ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดบันทึกประชุมลับ สภาจุฬาฯ กรณีเพิกถอนปริญญา”ศุภชัย หล่อโลหการ” ผอ.สนช. ระบุผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างร้ายแรง

เปิดบันทึกประชุมลับ สภาจุฬาฯ กรณีเพิกถอนปริญญา”ศุภชัย หล่อโลหการ” ผอ.สนช. ระบุผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างร้ายแรง

30 กันยายน 2012


นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ชี้แจงหลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิกถอนปริญญา
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ชี้แจงหลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิกถอนปริญญา

แหล่งข่าวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาเปิดเผยว่าสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรองมติการประชุมสภาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นการประชุมลับเพื่อพิจารณากรณีเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ของนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)

แหล่งข่าวกล่าวว่าในรายงานได้ระบุว่าบัณฑิตวิทยาลัยได้สรุปเหตุของการเพิกถอนวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยว่า ไม่ได้คุณภาพและไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการ เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับรายงานการวิจัยอื่นจำนวนมาก

ทั้งนี้แม้ระเบียบจะไม่ได้กำหนดว่าการกระทำที่เข้าข่ายการคัดลอกหรือลอกเลียนงานอื่น เป็นการกระทำที่มีความผิดหรือมีผลต่อการขาดคุณสมบัติการศึกษา แต่เรื่องความซ้ำซ้อนหรือการคัดลอกหรือลอกเลียนงานอื่น เป็นประเด็นที่สามารถนำมาใช้พิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือมาตรฐานทางวิชาการได้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว สะท้อนถึงมาตรฐานทางวิชาการและคุณสมบัติของผู้ที่จะสำเร็จการศึกษา ว่ามีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาหรือไม่ หรือสอดคล้องกับขนบ จารีต และมาตรฐาน ที่เป็นที่ยอมรับทั้งระดับสากลและระดับประเทศ

สำหรับในบันทึกการประชุมระบุว่า “กรณีมาตรฐานทางวิชาการ คณะกรรมการบริหารมีมติเห็นว่า วิทยานิพนธ์ของนายศุภชัย หล่อโลหการ ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการ และขาดคุณสมบัติที่จะขอรับปริญญาในประเด็นผู้มีความประพฤติดี เพราะโดยขนบธรรมเนียมและแนวทางปฏิบัติทางวิชาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า นิสิตต้องเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ด้วยตนเอง แต่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้จ้างบริษัท สวิฟท์ จำกัด ทำงานวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับงานวิทยานิพนธ์ที่นายศุภชัยนำไปใช้ในการสำเร็จการศึกษา”

นอกจากนี้หลักสูตรในชั้นเรียนปริญญาเอก เน้นการวิจัยโดยการทำวิทยานิพนธ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่และมีคุณภาพสูงทางวิชาการ ซึ่งคณะกรรมการบริหารหลักสูตร คณะกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งคณะกรรมการบริหารบัณฑิตวิทยาลัย เห็นตรงกันว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการ ดังนั้นเมื่อองค์ความรู้ที่เสนอในวิทยานิพนธ์ปรากฏอยู่ในผลงานวิจัยของบริษัทสวิฟท์ จำกัด ที่เสนอต่อสำนักงานนวตกรรมแห่งชาติแล้ว องค์ความรู้ดังกล่าวที่เสนออยู่ในวิทยานิพนธ์จึงไม่ใช่องค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าการที่วิทยานิพนธ์ของนายศุภชัย ไปคัดลอกผลงานวิจัยของบริษัทสวิฟท์ จำกัด มาแบบคำต่อคำ โดยไม่ได้มีการวิเคราะห์ วิจัย หรือทำสิ่งใดที่แตกต่าง หรือสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา ก็เป็นการคัดลอกงานวิชาการอื่นซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างร้ายแรง

แหล่งข่าวกล่าวว่าที่ผ่่านมาทางจุฬาฯได้ทำการตรวจสอบเรื่องนี้ โดยให้ความเป็นธรรมและให้โอกาสนายศุภชัยได้รับทราบข้อมูลและได้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่แล้ว รวมทั้งได้มีโอกาสเข้าชี้แจงด้วยตนเองต่อคณะกรรมการที่พิจารณากรณีด้วยแล้ว

ในที่สุดทางสภา จุฬาฯซึ่งได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและถี่ถ้วนแล้วจึงได้มีความเห็นว่า วิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยไม่เป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการ และไม่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญของการศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกที่เน้นการวิจัย

“ที่สำคัญประเด็นการคัดลอกทางวิชาการเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างร้ายแรง ซึ่งทำให้ผู้กระทำขาดคุณสมบัติความเป็นผู้มีความประพฤติดีที่จะมีสิทธิขอรับปริญญาตามระเบียบของจุฬาฯปี2542 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 21(5) พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 และมาตรา 52 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ในที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555”

แหล่งข่าวจากจุฬาฯเปิดเผยต่อว่าจากกรณ๊ที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เพิกถอนปริญญาไปแล้วนั้น นายศุภชัยได้อุทธรณ์เรื่องนี้ไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้

อ่านบันทึกมติสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2555