ThaiPublica > คอลัมน์ > พ.ร.บ.ความ(ไม่)ปลอดภัยทางชีวภาพ (GMO)? รัฐบาลต้องฟังเสียงภาคประชาชน (ตอนที่ 2)

พ.ร.บ.ความ(ไม่)ปลอดภัยทางชีวภาพ (GMO)? รัฐบาลต้องฟังเสียงภาคประชาชน (ตอนที่ 2)

7 ธันวาคม 2015


ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ
ภาควิชาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในบทความตอนที่แล้วผู้เขียนได้เกริ่นนำถึงปัญหาของร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้ และได้เสนอว่ามีงานวิจัยและความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่มากเกี่ยวกับผลกระทบของจีเอ็มโอทั้งในไทยและต่างประเทศ นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้เสนอว่ารัฐบาลและสังคมไทยควรจะพิจารณาเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆที่มีศักยภาพด้วย บทความตอนต่อนี้จะเปรียบเทียบเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมกับแบบนิเวศต่อไปในเชิงมิติทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และเสนอว่าพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพควรจะช่วยแก้ปัญหาให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ แต่ขณะนี้มีปัญหาอยู่มากจึงควรจะถูกระงับไว้ก่อน

2) ถึงแม้จะสมมุติว่าจีเอ็มโอจะเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังมีมิติทางเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์ที่เป็นปัญหา

เราต้องถามตัวเองว่าเทคโนโลยีการเกษตรที่ประเทศไทยจะสนับสนุนนั้นมีนัยยะและผลกระทบต่อความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจการเมืองและความเท่าเทียมกันของกลุ่มต่างๆในสังคมอย่างไร เพราะไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีและระบบการผลิตจะมีผลกระทบเท่าเทียมกันกับทุกฝ่ายในสังคม เทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมที่มาพร้อมกับ “แพ็คเกจ” ปุ๋ยยาที่ต้องใช้พร้อมกันและลิขสิทธิ์ผูกขาดที่เอื้อบริษัทใหญ่

นอกจากจะแสดงถึงมุมมองโลกแบบเก่าหรือแบบยุคปฏิวัติเขียว ที่มองสิ่งชีวิตแบบแยกส่วนแทนที่จะเป็นองค์รวม และเป็นการมองพืชอาหารแบบเป็นสินค้า วัดผลแบบเน้นผลผลิตพืชเชิงเดี่ยว (ถึงแม้ผู้สนับสนุนจะอ้างว่าช่วยลดการใช้สารเคมี แต่ก็มีข้อโต้แย้งที่บอกว่าจะสร้าง superweed ขึ้นแทน) การปลูกและค้าขายพืชและสัตว์จีเอ็มโอภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกในปัจจุบันยังเป็นการสนับสนุนการผูกขาดรวมศูนย์ที่เอื้อบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น มอนซานโต้ ที่ถือได้ว่ามีอำนาจผูกขาด (monopoly power) เหนือเมล็ดพืชจีเอ็มโอทั่วโลกขณะนี้ ซึ่งค่าสิทธิบัตรเมล็ดพืชและปัจจัยผลิตที่ต้องใช้คู่กันจะสร้างปัญหาให้เกษตรกรโดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้เพราะอำนาจผูกขาดของบริษัท เทียบกับอำนาจต่อรองและทางเลือกที่ลดลงของเกษตรกร

เกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรนิเวศมีชุดความคิด (thought paradigm) ที่ต่างออกไป เกษตรนิเวศแนวแรกค่อนข้างมุ่งเน้นแต่เรื่องการพัฒนาศาสตร์เกษตรนิเวศเชิงแบบวิทยาศาสตร์ล้วน แต่แนวที่สองมองเรื่องระบบสิ่งแวดล้อม-สังคม (social-ecological complex) ด้วย โดยโยงความรู้ด้านสังคมศาสตร์และการมีส่วนร่วมของประชาชนรากหญ้าเข้ามาในการวิเคราะห์ เพื่อที่พยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างทุน คน และ สิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้มองการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นสินค้าเพื่อกำไรแบบไม่คิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแรงงาน แต่เป็นการมองอย่างองค์รวมถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆในระบบนิเวศ (ยกตัวอย่างจากไทย เช่น การปลูกข้าวในนาไม่ได้วัดผลกันด้วยผลผลิตต่อไร่เท่านั้น แต่ได้ผลพลอยได้อย่างอื่นด้วย เช่น พืชผักสวนครัวที่ขึ้นในนาและปลาในนา) เป็นการเกษตรกรรมที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ต่างๆ และเลือกใช้เลือกพัฒนาพันธุ์หลายๆพันธุ์ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น และเพื่อให้เข้ากับสภาวะอากาศยุคโลกร้อนและภูมิประเทศ

ในขณะที่การพัฒนาพืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมจะทำได้ด้วยผู้ที่มีทุนสูงเท่านั้นเช่นบริษัทข้ามชาติ ที่เน้นการเอาพันธุ์และปัจจัยเสริมต่างๆที่บริษัทข้ามชาติต้องการขายเข้าไปปลูกในประเทศต่างๆทั่วโลก เป็นการเปลี่ยนการเกษตรทั่วโลกให้เป็นระบบที่คล้ายคลึงกันเหมือนกับอุตสาหกรรมที่ผลิตของเหมือนๆกันออกมาโดยใช้สายพาน แทนที่จะสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายของวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร ส่วนวิธีผลิตแบบที่พัฒนาโดยเครือข่ายเกษตรยั่งยืนในประเทศไทยมีลักษณะน่าสนใจในแง่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อการพัฒนา เพราะจะเน้นพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์ โดยการกระจายความรู้และการถือครองปัจจัยการผลิต(เช่นทำปุ๋ยอินทรีย์และการใช้จุลินทรีย์)เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อย ไม่ได้เน้นเรื่องการจดสิทธิบัตร และเกี่ยวโยงกันกับระบบตลาดสีเขียวและเป็นธรรม ซึ่งแนวนี้เข้ากันได้กับความคิดของและแนวปฏิบัติเชิงอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) ที่ถูกสนับสนุนโดยนักวิชาการกระแสก้าวหน้าทั่วโลก และกลุ่มขบวนการชาวนาข้ามชาติเช่น La Via Campesina ที่ต้องการสนับสนุนและสร้างอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกรรายย่อย

ข้าราชการและคนในรัฐบาลอาจจะชอบการมองแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมากกว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่ถึงจะมองในมิติของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างเดียว ก็จะเห็นได้ว่าการปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้าน่าจะมีผลดีไม่เท่าผลเสีย เพราะในปัจจุบันนั้นหลายๆประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปขายนั้นยังมีการกีดกันและไม่ยอมรับสินค้าจีเอ็มโอ เช่น ประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น ฉะนั้นการปล่อยเปิดเสรีจีเอ็มโอหรือการปนเปื้อนของพันธุกรรมตัดต่อ นอกจากจะสร้างความเสียหายให้ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยแล้ว จะเป็นการ “จำกัดตลาด” และส่งผลกระทบทางลบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยด้วย

แคมเปญรณรงค์หยุด พ.ร.บ. จีเอ็มโอ ก่อนซ้ำเติมเกษตรกรไทยให้ตายคาแผ่นดินเกิดที่มาภาพ : https://www.change.org/
แคมเปญรณรงค์หยุด พ.ร.บ. จีเอ็มโอ ก่อนซ้ำเติมเกษตรกรไทยให้ตายคาแผ่นดินเกิดที่มาภาพ : https://www.change.org/
ดังที่กระทรวงพาณิชย์และสภาพัฒน์ได้ท้วงติงไว้ ซึ่งเป็นการทำร้ายทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย และจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และระบบเกษตรทางเลือกที่เกษตรกรรายย่อยและกลุ่มต่างๆในภาคประชาชนช่วยกันพัฒนามาหลายสิบปี

นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีคู่แข่งที่ต้นทุนต่ำกว่าไทยอีกมากเช่นเวียดนามและจีน ฉะนั้นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเวลานี้ของประเทศไทยควรจะสนับสนุนการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรจากการที่เน้นปริมาณและราคา เป็นเน้นที่คุณภาพ ความปลอดภัย และ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการผลิตแบบยั่งยืนที่ไม่มีกระแสคัดค้านจากผู้บริโภคในประเทศต่างๆ

ข้อความบางส่วนในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีไทยที่นักวิชาการ 25 ท่านทั่วโลกได้เซ็นสนับสนุนไว้ ได้สรุปประเด็นต่างๆที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้ดี โดยได้เขียนไว้ว่า

“ขณะที่งานวิจัยทางวิชาการยังไม่มีข้อสรุปว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะสามารถให้ผลผลิตที่สูงกว่า มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าพืชดัดแปลงทางพันธุกรรมอาจจะมีผลด้านลบต่อระบบนิเวศ สังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ นอกจากนั้น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจนี้ส่งผลกระทบให้เกษตรกรไทยต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาสูงเกินจริง ประเทศไทยยังเสี่ยงต่อการสูญเสียตลาดส่งออกในต่างประเทศ เพราะแนวโน้มของผู้บริโภคทั่วโลกที่ไม่ยอมรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมมีมากขึ้น อีกทั้งพืชดัดแปลงพันธุกรรมอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างปัญหาการปนเปื้อนกับพืชทั่วไป ทำลายศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารและเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ ผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำพืชดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้นั้นเป็นสิ่งที่ตระหนักร่วมกันในประชาคมโลก พวกเราจึงขอเรียกร้องอย่างหนักแน่นต่อรัฐบาลไทยให้ยับยั้งการสนับสนุนพืชดัดแปลงพันธุกรรม และขอให้พิจารณาเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆที่มีศักยภาพ…ภายใต้บริบทของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารของโลกในปัจจุบันนั้น การวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตเกษตรกรรมที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ควรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล”

(อ่านจดหมายเปิดผนึกจากนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั่วโลกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรมและสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษได้ที่นี่)

3) พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพควรจะช่วยแก้ปัญหาให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ แต่ขณะนี้มีปัญหาอยู่มาก

การถกเถียงกันเรื่องประโยชน์และผลกระทบทางลบของพืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศคงจะดำเนินต่อไปโดยหาข้อสรุปเร็วๆนี้ได้ยาก ผู้เขียนจึงสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้ท่าทีและมาตรการแบบป้องกันไว้ก่อน โดยไม่สนับสนุนการปลูกขายเพื่อการค้าหรือการปลูกทดลองในสนามเปิด เพราะปัญหาที่ตามมาจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรมและอื่นๆอย่างที่ได้กล่าวมา ผู้เขียนไม่ได้ต้องการกล่าวหาเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมว่าไม่มีประโยชน์หรือ มีข้อบกพร่องโดยพื้นฐาน(fundamentally flawed) เลยเสียทีเดียว เพราะในอนาคตองค์ความรู้ทางวิชาการอาจจะพัฒนามากขึ้นจนเราได้ข้อสรุปที่ชัดเจนกว่านี้ หรือนักวิทยาศาสตร์อาจจะสามารถพัฒนาจีเอ็มโอรุ่นต่อๆไปที่มีหลักฐานชัดเจนว่าปลอดภัย ที่องค์ความรู้และสิทธิบัตรไม่ได้ผูกขาดโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ถ้านักวิทยาศาสตร์ไทยไม่มีโอกาสได้วิจัยเทคโนโลยีนี้เลยก็อาจจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส (แต่ถ้าเป็นการวิจัยแบบเอื้อให้บริษัทจดลิขสิทธิ์พันธุกรรมพื้นเมืองไทยได้ อันนี้ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วย) ฉะนั้นสิ่งสำคัญตอนนี้คือถึงแม้จะอนุญาตให้ทดลองและวิจัยได้ แต่ก็ควรมีมาตรการรองรับและสร้างกฎเกณฑ์ที่ทำให้กลุ่มที่เห็นต่างอยู่ร่วมกันได้

ปัญหาก็คือพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับปัจจุบันไม่ปกป้องผู้ที่จะเสียประโยชน์จากการเปิดเสรีจีเอ็มโอและการปนเปื้อนทางพันธุกรรม โดยทำให้ไม่ต้องมีผู้ใดรับผิดชอบหรือหาคนรับผิดชอบยาก ซึ่งนักวิชาการและหลายฝ่ายในสังคมได้อภิปรายปัญหาของพ.ร.บ.นี้กันไปพอสมควรแล้ว เช่น ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้เคยอภิปรายปัญหา 9 ข้อของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่าขัดกับพิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพที่ไทยเป็นภาคี (Cartagena Protocol on Biosafety) ซึ่งให้ใช้หลักความปลอดภัยไว้ก่อนเกี่ยวกับจีเอ็มโอ แต่สำหรับพ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องให้มีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนก่อนจึงยกเลิกการใช้จีเอ็มโอตัวนั้น ซึ่งกว่าจะดำเนินขั้นตอนไปถึงจุดนั้น อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายไปเยอะแล้ว

นอกจากนั้น พ.ร.บ.ไม่ได้พูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เปิดช่องให้สามารถนำจีเอ็มโอทุกชนิดเข้ามาในประเทศได้ยกเว้นแต่จะมีการประกาศห้าม ส่วนการนำจีเอ็มโอมาใช้ในสภาพควบคุมหรือในสภาพสนามก็ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA ย่อมาจาก Environmental Impact Assessment) ส่วนจีเอ็มโอที่จะขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้ก็ต้องทำแค่อีไอเอ แต่ไม่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือเอชไอเอ (HIA ย่อมาจาก Health Impact Assessment) กรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมนั้นต้องมีคนรับผิดชอบ”เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย หรือเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ได้รับความเสียหายเอง” (ตามมาตรา 52)

ส่วนความเสียหายจากจีเอ็มโอที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม จะพ้นจากความรับผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งถ้ามีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมในไร่ของเกษตรกรที่ไม่ต้องการปลูกพืชจีเอ็มก็ไม่มีจุดไหนในร่างกฎหมายบอกว่าใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ (ประเทศไทยมีเกษตรกรรายย่อยและที่ดินขนาดเล็กและกลางเยอะ ซึ่งจะทำให้ยากต่อการป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรม) ที่สำคัญคือพ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันทางการเงิน ไม่ว่าจะในแบบการทำประกันภัย การวางหลักประกันค่าเสียหาย หรือการตั้งกองทุน ฉะนั้นเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น รัฐบาลก็จะต้องแบกรับภาระ

นอกจากนั้น ไทยยังมีปัญหาอย่างที่ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ได้ให้ข้อเสนอไว้ คือยังขาดห้องทดลองสำหรับวิเคราะห์และมีผู้เชี่ยวชาญน้อยไม่ว่าด้านการวิเคราะห์ผลกระทบของยีนส์แต่ละตัว ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านกฏหมาย ที่จะสามารถช่วยรองรับผลกระทบของจีเอ็มโอได้

บทส่งท้าย

ด้วยเหตุผลต่างๆดังที่กล่าวมา ผู้เขียนสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้ท่าทีและมาตรการแบบป้องกันไว้ก่อน โดยยังไม่สนับสนุนการปลูกขายเพื่อการค้าหรือการปลูกในสนามเปิด นอกจากนั้นผู้เขียนขอเรียกร้องให้รัฐบาลยับยั้งพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้ โดยควรที่จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมเขียนพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพแบบที่ทุกฝ่ายพอจะรับได้

ยุคการพัฒนาแบบบนลงล่างแนวข้าราชการและเทคโนแครตสั่งมาแล้วทุกคนต้องทำตาม ไม่สามารถใช้ได้กับประเทศไทยและกับยุคสมัยนี้ต่อไป

นอกจากนั้น หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะปฏิรูปประเทศและพัฒนาเกษตรยั่งยืน อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้ในหลายโอกาส รัฐบาลจะต้องเข้าใจว่าไม่สามารถทำอย่างแยกส่วนได้ ไม่ใช่ว่าด้านหนึ่งจะขอสนับสนุนพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้ โดยอีกด้านหนึ่งขอพัฒนาเกษตรยั่งยืนแบบเป็นแค่เป็นบางโปรเจ็ค เพราะทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นจะต้องดำเนินนโยบายอย่างเข้าใจและเชื่อมโยงทั้งระบบ