ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เห็นชอบตั้ง “กองทุน Future Fund” วงเงิน 1 แสนล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน – นายกฯ สั่งยุติร่าง พ.ร.บ.GMO

ครม. เห็นชอบตั้ง “กองทุน Future Fund” วงเงิน 1 แสนล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน – นายกฯ สั่งยุติร่าง พ.ร.บ.GMO

15 ธันวาคม 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงการแถลงผลงานของรัฐบาลระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2558 ว่า ได้ซักซ้อมผู้เกี่ยวข้องว่าอยากให้เป็นการแถลงในรูปแบบใหม่ เพื่อให้คนเข้าใจว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่ไหน และรัฐบาลชุดนี้จะทำอะไรต่อไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และการเรียนรู้ด้วย เพราะแค่ชี้ว่าอะไรถูกอะไรผิดคงไม่พอ

“ในปี 2559 ผมและรองนายกฯ ทุกคนจะเดินทางลงพื้นที่มากขึ้น ยืนยันไม่ใช่เพื่อไปจับผิดใคร แต่ต้องการไปติดตามความคืบหน้านโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ว่าเป็นไปอย่างที่ต้องการหรือไม่ หรือมีอุปสรรคอะไรที่ต้องแก้ไข” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สั่งยุติพิจารณา “ร่าง พ.ร.บ.GMO” หลังมีเสียงค้าน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ซึ่งที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นจำนวนมากว่า ตนได้สั่งให้ยกเลิกการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เพราะเป็นร่างกฎหมายที่มีปัญหามาตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ที่สำคัญ การจะทำจีเอ็มโอพืชและสัตว์ในต่างประเทศ จะมีข้อยกเว้นกรณีที่จำเป็นเท่านั้น อาทิ เกิดสงคราม มีโรคระบาด ฯลฯ แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่น่าจะเกิดเหตุเช่นนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงแนวคิดในการบรรจุอาชีพและรายได้ของประชาชนแต่ละคนไว้บนบัตรประจำตัวประชาชนว่า ตนพูดเร็วไปทำให้หลายคนไม่เข้าใจ การระบุข้อมูลดังกล่าวไม่ได้นำมาโชว์ แต่อยู่ในชิป เวลาไปใช้บริการรถโดยสารขนส่งสาธารณะ อาทิ รถเมล์ รถไฟ จะได้รู้ว่าเป็นคนยากจนจริงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายๆ มาตรการเพื่อช่วยเหลือคนยากจน คนที่ได้รับประโยชน์กลับไม่ใช่คนที่ยากจนจริงๆ

ลุยแก้ประมงผิด กม. ค้ามนุษย์บนเรือ-เจ้าของเรือผิดด้วย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ที่ไม่ปรับลดการจัดอันดับมาตรฐานการบินของไทยว่า สิ่งที่ EASA ประกาศ แสดงว่าการทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลได้ผล อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการจัดอันดับมาตรฐานจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย เพราะแม้กองทัพเรือจะออกตรวจตราอยู่เป็นระยะ แต่ยังไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการควบคุมเรือที่ออกจากท่า ซึ่งต้องทำบัญชีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรือ อุปกรณ์ทำประมง ไต้ก๋ง ไปจนถึงลูกเรือ และได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้เกี่ยวข้องรายใหญ่ให้ได้ โดยหากมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าของเรือจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

“ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปคุยกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อประสานความร่วมมือแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สั่ง “สมคิด” คุยตัวแทนจีน หาข้อสรุปเรื่องรถไฟ

นายกฯ ยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 4 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 นี้ ที่ กทม. ว่า ได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ หารือกับนายหวาง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางไทย-จีน ด้านเรื่องระบบราง การเดินรถ และผลประโยชน์ข้างทาง ใน 2 ด้าน คือ

  1. เรื่องทุน จะออกฝ่ายละกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ามา ไม่ใช่ว่าไทยออกอยู่ฝ่ายเดียว และจะแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร
  2. เรื่องวงเงินในการก่อสร้างที่ชัดเจน ว่าจะใช้งบเท่าไรกันแน่ จากที่ปัจจุบัน มีข่าวว่าจะพุ่งไปกว่า 5 แสนล้านบาท

“การสร้างรถไฟดังกล่าวจะต้องสร้างงานให้กับไทยด้วย ไม่ใช่ว่าจีนจะทำเองหมด เอาแรงงานเขามาสร้าง ผมจะเจรจาโง่ๆ แบบนี้ได้หรือ ทุกอย่างผมจะยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 19 ธันวาคม 2558 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะจัดพิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟ ไทย-จีน ระหว่างคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รฟท. และตัวแทนรัฐบาลจีน ที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย อ.บางประอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงสิ่งที่สั่งการในที่ประชุม ครม. อื่นๆ เช่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับบริษัทเอกชนจัดจุดรอดรถในเมืองที่เชื่อมต่อกับบริการขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร, การเร่งผลิตแพทย์ พยาบาล และครู ในพื้นที่ชนบทให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรทั้ง 3 อาชีพดังกล่าวมักกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง, การเพิ่มทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน เช่น การใช้ในชีวิตประจำวัน การประกอบธุรกิจเบื้องต้น การเรียนการสอน ฯลฯ เป็นต้น

ไฟเขียวตั้ง “กองทุน Future Fund” วงเงิน 1 แสนล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่น่าสนใจ มีดังนี้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการการจัดตั้ง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย” (Thailand Future Fund) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ลดภาระทางการคลังของรัฐบาล โดยจะเป็นกองทุนปิดที่ไม่จำกัดอายุ ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ กองทุนฯ จะมีมูลค่าการระดมทุนที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคต

“เหตุผลที่มีการจัดตั้งกองทุนฯ นี้ เพราะเราต้องการให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งใช้งบประมาณราว 1.7 แสนล้านบาท หากใช้งบประมาณจากรัฐบาลอย่างเดียว คงจะทำได้ไม่กี่โครงการ แต่เราอยากให้โครงการเหล่านี้เกิด ซึ่งจะทำให้โลจิสติกส์ของไทยมีประสิทธิภาพดีขึ้น จึงมีการออกแบบกองทุนฯ นี้เพื่อระดมทุนจากเอกชน” นายอภิศักดิ์กล่าว

ดึงเงินตั้งต้นจาก “คลัง-กองทุนวายุภักษ์” – เล็งลงทุนมอเตอร์เวย์ก่อน

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า กองทุนฯ นี้คือสิ่งที่จะเชื่อมระหว่างผู้ที่มีเงินเหลือ และไม่รู้ว่าจะนำไปลงทุนอะไร กับผู้ที่ต้องการเงินคือ รัฐบาลที่จะต้องใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยในกองทุนฯ นี้จะให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาลงทุนแต่ไม่ได้เป็นการขายหุ้นของกองทุนวายุภักษ์มาในตลาดหุ้น แต่เป็นการโยกหน่วยลงทุนมาอยู่ในหน่วยลงทุนนี้ในสัดส่วนที่ไม่เกิน 5% ของเอ็นวีเอ ซึ่งปัจจุบันทรัพย์สินของกองทุนวายุภักษ์มีประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งวงเงินที่ย้ายมาในกองทุนนี้ก็จะไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทตามที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ การระดมเงินลงทุนในกองทุนฯ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ

  • ระยะแรก เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยแหล่งเงินตั้งต้นในกองทุน 1 หมื่นล้านบาท จะมาจากกองทุนวายุภักษ์และเงินลงทุนจากกระทรวงการคลัง ซึ่งสัดส่วนของแหล่งเงินทั้ง 2 ส่วนต้องมีการหารือกันระหว่างคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ และคณะกรรมการบริหารกองทุนวายุภักษ์ เพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนมกราคม ปี 2559
  • ระยะที่ 2 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ จะหารือกับนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ควรเข้าไปลงทุน ผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวัง โดยจะเริ่มจากโครงการที่มีการก่อสร้างและมีการรับรู้รายได้แล้ว (Brownfield Projects) เช่น มอร์เตอร์เวย์ และเมื่อมีเงินทุนพอสมควรจะขยายไปสู่โครงการที่ยังไม่ได้ก่อสร้างแต่คาดว่าจะมีผลตอบแทนที่น่าพอใจ (Greenfield Projects) คาดว่าต้นปี 2559 นี้จะเริ่มดำเนินการได้

นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งกองทุนฯ และกำหนดแผนการลงทุน โดนมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะให้กองทุนไปลงทุน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เสนอต่อที่ประชุมให้ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปจัดทำรายละเอียดดำเนินการ โดยเฉพาะขั้นตอนทางกฎหมาย

“รวมทั้งชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน และนักลงทุน ว่าการจัดตั้งกองทุนฯ นี้ ไม่ได้เป็นการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายมาใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาลแต่อย่างใด” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

สั่ง “วิษณุ” ศึกษาแก้ กม. “เวนคืน-คนเข้าเมือง”

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ได้ส่งการให้ทีมกฎหมายนำโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ไปหาวิธีแก้ไขกฎหมายบางฉบับ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างเรียบร้อยมากขึ้น โดยมีการยกตัวอย่างกฎหมาย 2 ฉบับที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไข ประกอบด้วย 1. พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำที่ดินใกล้ทางรางไฟฟ้าที่จะมีการสร้างขึ้นใหม่ทั้งใน กทม. และปริมณฑล ไปใช้เป็นสถานที่ค้าขายของผู้มีรายได้น้อยได้ และ 2. พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาคนหลบหนีเข้าเมือง จากเดิมที่กฎหมายบังคับให้พิสูจน์สัญชาติและส่งกลับประเทศต้นทาง มาเป็นให้พิจารณาส่งไปยังประเทศอื่นได้

“แต่เรื่องการแก้กฎหมายคนเข้าเมือง นายกฯ กำชับว่า เรื่องนี้ต้องดูให้รอบคอบ ไม่ให้ไทยกลายเป็นประเทศที่คนทำผิดกฎหมายเข้ามาหลบ เพื่อไปต่อยังประเทศอื่น” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

อนุมัติโครงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง 425 ล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าพระนั่งเกล้า รวมวงเงิน 425 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 โครงการย่อย 1.โครงการย่อยพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อทางเดิน วงเงิน 98 ล้านบาท 2.โครงการย่อยปรับปรุงอาคารจอดรถจนก 4 ชั้นเป็น 10 ชั้ย วงเงิน 160 ล้านบาท และ 3.โครงการก่อสร้างสะพานลอยกลับรถไปทาง จ.สุพรรณบุรี บริเวณหน้าโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ วงเงิน 165 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพียงพอต่อการชำระหนี้

เห็นชอบช่วยชาวสวนยาง – ควัก 1 พันล้านเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกร

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า หลังจาก ครม. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ครัวเรือนละ 1,500 บาท/ไร่ ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ในอัตราส่วน 60:40 คือเจ้าของสวนยาง/ผู้เช่าสวนยางได้รับ 900 บาท/ไร่ และคนกรีดยางได้รับ 600 บาท/ไร่ โดยผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือนี้จะต้องทำสวนยางในพื้นที่ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น

ในวันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางดังกล่าว โดยวางคุณสมบัติ อาทิ

  1. เกษตรกรชาวสวนยางที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีชื่ออยู่ในข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2557/2558 และต้องเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยต้องมีพื้นที่ 1 ไร่ขึ้นไป ส่วนคนกรีดยางจะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้วย
  2. เกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดยาง จะต้องมาแจ้งข้อเข้าร่วมโครงการ ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2558 – 29 กุมภาพันธ์ 2559
  3. จะมีการตรวจสอบรับรองสิทธิ์การให้รับเงินช่วยเหลือในโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ ไปจนถึงจังหวัด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร วงเงิน 1,064 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเกษตรกร 220,500 ราย  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 – 31 พฤษภาคม 2559

รับทราบ 194 โครงการของขวัญปีใหม่ – ยกเว้นค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 3 สาย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบโครงการที่ 18 หน่วยงาน เสนอมาเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน รวม 194 โครงการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.โครงการ/กิจกรรมสำหรับเทศกาลปีใหม่ 2.โครงการ/กิจกรรมลดค่าครองชีพ 3.โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการ และ 4.โครงการ/กิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคม คน และทรัพยากรธรรมชาติ

มีอาทิ กระทรวงการคลังเสนอของขวัญปีใหม่ ด้วยการขยายวงเงินการให้สินเชื่อระยะยาวแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อีก 5 หมื่นล้านบาท ผ่านทางธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยกู้ ในดอกเบี้ย 4% หลังจากวงเงินเดิม 5 หมื่นล้านบาท มีผู้กู้ไปจนครบวงเงินแล้ว

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางกลับบ้านของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยจะมีการเพิ่มบริการขนส่งสาธารณะอีก 2.1 แสนเที่ยว และยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาจราจร บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์สายตะวันออก) และ 9 (ถนนกาญจนาภิเษก (ตะวันตก) และทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2558 – วันที่ 3 มกราคม 2559

“รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ว่าในเทศกาลปีใหม่นี้ จะมีผู้เสียชีวิตจากบริการขนส่งสาธารณะเป็น 0%” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

เห็นชอบเอกสาร 4 ฉบับใช้ประชุมร่วม ครม. “ไทย-กัมพูชา”

พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่จะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. ของไทย ที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ และ ครม. ของกัมพูชา ที่นำโดยสมเด็จฮุนเซ็น นายกฯกัมพูชา ระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2558 ซึ่งนอกจากจะมีการนำนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศมาจับคู่กันเพื่อทำธุรกิจแล้ว ยังจะมีการประชุม ครม. ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ที่ประชุมวันนี้จึงได้มีมติเห็นชอบร่างเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ที่จะใช้ในการประชุม ครม. ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว

“ฉบับที่สำคัญ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมร่วมนายกฯ และรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือ 3 ด้าน ทั้ง 1. ด้านการเมืองและความมั่นคง 2. ด้านเศรษฐกิจ และ 3. ด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา มีสาระสำคัญร่วมกัน อาทิ ให้ตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคหาข้อสรุปพื้นที่ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายอ้างสิทธิทับซ้อนกัน” พล.ต. วีรชน กล่าว

ให้ รมว.เกษตรฯ ลงนามข้อกำหนดมาตรฐานส่งออกข้าวไปจีน

พล.ต. วีรชน กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เป็นผู้แทนลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกข้าวจากไทยไปจีน เพื่อยกรับมาตรฐานการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังต่างประเทศ โดยพิธีสารดังกล่าวมีสาระสำคัญ 4 ประการ ดังนี้

  1. กำหนดให้ กษ. จัดทำแผนการสำรวจ ควบคุม และติดตามศัตรูพืช
  2. กำหนดให้ กษ. ควบคุมติดตามโรงงานผลิตและปรับปรุงข้าวและขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกและผู้ประกอบการผลิตข้าวส่งออกไปจีน
  3. ใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองการรมยาต้องแนบไปกับข้าวที่ส่งออกไปจีน
  4. ข้าวจะถูกตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกทุกครั้ง โดยหน่วยงานตรวจสอบซึ่งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานผู้มีอำนาจของไทย และ กษ. จะต้องตรวจติดตามความปลอดภัยและศัตรูพืชของข้าวที่ส่งออกไปจีน

“แม้ขั้นตอนต่างๆ จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรมีความยุ่งยากมากขึ้น แต่จะทำให้มาตรฐานสินค้าเกษตรเชื่อถือได้” พล.ต. วีรชน กล่าว