ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สภาจุฬาฯ ถอนปริญญาเอก “ศุภชัย หล่อโลหการ” ไม่มีผลย้อนหลัง “บวรศักดิ์”แจงในอดีตอาจจะใช้โดยสุจริต

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สภาจุฬาฯ ถอนปริญญาเอก “ศุภชัย หล่อโลหการ” ไม่มีผลย้อนหลัง “บวรศักดิ์”แจงในอดีตอาจจะใช้โดยสุจริต

22 มิถุนายน 2012


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย

สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต ของนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หลังมีการตรวจพบว่าวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยมีการคัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 มิถุนายน 2555 มีการประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวาระการเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต ของนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติในประเด็นดังกล่าว

โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยได้เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยได้มีมติให้เพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้ “บุคคล” นั้น ตามข้อเสนอและมติของคณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัย และคณะกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป

เนื่องมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับแจ้งว่า วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัย ได้ลอกเลียนผลงานวิชาการ และนำไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา และได้รับอนุมัติปริญญาโดยสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมเดือนพฤษภาคม 2551

เมื่อมหาวิทยาลัยได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และพบว่าวิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้มีการคัดลอกผลงานจากเอกสารงานวิจัย หรือบทความอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism)

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้ให้ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว ได้มีโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงหลักฐานฝ่ายตน ต่อคณะกรรมการบริหารคณะที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการสำเร็จการศึกษา ที่จะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิได้รับปริญญา

และเมื่อคณะกรรมการดังกล่าว ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหลายจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง และจากการให้ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของผู้เสนอวิทยานิพนธ์เห็นว่า วิทยานิพนธ์มิได้เป็นไปตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2542 ทั้งการกระทำดังกล่าว ยังเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทางวิชาการ อันทำให้ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ขาดคุณสมบัติข้อที่เป็นผู้มีความประพฤติดีตามระเบียบดังกล่าวด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์กล่าวว่า ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า หากปรากฎว่าบุคคลที่สภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติการให้ปริญญาไปแล้วนั้นขาดคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนที่จะสำเร็จการศึกษาตามที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ซึ่งมีผลให้มติสภามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการอนุมัติการให้ปริญญาแก่บุคคลดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ สถามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญา ย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอนมติดังกล่าวได้

ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ได้กล่าวว่า การเพิกถอนปริญญาในครั้งนี้ เป็นการเพิกถอนปริญญาครั้งแรกของของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ ผู้ถูกเพิกถอนปริญญาจะมีสถานะเป็นอย่างไร ระหว่างอดีตดุษฎีบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือถือว่าไม่เคยมีสถานะดังกล่าวเลย เนื่องจากมติเพิกถอนให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555

ดร.บวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ต้องการจะให้เกิดปัญหา เพราะถ้าเพิกถอนย้อนหลังแล้ว หากในอดีตมีการนำวุฒิการศึกษาไปใช้โดยสุจริต จะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนมีสิทธิ์จะได้รับค่าทดแทนตามกฎหมายเนื่องจากความเชื่อในการคงอยู่ของมติดังกล่าว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จึงใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่บอกว่าคำสั่งทางปกครองเมื่อมีการเพิกถอน จะเพิกถอนย้อนหลังหรือไม่ก็ได้ เราจึงคิดว่าไม่ควรเพิกถอนย้อนหลัง

ส่วนหลักฐานทั้งหมดที่นำมาใช้เป็นหลักฐานในการลงมติของสภามหาวิทยาลัยในครั้งนี้ กรรมการบริหารคณะผู้เสนอให้อนุมัติปริญญา ได้มีการนำข้อเท็จจริงจากรายงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ มาประกอบ และให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง แล้วจึงมีมติส่งเรื่องขึ้นมาตามลำดับจนถึงสภามหาวิทยาลัย โดยในวันนี้ได้มีการเชิญศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง มาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในสภาด้วย

ดร.บวรศักดิ์ยืนยันว่าเป็นการพิจารณาโดยถี่ถ้วน ไม่รีบร้อน และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงอย่างเต็มที่

“โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้แตะเรื่องลิขสิทธิ์เลยแม้แต่น้อย เพราะไม่มีหน้าที่ในการดูเรื่องลิขสิทธิ์ ดูแต่เพียงว่ามีการกระทบมาตรฐานทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ในเรื่องลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องไปว่ากันเอง” ดร.บวรศักดิ์กล่าว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์กล่าวว่า ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการส่งเสริมเรื่องมาตรฐานทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการแจกหนังสือเรื่อง “การลอกเลียนวรรณกรรม (Plagiarism)” ให้กับบัณฑิตทุกคน และมีการจัดสัมนาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาโปรแกรมตรวจการคัดลอก และตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและป้องกันการลอกเลียนวรรณกรรมขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่นิสิต

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจากกรณีเพิกถอนนี้ ทางสภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างไร ดร.บวรศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกเพิกถอนที่จะพิจารณา ส่วนเราไม่กังวล เพราะทำตามหน้าที่

จากการสังเกตุของผู้สื่อข่าว พบว่าระหว่างการเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ทั้งศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ไม่มีการพูดถึงหรืออ้างชื่อของ “นายศุภชัย หล่อโลหการ” แต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากอ้างตามหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ได้ทำหนังสือตอบถึงนายวิลเลียม วิน เอลลิส (ผู้ร้องคดีการคัดลอกวิทยานิพนธ์) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555

สกอ. ได้ลำดับเหตุการณ์ว่า เรื่องนี้มีการร้องเรียน เพื่อขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิกถอนการอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตนายศุภชัย หล่อโลหการ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ที่สภามหาวิทยาลัยมีมติ คิดเป็นเวลาทั้งสิ้นกว่า 3 ปี

ลำดับเหตุการณ์

นายศุภชัย หล่อโลหการ ที่มาภาพ: http://www.bangkokbiznews.com
นายศุภชัย หล่อโลหการ ที่มาภาพ: http://www.bangkokbiznews.com

ปัญหาเรื่องการคัดลอกวิทยานิพนธ์ เกิดขึ้นหลังจากที่นายศุภชัย หล่อโลหการ ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2550

โดยลำดับเหตุการณ์ เริ่มต้นจากการที่นายวิลเลียม วิน เอลลิส ได้ร้องเรียนต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่านายศุภชัยได้ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, บริษัท สวิฟท์ จำกัด และของตน เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัย โดยไม่มีการอ้างแหล่งที่มา

จากข้อมูลที่ปรากฏนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งลับ โดยมีหนังสือออกมาในเดือนกรกฎาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีมหาวิทยาลัยได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายวิลเลียม วิน วิลลิส โดยมีประธานคณะกรรมการสอบสวนคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ และมีกรรมการอีก 6 คน

ต่อมา วันที่ 13 สิงหาคม 2552 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แจ้งว่า กรณีการร้องเรียนเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนในข้อเท็จจริง และนายศุภชัยได้โต้แย้งข้อกล่าวหาของนายวิลเลียม และได้มีการดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทและคดีแพ่ง จุฬาฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เมื่อผลการพิจารณาออกมาแล้วจะแจ้งให้ทราบ

อนึ่ง คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงชุดศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ได้รายงานผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ต่ออธิการบดี สรุปผลว่า การกระทำดังกล่าวของนายศุภชัย เข้าข่ายการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) คิดเป็น 80% ในวิทยานิพนธ์จำนวน 205 หน้า ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเอง (Self-Plagiarism) หรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่น หรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วม

ในรายงานได้ระบุว่า แม้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เป็นหน่วยงานให้ทุนแก่บริษัท สวิฟท์ จำกัด เพื่อทำการวิจัย สนช. และบริษัท สวิฟท์ จำกัด จึงเป็นเจ้าของร่วมกัน การที่ผู้ถูกร้องเรียนซึ่งเป็นผู้อำนวยการ สนช. ได้คัดลอกเนื้อหาส่วนใหญ่จากรายงานการวิจัยดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนเป็นผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ในส่วนนี้ด้วยตนเอง

จากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือลงวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการเพิกถอนปริญญาบัตร ว่าจุฬาฯ มีอำนาจเพิกถอนปริญญาบัตรที่เคยอนุมัติให้แก่บุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ และจะดำเนินการกับกรณีดังกล่าวอย่างไร

ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้คำตอบเมื่อเดือนมกราคม 2554 ว่า หากปรากฏว่าบุคคลที่สภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติการให้ปริญญาไปแล้วนั้น ขาดคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ที่จะสำเร็จการศึกษาตามที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ซึ่งมีผลให้มติสภามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการอนุมัติการให้ปริญญาแก่บุคคลดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ สภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญา ย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยที่ได้อนุมัติปริญญานั้นได้

ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2554 ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล เป็นประธานกรรมการ

วันที่ 11 พฤษภา 2554 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแจ้งว่า คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้พิจารณาแต่เพียงเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการคัดลอกผลงานวิชาการ และเมื่อได้สอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว ได้รายงานความเห็นต่อมหาวิทยาลัย โดยยังคงไม่มีคำตัดสินออกมาจากสภามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

จนกระทั่งในเดือนเมษายน 2555 สื่อต่างชาติ ได้นำเสนอข่าว กล่าวหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ไม่สามารถจัดการกับกรณีของนายศุภชัยได้ โดยปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปหลายปีโดยไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ทำให้มีการนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาอย่างจริงจังอีกครั้ง

ล่าสุด วันที่ 21 มินายน 2555 สภามหาวิทยาลัยจึงได้มีมติให้เพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้บุคคลนั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป