย่างที่ท้าว่าถ้าผิดจริงจะลาออก

ผู้สื่อข่าว : ที่ฟ้องจะฟ้องจุฬาฯ ในข้อหาอะไร

ศุภชัย : ก็เยอะแยะ ทั้งให้เพิกถอนคำสั่งโดยมิชอบ ในเรื่องของกระบวนการการตัดสิน ใช้อำนาจโดยมิชอบในการกลั่นแกล้ง เป็นกระบวนการที่ไม่โปร่งใส มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพราะถ้าใช้อำนาจโดยชอบคงไม่ใช้เวลาเพียง 12 วันหลังให้ปากคำหรอกครับ แล้วมีสรุปออกมาในขณะที่ผมยังไม่ลงนามเลย อย่างนี้เรียกว่าใช้อำนาจโดยมิชอบไหม คิดว่ากระบวนการสอบสวนในภาคเอกชนของคุณก็คงไม่สอบเร็วเท่านี้หรอก เหมือนเรียกไปสอบปากคำเพื่อให้กระบวนการครบถ้วนเท่านั้น โดยตั้งธงเอาผิดไว้แล้ว โดยไม่สนใจ เพราะถ้าสนใจต้องชี้แจงมาแต่ละข้อแล้วตามกระบวนการพิจารณาของศาลว่าข้อนี้ถูกข้อนี้ผิด สามารถโต้แย้งกันได้ แต่ตั้งแต่ผมชี้แจงไปยังจุฬาฯ ไม่เคยสักครั้งที่จุฬาฯ จะชี้แจงสิ่งซึ่งผมชี้แจงไปเลย ไปอ่านในรายงานสอบสวนได้เลย มีประเด็นไหนโต้แย้งบ้างว่าผมพูดปดพูดเท็จ หรือหลักฐานนี้ใช้ไม่ได้ เช่น รูปในแปลงทดลอง ก็ไม่ได้เขียนบอกว่ารูปนี้ใช้ไม่ได้ เพราะแต่งขึ้นมาหรืออะไร

ที่มาภาพ: www.matichon.co.th

หรือกระบวนการได้มาซึ่งเอกสารฉบับนี้ตั้งแต่ขอ รวมถึงคนตรวจสอบ ซึ่งต้องมาตรวจงานวิจัยที่ได้รับทุน เขียนไว้ว่าผลสำเร็จของงาน เป็นเพราะ ผอ. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ อย่างชัดเจน “ความสำเร็จของงานเกิดจากคววามสารถของ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มาลงมือทำงานด้วยตนเอง” แต่จุฬาฯ ไม่เคยสนใจเลย กลับบอกว่าผมไปลอกมาในเล่มเดียวกันนี้ที่นายวินฉีกปกออกแล้วใส่ปกใหม่ โดยบอกว่าเป็นชื่อเขา ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์เลยว่าเล่มไหนปลอม

แต่ของผมขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์แล้วนะครับ แต่จุฬาฯ ก็ยังไม่เชื่อ กลับไปเชื่อว่าเล่มของนายวินนั้นของจริง ทำไมจุฬาฯ ไม่รอให้กระบวนการทางศาลเสร็จสิ้นล่ะ คือไปฟ้องกันในศาลว่าเล่มไหนจริงหรือปลอม ของลิขสิทธิ์นี้เป็นของใคร ผม นายวิน หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ผมจะเรียนว่าถ้าผมจะถูกฟ้อง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ฟ้องผมได้ว่าผมเอาข้อความนี้มาใช้ในวิทยานิพนธ์

ผู้สื่อข่าว : จะไปฟ้องจุฬาฯ เมื่อไร

ศุภชัย : คือผมยังไม่ได้รับแจ้งมติสภาเลยครับ

ผู้สื่อข่าว : ที่บอกว่ากระบวนการถูกตัดตอน แต่วันที่แถลงข่าวอุปนายกสมาคม ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ บอกว่ามีการเอาหลักฐานหรือข้อพิจารณาในครั้งก่อนหน้ามาประกอบด้วย และบอกว่าการอ้างอิงหลักฐานเก่าทำให้ระยะมันสั้นลง

ศุภชัย : คือจะไม่ตัดตอนได้ไงครับ แค่ 12 วัน อาจารย์บวรศักดิ์ท่านไม่ทราบหรอก เพราะเพิ่งมา แล้วกระบวนการทั้งหมดค่อนข้างซับซ้อน แล้วใครจะมาอ่านเอกสารที่เป็นปึกๆ เป็นลังๆ

