ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตำราเรียนขาดรับเปิดเทอม กฤษฎีกาไฟเขียว “ประแสง มงคลศิริ” ลุยสอบ “โรงพิมพ์คุรุสภา”

ตำราเรียนขาดรับเปิดเทอม กฤษฎีกาไฟเขียว “ประแสง มงคลศิริ” ลุยสอบ “โรงพิมพ์คุรุสภา”

3 พฤษภาคม 2013


หลังจากที่เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 ทำให้เครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่พังเสียหายไป 1 เครื่อง เหลือเครื่องพิมพ์อีก 1 เครื่อง ที่ใช้พิมพ์ตำราเรียนส่งขายโรงเรียนทั่วประเทศ

ปกติโรงพิมพ์คุรุสภาจะจ้างสำนักพิมพ์เอกชนมาช่วยพิมพ์ตำราเรียน ซึ่งมีต้นทุนที่แพงกว่า และทุกๆ ปีก็มีปัญหาผลิตตำราเรียนส่งขายให้กับโรงเรียนทั่วประเทศไม่ทันอยู่แล้ว เมื่อเจอเหตุการณ์ระเบิด แท่นพิมพ์พังเสียหาย เกรงว่าองค์การค้าของ สกสค. จะส่งมอบตำราเรียนให้กับโรงเรียนไม่ทัน

นายสมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค.
นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.

“องค์การค้าของ สกสค.” ภายใต้การนำของนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. คนใหม่ จึงว่า ปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการเช่าเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่มาพิมพ์หนังสือแทน

วันที่ 26 ตุลาคม 2555 องค์การค้าของ สกสค. ออกประกาศประกวดราคาเช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์โดยวิธีพิเศษ จากนั้นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันกำหนดยื่นซองประมูล โดยมีสำนักพิมพ์เอกชนยื่นซองเข้ามา 2 ราย คือ บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้น จำกัด กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดมศึกษา

ประกวดราคาเช่าเครื่องพิมพ์

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าเครื่องพิมพ์ที่มีนายธนากร ธนาธารชูโชติ เป็นประธานคณะกรรมการฯ เปิดซองราคาต่อหน้าผู้เสนอราคาทั้ง 2 ราย ปรากฏว่า หจก.อุดมศึกษา เสนอราคาต่ำกว่าบริษัทศิริวัฒนาฯ

จากนั้น คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่า เชิญผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 ราย ออกไปนอกห้อง เพื่อหารือกับคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติในรายละเอียด พบว่า หจก.อุดมศึกษาไม่พร้อมที่จะให้คณะกรรมการตรวจสอบไปถ่ายรูปเครื่องจักร ทางคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกจึงตัดสินให้หจก.อุดมศึกษา “ไม่ผ่านคุณสมบัติ” จึงเหลือบริษัทศิริวัฒนาฯ เพียงรายเดียวที่ยื่นซองเสนอราคาเข้ามา

ทั้งนี้เพื่อป้องกันข้อครหา ประกอบกับบริษัทศิริวัฒนาฯ เสนอราคาสูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ ทางคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าจึงเสนอให้องค์การค้าของ สกสค. ยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ โดยนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ลงนามในประกาศยกเลิกประกวดราคาเช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์โดยวิธีพิเศษ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555

ดร.ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คนกลาง-เนคไทแดง) ที่มา : http://www.moe.go.th/websm/2013/feb/049.html
ดร.ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คนกลาง-เนคไทแดง)
ที่มา: http://www.moe.go.th/websm/2013/feb/049.html

จากนั้นเริ่มเกิดความวุ่นวายภายในองค์การค้าของ สกสค. ช่วงกลางเดือนมกราคม 2556 มีผู้เข้าร่วมการประกวดราคารายหนึ่งทำหนังสือร้องเรียนไปถึงนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ ขณะที่ฝ่ายการเมืองเกรงว่าองค์การค้าของ สกสค. จะผลิตตำรา 35-40 ล้านเล่ม ส่งให้กับโรงเรียนไม่ทันเปิดเทอม นายพงศ์เทพได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ ดร.ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ดร.ประแสงเดินทางไปโรงพิมพ์คุรุสภาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อไปสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคาทั้งหมด ปรากฏว่ามีม็อบสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภามายื่นประท้วงขับไล่ดร.ประแสง

นายอารีย์ วงศ์สืบ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค.(คนกลาง)
นายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค. (คนกลาง)

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 นายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้ตรวจสอบกรณี ดร.ประแสงเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานภายในองค์การค้าของ สกสค. โดยที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ถึงแม้จะมีคำสั่งแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพจึงสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะกำกับดูแลองค์การค้าของ สกสค. มีอำนาจที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่”

แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า ล่าสุด ช่วงปลายเดือนเมษายน 2556 คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหนังสือตอบข้อหารือส่งถึงกระทรวงศึกษาธิการว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่ในเชิงบริหารสามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดเข้าไปสอบตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือการดำเนินงานขององค์การค้าของ สกสค. ได้”

หลังจากที่ได้รับคำยืนยันจากกฤษฎีกาว่ากระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจแต่งตั้ง ดร.ประแสงเข้าไปตรวจสอบ เร็วๆ นี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเชิญนายสมมาตร์และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่ามาสอบปากคำในหลายประเด็น อาทิ กรณีที่องค์การค้าของ สกสค. ไปทำสัญญากับบริษัท ศิริวัฒนาฯ ว่าจ้างหรือเช่าเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ 4 เครื่อง ซึ่งมีทั้งระบบป้อนกระดาษแบบแผ่นกับป้อนกระดาษแบบม้วน หรือที่เรียว่า “Web Offset” หลังจากที่องค์การค้า สกสค. ยกเลิกการประกวดราคาไปแล้ว องค์การค้าของ สกสค. ไปทำสัญญาเช่าเครื่องพิมพ์กับบริษัทศิริวัฒนาฯ ได้อย่างไร การดำเนินงานเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ และที่สำคัญ บริษัทศิริวัฒนาฯ คิดค่าเช่าหรือค่าบริการแพงกว่ากรณีไปจ้างสำนักพิมพ์เอกชนพิมพ์หรือไม่

ส่วนกรณีองค์การค้าของ สกสค. ประกาศยกเลิกการประกวดราคาเช่าเครื่องพิมพ์ โดยอ้างว่าหจก.อุดมศึกษาไม่ยอมให้ถ่ายรูปเครื่องจักรเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจนั้น ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งแบบทั่วไปและจ้างแบบวิธีพิเศษ ผู้เข้าร่วมประกวดราคาจะยื่นซองประกวดราคา 2 ซอง คือ ซองเทคนิคกับซองราคา โดยหน่วยงานที่จัดการประกวดจะตรวจสอบคุณสมบัติและเทคนิคก่อน จากนั้นถึงจะเปิดซองราคา และเจรจาต่อรองราคากับผู้ชนะการประมูล

กรณีของ หจก.อุดมศึกษา คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติที่องค์การค้าของ สกสค. แต่งตั้งไม่ได้ระบุว่า “มีบริษัทใดไม่ผ่านการพิจารณา เพียงแต่แจ้งว่ามีบริษัทศิริวัฒนาฯ เพียงรายเดียวที่ยอมให้ไปถ่ายรูปเครื่องจักร” ดังนั้น คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าจึงเปิดซองราคา ปรากฏว่า หจก.อุดมศึกษาเสนอราคามาต่ำกว่าบริษัทศิริวัฒนาฯ มาก ทางคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าจึงกลับไปพิจารณาประเด็นทางด้านเทคนิคใหม่ โดยเฉพาะกรณีที่ หจก.อุดมศึกษาไม่มีภาพถ่ายเครื่องจักรประกอบการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่าอ้างว่าไม่ทราบประเด็นนี้มาก่อน จากนั้น คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้เช่ามีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวนี้ และตัดสินให้ หจก.อุดมศึกษาไม่ผ่านคุณสมบัติ เหลือผู้ยื่นซองเพียงรายเดียว ทำให้ต้องประกาศยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้

เอกสารเพิ่มเติมผลการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ให้เช่าเครื่องพิมพ์ตำราเรียน