ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ เกาะติดความเคลื่อนไหวของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มาอย่างต่อเนื่องถึงความผิดปกติทางฐานะการเงินและความผิดปกติในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกสมทบ 27 ราย เป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาทนั้น
ล่าสุดวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) นำเจ้าหน้าที่เข้ายึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหา 4 คน ได้แก่ 1. นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น 2. นางสาวศรันยา มานหมัด อดีตรองผู้จัดการสหกรณ์ฝ่ายการเงิน 3. นายลภัส โสมคำ กรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น 4. นายกฤษฎา มีบุญมาก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น ภายใต้ความผิดฐานผู้ต้องหาร่วมกันยักยอกเงินของสหกรณ์ฯ ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 12,402 ล้านบาท
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงกล่าวว่า จากการตรวจสอบฯ ในเบื้องต้น พบว่านายศุภชัยกับพวกมีการทำธุรกรรมทางการเงินและทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยจำนวนมาก โดยนายศุภชัยกับพวกอาจได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว โดยเงินบางส่วนถูกนำไปซื้อทรัพย์สิน ที่ดิน และลงทุนในธุรกิจจำนวนมาก
พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวอีกว่า ปปง. ได้รับร้องเรียนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ วันที่ 4 เมษายน 2556 และ ปปง. มีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 336 รายการ ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน เพื่อดำเนินการตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สินดังกล่าวต่อไป และให้นายศุภชัยกับพวก เข้ามาชี้แจงการได้มาของทรัพย์สินดังกล่าว
สำหรับทรัพย์สินที่ได้มีการยึดและอายัดดังกล่าวนั้น เป็นที่ดินในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ปทุมธานี พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครราชสีมา เชียงราย และกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 391 แปลง เนื้อที่กว่า 6,000 ไร่ มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรถยนต์จำนวน 8 คัน และเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวน 9 บัญชี มียอดเงินรวมประมาณ 1 ล้านบาท โดยการที่ยอดเงินฝากค่อนข้างต่ำนั้นทำให้คาดว่าทั้ง 9 บัญชี เป็นแค่บัญชีทางผ่านที่นายศุภชัยกับพวกถ่ายโอนเงินไปยังบัญชีที่แท้จริง โดยส่วนหนึ่งใช้ชื่อบุคคลอื่น ซึ่ง ปปง. และดีเอสไอจะติดตามยึดทรัพย์เพิ่มเติมในครั้งต่อไป
โดย ปปง. และดีเอสไอเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนายศุภชัยและพวก เพื่อยึดและอายัดทรัพย์โดยไม่แจ้งกับทางสหกรณ์ฯ ล่วงหน้าทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ บ้านเลขที่ 118/23-24 บ้านสวยริมธาร แขวงสะพานสูง กรุงเทพฯ 2. ห้องทำงานของนายศุภชัย ที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น 3. อาคาร U-TOWER ถนนศรีนครินทร์ 4. แฟลตการเคหะคลองจั่น หลังที่ 4 เลขที่ 33 ซึ่งนายศุภชัยเป็นเจ้าของ 5. แฟลตการเคหะหลังที่ 7 เลขที่ 612 ซึ่งนางสาวศรันยา มานหมัด เป็นเจ้าของ 6.บ้านเลขที่ 90/30 หมู่บ้านทาวน์พลัส ซ.โพธิ์แก้ว 2 แขวงคลองจั่น กรุงเทพฯ มีนายลภัส โสมคำ เป็นเจ้าของ และ 7.บ้านเลขที่ 753 หมู่บ้านสินธร ถนนแฮบปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ มีนายกฤษฎา มีบุญมาก เป็นเจ้าของ
อีกทั้ง ปปง. และดีเอสไอยังนำเอกสารจำนวนมากจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น และอาคาร U-TOWER ไปตรวจสอบความผิดปกติทางบัญชี โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะเป็นผู้ร่วมตรวจสอบด้วย
ทั้งนี้ ความเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท มาจากการกระทำผิด 2 ส่วน ได้แก่ 1. จัดทำเอกสารเท็จ ออกใบทดรองสั่งจ่าย หรือออกเอกสารต่างๆ ที่อ้างว่ามีการจ่ายเงินแต่ไม่ได้มีการจ่ายจริงทั้งหมดประมาณ 1,900 ล้านบาท 2. ผู้ต้องหานำเช็คของสหกรณ์ไปเบิกเงินสด เป็นเงินประมาณ 10,500 ล้านบาท
ส่วนข้อสงสัยเรื่องการดำเนินกิจการของสหกรณ์ในอนาคต เช่น นายศุภชัยจะยังดำรงตำแหน่งผู้บริหารต่อได้หรือไม่นั้น ต้องประสานกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้คำตอบ ในฐานะของนายทะเบียนสหกรณ์
ขณะที่การดำเนินการกับทรัพย์สินที่ยึดและอายัดมานั้น หากผู้ต้องหาไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ ปปง. จะฟ้องศาลให้ยึดทรัพย์ถาวร และขายทอดตลาดเพื่อนำไปเฉลี่ยทรัพย์ให้ผู้เสียหายต่อไป โดยผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น ต้องยื่นหนังสือขอคุ้มครองสิทธิที่ดีเอสไอตามขั้นตอน
ด้านนายกิตติก้อง คุณาจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าชุดทำงานคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นของดีเอสไอกล่าวว่า ดีเอสไอรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน จากการที่มีสมาชิกสหกรณ์ฯ จำนวนหนึ่งร้องเรียนว่านายศุภชัยและพวก มีพฤติกรรมยักยอกทรัพย์สหกรณ์และฉ้อโกงประชาชน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งเรื่องนี้ดีเอสไอจะดำเนินการเฉพาะคดีอาญา ในส่วนเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกสมทบจำนวน 27 ราย แต่มียอดปล่อยกู้ถึง 12,000 ล้านบาท และมีการทำบัญชีกู้เท็จ ซึ่งจากการสอบสวนและมีหลักฐานเชื่อว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทำความผิดยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งพบว่ามีการกระทำที่เป็นปกติธุระ คือทำธุรกรรมแบบเดียวกันเป็นจำนวนหลายร้อยครั้ง
นายกิตติก้องกล่าวอีกว่า คดีนี้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความสำคัญมาก เพราะเกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป จะทำความเสียหายให้กับสหกรณ์และต่อเนื่องมายังสมาชิกสหกรณ์ประมาณ 50,000 ราย สำหรับดีเอสไอนั้น แม้จะเพิ่งรับเป็นคดีพิเศษ แต่มีการสืบสวนมาตลอด และร่วมมือกับ ปปง. ซึ่งรับผิดชอบเฉพาะคดีแพ่งที่ทำงานมาก่อนในการตรวจสอบทรัพย์สิน ขณะนี้ดีเอสไอกำลังรีบรวบรวมพยานและหลักฐานเพื่อดำเนินการแจ้งข้อหากับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีอาญาต่อไป ด้วยปัจจุบันยังไม่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาเพราะเป็นการดำเนินการแค่ตามคดีแพ่ง ส่วนดีอาญายังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ด้านนายศุภชัยก็ให้ความร่วมมือในการเข้าตรวจค้นทรัพย์สิน และยังแจ้งความจำนงขอเข้าชี้แจงกับ ปปง. ในวันสองวันนี้ด้วย
นายกิตติก้องกล่าวปิดท้ายว่า นอกจากจะเป็นการดำเนินคดีเรื่องยักยอกทรัพย์ ยังมีเรื่องฟอกเงินเกี่ยวข้องด้วย เพราะฉะนั้น หากมีผู้ใด นิติบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใด ช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หรือช่วยเหลือในการจำหน่ายถ่ายโอนทรัพย์สิน ดีเอสไอจะดำเนินคดีอาญาผู้นั้นในฐานฟอกเงินด้วย และที่ผ่านมามีการข่มขู่พยานที่เป็นอดีตผู้บริหารสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนไปยังผู้ที่มีพฤติการณ์ข่มขู่พยานว่า ดีเอสไอได้คุ้มครองพยานสำคัญบางปากไว้แล้ว การข่มขู่คุกคามพยานในคดีจะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด
นายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการงานคดี 1 ปปง. ในฐานะหัวหน้าชุดทำงานคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นของ ปปง. กล่าวว่า ทรัพย์สินที่ยึดและอายัดในครั้งนี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเท่านั้น ยังมีอีกหลายรายการทั้งบัญชีเงินฝาก และอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผู้อื่นถือครองแทน หรือที่เรียกว่านอมินี ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ที่ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหรือทำการยึดทรัพย์ เพราะต้องตรวจสอบหลักฐานให้ชัดเจนก่อน
อย่างไรก็ตามนายศุภชัยกล่าวในคลิป บนเว็บไซด์ยูทูป ซึ่งอัพโหลดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 หลังปฏิบัติการของ ปปง. และ DSI จบลง ว่าเหตุการณ์วันดังกล่าวมาจากมีผู้ร้องเรียนไป เพื่อสกัดกั้นไม่ให้การแก้ปัญหาของสหกรณ์ดำเนินไปตามปกติ ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายตรงข้ามยังไม่ยอมเลิกรา ส่วนเอกสารหลักฐานที่เขาเอาไปก็เพื่อดูว่ามีมูลตามข้อกล่าวหาหรือไม่และให้นายศุภชัยไปชี้แจง
นายศุภชัยกล่าวอีกว่า”เรื่องทั้งหมดยังเป็นแค่ข้อกล่าวหา ซึ่งกล่าวหากันมานานแล้ว ก็ต้องรอการพิสูจน์ความจริงตามเอกสารหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จึงขอให้สมาชิกสหกรณ์ฯคลองจั่นทำใจนิ่งๆ อย่าตกใจ เพราะฝ่ายตรงข้ามไม่อยากให้วันที่ 16 กรกฎาคมเป็นจริง(นายศุภชัยประกาศว่าจะให้สมาชิกมาทำธุรกรรมการเงินได้ตามปกติ)จึงเกิดเหตการณ์วันนี้ขึ้นมา สหกรณ์ตั้งมานาน”เรื่องจริง”ก็อาจจะพิสูจน์ช้าหน่อย การตรวจสอบวันนี้เพื่อให้ทีมปฏิบัติการมีผลงาน และเพื่อให้ขายข่าวได้”
เปิดคดีฟ้องร้อง”ศุภชัยและพวก”
ปฏิบัติการยึดและอายัดทรัพย์สินของนายศุภชัยและพวก ของ ปปง. และ DSI เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสมาชิกสหกรณ์ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการเรื่องมาก่อนแล้ว โดยวันที่ 21 มิถุนายน ที่ประชุมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีมติรับคดีที่สมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น กล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ขณะดำรงตำแหน่งประธานเมื่อ ปี 2552-2554 มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท
นายกิตติก้อง คุณาจันทร์ เจ้าหน้าที่ DSI ที่รับผิดชอบคดีนี้กล่าวว่า DSI รับเป็นคดีพิเศษเฉพาะเรื่องที่นายศุภชัย อนุมัติสินเชื่อลูกหนี้สมาชิกสมทบ 27 ราย ที่มีการจัดทำบัญชีกู้เท็จ รวมมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ามีโจทก์อื่นๆ ฟ้องในคดียักยอกทรัพย์เช่นเดียวกัน คดีจะถูกโอนมาให้ DSI สอบสวนแทนส่วนขั้นตอนต่อจากนี้จะเร่งเรียกฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงและแสดงหลักฐานแก้ต่าง
นายกิตติก้องกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กรรมการสหกรณ์ชุดที่ 28ฟ้องร้องคดีที่นายศุภชัยและพรรคพวก ยักยอกทรัพย์ส่วนเงินทดรองจ่าย 3,000 ล้านบาทและคดีความผิดเกี่ยวกับเช็ค ซึ่งศาลรับคำร้องและนัดไต่สวนไปแล้ว DSI ยังไม่รับดำเนินการเพราะหาก DSI ทำสำนวนยื่นให้อัยการฟ้องต่อจะเป็นการฟ้องร้องซ้ำซ้อน แต่หากคดีมีการถอนฟ้องสมาชิกสหกรณ์สามารถยื่นคำร้องแทนให้ DSI รับเป็นคดีพิเศษได้เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบที่ศาลแพ่ง และศาลอาญารัชดาพบว่า คดีต่างๆ ที่ฟ้องในสมัยคณะกรรมการชุดที่ 28 ซึ่งมีนายมณฑล กันล้อม อดีตประธานคณะดำเนินการสหกรณ์คลองจั่น ซึ่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นโจทก์ และมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นจำเลย ปรากฏว่าโจทก์(นายศุภชัย)ได้ทำการถอนฟ้องคดีไปเกือบทั้งหมดตามมติคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่นชุดที่ 29 ซึ่งนายศุภชัย ดำรงตำแหน่งประธาน ทำให้โจทก์และจำเลยเป็นคนเดียวกัน ซึ่งถอนฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2556 และทั้งศาลอาญา แพ่ง อนุญาตให้มีการถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกสารบบความ โดยให้เหตุผลว่าคดียังไม่มีการเริ่มไต่สวนทั้งโจทก์และจำเลย
สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมคดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ที่โจทก์ถอนฟ้องไปแล้วได้แก่
1.คดีอาญา จำเลยทำการยักยอกทรัพย์มูลค่า 1,921.74 ล้านบาท ขณะดำรงตำแหน่งบริหารสหกรณ์ ตั้งแต่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง 24 เมษายน 2555 หมายเลขดำ 1240/2556 แดง อ.2034/2556 ฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556
โจทก์ สหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยนายอารีย์ แย้มบุญยิ่ง อดีตผู้จัดการสหกรณ์เป็นผู้รับมอบอำนาจ
จำเลย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร และนางสาวศรันยา มานหมัด2.คดีอาญา จำเลยทำการยักยอกทรัพย์มูลค่า 10,481.16 ล้านบาท ขณะดำรงตำแหน่งบริหารสหกรณ์ ตั้งแต่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง 4 พฤษภาคม 2555 หมายเลขดำ 1241/2556 ฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556
โจทก์ สหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยนายอารีย์ แย้มบุญยิ่ง อดีตผู้จัดการสหกรณ์เป็นผู้รับมอบอำนาจ
จำเลย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร และนางสาวศรันยา มานหมัด3.คดีแพ่ง จำเลยทำการยักยอกทรัพย์มูลค่า 12,696 ล้านบาท
หมาย เลขดำ 1260/56 (1) แดง 2626/2556 ฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556
โจทก์ มี 2 ราย ได้แก่ 1. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 2. ธนาคารออมสิน
จำเลย มี 4 รายได้แก่1. นายศุภชัย ศรีศุภอักษร 2.นางสาวศรันยา มานหมัด 3.รต.สุนทร วารี 4.นางสุภาพร วารี หรือนางศรีสินี ศรีพสุมาวีดีขณะเดียวกันก็ยังมีอีก 2 คดีที่ฟ้องโดยสหกรณ์ฯ คลองจั่น และมีจำเลยคือนายศุภชัย ซึ่งโจทก์โดยนายศุภชัย มีการยื่นขอถอนฟ้องเช่นกันเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 แต่ศาลยังไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง เนื่องจากมีผู้แย้งต่อศาลว่า โจทก์ที่ขอถอนฟ้อง ดำเนินการโดยกรรมการคนละชุดกับโจทก์ที่เป็นผู้ฟ้อง อีกทั้งผู้บริหารโจทก์ยังเป็นจำเลยในคดีอีกด้วย
1.คดีแพ่ง เรียกทรัพย์คืนจากจำเลย 391.4 ล้านบาท คดีดำ 728/2556 ฟ้องเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์2556
โจทก์ คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
จำเลย มี 3 รายได้แก่ 1.นายศุภชัย ศรีศุภอักษร 2. บริษัท เอ็มโฮมเอสพีวี 2 3.นายบรรลือ กองไชย
โดยคดีดังกล่าวจะมีการไต่สวนในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ห้องพิจารณาคดี 501 เวลา 9.00 น2. คดีอาญา ฉ้อโกง, ยักยอกทรัพย์ จำนวน 391.4ล้านบาท คดีดำ อ.1880/2556ฟ้องเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556
โจทก์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
จำเลย มี 3 รายได้แก่ 1.นายศุภชัย ศรีศุภอักษร 2. บริษัท เอ็มโฮมเอสพีวี 2 3.นายบรรลือ กองไชย
คดีดังกล่าวจะมีการไต่สวนในวันที่ 17 สิงหาคม 2556นอกจากนี้ยังมีคดีแพ่งที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นจำเลย ประมาณ 10 กว่าคดี โจทก์คือสมาชิกสหกรณ์รายบุคคล ฟ้องในข้อหาสหกรณ์ฯ คลองจั่นผิดสัญญาเงินฝากอีกด้วย
อนึ่งก่อน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556 นายศุภชัย เคยประกาศในงานสัมมนาฝ่าวิกฤตสหกรณ์ฯคลองจั่นว่า ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมจะอนุญาตให้สมาชิกเบิกถอน กู้และลาออกได้ตามความพอใจ ไม่จำกัดจำนวนเงิน โดยระบุว่าจะมีเงินเข้าสหกรณ์มาตั้งแต่ต้นเดือนประมาณ 4,000 ล้านบาท