ThaiPublica > เกาะกระแส > ศึกชิง “จุดส่งมอบสินค้า” ร้อน ซื้อพื้นที่สื่อ Advertorial เดินหน้าชนปมเปิด “ร้านค้าปลอดอากรในเมือง”

ศึกชิง “จุดส่งมอบสินค้า” ร้อน ซื้อพื้นที่สื่อ Advertorial เดินหน้าชนปมเปิด “ร้านค้าปลอดอากรในเมือง”

30 มีนาคม 2016


ศึกแย่งชิงธุรกิจ “ร้านค้าปลอดอากรในเมือง” (Duty Free Downtown)ระอุ หลังจากสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยออกมาเรียกร้องแทนสมาชิกสมาคม ขอให้กรมศุลกากรเปิดจุดส่งมอบสินค้า (pick-up counter)สาธารณะ ในสนามบินนานาชาติที่อยู่ในกำกับดูแลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรี “ร้านค้าปลอดอากรในเมือง”

การออกโรงของสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยที่ยื่นจดหมายรวมทั้งเข้าหารือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เจาะจงถึงการเปิด”เสรีจุดส่งมอบสินค้า” ซึ่งเป็นอำนาจของกรมศุลกากรว่าจะ”อนุญาต”หรือไม่ ถ้าอนุญาต การใช้พื้นที่ สามารถใช้ที่ไหนก็ได้ตามแต่ที่กรมศุลกากรจะกำหนด โดยไม่กระทบต่อสัญญาที่ทอท.ได้ทำกับ บริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัดซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่สินค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิแต่อย่างใด รวมทั้งพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรสนามบินดอนเมืองก็เช่นเดียวกัน

ปมชี้แจงที่มุ่งไปยังประเด็นสัญญาที่คิงเพาเวอร์ครอบครองและเหลือเวลาอีก 3 ปี สำหรับสนามบินสุวรรณภูมินั้น เป็นเกมการต่อสู้คนละประเด็น จากการรุกคืบของสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยนั้น ประเด็นอยู่ที่กรมศุลกากรและนโยบายของรัฐบาลว่าจะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในการช็อปปิ้งแค่ไหน โดยมองว่าการมีร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่หลายรายขึ้นจะช่วยดึงเงินออกจากกระเป๋านักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้มากขึ้น

โดยเงื่อนไขสำคัญของการได้ใบอนุญาตเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง ต่อเมื่อมีจุดส่งมอบสินค้า ซึ่งการอนุญาตหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่กรมศุลกากร และจุดส่งมอบสินค้าที่เป็นหัวใจสำคัญคือสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมือง ที่มีความคับคั่งของนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ

Pickup Counter

ปัจจุบันร้านค้าปลอดอากรในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพ มีเพียง”คิงเพาเวอร์”รายเดียวที่ให้บริการได้ เพราะเป็นผู้ที่ครอบครองพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ และร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินดอนเมือง จึงมีจุดส่งมอบสินค้าของตนเองได้

ดังนั้นโดยอำนาจของกรมศุลกากรสามารถชี้ขาด”จุดส่งสินค้าสาธารณะ” ได้ และกฎหมายให้ของกรมศุลกากรโดยตรง ไม่ใช่ทอท. และไม่ได้เกี่ยวโยงกับสัญญาสัมปทานดังกล่าวข้างต้น ก็จะเป็นการปลดล็อก ปม”จุดส่งมอบสินค้า” ที่เป็นเหตุของปมร้อนของทั้งฝ่ายผู้ประกอบการที่ฝ่ายหนึ่งผูกขาดมาอย่างยาวนาน ขณะที่รายใหม่อีกหลายรายก็ต้องการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดร้านค้าปลอดอากรในเมือง

จึงกลายเป็นศึกแย่งชิงพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยใช้พื้นที่โฆษณาในสื่อลักษณะ Advertorial อย่างดุเดือด ผู้ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัท คิง เพาวเวอร์ และผู้บริหารของ ทอท. ต่างให้สัมภาษณ์ และนำเสนอในลักษณะบทความที่เกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร ในเว็บไซต์ www.vlovethai.com ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ไม่ระบุสถานที่ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งการซื้อพื้นที่โฆษณา (Advertorial) หนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน

เริ่มตั้งแต่ชิ้นที่1 ในเว็บไซต์ vlovethai วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 “2 แกนนำสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย รัฐบาล “ลุงตู่” รู้ความจริงเท่าทัน รวิฐา-ทนงศักดิ์” และในสื่อสิ่งพิมพ์

ชิ้นที่ 2 ศึกเศรษฐกิจปี’59 “สินค้าแบรนด์” ไทยชนอินเตอร์ เบื้องลึก “ส.การค้าร้านค้าปลอดอากรไทย” เล่นเกมบี้รัฐ เผยแพร่บนเว็บไซต์ Vlovethai วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 และAdvertorial ในสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

ชิ้นที่ 3 บทสัมภาษณ์ ดร.นิตินัย “ทอท. ผ่าทางตัน ดิวตี้ฟรีไทย” เผยแพร่บนเว็บไซต์ Vlovethai วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 และAdvertorial สื่อสิงพิมพ์ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ทั้งนี้มีเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่บนเว็บไซต์ Vlovethai วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 และAdvertorial ในสื่อสิ่งพิมพ์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559

