โครงการเช่าแท่นพิมพ์ตำราเรียนที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กระบวนการจัดซื้อ-จัดจ้างเช่าเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่เกิดความล่าช้า ทำให้องค์การค้าของ สกสค. ผลิตตำราเรียนไม่ทันเปิดเทอม ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2556 มีหนังสือเรียนตกค้างอยู่ระหว่างการผลิต 4.6 ล้านเล่ม ตัวแทนจำหน่ายหนังสือเรียนเอกชนไม่จ่ายเงินค่าหนังสือ เนื่องจากองค์การค้าฯ ส่งมอบหนังสือเรียนล่าช้า โรงเรียนแก้ปัญหาตำราเรียนขาดตลาดด้วยการไปสั่งซื้อหนังสือเรียนจากโรงพิมพ์เอกชน ทำให้รายได้ขององค์การค้าฯ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่องค์การค้าฯ มีภาระค่าใช้จ่ายหลายรายการ อาทิ ค่ากระดาษและวัสดุการพิมพ์ 300 ล้านบาท, ค่าเช่าเครื่องพิมพ์ 110 ล้านบาท และเตรียมเงินไว้ใช้เป็นทุนหมุนเวียนอีก 390 ล้านบาท
องค์การค้าฯ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดทำแผนกู้เงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาวงเงิน 800 ล้านบาท มาเสริมสภาพคล่อง วันที่ 29 กรกฎาคม 2556 องค์การค้าฯ พยายามผลักดันแผนกู้เงิน 800 ล้านบาท เข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ “บอร์ด สกสค.” แต่คณะกรรมการบางคนไม่เห็นด้วย กรณีองค์การค้าฯ เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.โอนเงินฝากครูจำนวน 266 ล้านบาท มาค้ำประกันวงเงินกู้ก้อนนี้ เรื่องนี้จึงถูกตีกลับ
ล่าสุดองค์การค้าฯ เตรียมนำแผนกู้เงินฉบับปรับปรุงใหม่ส่งให้ที่ประชุมบอร์ด สกสค. พิจารณาอีกครั้งโดยใช้บัญชีเงินฝากขององค์การค้าฯ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินกู้แทนบัญชีเงินฝากของ สกสค. โดยองค์การค้าฯ จะเสนอแผนกู้เงินให้ที่ประชุมบอร์ด สกสค. อนุมัติ 3 ประเด็น คือ 1. แผนการกู้เงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา แผนการใช้เงิน และแผนการชำระเงิน 2. อนุมติให้นำบัญชีเงินฝากขององค์การค้าฯ จำนวน 266 ล้านบาท ไปค้ำเงินกู้ 3. มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เป็นผู้ลงนามในสัญญาเงินกู้แทน สกสค.
แผนการกู้เงินฉบับปรับปรุงใหม่ยังคงหลักการเดิม กล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เป็นผู้ทำนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยาแทนองค์การค้าฯ โดยองค์การค้าฯ ต้องนำบัญชีเงินฝากมาค้ำประกันวงเงินกู้ หลังจากแบงก์อนุมัติเงินกู้ให้ สกสค. แล้ว สกสค. จะโอนเงินไปให้องค์การค้าฯ หรือที่เรียกว่า “two-steps loan” ซึ่งตามแผนการชำระหนี้แล้ว องค์การค้าฯ จะเริ่มทยอยโอนเงินให้กับ สกสค. เดือนละ 6.5 ล้านบาท เพื่อให้ สกสค. นำชำระหนี้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 15 ปี นับจากวันที่มีการเบิกจ่ายเงินกู้งวดแรก โดยคาดว่าจะเริ่มชำระหนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 เป็นต้นไป
สำหรับความเป็นมาของแผนการกู้เงินเสริมสภาพคล่อง องค์การค้าฯ อ้างถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ครั้งที่ 8/2555 วันที่ 27 ธันวาคม 2555 มีมติให้นำแผนการกู้เงิน 800 ล้านบาท ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. ครั้งที่ 14/2555 ทั้ง 2 คณะจัดให้มีการประชุมในวันเดียวกัน ปรากฏว่านายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบเรื่องก่อน จึงสั่งระงับ และไม่ได้ถูกนำเสนออีกต่อไป
ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2556 องค์การค้าฯ นำแผนการกู้เงินส่งให้ที่ประชุมบอร์ด สกสค. พิจารณาอีกครั้ง โดยมีการอ้างอิงการประชุมบอร์ดบริหารองค์การค้าฯ และบอร์ด สกสค. ยังไม่ทันจะมีมติออกมาก็ถูกรัฐมนตรีสั่งชะลอก่อน องค์การค้าฯ ไม่ได้พูดถึงมติที่ประชุมบอร์ด สกสค. ครั้งที่ 3/2554 วันที่ 17 มีนาคม 2554 ในระเบียบวาระที่ 5.1เรื่องการกู้เงินแบงก์กรุงศรีอยุธยา บอร์ด สกสค. ซึ่งเป็นบอร์ดใหญ่ได้มีมติออกมาแล้ว 3 ข้อ คือ ข้อที่ 1 สั่งยกเลิกแผนการกู้เงินธนาคารกรุงศรีอยุธยาวงเงิน 1,500 ล้านบาท ข้อที่ 2 มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. กู้เงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา 700 ล้านบาท เพื่อส่งต่อให้องค์การค้านำไปชำระหนี้สิน และ ข้อที่ 3 ให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ไปเจรจาขอกู้เงินกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา 800 ล้านบาท เพื่อนำมาปล่อยกู้ครูที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤติการเงิน ลงนามรับรองโดยนายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.
องค์การค้าฯ อาจจะให้ข้อมูลต่อที่ประชุมบอร์ด สกสค. ไม่ครบ บอร์ด สกสค. ไม่เคยอนุมัติให้ สกสค. กู้เงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา 800 ล้านบาท เพื่อนำเงินปล่อยกู้ต่อให้กับองค์การค้าฯ แต่ให้ไปปล่อยกู้ครูที่เดือดร้อนด้านการเงิน ดังนั้น แผนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สกสค. วันที่ 26 สิงหาคม 2556 ถือเป็นประเด็นใหม่ ไม่สามารถอ้างการประชุมวันที่ 27 ธันวาคม 2555 ได้
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ สกสค. เปิดเผยว่า นอกจากนี้การนำเสนอรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายเงิน 800 ล้านบาท ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนที่ 2 องค์การค้าฯ ระบุว่าจะนำเงินไปจ่ายค่าเช่าเครื่องพิมพ์ให้กับบริษัท ศิริวิฒนา อินเตอร์พริ้นท์ พิมพ์ตำราเรียนส่วนที่เกินจากกำลังการผลิต 200 ล้านอิมเพรสชัน มีค่าใช้จ่ายอิมเพรสชันละ 0.40 บาท คิดเป็นเงิน 80 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเข้าเล่มใส่สันทากาวเล่มละ 1 บาท จำนวน 16 ล้านเล่ม รวมเป็นเงิน 16 ล้านบาท และลงทุนเช่าเครื่องจักรพิมพ์ข้อสอบพร้อมกระดาษคำตอบที่มีความเร็วสูงอีก 14 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 110 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ องค์การค้าฯ เคยทำตารางเปรียบเทียบค่าจ้างพิมพ์และค่าทำเล่มระหว่างองค์การค้าจัดพิมพ์เองกับจ้างโรงพิมพ์เอกชน ระบุว่าค่าเช่าเครื่องจักรไม่รวมค่าหมึก ค่าแรง และค่าสาธารณูปโภค ประมาณการไว้ที่ 1,300 บาทต่อ 10,000 อิมเพรสชัน หรือ อัตราค่าเช่าเฉลี่ย 0.13 บาทต่ออิมเพรสชัน และค่าเช่าเครื่องเข้าเล่ม ใส่สัน ทาวกาว 10,000 เล่ม คิด 5,900 บาท หรือ มีอัตราเฉลี่ยที่ 0.59 บาทต่อเล่ม โดยองค์การค้าฯ ได้นำอัตราค่าเช่าดังกล่าวต่อที่ประชุมบอร์ดบริหารขององค์การค้าและบอร์ด สกสค. กำหนดเป็นราคากลางก่อนที่จะออกประกาศประกวดราคาคัดเลือกผู้ให้เช่าเครื่องพิมพ์
ดังนั้น ในการนำเสนอรายละเอียดค่าเช่าเครื่องจักรที่องค์การค้าฯ ต้องจ่ายให้กับบริษัทศิริวัฒนาฯ (จ่ายจริง) ต่อที่ประชุมบอร์ด สกสค. วันที่ 26 สิงหาคม 2556 ในอัตรา 0.40 บาทต่ออิมเพรสชัน และค่าเข้าเล่มอีก 1 บาท ถือเป็นการรายงานให้บอร์ด สกสค. อนุมัติค่าเช่าในอัตราที่สูงกว่าที่เคยนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สกสค. ก่อนที่จะบอร์ดจะมีมติให้ดำเนินการเช่าเครื่องพิมพ์ เป็นสาเหตุให้องค์การค้าฯ ขาดทุน เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้เกือบ 3 เท่าตัว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 เวลา 9.30 น. ณ อาคาร 3 รัฐสภา พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญนายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. มาซักถาม ต่อกรณีนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ในฐานะสมาชิกของ สกสค. ยื่นหนังสือร้องเรียนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 62 โดยนายสมคิดขอให้คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานของคณะกรรมการ สกสค. และองค์การค้าฯ 3 เรื่อง คือ 1. ขอให้เข้าไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารสันทนาการของ สกสค. จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่า 360 ล้านบาท ว่าเป็นการดำเนินงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการก่อสร้างล่าช้ามาตั้งแต่ปี 2552 บริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ แต่ผู้บริหารของ สกสค. ยืนยันว่าจะให้ผู้รับเหมาะรายนี้ดำเนินการต่อ 2. ขอให้คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เรียกบริษัทเอกชนที่เป็นลูกหนี้มาชำระหนี้ 55 ล้านบาท โดยที่ไม่มีอำนาจอนุมัติ และ 3. ขอให้ตรวจสอบ กรณีแต่งตั้งนายสมมาตร์ มีศิลป์ เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เป็นการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายสมมาตร์เคยถูกองค์การค้าฯ ปลดออกจากราชการ น่าจะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้าม ไม่สามารถแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ได้