ผู้สื่อข่าว : ทางสภาบอกวันที่มีการสอบได้เชิญหมอยงเข้ามาให้ปากคำด้วย ซึ่งในรายงานก็บอกว่าได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์มาอยู่ด้วย ทางสภาจะอ้างได้ไหมว่านี่ใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาได้

ศุภชัย : ถ้าอย่างนั้นทำไมต้องตั้งชุดที่ 2 ขึ้นมา ที่มีอาจารย์ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล เป็นอยู่ในสภามหาวิทยาลัยชุดที่แล้ว แล้วทำไมต้องมีชุดที่ 3 อีก ถ้าจะเอาหลักฐานที่หมอยง ก็ไม่ต้องตั้งชุดที่ 2-3 แล้ว แค่ของหมอยงคนดียวก็จบ ก็เพราะกระบวนการมิชอบไง อาจารย์ประสิทธิ์พูดกับผมวันแรกเลยว่า ที่รายงานสอบสวนข้อเท็จจริงของหมอยงจะเกิดขึ้นยังไง สภามหาวิทยาลัยไม่รับทราบ พูดง่ายๆ คือไม่เอา เอาใหม่คือมาว่ากันใหม่ เพราะรายงานนั้นเขารู้อยู่แล้วว่ามันไม่ถูกต้อง แต่กรรมการชุดนี้ได้ทีไง คุณหญิงกัลยา ติงศภัทิย์ สนิทชิดเชื้อกันท่านนายกสภาฯ ก็เลยไปเอาตัวเดิมที่บอกว่าไม่ใช้แล้วกลับมาอีกครั้ง

คือเป็นการเอาเอกสารซึ่งกรรมการสภาชุดที่แล้วไม่เอาแล้วมาใช้ใหม่อีกทีหนึ่ง ไม่อย่างนั้นคงไม่เร็วแบบนี้ แค่ 12 วันเท่านั้น ที่จะเอาเอกสารฉบับเก่าขึ้นมายืนยัน ซึ่งถ้าเอกสารเก่าเอามายืนยันได้ว่าเป็นจริงตามนั้น เพราะบังเอิญชุดใหม่ก็ไม่เคยเรียกผมเข้าไป ผมก็ไม่ได้ส่งจดหมาย คิดว่าชุดใหม่คงทำงานต่อจากชุดเก่า แต่บังเอิญชุดใหม่ไปดึงจากชุดเก่ามา และเอาชุดนี้ซึ่งป็นเอกสารไม่ใช้แล้ว มาเป็นเอกสารอีกอันหนึ่ง

ผู้สื่อข่าว : ถ้าได้หนังสือจากทางสภาแล้ว จะไปร้องศาลปกครองทันทีหรือไม่

ศุภชัย : ผมต้องเขียนร้องศาลปกครองอยู่แล้ว และผมจะต้องร้องต่อสาธารณะชนให้รู้เรื่องอยู่แล้ว ในเรื่องความเหลวแหลก หรือความไม่ปร่งใสของผู้บริหารจุฬาฯ

ผู้สื่อข่าว : คาดว่าจะยื่นศาลปกครองได้เมื่อไหร่

ศุภชัย : ผมต้องยื่นภายใน 90 วันอยู่แล้ว หลังจากได้รับเอกสารมา และหวังว่าจุฬาฯ จะรีบส่งมาให้ผมเร็วๆ นี้ อย่างที่ผมเรียนว่าผมอยากจะรีบยื่น หวังว่าศาลปกครองคงใช้เวลาไม่นาน ไม่กี่เดือนก็น่าจะรู้ผล ผมจะได้ตัดสินได้ว่าอนาคตของผมควรจะเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าว : ลำบากใจไหม เพราะสำนักงานมีโครงการที่ต้องทำร่วมกับจุฬาฯ เยอะพอสมควร

ศุภชัย : ไม่เกี่ยว ผมไม่ได้ทะเลาะกับจุฬาฯ แต่ผมทะเลาะกับผู้บริหารจุฬาฯ ผมมีเรื่องขัดแย้งกับผู้บริหารจุฬาฯ ผมไม่มีเรื่องขัดแย้งกับอาจารย์ของจุฬาฯ และผมทำงานผมก็ทำร่วมกับจุฬาฯ อยู่ตลอด หลายโครงการ ไม่มีปัญหา การขัดแย้งอยู่ระหว่างผู้บริหารจุฬาฯ ที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับผม และผู้บริหารจุฬาฯ บางคนก็ยังดีมากกับผมอยู่

