10 เดือน นับจากวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 แต่งตั้ง-โยกย้าย ซี 11 กระทรวงศึกษาธิการ 5 หน่วยงาน พร้อมกับสั่งการให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐ (คตร.) เข้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างของคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และ องค์การค้าของ สกสค. ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2558
ปัญหาองค์การค้าของ สกสค. ที่สะสมมานาน ถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขาดทุนสะสม 5,000 ล้านบาท แท่นพิมพ์ทรุดโทรม ล้าสมัย ทำให้การผลิตตำราเรียนไม่ทันเปิดเทอม ต้องใช้วิธีพิเศษว่าจ้างเอกชนมาช่วยพิมพ์ รวมทั้งการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายมาช่วยขาย จนกลายเป็นประเด็นร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น เช่น สมัยนายสมมาตร์ มีศิลป์ อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ทั้ง คสช. และกระทรวงศึกษาธิการก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีองค์การค้าฯ ใช้วิธิพิเศษเช่าแท่นพิมพ์ตำราเรียนของบริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) สูงกว่าราคากลาง 3 เท่าตัว หรือกรณีการแต่งตั้งบริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนจำหน่ายตำราเรียนมูลค่า 1,400 ล้านบาท รวมทั้งกรณีตำราเรียนสูญหายไปจากคลัง เป็นต้น สุดท้ายนำไปสู่การปลดนายสมมาตร์ มีศิลป์ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ลงมติเลิกจ้างนายสมมาตร์ มีศิลป์ เนื่องจากผลการดำเนินงานไม่ผ่านการประเมิน ส่วนผลการสอบข้อเท็จจริง กรณีการเช่าแท่นพิมพ์, แต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย และกรณีตำราเรียนสูญหายจากคลัง ทั้ง คตร. และกระทรวงศึกษาธิการสรุปผลสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวอย่างไร กระทรวงศึกษาธิการไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
หลังจากที่นายสมมาตร์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ วันที่ 21 เมษายน 2558 พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้ง นายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.
วันที่ 17 ธันวาคม 2558 พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. ลงนามแก้ไขข้อบังคับของ สกสค. ฉบับที่ 3/2558 ปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในองค์การค้าของ สกสค. ตามมติของที่ประชุมบอร์ด สกสค. ครั้งที่ 13/2558 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 โดยเพิ่มตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. 2 ตำแหน่ง ซึ่งมาจากการทำสัญญาว่าจ้าง 1 ตำแหน่ง และคัดเลือกจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (องค์การค้าของ สกสค.) อีก 1 ตำแหน่ง
วันที่ 21 ธันวาคม 2558 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ลงนามคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. ที่ 889/2558 แต่งตั้งนายวิมล จำนงบุตร อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การค้าฯ (สัญญาจ้าง) พร้อมกับแต่งตั้งนายอดุลย์ บุสสา ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.
และในวันเดียวกันนั้น นายสุเทพได้ลงนามคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. ที่ 891/2558 แบ่งงานให้รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ดูแลรับผิดชอบ โดยมอบหมายให้นายวิมลกำกับดูแลหน่วยงานภายในองค์การค้า 3 สำนัก ได้แก่ สำนักบริหารการเงินและบัญชี สำนักบริหารการตลาดและการขาย และสำนักบริหารการผลิตและการพิมพ์ ส่วนนายอดุลย์ กำกับดูแลสำนักบริหารกลางและสำนักบริหารสินทรัพย์
