ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศาลล้มละลายกลางสั่งสหกรณ์ฯ คลองจั่นฟื้นฟูกิจการ เตรียมส่ง จม. ให้เจ้าหนี้ 5.6 หมื่นราย ยื่นขอเงินคืนภายใน 7 พ.ค. 58 พ้นกำหนดถือว่าสละสิทธิ์

ศาลล้มละลายกลางสั่งสหกรณ์ฯ คลองจั่นฟื้นฟูกิจการ เตรียมส่ง จม. ให้เจ้าหนี้ 5.6 หมื่นราย ยื่นขอเงินคืนภายใน 7 พ.ค. 58 พ้นกำหนดถือว่าสละสิทธิ์

21 มีนาคม 2015


สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ประชุมเจ้าหนี้(บุคคล)และสมาชิก ขอความยินยอมยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 26  เมษายน 2557
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ประชุมเจ้าหนี้(บุคคล)และสมาชิก ขอความยินยอมยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2557

กว่าจะมาถึงวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้นั้น หากย้อนกลับไป นับเป็นความพยายามของคณะกรรมการชุดที่ 30 ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เป็นสมาชิกและเจ้าหนี้สหกรณ์ฯ คลองจั่นที่อาสามาเป็นกรรมการเพื่อร่วมฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น หลังเข้ามาบริหารงานในเดือนเมษายน 2557 มีการประชุมบรรดาเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นผู้ฝากเงินรายย่อย รายใหญ่ และสหกรณ์ต่างๆ เพื่อขอมติฟื้นฟูกิจการในเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา จากนั้นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้ยื่นแผนต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 มีจำนวนหนี้ 21,934 ล้านบาท เจ้าหนี้ 56,601 ราย

ระหว่างนั้น คณะกรรมการได้ยื่นขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกกฎกระทรวงให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นขอฟื้นฟูกิจการได้ และศาลล้มละลายรับคำร้องเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 นัดไต่สวนครั้งแรกวันที่ 15 ธันวาคม 2557 แต่การไต่สวนพยานในวันดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน ศาลจึงนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องเพิ่มเติมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และนัดสืบผู้คัดค้านแผนอีก 3 วัน คือวันที่ 2, 3 และ 9 มีนาคม 2558 โดยศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 20 มีนาคม 2558

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 เวลา 9.30 น. ศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งให้สหกรณ์คลองจั่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและให้คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 30 เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่ง

นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เปิดเผยว่า นับจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้สหกรณ์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ตามกฎหมายล้มละลาย กำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการฯ ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หากทำแผนฟื้นฟูฯ ไม่เสร็จ สามารถขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูฯ ออกไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เดือน รวมระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 5 เดือน จากนั้นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ 2 ใน 3 ก่อนส่งให้ศาลล้มละลายผ่านความเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ คาดว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ จะเริ่มเดินหน้าได้ไม่เกิน 6 เดือน

“ก่อนหน้านี้คณะกรรมการดำเนินการฯ ได้ส่งหลักการในการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ เบื้องต้นให้ศาลล้มละลายพิจารณา ก่อนที่จะมีคำสั่งให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจัดทำแผนฟื้นฟูฯ ขณะนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 19,534 ล้านบาท และที่เป็นภาระหนักที่สุดคือค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ยกตัวอย่าง เงินฝาก 10,000 ล้านบาท หากทุกคนเรียกร้องให้สหกรณ์ฯ จ่ายเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย 5% ก็คงไม่ต้องทำอะไร ดังนั้น ขั้นตอนแรกต้องขอให้เจ้าหนี้ทั้งหลายยินยอมลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อน เช่น ดอกเบี้ย 5% ลดเหลือ 0.5% ถ้าอย่างนี้ทุกคนได้เงินต้นคืน ดีกว่าปล่อยให้ล้มละลาย ทุกคนไม่ได้อะไร” นายเผด็จกล่าว

นายเผด็จกล่าวอีกว่า ส่วนแหล่งเงินที่นำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น หลักๆ มาจาก 3 แหล่ง คือ 1. เงินกู้จากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ขณะนี้ตนได้รับหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันว่าจะนำแผนการค้ำประกันเงินกู้ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นขออนุมัติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหลังจากศาลล้มละลายผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ แหล่งเงินที่ 2 มาจากการฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกทรัพย์คืน ที่ผ่านมาสหกรณ์ฯ ดำเนินคดีแพ่งกับผู้กระทำความผิดเป็นทุนทรัพย์รวม 15,000 ล้านบาท คาดว่าภายใน 5 ปี น่าจะติดตามทรัพย์ของสหกรณ์ฯ คืนมาประมาณ 5,000 ล้านบาท เช่น กรณีวัดพระธรรมกาย ศิษยานุศิษย์ก็นำเงินมาคืน 684 ล้านบาท และแหล่งที่ 3 เป็นเงินที่สหกรณ์ฯ นำไปปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ดินว่างเปล่าอีก 2,000 ล้านบาท ลูกค้าก็ทยอยนำเงินมาชำระหนี้

“ส่วนการจัดสรรเงินเยียวยาต้องยึดหลักความเป็นธรรม สมาชิกและผู้ฝากเงินได้เงินคืนอย่างเท่าเทียมกันทุกคน เช่น ปีแรกได้เงินคืน 5% ปีที่ 2 จ่ายคืน 10% ปีที่ 3 จ่ายคืน 15% เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ครบ 5 ปี ก็ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ” นายเผด็จกล่าว

นายฐปณวัชร์ สระสม ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ต้องเร่งจัดทำแผนให้เสร็จภายใน 3 เดือน ถ้าทำแผนไม่ทันขอขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน เมื่อจัดทำแผนฟื้นฟูฯ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำเสนอแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อเรียกประชุมเจ้าหนี้ทุกรายที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้มาประชุม หากเสียงข้างมากเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ กิจการก็นำแผนไปเสนอให้ศาลพิจารณาอีกครั้ง ขั้นตอนนี้ผู้ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูฯ ก็มีสิทธิคัดค้านได้ แต่ถ้าศาลผ่านความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการก็เริ่มดำเนินการตามแผน 5 ปี แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูฯ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็รายงานการประชุมเจ้าหนี้ว่าไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูฯ ศาลอาจจะมีคำสั่งให้ทบทวนหรือยกเลิกแผนฟื้นฟูฯ ปกติเจ้าหนี้ทุกรายต้องยื่นขอชำระหนี้ภายใน 30 วัน หลังจากวันที่ศาลมีคำสั่ง หากยื่นไม่ทัน ก็จะไม่รับสิทธิของคืนเงิน

เมื่อถามว่าเจ้าหนี้และผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนเมื่อไหร่ นายฐปณวัชร์กล่าวว่า ตามประมาณการเจ้าหนี้รายย่อย คาดว่าจะชำระหนี้สหกรณ์ฯ ได้ทั้งหมด 3 ปี ส่วนเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น สหกรณ์ อาจจะใช้เวลา 4-5 ปี ในทางกลับกัน การที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้ขนาดนี้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้ด้วย และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สหกรณ์ฯ เพื่อหาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการได้

ด้านนางสุวัฒนา เพียรประเสริฐ ผู้ฝากเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวว่า วันนี้ตนรู้สึกดีใจมาก หลังจากศาลล้มละลายมีคำสั่งให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันจัดทำแผนฟื้นฟูฯ มั่นใจว่าทุกคนคงจะได้เงินคืนทั้งหมด แต่อาจจะล่าช้า ซึ่งนายเผด็จเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่เกิน 5 ปี และอาจขยายแผนฟื้นฟูออกไปได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี รวมระยะเวลา 7 ปี ทุกคนน่าจะได้รับเงินต้นคืนครบถ้วน

“ดิฉันนำเงินออมของครอบครัวกว่า 10 ล้านบาท มาฝากที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นตั้งแต่ปี 2553 ไม่เคยถอนเงินเลย และเพิ่งจะเริ่มถอนเงินครั้งแรกในช่วงที่สหกรณ์ฯ เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ถอนได้แค่วันละ 20,000 บาท ถอนไปทั้งหมด 6 ครั้ง ตอนนี้เดือดร้อนมาก ส่วนสาเหตุที่นำเงินมาฝากที่นี่ เพราะได้รับการชักชวนจากเพื่อน ขณะนั้นจ่ายดอกเบี้ยดีมาก ถ้าฝากเป็นหุ้นได้ปันผล 10% และถ้าฝาก 1 ล้านบาทขึ้นไปได้รับดอกเบี้ย 5.5% จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ธนาคารพาณิชย์จ่ายดอกเบี้ยแค่ 2-3% เท่านั้น ภาษีก็ไม่ต้องเสีย” นางสุวัฒนากล่าว

ส่วนนางนัทที สำราญสำรวจกิจ ผู้ฝากเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวว่า ตนนำเงินของแม่ที่เก็บออมมาตลอดชีวิตหลายล้านบาทมาฝากไว้ที่นี่ตั้งแต่ 2552 ช่วง 5 ปี ไม่เคยถอนเงินฝาก วันนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการชุดปัจจุบันทำแผนฟื้นฟูฯ รู้สึกดีใจมาก เพราะตอนแรกก็ทำใจแล้วว่า พวกเราเป็นเจ้าหนี้รายเล็กๆ คงสู้รายใหญ่ไม่ได้ อยากขอร้องเจ้าหนี้รายใหญ่ อย่าฟ้องล้มละลายเลย เพราะถ้าล้มละลายก็ไม่ได้เงินคืน

ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พร้อมสมาชิก นำดอกไม้มามอบให้ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรมบังคับคดี, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังศาลล้มละลายมีคำสั่งให้สหกรณ์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ และแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ

จากนั้น พล.อ. ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีสหกรณ์ทั้งหมด 7,000 แห่ง มียอดเงินฝากรวมทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นคิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.59% ของยอดเงินฝากของสหกรณ์ทั้งหมด ตนจึงอยากให้กรณีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นบทเรียน และอย่าได้ตื่นตระหนก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้มีปัญหานี้เกิดขึ้นอีก