ผู้สื่อข่าว: ยืนยันว่าจะทำงานร่วมกับนักวิจัยจุฬาฯ ได้เหมือนเดิม

ศุภชัย : ได้ครับ ผมยังเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่จุฬาฯ ในบางหลักสูตรยู่เลย ผมยังล้อเขาเลยว่าทำไมยังเชิญผมไปสอนอีก แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าเขาปลดผมไปหรือยัง เพราะตอนนี้เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นได้ 2-3 วันเท่านั้น เขาอาจจะปลดผมไปแล้วด้วย ผมยังเคยล้อเขาว่าเชิญผมไปสอน ในขณะที่ยังมีเรื่องกับทางจุฬาฯ อยู่ ก็มีคนบอกว่าคนละเรื่องกัน มันไม่เกี่ยวกันอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องเพราะจุฬาฯ เป็นสถาบัน เพราะผมจบ ตรี โท เอก จากที่จุฬาฯ

ผู้สื่อข่าว : จบที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ หมดเลยใช่ไหม

ศุภชัย : จบโทกับเอกคณะวิทยาศาสตร์ เพราะจุฬาฯ เป็นสถาบัน ทำให้เราต้องเคารพในตัวสถาบัน แต่คนที่มาบริหารสถาบันเท่านั้นเอง ที่เป็นคนใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ก็เหมือนกับ สนช. เหมือนประเทศชาติ ที่ประเทศชาติต้องเป็นที่เคารพอยู่แล้ว แต่คนที่มาบริหารประเทศเท่านั้นเอง ที่จะเป็นคนดีหรือคนไม่ดี คือความถูกต้องไม่ถูกต้องทั้งหมด คุณไปถามอาจารย์วิชัย เชิดชีวศาสตร์ ที่เสียใจและยืนยันอย่างที่ผมเรียนว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะว่าอย่างไรเมื่ออาจารย์ที่ปรึกษา หรือกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ยังยืนยันว่า วิทยานิพนธ์ของผมเป็นวิทยานิพนธ์ที่มีคุณค่ามากเพียงพอ มากเกินพอที่จะปริญญาเอกเสียด้วยซ้ำ และมีองค์ความรู้เกิดขึ้นที่ดีเพียงพอ เพราะฉะนั้นอาจจะไปตั้งกรรมการชุดใหม่ไหม อาจจะตั้งกรรมการที่มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์เข้ามา เป็นคนภายนอกหรือตั้งกรรมการในต่างประเทศไหม ที่ไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียงดีไหม

ผู้สื่อข่าว : ถ้าอยู่ระหว่างช่วงศาลปกครองที่กำลังดำเนินการไต่สวนข้อมูลต่างๆ ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ตัวองค์กร สนช. ที่ต้องติดต่อกับจุฬาฯ หรือองค์กรอื่นๆ ในต่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในแง่ของภาพพจน์องค์กร ถ้าผู้บริหารสั่งพักงานท่าน

ศุภชัย : ผมยินดีเลย อย่างที่ผมเรียน อย่าว่าแต่พักงาน ถ้าให้ผมลาออกผมยังยินดีลาออกเลย ผมทำงานมาตั้งนานขนาดนี้ ยังมีคนบอกว่าผมควรลาออกไปตั้งนานเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าผมอยากถูกไล่ออกเพราะบกพร่องในการงานมากกว่าจะถูกไล่ออกเพราะเรื่องปริญญาเอก ผมอยากเป็นแบบนั้นมากกว่า เพราะผมคิดว่าการถูกไล่ออกจากเรื่องปริญญาเอกทั้งๆ ที่ผมเป็นฝ่ายถูกต้องทุกอย่าง ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องซึ่งเฟอะฟะสิ้นดี

ผู้สื่อข่าว : ไม่ลาออกก่อนจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใช่ไหม

ศุภชัย : จริงๆ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แล้วแต่บอร์ด คุณลองไปถามสภาอุตสาหกรรมสิ ถ้ามีจดหมายมาจากสภาอุตสาหกรรมหรือองค์กรซึ่งเราทำงานด้วย เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า มาบอกว่าผมไม่เหมาะที่จะเป็น ผมยินดีลาออกอยู่แล้ว ถึงไม่มีเรื่องนี้ก็ลาออกอยู่แล้ว หรือว่าสมาคม แต่ขอให้เป็นสมาคมวิชาชีพ สมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ไม่ใช่สมาคมที่เกี่ยวข้องวิชาการ คือผมไม่ได้ทำงานเรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านวิชาการอย่างที่ผมเรียนไป ถ้าคุณไปถามสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เขาก็อาจให้ผมลาออก แต่เขาก็ไม่เกี่ยว เขาไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย คุณไปถามสมาคมวิชาชีพ ถามได้เลย ถ้าเขาบอกว่าไม่เหมาะหรือมีผลกระทบ อย่างนี้ผมยินดีลาออกเลย ไม่ต้องทำจดหมายก็ได้ โทรศัพท์มาผมก็ไปแล้ว นายกสมาคม ประธานอะไรต่างๆ ผมรู้จักหมด