แหล่งข่าวระดับสูงจากองค์การค้าของ สกสค. ให้ความเห็นว่า “การปรับโครงสร้างการบริหารภายในองค์การค้าฯ ครั้งนี้ ทางสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาและพนักงานหลายคนยังไม่มั่นใจว่าโครงสร้างใหม่จะช่วยแก้ปัญหาขององค์การค้าฯ ได้ เนื่องจากนายสุเทพ ชิตยวงษ์ ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา ส่วนนายวิมลเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการที่เพิ่งจะเกษียณเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจการค้ามาก่อนได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงาน 3 สำนัก ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักขององค์การค้าฯ และที่สำคัญ หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ เพราะมีสถานะเป็นลูกจ้างขององค์การค้าฯ การแก้ไขระเบียบข้อบังคับ แต่งตั้งรองผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการแก้ไขให้กับคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่ นี่เป็นข้อสังเกตของพนักงานองค์การค้าฯ”
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า หลังจากที่มีการแต่งตั้งและมอบหมายงานให้รองผู้อำนวยการของ สกสค. วันที่ 12 มกราคม 2559 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ลงนามคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. ที่ 1/2559 แต่งตั้งนายอดุลย์ บุสสา รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เป็นประธานคณะกรรมการยกร่าง TOR จ้างโรงพิมพ์ภายนอกพิมพ์หนังสือเรียนจำนวน 12 ล้านเล่ม รวมทั้งกำหนดราคากลางแต่ละรายการ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ครั้งที่ 10/2558 วันที่ 28 ธันวาคม 2558
ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักบริหารการตลาดและการขาย ตัดสินใจพิมพ์หนังสือเรียน 8 กลุ่มสาระ จำนวน 40 ล้านเล่ม เพื่อจำหน่ายในปีการศึกษา 2559 องค์การค้าของ สกสค. จึงกำหนดเป้าหมายในส่วนของการจัดพิมพ์หนังสือเรียน 40 ล้านเล่ม ต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อจัดส่งหนังสือให้ถึงโรงเรียนก่อนเปิดเทอม
ขณะที่สำนักบริหารการผลิตและการพิมพ์รายงานผลตรวจสอบกำลังการผลิตจากแท่นพิมพ์ขององค์การค้าฯ และแท่นพิมพ์ในส่วนที่องค์การค้าฯ เช่าจากบริษัทศิริวัฒนาฯ (สัญญาเช่าแท่นพิมพ์สิ้นสุดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559) พบว่า แท่นพิมพ์มีกำลังการผลิตส่วนเกิน 12 ล้านเล่ม ซึ่งองค์การค้าฯ ไม่สามารถจัดพิมพ์หนังสือเรียนให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา จึงจำเป็นต้องจ้างโรงพิมพ์ภายนอกมารับงานพิมพ์หนังสือลอตนี้
วันที่ 15 มกราคม 2559 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ลงนามในคำสั่งองค์การค้าที่ 4/2559 แต่งตั้งนายวิมล จำนงบุตร รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการจ้างโรงพิมพ์ภายนอก พิมพ์หนังสือเรียนปีการศึกษา 2559 โดยวิธีพิเศษ 61 รายการ คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 11,680,000 เล่ม
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดของคำสั่งองค์การค้าที่ 4/2559 ที่ระบุว่า “เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ซึ่งได้รับการอนุมัติหลักการรายการจ้างพิมพ์และรายละเอียดการจ้างพิมพ์จากโรงพิมพ์ภายนอกเรียบร้อยแล้ว” ข้อความท่อนนี้น่าจะหมายถึง ก่อนที่จะออกคำสั่งองค์การค้าของ สกสค. ฉบับที่ 4/2559 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ มีโรงพิมพ์ภายนอกได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้า ดังนี้ 1. จำนวนหนังสือที่จะจ้างพิมพ์ จำนวน 61 รายการ รวม 11,680,000 เล่ม 2. รายละเอียดของหนังสือที่จะจ้างพิมพ์ และ 3. ราคาที่จะจ้าง รวมเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน
“หลังสัญญาเช่าแท่นพิมพ์กับบริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ล่าสุดมีโรงพิมพ์เอกชนที่เข้ามารับงานพิมพ์ตำราเรียน 11.68 ล้านเล่มจากองค์การค้าของ สกสค. ทั้งหมด 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท อำนวยเวบพริ้นติ้ง, บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, บริษัท วันชาติ แพ็คกิ้งแอนด์สกรีน จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดมศึกษา ส่วนตัวแทนจำหน่ายหนังสือเรียนมูลค่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ศึกษาภัณฑ์นครราชสีมา ที่จะเข้ามาแทนบริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน)” แหล่งข่าวกล่าว