ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐกิจสีเขียว: ทุนนิยมแบบสร้างภาพหรือทางเลือกเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง?

เศรษฐกิจสีเขียว: ทุนนิยมแบบสร้างภาพหรือทางเลือกเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง?

5 พฤษภาคม 2016


ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ได้มีการจัดงานเสวนาภาษาไทย-อังกฤษที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับ “เศรษฐกิจสีเขียว” หรือ Green Economy ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีเนื้อหาหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเรียบเรียงสรุปความและอธิบายเพิ่มเติมเป็นบทความสั้นๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการศึกษาและถกเถียงกันมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางของประเทศไทยในการพัฒนาที่ยั่งยืนทางนิเวศและเป็นธรรมทางสังคม

ความคิดเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจสีเขียว” เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่มีการพูดถึงในเวทีโลกมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมักจะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ามีคำนิยามที่กว้างและไม่สามารถสร้างทางเลือกใหม่ในการพัฒนาได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น ความขัดแย้งระหว่างความคิด วาทกรรม แนวปฏิบัติ และผลลัพธ์ที่ได้ของการพัฒนาแนวเศรษฐกิจสีเขียว ก็อาจจะทำให้ประชาชนไม่ค่อยเชื่อถือและไม่สนใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่รัฐบาลทหารของไทยใช้วาทกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียง โดยอ้างว่าจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศและเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในฐานะประธานกลุ่ม G77 แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารก็ได้มีคำสั่งและมาตรการหลายๆ อย่างที่ขัดแย้งกับแนวความคิดเหล่านี้อย่างชัดเจนและรุนแรง เช่น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2559 คำสั่งที่ 4/2559 และคำสั่งที่ 9/2559 แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยอาจจะมีความคิดความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบมึนๆ งงๆ และสับสน ประชาชนก็ไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจกลุ่มอื่นผูกขาดทางความคิด ผู้เขียนเห็นว่าแทนที่จะยอมยกความคิดเรื่องเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม) ให้ชนชั้นปกครองนำไปใช้เป็นวาทกรรมที่ทำให้ตัวเองดูดี เราควรจะแย่งชิงคำนิยามกลับคืนมาและโต้เถียงอย่างใช้เหตุผล แทนที่จะเยาะเย้ยหรือวางเฉยกับเรื่องเหล่านี้

ในระดับโลก การต่อสู้ทางความคิดและแนวปฏิบัติเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว” ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดยกลุ่มที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวกระแสหลักจะมองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและระบบทุนนิยมในปัจจุบันสามารถนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศได้ แต่รัฐอาจจะต้องช่วยสร้างมาตรการทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระตุ้นให้บริษัทเอกชนผลิตค้นคว้าและใช้เทคโนโลยีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่เริ่มโหนกระแสกรีนในการทำประชาสัมพันธ์สินค้าของตนแล้ว แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ กลุ่มที่มาทางสายเศรษฐศาสตร์นิเวศ (Ecological Economics) และเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิพากษ์ (บางกลุ่ม) จะมองว่าเศรษฐกิจทุนนิยมปัจจุบัน โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไม่มีขีดจำกัด เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตินิเวศเพราะไม่คำนึงถึงข้อจำกัดทางชีวกายภาพของโลก (biocapacity limit)

นอกจากนั้น นโยบายรัฐที่เอื้อต่อการเติบโตและการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมก็เป็นปัญหาด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องขุดรากถอนโคน ปฏิรูปความคิดและแนวปฏิบัติทางเศรษฐกิจใหม่หมด แล้วก็ต้องเชื่อมโยงมิติด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับความเป็นธรรมทางสังคม เพราะนอกจากประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปัจจุบันจะตกไม่ค่อยถึงมือคนจนแล้ว คนจนก็มักจะแบกรับภาระทางสิ่งแวดล้อมไว้มากกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคมด้วย

ในงานเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว: ทุนนิยมแบบสร้างภาพหรือทางเลือกเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง?” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยากรทั้งสามท่านได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจและสอดคล้องกันหลายประเด็น คนแรก คือ Dr. Jose A. Puppim de Oliveira จาก International Institute for Global Health, United Nations University คนที่สองคือ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ จากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และคนที่สามคือ คุณรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภาและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย

ทั้งคุณ Jose และคุณบัณฑูร ได้ร่วมอธิบายพัฒนาการความคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวระดับโลก โดยคุณบัณฑูรมองว่ามีความขัดแย้งระหว่างกระแสโลกสองกระแสที่เกิดขึ้นมานานแล้ว คือ ระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจและกระแสโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจเสรีตามหลักการฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) มักจะชนะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกลไกสนับสนุนที่แข็งแรงกว่า (เช่น องค์การการค้าโลกและธนาคารโลก) ส่วนคุณ Jose ได้อธิบายว่ากระแสเศรษฐกิจสีเขียวได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากประเทศตะวันตกเกิดปัญหาวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจประมาณปี 2008/2009 โดยมีการเริ่มพูดถึง “The Green New Deal” หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สร้างเทคโนโลยีใหม่และสร้างงาน ซึ่งคุณบัณฑูรก็เสริมว่า นอกจากวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวก็มาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และความกังวลเรื่องวิกฤติการเงิน อาหาร และพลังงาน ที่เชื่อมโยงกันอีกด้วย

ในส่วนแรกของการเสวนา คุณ Jose ซึ่งมีแนวความคิดเชิงเศรษฐศาสตร์นิเวศชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีส่วนช่วยลดความยากจนในเอเชีย แต่ก็แลกมาด้วยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวที่มากขึ้น ซึ่งคำถามที่สำคัญคือจะเติบโตอย่างไรให้อยู่ภายใต้ขอบเขตทางชีวกายภาพของโลก (planetary boundary)

ส่วนแนวความคิดเรื่อง “Green Growth” หรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบสีเขียวที่ถูกนำมาใช้ตอบคำถามนี้ เป็นวาทกรรมทางการเมืองแนว Ecological Modernisation ที่เชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมได้ โดยที่ไม่ต้องเสียสละการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบวัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Products หรือ GDP) อธิบายสั้นๆ คือเชื่อว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนทางนิเวศสามารถ decouple หรือแยกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนความคิดแบบ Green Liberal ที่เชื่อในระบบตลาดและการวัดค่าตีราคาธรรมชาติแบบแยกเป็นส่วนๆ และการทำให้เป็นสินค้า (commodification)

คุณ Jose พยายามจะชี้ให้เห็นว่า แนวความคิดแบบนี้มีปัญหาเพราะเป็นการใช้ตรรกะเดิมๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตินิเวศตั้งแต่แรก และได้วิจารณ์ความคิดที่ว่าเมื่อใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้นแล้วจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทุกอย่าง เพราะจริงๆ แล้วจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการใช้มากขึ้น (ผลมาจากการที่ราคาลดลง) เช่น ถ้าประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 5% (ซึ่งกระตุ้นให้) เศรษฐกิจโต 10% การใช้ทั้งพลังงานและทรัพยากรโดยรวมทั้งหมดก็เพิ่มขึ้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่เรียกว่า Jevons Paradox

นอกจากนั้น คุณ Jose พูดถึงงานวิจัย Low Carbon Economy Index (2012) ที่เสนอว่า ถ้าต้องการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ควรจะลด carbon intensity (หรือการปล่อยคาร์บอนต่อหน่วย GDP) 5.1% ต่อปี (ค่าเฉลี่ยทั้งโลก) ในช่วงปี 2012-2050 แต่ระหว่างปี 2000-2011 ไม่มีประเทศไหนเคยทำได้ถึง 5% (มากสุดก็คือ 3.9% ที่รัสเซีย) ซึ่งถ้าประเทศกำลังพัฒนาต้องการ GDP ต่อหัวที่ทัดเทียมกับประเทศในยุโรป เราก็ต้องหาทางลดการปล่อยคาร์บอนต่อ GDP มากขึ้นอีกเกือบ 130 เท่าในอีก 35 ปีข้างหน้า

โดยสรุปแล้วคุณ Jose คิดว่าตอนนี้ยังไม่มีประเทศไหนจะสามารถสร้าง “complete decoupling” ที่แยกการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากการทำลายระบบนิเวศได้อย่างสมบูรณ์

คุณ Jose ยังได้วิจารณ์แนวคิดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Environmental Kuznets Curve (EKC) ที่เสนอว่า เมื่อ GDP ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง การทำลายธรรมชาติจะลดน้อยลง โดยอ้างงานของ Professor Joan Martinez-Alier ที่วิจารณ์ EKC ไว้ว่าเป็นแนวคิดที่ดูถูกคนจน เพราะที่จริงแล้วคนจนและคนรายได้น้อยเป็นจำนวนมากมีส่วนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม (อ่านเพิ่มเติมประเด็นนี้ได้ในงานเขียนเกี่ยวกับ Environmentalism of the Poor) และสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ควรเป็นสิทธิของคนมีเงินและประเทศที่รายได้สูงแล้วเท่านั้น นอกจากนั้น EKC ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวเท่าที่ควร เช่น ผลของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และถึงแม้ว่าประเทศหนึ่งอาจจะร่ำรวยขึ้นด้วยการเน้นภาคธุรกิจบริการและสามารถใช้เทคโนโลยีปล่อยของเสียน้อยลง แต่จริงๆ แล้วอาจจะโยนภาระทางสิ่งแวดล้อมและร่วมทำลายธรรมชาติในประเทศอื่นก็ได้ โดยผ่านทางการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (คือดูเหมือนว่าอาจจะมีการ dematerialisation ในประเทศหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นการ supermaterialisation)

วิทยากรทั้งสามท่านพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งปัญหานี้เชื่อมโยงกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และเสนอว่าถ้าจะพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวก็ต้องไม่ลืมการปฏิรูปเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมด้วย

คุณ Jose เสนอว่า ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงการเจริญเติบโตแบบ “สีเขียว” และการสร้างงานสีเขียว มักจะไม่ได้พูดถึงความเป็นธรรมทางสังคมและสิทธิแรงงาน ปล่อยให้โครงสร้างความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจการเมืองคงอยู่ต่อไป เช่น งานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันเป็นการส่งขยะไปประเทศกำลังพัฒนา เช่น ในแอฟริกาและปากีสถาน ปล่อยให้แรงงานนอกระบบและแรงงานเด็กทำการรีไซเคิลแบบไม่ถูกวิธี เช่น ด้วยการเผา ซึ่งเป็นงานที่ทำลายสุขภาพและไม่มีความมั่นคงทางชีวิต นอกจากนั้น ความไม่เท่าเทียมกันในโลกก็มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีรายงานของ Oxfam เมื่อไม่นานมานี้ที่เสนอว่าคนที่รวยที่สุด 62 คนแรกในโลกมีทรัพย์สินเท่ากับ 3.6 พันล้านคนที่จนที่สุดในโลก ซึ่งถ้าโครงสร้างนี้ไม่เปลี่ยน ถึงจะสร้างเศรษฐกิจสีเขียวแนวทุนนิยมเสรีที่วัดค่าส่วนต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมและบริการทางนิเวศ (ecosystem service) ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันก็จะคงอยู่ต่อไป และอาจจะมีแต่คนที่มีเงินที่สามารถซื้อสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้

คุณบัณฑูรวิเคราะห์คล้ายกันกับ Jose ว่า ปัญหาของแนวคิดแบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นอยู่ตอนนี้คือการที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามความคิดเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมใหม่ การทำธรรมชาติให้เป็นสินค้า และการ “ตีราคา” ธรรมชาติ ซึ่งอาจจะทำให้การเข้าถึงบริการทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของคนจนยากขึ้น นอกจากนั้น เศรษฐกิจสีเขียวอาจจะถูกนำไปใช้เป็น “เครื่องมือจัดระเบียบโลกใหม่” ซึ่งเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้เกณฑ์ทางสิ่งแวดล้อมในการกีดกันสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น

ในการเสวนาช่วงท้าย คุณรสนาเชื่อมโยงปัญหาเชิงกระบวนทัศน์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเข้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐและแนวทางการปฏิบัติของบางบริษัท โดยเสนอว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแสดงว่าตัวเองเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วมีคุณค่าบางอย่างรองรับอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นคุณค่าที่มีปัญหา เช่น การให้ความสำคัญกับสิ่งที่สามารถวัดได้เชิงปริมาณ เน้นการบริโภค และการที่มองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่คุณค่าบางอย่างไม่ได้รับความสนใจมากเพียงพอ เช่น ความสุข สุขภาพ และปัญหาการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำกันอย่างมาก หรือปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะถูกซ่อนอยู่ภายใต้ “มายาทางตัวเลข” เช่น GDP/capita (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวประชากร) โดยคุณรสนายกตัวอย่างประเทศภูฏานที่ใช้ความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) แทน GDP โดยเสนอว่านี่เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง โดยที่เศรษฐศาสตร์ควรจะใช้ความรู้แบบสหวิทยาการมากกว่านี้ในการสร้างตัวชี้วัดและแบบจำลองต่างๆ ซึ่งคุณรสนาและคุณ Jose พูดคล้ายกันในประเด็นที่ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้สุขภาพ ความสุข หรือความเป็นอยู่ ดีขึ้นเสมอไป

คุณรสนายังได้อภิปรายเรื่องปัญหาความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย รวมถึงการที่ทรัพยากรและระบบนิเวศที่ซับซ้อนของไทยถูก “เทคโนโลยีใหญ่ถลุง” ตัวอย่างเช่น เหมืองทองในพิจิตรที่ทำให้สารเคมีอันตรายรั่วไหลลงสู่ที่นาซึ่งเป็นที่ปลูกอาหารและปนเปื้อนแหล่งน้ำ ประชาชน 63% จากที่ได้ตรวจ 1,004 คนมีสารพิษอยู่ในเลือดเกินค่ามาตรฐาน ในขณะที่บริษัทคิงส์เกตเรียกการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองในไทยว่า “low cost gold” ซึ่งคุณรสนาคิดว่าเราควรจะต้องถามตัวเองว่าสิ่งเหล่านี้คุ้มหรือไม่ และรัฐยังเก็บรายได้จากกิจการเหมือนแร่ ก๊าซ และน้ำมันได้น้อย แค่ประมาณ 3% ของรายได้จากภาษีทั้งระบบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการถ่ายเทความร่ำรวยทรัพยากรจากคนบางกลุ่มไปสู่คนอีกกลุ่ม เป็นการทำให้เกิดปรากฏการณ์จนกระจุก รวยกระจายมากขึ้น

อย่างไรก็ตามนโยบายรัฐบาลปัจจุบันไม่ทำให้เกิด “เศรษฐกิจสีเขียว” อย่างแน่นอน ทั้งคำสั่งที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นการตัดตอน (bypass) กฎหมายผังเมืองเพื่อตั้งโรงไฟฟ้าและกิจการอื่นๆ และคำสั่งที่ 9 ที่เป็นการข้ามการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessments หรือ EIA) ในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่หลายด้าน (เช่น ด้านคมนาคมและชลประทาน) ซึ่งทั้งสามคำสั่งกระทบสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเป็นการทำลายสิ่งที่ประชาชนจะสามารถใช้ป้องกันตัวเองจากผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่กระบี่ ที่จะส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อพื้นที่อาหารโดยทำลายห่วงโซ่อาหารทางทะเล ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องพลังงานและอาหารสัมพันธ์กัน

ปัญหาการขาดส่วนร่วมของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมในการกำหนดนโยบายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแค่ที่เดียว คุณ Jose ได้ยกตัวอย่างการดำเนินนโยบาย Green Growth หรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบสีเขียวในเกาหลี ที่รวมถึงการสร้างพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นและการสร้างเขื่อน ซึ่งถูกต่อต้านจากภาคประชาสังคมอย่างมาก จนในยุครัฐบาลต่อมาภายใต้ Geun-hye Park กำลังคิดจะยกเลิกนโยบายการเจริญเติบโตแบบสีเขียวแนวนี้ โดยคุณ Jose เสนอว่า การที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ยั่งยืนได้ นอกจากจะพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว ก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองด้วย โดยที่จะต้องคำนึงถึงขอบเขตทางสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับโลก และควรจะยอมรับระบบการบริหารปกครองแบบกระจายขั้วอำนาจ (ใช้คำว่า polycentric governance system) ที่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจาก “บนลงล่าง” เท่านั้น แต่ “ล่างขึ้นบนด้วย”

คุณ Jose ยกตัวอย่างความคิดและแนวปฏิบัติอื่นๆ ที่ท้าทายความคิดเรื่องการเจริญเติบโตอย่างไม่มีขีดจำกัด เช่น Degrowth ในยุโรป และ Radical Ecological Democracy (RED) ซึ่งเชื่อมโยงการต่อสู้ของแรงงานกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยรวมแล้วคุณ Jose สนับสนุนประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (democratisation of the economy) การกระจายรายได้และทรัพย์สินให้เป็นธรรม และสนับสนุนหลายๆ ทางเลือกที่มาจากภาคประชาชน เช่น การผลิตอาหารที่จัดการด้วยประชาชนแทนการพึ่งพิงระบบอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ (ใช้คำว่า self-managed food systems) ไม่ว่าจะเป็นระบบสหกรณ์หรือชุมชนที่ใช้วิธีการผลิตเชิงนิเวศ ซึ่งคุณ Jose เสนอว่า ไม่จำเป็นต้องถามว่ากลุ่มเหล่านี้จะทำลายทุนนิยมลงได้ไหม เพราะตอนนี้ภาคประชาสังคมต้องต่อสู้และต่อรองเยอะเพราะอยู่ในสังคมทุนนิยม ซึ่งอาจจะไม่สามารถปฏิเสธระบบปัจจุบันไปได้ทั้งหมด แต่ก็ยังมีศักยภาพในการชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของคุณค่าและแนวทางปฏิบัติที่ไม่อิงกับระบบทุนนิยม (อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือที่คุณ Jose เป็นบรรณาธิการชื่อ Green Growth: Ideology, Political Economy, and the Alternatives ที่เพิ่งวางขายต้นปี 2016 นี้)