คุณรู้หรือเปล่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีคนนับร้อยโทรศัพท์มาหาผม บอกอย่าลาออก พวกสมาคมต่างๆ เพราะเขาเชื่ออย่างยิ่งว่า ผมเป็นคนที่จะช่วยอุตสาหกรรมได้อย่างเยอะแยะเลย เพียงแต่ว่าอย่างที่ผมบอกว่า ถ้าศาลปกครองมีคำสั่งออกมาว่าถ้าผมผิด ผมไม่รอ ผมลาออกเลย เพราะผมละอายใจตัวเอง แสดงว่าผมคิดผิดไปแล้วล่ะ หมายถึงที่ผมคิดว่าตัวเองถูกต้อง ผิดไปแล้ว เพราะเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองถูกหรือผิด มันต้องให้คนมาตัดสิน ซึ่งคนที่มาตัดสินต้องเป็นกลาง ซึ่งศาลปกครองจะเป็นคนตัดสินที่ผมเชื่อมั่นว่าเป็นกลาง

ผู้สื่อข่าว : ที่จุฬาฯ บอกว่าไม่มีผลย้อนหลังก็หมายความว่าในทางแพ่งก็ไม่สามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้

ศุภชัย : ผมยังไม่ทราบ แต่นั่นเป็นความเจ้าเล่ห์อย่างที่ผมบอก คือผมจะฟ้องเรียกค่าเสียหายอยู่แล้ว แต่ตรงนี้เขาปิดทางผมอยู่เยอะ ไม่ให้ผมฟ้องแพ่ง ซึ่งไม่น่าจะทำแบบนี้ เพราะถ้าผมฟ้องแพ่ง เขาจะไปเรียกเงินจากใคร ก็ต้องไปเรียกเงินจากอาจารย์ที่สอบวิทยานิพนธ์ เขาก็ไม่อยากทำร้ายซึ่งกันและกันเอง เดี๋ยวเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ถ้าไปเรียกเงินจากกรรมการที่สอบวิทยานิพนธ์ก็จะเป็นการจุดชนวน ซึ่งไม่อยากจะไปจุดชนวนตรงนั้นขึ้นมา เลยใช้วิธีแบบนี้

งานวิจัยเล่มที่นายศุภชัย หล่อโลหการ อ้างถึง
งานวิจัยเล่มที่นายศุภชัย หล่อโลหการ อ้างถึง

ผู้สื่อข่าว : ก่อนหน้านี้เคยมีคนพูดเรื่องลิขสิทธิ์ ว่าเอกสารเรื่อง Strengthening มีอยู่ 2 ปก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ศุภชัย : ใช่ ไม่ได้มีแค่ 2 ปก มีตั้ง 3–4 ปก คือ ปกหนึ่งที่เข้า ครม. อีกปกหนึ่งที่นายวิลเลียม วิน เอลลิส ไปทำเอง เป็นเอกสารของ สนช. ที่ไปทำเอง แล้วตอนหลังผมไปเห็น ฉบับนั้นผมเลยไปทำตัวนี้ขึ้นมา

ผู้สื่อข่าว : ฉบับของนายวิน เอลลิส สนช. รับรู้หรือไม่

ศุภชัย : ไม่รับรู้ เรารับรู้เอกสารฉบับนี้ฉบับเดียวที่มี ISBN เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารฉบับเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์ และเป็นเอกสารของ สนช. ที่เป็นทางการฉบับเดียว อย่างที่ผมบอกว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะบอกว่าใครทำ ใครพูดจริง พูดเท็จอย่างไรก็แล้วแต่ มันพูดได้ทั้งนั้น แต่ให้ดูที่กระบวนการว่า นายวิน เอลลิส มาทำทำไม มาทำเพราะเป็นลูกจ้างของ สนช. ผมยังเขียนชื่อเขาอยู่ตรงนี้เลย แต่ไม่ได้เป็นชื่อแรก เพราะเขาทำไปบางส่วน เอกสารนี้มีคนเขียนตั้ง 6–7 คน แต่ว่าผมเอามาเฉพาะบางส่วนที่ผมเขียนมาอยู่ในวิทยานิพนธ์

ผู้สื่อข่าว : มีการพูดเรื่องลิขสิทธิ์หรือไม่

ศุภชัย : ไม่มี เพราะผมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่มีใครมาร้องเรียน ไม่มีใครมาฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์เลย นายวิน เอลลิส ตอนแรกจะพูดเรื่องลิขสิทธิ์เหมือนกัน แต่ตอนหลังก็พูดไม่ออก เป็นเรื่องผมกับ ITC ทั้งหมดเลย ไม่เกี่ยวกัน

เอกสารสำเนาจากจุฬาฯ ฉบับนี้บอกว่า ชุดอาจารย์ยง ที่ตั้งมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 แล้วก็บอกว่าไม่เอาแล้ว เอาชุดนี้ ตั้งมาเมื่อ 4 มีนาคม 2554 มีอาจารย์ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล ซึ่งชุดนี้ยังไม่เสร็จ บังเอิญเปลี่ยนกรรมการสภาอันใหม่ ก็เลยมีชุดใหม่ ตั้งเป็นกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์อีก

ผู้สื่อข่าว : คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ได้ให้ปากคำบ้างหรือไม่

ศุภชัย : ให้แล้ว และมีบันทึก คุณไปถามอาจารย์วิชัย เชิดชีวศาสตร์ ที่ลงนามด้วย หรืออาจารย์ศิริวัฒน์ วงศ์ศิริ ที่ลงนามด้วยว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ถูกต้อง และได้มาตรฐาน คือที่เขาบอกผมเองและเขาได้ลงนามเสร็จเรียบร้อย แต่ผมไม่เห็นเนื่องจากเขาไปให้ปากคำ แต่เขาบอกผมว่าได้ลงนามบอกว่า ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับหลักสูตร เขายังมาพูดกับผมเล่นๆ ว่ามีมาตรฐานเหนือกว่าวิทยานิพนธ์ฉบับอื่นเสียด้วยซ้ำ

ผู้สื่อข่าว : เอกสารชุดนี้ (Strengthening) ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องมีฉบับเดียวใช่หรือไม่

ศุภชัย : มีการจดลิขสิทธิ์ฉบับเดียว เป็นลิขสิทธิ์ของ สนช. ก็อย่างที่ผมบอกไปว่า ถ้า สนช. จะฟ้องก็ฟ้องผมได้ กรรมการเขาบอกผมหลังจากการสอบสวนแล้วว่าไม่ค่อยเหมาะสมที่เอาเล่มนี้ไป แต่ผมก็แย้งกรรมการบอกว่าไม่ใช่ผมเอาไปได้คนเดียวนะ คนอื่นก็เอาไปได้ ทุกคนเอาไปได้หมด คุณจะเอาไปก็ได้ แต่คุณต้องเอาไปอ้างอิง คุณเอาไปได้แค่นิดเดียว

ผู้สื่อข่าว : ของโจรที่บอก ช่วยขยายความหน่อยได้ไหม

ศุภชัย : ไม่ใช่เล่มนี้นะครับ เป็นอีกเล่มหนึ่ง เล่มใหญ่ อีก 2 เล่มเล็กเป็นบทความที่ตีพิมพ์และยกเลิกแล้ว แต่เล่มใหญ่ที่บอกเป็นของโจรเนื่องจากว่า เวลาคุณจะสอบสวน เอกสารของคุณต้องได้มาโดยชอบ

ผู้สื่อข่าว : เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารของ สนช. อยู่แล้วใช่หรือไม่

ศุภชัย : แต่ไม่เผยแพร่ไงครับ

ผู้สื่อข่าว : ทำไมถึงไม่เผยแพร่

ศุภชัย : เวลาผมเผยแพร่เอกชนก็ไม่มาขอเงินผมสิ เวลาเราให้งานเอกชน อย่างงานนี้ (Strengthen) เราเผยแพร่ได้เพราะเป็นงานนโยบาย แต่งานที่ทำกับบริษัทสวิฟท์ เขาต้องออกเงินครึ่งหนึ่ง ถึง 75% เพราะฉะนั้นจึงเป็นสัญญากันระหว่างเรากับสวิฟท์ว่า ผู้ใดก็แล้วแต่จะเผยแพร่เอกสารนี้ไม่ได้ ยกเว้นว่ายินยอมด้วยกัน ผมเลยต้องขออนุญาตเขาก่อน ว่าผมขอมาใช้ในวิทยานิพนธ์ในส่วนนี้ เขาก็โอเค เพราะฉะนั้นใครจึงเอาไปไม่ได้ ถ้าเอาไปก็ถือเป็นของโจรขึ้นมาทันที

ผู้สื่อข่าว : แต่โครงการนี้มีงบของ สนช. ด้วย ซึ่ง สนช.เป็นองค์กรในกำกับของรัฐ ซึ่งถือว่ามีการเอางบประมาณของรัฐส่วนหนึ่งไปใช้ในโครงการนี้ด้วย

ศุภชัย : คุณพูดถูกต้อง คำถามของคุณคือทำไมถึงไม่เปิดเผยในเมื่อมีการใช้เงินของรัฐ เราจะเปิดเผยในระยะเวลาหนึ่ง ถ้าคุณเปิดเผยหมด ผมถามหน่อยใครจะมาขอเงินทุนจากคุณ เขาคิดเกือบตาย ทำเกือบตาย คุณได้เงินทุนไปแล้วเปิดเผย คนอื่นไม่ต้องคิดเลย ไปลอกเลียนแบบเขาหมด มันไม่ได้ จะต้องเก็บรักษาความลับของเขาไว้ ว่าเขาทำแบบนี้ขึ้นมา ถ้าคุณจะเปิดเผยคุณต้องขออนุญาตเขาก่อน ว่าจะเปิดเผย

ผู้สื่อข่าว : มีเอกสารที่ส่งถึงสื่อ แล้วอ้างชื่อ GTZ หรือ UNTAC/WTO องค์กรเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับกรณีนี้

ศุภชัย : คือโครงการนี้ไง เงินที่ผมได้มา ผมได้มาจาก UNTAC/WTO และ GTZ คือผมไปขอเงินทุนเพื่อทำนโยบาย โดยเล่มนี้เราออกเงินด้วย

จุดหนึ่งที่ผมขำก็คือ ที่บอกว่าผมไปลอกงานจากมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งขึ้นมา อันนี้โอเค แต่ทั้งหมดนี่ผมลอกงานตัวเองมาทั้งนั้น

ผู้สื่อข่าว : ถ้าจุฬาฯ บอกว่าลอกงานตัวเองแล้วผิด

ศุภชัย : ลอกงานตัวเองเนี่ยผมชี้แจงกรรมการสอบแล้วว่าผมลอกงานของตัวเอง นี่คือกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์

คุณไปถามอาจารย์วิชัย เชิดชีวศาสตร์ คุณไปถามเขาว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีค่าเพียงพอไหมที่จะจบได้ หรือว่าจุฬาฯ ตั้งธงหรือเปล่า ให้เขาพูดเรื่องนี้ เขาบอกผมตั้งแต่วันที่เขาไปให้ปากคำว่าคุณไม่ต้องไปให้เขาเยอะหรอก เพราะกรณีคุณเขาตั้งธงไว้เรียบร้อยแล้วคุณยังไม่รู้ตัวอีก

ผู้สื่อข่าว : แบบนี้จุฬาฯ สามารถอ้างได้ไหม ว่าที่กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ตอนที่ให้ผ่านไม่รู้ว่ามีเอกสารที่ไม่เปิดเผยอยู่ ตอนนั้นเลยตรวจสอบไม่ได้

ศุภชัย : ในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงเขาก็อ้างแบบนี้เหมือนกันว่า เล่มหนึ่งมีการเปิดเผย แต่อีกเล่มหนึ่งเป็นข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นภายหลัง แล้วมีการชี้แจงทีหลังว่า อันนี้เกิดขึ้นมาหลังจากที่วิทยานิพนธ์ออกมาเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่เกิดขึ้นก่อนวิทยานิพนธ์ออก แต่บังเอิญเวลาคุณเอามาให้ก็ไม่รู้ว่าเล่มไหนเกิดขึ้นก่อน เล่มไหนเกิดขึ้นหลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันเป็นของโจร พูดง่ายๆ คือจุฬาฯ เอาของโจรมาสอบสวนและคัดลอก ของโจรคือได้มาโดยมิชอบ ผมจึงเรียกเป็นภาษาง่ายๆ ว่าของโจร เพราะปกติแล้วเขาห้ามเด็ดขาด เวลาคุณสอบสวนห้ามเด็ดขาดที่จะเอาเอกสารที่ได้มาโดยมิชอบมาสอบสวนข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าว : ถ้าจะได้มาโดยถูกต้อง ต้องทำอย่างไร

ศุภชัย : จุฬาฯ ก็พยายามทำให้มันเป็นของที่ได้โดยชอบ ด้วยการเขียนมาขอผมไง

ผู้สื่อข่าว : ตกลงให้ไปไหม

ศุภชัย : ไม่ให้ ให้ได้ยังไง เพราะถ้าผมให้ ผมจะมีปัญหากับสวิฟท์ทันที สวิฟท์ก็บอกว่าไม่ให้ แล้วจุฬาฯ ก็ไปเอามาจาก สกอ.

ผู้สื่อข่าว : ทำไมไม่ฟ้องให้จบไป ว่าลิขสิทธิ์เอกสารที่มีเรื่องการแอบอ้างเป็นของ สนช. จะได้ไม่ต้องมาอ้างกันอีกว่าของใครกันแน่

ศุภชัย : เขาแอบอ้าง แต่เขาไม่มีเอกสารที่ไปบอกว่าแอบอ้างไง เขาพูดเฉยๆ คุณไปฟ้องเขาไม่ได้ เรื่องคดีในศาลเขาได้พูดออกมาว่าไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นลิขสิทธิ์ของ ITC แต่ ITC ไม่เคยพูดออกมา ผมยังคุยกับดอกเตอร์เจียง ทางโน้น เขาบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยว

ผู้สื่อข่าว : ที่มีคนพูดถึงก่อนหน้าว่า เมื่อรู้ว่าจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ จึงไปทำโครงการเพื่อที่จะใส่ในวิทยานิพนธ์

ศุภชัย : โครงการเกิดขึ้นก่อนผมทำวิทยานิพนธ์ ผมเข้าเรียน 2548 โครงการนี้เกิดขึ้นปี 2546 ก่อนที่ผมจะทำวิทยานิพนธ์ และผมไม่มีเจตนาที่จะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมา แต่บังเอิญที่ผมต้องการจะชี้ให้ดูว่า ความรู้ใหม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ ไม่ใช่เป็นการวางแผนที่จะทำวิทยานิพนธ์แล้วจึงไปทำโครงการขึ้นมา ซึ่งอำนาจผม ถ้าผมทำแบบนั้นขึ้นมาคุณไม่มีทางรู้ แต่ทั้งหมดที่ทำมา มันเกิดขึ้นก่อน

ผู้สื่อข่าว : ที่จุฬาฯ บอกว่าลอก ตกลงลอกจากที่ไหน

ศุภชัย : ลอกจากงานของผมเองไง จากที่ผมบอกว่าผมประพฤติไม่เหมาะสม ผมยอมรับ ที่บางส่วนผมไปเอามาจากงานของสำนักงาน อย่างที่ผมบอกว่าผมไม่ได้เอามาแบบทื่อๆ ผมเอามาสังเคราะห์ใหม่ ให้เป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา เป็นกระบวนการที่ผมทำ เอางานที่มีอยู่แล้วมาสังเคราะห์ใหม่

ผู้สื่อข่าว : แต่รายงานหมอยงค์ มีส่วนที่บอกว่าลอกแบบหน้าต่อหน้า คำต่อคำ

ศุภชัย : ใช่ ในตัวแรกสุด ผมลอกแบบหน้าต่อหน้า คำต่อคำจริง แต่ผมบอกกรรมการแล้ว ว่าผมลอกแบบหน้าต่อหน้าคำต่อคำได้ไหม กรรมการบอกว่าได้ คุณลองถามอาจารย์วิชัย ว่าผมเสนอไปหรือเปล่า

ผู้สื่อข่าว : อาจารย์วิชัย บอกว่าลอกได้แบบหน้าต่อหน้า คำต่อคำเลย ใช่หรือไม่

ศุภชัย : ไม่ใช่ครับ กรรมการบอกว่า เนื่องจากเป็นบทนำ อันนี้ลอกมาได้ เหมือนกับเวลาคุณ side reference คุณก็ side มาเป็นหน้าๆ อยู่แล้ว เหมือนเวลาที่คุณตีพิมพ์ผลงาน คุณตีพิมพ์ผลงานแล้วตอนหลังสุดมีระเบียบให้เอามาไว้ในวิทยานิพนธ์ได้ เอามาเป็นปึกได้เลย ในส่วนนี้ ผมก็เหมือนกัน งานนี้เป็นงานที่ผมเขียนมาโดยเฉพาะ chapter ไม่ใช่เอามาทั้งเล่มนะครับ ผมเอามาแต่ในส่วนนี้ มาใส่ลงไปในวิทยานิพนธ์ ทำไม่ทำไม่ได้ละ และกรรมการสอบวิทยานิพนธ์บอกว่าได้ แต่กรรมการสอบสวนบอกว่าไม่ได้ คุณไปเถียงกันเอง ไม่ใช่เรื่องของผม