ขณะที่ พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่าทรัพย์สินที่ยึดและอายัดมาในขณะนี้คิดเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างสูง และไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงิน เพื่อนำไปเก็บไว้ในกองทุนฟื้นฟูได้ จึงเตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ แม้เรื่องจะอยู่ในชั้นศาลแล้ว หากกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 จะสามารถคืนทรัพย์สินที่อายัดให้สหกรณ์ฯ ประเมินมูลค่าประกอบแผนฟื้นฟูได้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ ปปง. กำลังสืบทรัพย์เพิ่มเติมอยู่ ทั้งนี้ ปปง. จะมีการหารือกับผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นในสัปดาห์หน้า

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้สหกรณ์ฯ จัดทำแผนื้นฟูกิจการ กรมบังคับคดีในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนำคำสั่งศาลล้มละลายกลางประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นนายทะเบียน ภายในวันที่ 7 เมษายน 2558 ซึ่งผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ต้องจัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากวันนี้

“กรมบังคับคดีจะส่งแบบคำขอรับชำระหนี้ (ฟ.20) ให้กับเจ้าหนี้สหกรณ์ฯ ทั้งหมด 56,595 ราย ตั้งแต่วันที่ 23-31 มีนาคม 2558 เพื่อให้เจ้าหนี้ยื่นความจำนงขอรับชำระหนี้คืนภายในระยะเวลา 30 วัน หรือสิ้นสุดภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 หากเจ้าหนี้ไม่แสดงความจำนงถือว่าสละสิทธิ์การเป็นเจ้าหนี้สหกรณ์ อย่างไรก็ตาม ความเป็นเจ้าหนี้จะพิจารณาเฉพาะกรณีเงินฝาก สำหรับผู้ที่ถือใบหุ้นไม่ต้องขอรับชำระหนี้ตามกระบวนการดังกล่าวนี้” นางสาวรื่นวดีกล่าว

นางสาวรื่นวดีกล่าวต่อไปว่า หลังจากที่กรมบังคับคดีทราบมูลหนี้ทั้งหมดแล้ว ก็จะส่งข้อมูลให้คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ดำเนินการจัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 กรณีผู้จัดทำแผนไม่ขอขยายระยะเวลาอีก 2 เดือน ตามกฎหมาย จากนั้นคณะผู้จัดทำแผนต้องส่งสำเนาแผนฟื้นฟูฯ ฉบับเต็มให้เจ้าหนี้ทุกราย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดวันประชุมเจ้าหนี้ คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนกันยายน 2558

ด้านนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวถึงกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นถอนฟ้องวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย หลังจากลูกศิษย์คืนเงิน 684 ล้านบาทว่า คดีนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนแรกเป็นความผิดฐานยักยอก กรณีสามารถยอมความกันได้ ส่วนที่ 2 กรณีฉ้อโกงประชาชนเป็นความผิดตามอาญาแผ่นดิน แม้คู่ความจะไม่เอาเรื่อง หากตรวจพบว่ามีความผิดจริง ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ในขณะนี้ DSI ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ต้องรอพยานหลักฐานจากพนักงานสอบสวนก่อน และส่วนที่ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร แล้ว 3 คดี สอบปากคำพยาน 43 ราย รวมกับ ปปง. ตรวจเส้นทางการเงินไปแล้วกว่า 50% และได้แบ่งคณะทำงานออกเป็น 5 ชุด หากตรวจพบผู้ใดกระทำความผิดต้องดำเนินคดีต่ออย่างแน่นอน

ขณะที่พระมนตรี สุดาภาโส เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปฝ่ายต่างประเทศ และพระครูปลัดวิจารณ์ วัดพระธรรมกาย เดินทางมาให้ปากคำกรมสอบสวนคดีพิเศษ พระมนตรี สุดาภาโส ปฏิเสธว่าไม่เคยรับเช็ค 100 ล้านบาท จากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พร้อมนำเอกสารเส้นทางการเงินชี้แจงต่อดีเอสไอ แต่ยอมรับว่านายศุภชัยและบุคคลอื่นเคยโอนเงินทำบุญผ่านบัญชีส่วนตัวและบัญชีอื่นรวม 5 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2552-ปัจจุบัน วันนี้จึงนำหลักฐานทั้งหมดมายืนยันกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ

หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม
หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม

ส่วนหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ เพื่อติดตามความคืบหน้า กรณียื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะปกครอง ทำเรื่องขอพระราชทานสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ให้แก่พระธัมมชโย ซึ่งขาดจากการเป็นพระ และขอทราบความคืบหน้าในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และทรัพย์สินของเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม กรณีวัดพระธรรมกายจ่ายเงินให้กับกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะปกครอง นอกจากนี้ยังขอให้ตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างพระธัมมชโยกับนายศุภชัย ว่าร่วมมือกันฉ้อโกงประชาชนหรือไม่