ชิ้นที่ 5 เป็นบทสัมภาษณ์นายสมบัตร เดชาพานิชกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เผยแพร่บนเว็บไซต์ vlovethai วันที่ 5 มีนาคม 2559 และAdvertorial ในสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับวันที่ 7 มีนาคม 2559 และเป็นภาษาอังกฤษ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ vlovethai วันที่ 6 มีนาคม 2559 และAdvertorialในสื่อสิ่งพิมพ์ ฉบับวันที่ 7 มีนาคม 2559

อย่างไรก็ตามการซื้อสื่อโฆษณาในลักษณะAdvertorial จำเป็นที่จะต้องบอกว่าผู้อ่าน โดยวงเล็บในตอนท้ายของพื้นที่ว่าเป็น”เนื้อที่ประชาสัมพันธ์” เพื่อให้ผู้อ่านสามารถแยกแยะจากพื้นที่ข่าว แต่ที่ผ่านมาผู้ซื้อสื่อจะใช้สัญลักษณ์ของพื้นที่Advertorial โดยการใส่ชื่อเว็บไซต์แทน

ด้านนางรวิฐา พงศ์นุชิตนายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ซื้อพื้นที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของสมาคมฯมาอย่างต่อเนื่องตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทยออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาล เปิดเสรีธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในสนามบินก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดปี 2563 ทางสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงตัดสินใจซื้อพื้นที่โฆษณา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของสมาคมฯ กรณีออกมาเรียกร้องให้กรมศุลกากร และ ทอท. เปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” ในสนามบินนานาชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายมีผลในทางปฏิบัติ และผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรทุกรายได้ใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะร่วมกันทุกราย

นางรวิฐากล่าวต่อว่า จากนั้นสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย จึงไปติดต่อขอซื้อพื้นที่ลงโฆษณาหนังสือพิมพ์และทีวีประมาณ 10 ราย ปรากฏว่ามีหนังสือพิมพ์ยอมให้สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยและสมาคมผู้ค้าปลีกไทยลงโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2559 แค่ 5 ราย ได้แก่ ไทยโพสต์, บางกอกโพสต์, โพสต์ทูเดย์, บ้านเมือง, ผู้จัดการ เป็นต้น ส่วนที่เหลือ 5 ราย ตอบปฏิเสธไม่ยอมรับงานโฆษณาของสมาคมฯ 3 ราย อีก 2 ราย ไม่ตอบรับ

“สมาคมฯขอยืนยันว่าไม่เคยคิดที่จะเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติ ผู้รับสัมปทานยังคงมีสิทธิตามสัญญาเดิมทุกประการ ไม่ถือเป็นการละเมิดหรือยกเลิกสัญญาสัมปทานใดๆทั้งสิ้น ข้อเรียกร้องของสมาคมฯ คือ ต้องการให้อธิบดีกรมศุลกากรใช้อำนาจกำหนดจุดส่งมอบสินค้าและอนุมัติ ตามที่พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ทวิ (1) รวมทั้งปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ข้อ 6.3.3 (1)-(4) ซึ่งมีการกำหนดวิธีส่งมอบสินค้าปลอดอากรเอาไว้ 4 วิธี คือ 1. ส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้ผู้ซื้อนำติดตัวขึ้นเครื่องบินเหมือนนานาอารยประเทศ 2.ส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้ผู้ซื้อ ณ จุดส่งมอบสินค้าที่กรมศุลกากรกำหนด 3.ส่งมอบสินค้าโดยวิธีอื่นใดที่กรมศุลกากรเห็นชอบ เช่น ส่งทางไปรษณีย์ ทางเรือ 4.วิธีอื่นๆตามที่กรมศุลกากรเห็นชอบ เช่น ส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้ผู้ซื้อถึงที่ประตูก่อนขึ้นเครื่อง (Gate) เหมือนในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น” นางรวิฐา กล่าว

นางรวิฐา กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้ร้านค้าปลอดในเมืองไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากที่ผ่านมากรมศุลกากรไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติขอผู้ขออนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร ตามที่ปรากฎในประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ข้อที่ 2 มีทั้งหมด 6 ข้อเป็นสำคัญ แต่กลับนำจุดส่งมอบสินค้า ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 4 วิธี มาเป็นเงื่อนไขหลักในการพิจารณา โดยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในแบบฟอร์มการขออนุญาตฯ หากผู้ขออนุญาตไม่ระบุจุดส่งมอบสินค้าตั้งอยู่ในพื้นที่ใดของสนามบิน กรมศุลกากรจะไม่รับใบคำขออนุญาตฯของผู้ประกอบการรายนั้นไว้พิจารณา ทั้งๆที่ในประกาศกรมศุลกากรฉบับนี้ กำหนดวิธีการส่งมอบสินค้าไว้อีก 3 วิธี การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ จึงไม่ถือเป็นการละเมิดสัญญาสัมปทานใดๆ แต่เป็นการเรียกร้องความถูกต้องจากกรมศุลกากรและทอท.

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบินนานาชาติส่งถึงสื่อมวลชนทุกประเภท

Letter TDFA