ตอนนั้นทำไมไม่ตั้งกรรมการสอบสวนมาเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของผมเลยละ

ผู้สื่อข่าว : เวลาที่จุฬาฯ พูด เป็นการสรุปมาแต่ผล แต่ในส่วนขั้นตอนจุฬาฯ ยังไม่ได้พูด

ศุภชัย : ขั้นตอนไม่พูดว่ากระบวนการร้องเรียนเกิดขึ้นก่อน เพราะฉะนั้นกรรมการสอบต้องระมัดระวังเป็น 2 เท่าเลย ว่าได้หรือไม่ได้ เพราะมีการร้องเรียนเกิดขึ้นก่อน

ผู้สื่อข่าว : ตกลงเอกสาร Strenght ทีมีการออกมาก่อนเมื่อปี 2549 ตกลงเอกสารชุดนั้นคืออะไร

ศุภชัย : เอกสารนั้นเป็นฉบับร่าง (Draft) คุณจะสังเกตได้ว่าไม่เหมือนกับเล่มโน้น (ปี 2551) เพราะเราจะทำเอกสารขึ้นมาเป็นฉบับร่าง เพื่อแจกจ่ายไป ให้บอกว่ามีการคอมเมนต์ มีอะไรบ้างไหม จนกระทั่งเกิดมาเป็นเอกสารที่เป็นทางการฉบับนี้

ผู้สื่อข่าว : ตกลงเอกสารที่คุณ วิน เอาออกมาเป็นฉบับร่างใช่ไหม ไม่ใช่เป็นลิขสิทธิ์จริงๆ

ศุภชัย : ถ้าเป็นลิขสิทธิ์ คุณทำออกมาคุณต้องจดลิขสิทธิ์ตรงนี้ขึ้นมา แล้วฉบับนั้นก็ไม่มี ISBN ไม่มีตัวอะไรสักอย่าง แล้วเอกสารฉบับนั้นเป็นเอกสารที่เกิดขึ้นในสำนักงานไหม มันจะมีส่วนข้างในที่ใช่ เพราะมันเป็นไฟล์กลาง เวลาทำงานเราก็โยนไฟล์ไปมา เหมือนหมอยง ในเอกสารที่ทำทั้งหมด ที่บอกว่าถ้าคุณไปเอาไฟล์ใครมา คนนั้นก็เป็นเจ้าของ คุณไม่ไปถามเจ้าตัวจริงๆ ว่าเอาเอกสารที่ไหน ตัวเองเป็นเจ้าของ ไฟล์กลางอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมากกว่า

ผู้สื่อข่าว : ชิ้นต่อมาที่บอกว่า สวิฟท์ทำ มันมีประเด็นที่บอกว่า มีนักศึกษาจาก AIT มาเกี่ยวข้อง

ศุภชัย : ใช่ เป็นแค่ลูกจ้างเอง

ผู้สื่อข่าว : ตกลง เป็นแค่ลูกจ้าง หรือเป็นคนทำกันแน่

ศุภชัย : เป็นลูกจ้างของบริษัทสวิฟท์ เป็นลูกจ้างโครงการที่ทำขึ้นมา

ผู้สื่อข่าว : จ้างมาทำอะไร

ศุภชัย : จ้างมาเก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งเวลาผมทำโครงการเหล่านี้ต้องมีการจ้างคนเก็บข้อมูลอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าว : เนื้อหาคุณศุภชัยทำเอง

ศุภชัย : เนื้อหาต้องทำเอง แต่ว่าเวลาเราทำเนื้อหาต้องมีการโยนกันไปโยนกันมา เวลาเขาส่งเนื้อหามาให้ผม ผมก็มีการส่งกลับไปเพิ่มเติมเนื้อหาให้เท่านั้นเอง เนื้อหาที่โยนกันไปมาไม่ใช่เป็นจุดที่จะบอกว่าเขาทำทั้งหมด ไม่ใช่แบบนั้น หมอยงเล่นไปเชิญเขามาพูดคนเดียว แล้วทำไมไม่เชิญคนอื่นด้วย ไม่เรียกผมไปชี้แจงตรงจุดนี้ ไม่มีเลย คุณไปดูรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงได้