เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2559 พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า จากที่สำนักงาน ปปง. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้รับมอบอำนาจของ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเมื่อปี 2556 ในดำเนินการกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกเงินของสหกรณ์ฯไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ทำให้สหกรณ์ฯ ได้รับความเสียหายเป็นเงินกว่า 12,402 ล้านบาท และนำเงินที่ได้จากการยักยอกดังกล่าวไปซื้อทรัพย์สินต่างๆ โดยใส่ชื่อตนเองหรือผู้อื่นเพื่อเจตนาปกปิดซุกซ่อนทรัพย์สินนั้น
จากการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน สำนักงาน ปปง. พบว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวกมีพฤติการณ์นำเงินที่ประชาชนได้ฝากไว้กับสหกรณ์ฯ ไปลงทุนกับกิจการที่ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นลักษณะได้กำไร และตนเองรู้อยู่แล้ว บางครั้งก็ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์เปิดกิจการบังหน้าเพื่อจะสามารถ นำเงินของสหกรณ์ฯไปร่วมลงทุนได้ตามระเบียบ ข้อบังคับ ที่กำหนด จนได้ไปซึ่งทรัพย์สินจำนวนมาก เป็นพฤติการณ์แห่งการกระทำเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 (18) ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ คณะกรรมการธุรกรรมธุรกรรมการจึงมีมติยึดและอายัดทรัพย์สินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายตามกฎหมาย เพื่อเป็นการช่วยเหลือและเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก รวม 18 คน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง และขอให้ศาลมีคำสั่งชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยการยึดและอายัดทรัพย์สินที่ยักยอกอีกจำนวนหนึ่งรวมราคาประเมินกว่า 3,900 ล้านบาท
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ตัวแทนสหกรณ์ฯ ได้ยื่นแบบคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อสำนักงาน ปปง. โดยให้เหตุผลว่าลักษณะการดำเนินคดีทางแพ่งจะประสบปัญหาข้อจำกัดทางด้านกฎหมายบางประการ ซึ่งสหกรณ์ฯพิจารณาแล้วจะเป็นผลดีกว่าในการเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ชดใช้และจะได้นำไปใช้ในการฟื้นฟูกิจการจึงได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการธุรกรรม(ผ่านเลขาธิการ ปปง.) ขอให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายตามกฎหมายฟอกเงิน
ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากทรัพย์สินจำนวนกว่า 3,900 ล้านบาท ที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งไว้ก่อนนั้น เป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงิน เนื่องจากสหกรณ์ฯ ไปดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีทางแพ่งแล้ว คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง และบางคดีศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว บางคดีก็อยู่ระหว่างการตั้งเรื่องบังคับคดีตามคำพิพากษา ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 จึงมีมติให้เลขาธิการ ปปง. ขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินในคราวเดียวกัน ตามมาตรา 49 วรรค 6 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานของสำนักงาน ปปง. ยังตรวจสอบพบพฤติการณ์ความผิดของนายนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 จึงมีมติให้อายัดทรัพย์สินฯ ของนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ กับพวก เพิ่มเติม ประกอบด้วยที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดขอนแก่น มูลค่ารวมประมาณ 83.54 ล้านบาท
เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการจัดทำ “แบบคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน” ทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายสามารถดาวน์โหลดแบบดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ปปง.www.amlo.go.thหรือ มารับได้ที่ส่วนรับเรื่องเรียน กองสื่อสารองค์กร สำหรับผู้เสียหายที่เป็นชาวต่างประเทศ หากมีความประสงค์จะยื่นคุ้มครองสิทธิดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องภาษาอังกฤษได้ ทั้งนี้จะต้องแปลเป็นภาษาไทยและต้องรับรองลายมือชื่อจากกระทรวงการต่างประเทศหรือโนตารี พับลิค (NOTARY PUBLIC) แนบมาพร้อมหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้องด้วย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ปปง. 1710 และเว็บไซต์สำนักงาน ปปง.