ในบริบทด้านนโยบายของประเทศไทย คุณบัณฑูรได้เสนอว่า ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการ มีแผนงาน งานวิจัย และยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยรัฐไทยจะเน้นสนับสนุนเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว (Green Growth) มากกว่าเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) แต่ปัญหาทางการเมืองแบบแบ่งขั้วมีส่วนทำให้การดำเนินงานในรัฐบาลต่างๆ หยุดชะงัก ส่วนรัฐบาลปัจจุบันได้รับเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติมาปฏิบัติ โดยที่ทุกกระทรวงพยายามจะทำให้ได้ตามเป้าหมายนี้

แต่คำถามสำคัญที่ยังต้องขบคิดกันคือ เราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวแบบที่คำนึงถึงขีดจำกัดทางชีวกายภาพ (capacity limit) ที่มีความเป็นธรรมและสามารถทำให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยได้อย่างไร ส่วนคุณรสนาเสนอให้รัฐสนับสนุนนโยบายพลังงานทางเลือกให้มากกว่านี้แทนที่จะใช้พลังงานฟอสซิล เช่น สนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้มากขึ้น คุณรสนายกตัวอย่างและสถิติที่ได้จาก ส.ส. พรรคกรีนที่เยอรมันซึ่งเป็นคนผลักดันกฎหมายด้านพลังงานหมุนเวียน ว่าราคาของโซลาร์เซลล์ในอนาคตจะถือได้ว่าสูสีกับราคาพลังงานนิวเคลียร์ และตอนนี้ธุรกิจพลังงานโซลาร์ก่อให้เกิดการจ้างงานในเยอรมันมากกว่าที่คิดไว้เสียอีก โดยที่ปี 2010 มีการจ้างงานประมาณ 370,000 คน ส่วนในปี 2012 มีการจ้างงานประมาณ 450,000 คน แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปี 2010 จ้างงานแค่ประมาณ 30,000 คน ซึ่งคุณรสนามองว่าการจ้างงานควรจะเป็นมิติหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจสีเขียวและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะการมีงานทำเกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

บทส่งท้าย

เมื่อมีคนวิพากษ์วิจารณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบวัดโดย GDP บางครั้งจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบแนวลบหัวชนฝาจากบางคนที่เหมารวมเอาว่าการวิจารณ์เช่นนี้เป็นการต่อต้าน “ความเจริญ” และคนที่วิจารณ์เป็นพวกที่ไม่อยากให้คนยากจนและประเทศกำลังพัฒนามีชีวิตความเป็นอยู่ทางวัตถุที่ดีขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งมักจะเป็นการเข้าใจผิด (หรืออาจจะแกล้งทำเป็นว่าเข้าใจผิดด้วยผลทางเศรษฐกิจการเมืองบางอย่าง) อย่างในบทความชิ้นนี้มีการพูดถึงแนวคิดที่วิจารณ์การให้ความสำคัญแก่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไร้ขีดจำกัดมากเกินไปโดยไม่มองปัจจัยอื่น ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมที่เจริญเติบโต แต่เติบโตแบบยั่งยืนทางนิเวศและเป็นธรรมทางสังคมโดยที่ทุกคนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แบบจอมปลอมอย่างที่เป็นอยู่

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่บ้านเมืองมีการแบ่งขั้วสองข้างทางการเมืองแบบที่ยากจะสมานฉันท์กันได้ โดยเฉพาะถ้าจะคุยกันแต่ประเด็นเดิมๆ ผู้เขียนหวังว่าการนำเสนอเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรมทางสังคมจะเป็นคล้ายกับสะพานเชื่อมระหว่างคนที่คิดต่างให้มาถกเถียงกันว่าเราอยากจะ “สร้างสังคม” ที่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันต่อไปได้อย่างไร ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเราคงจะไม่มีความคิดเห็นที่เหมือนกันทั้งหมด แต่บางทีเราอาจจะประหลาดใจเมื่อพบว่าบางคนหรือบางกลุ่มที่สนับสนุนขั้วการเมืองที่ต่างกับเรานั้น ที่จริงแล้วอาจจะมีความคิดความหวังบางอย่างที่คล้ายกับเราก็เป็นได้ เช่น อยากให้มีความเป็นธรรมทางสังคมและการกระจายรายได้สู่คนจนมากขึ้น