ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ
ภาควิชาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การถกเถียงเรื่องประโยชน์ ข้อเสีย และวิธีการนำพืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับทั้งมิติด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง กฎหมาย ระบบนิเวศ และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน จึงไม่ควรจะถูกผูกขาดโดยนักวิทยาศาสตร์หรือข้าราชการบางกลุ่มเท่านั้น ในบทความนี้ผู้เขียนเสนอว่ารัฐบาลควรยับยั้งพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพร่างปัจจุบัน เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดอ่อน ไม่สามารถปกป้องเกษตรกร อุตสาหกรรมเกษตร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบทางลบที่น่าเป็นห่วงของพืชจีเอ็มโอ และควรเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างโปร่งใส การเสนอเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าผู้เขียนต่อต้านจีเอ็มโอทุกรูปแบบ เพราะผู้เขียนมองว่านักวิทยาศาสตร์ไทยก็มีสิทธิที่จะวิจัยเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าการวิจัยควรอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและกติกาทางสังคมที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่น
ความพยายามเผยแพร่จีเอ็มโอ ในประเทศไทยครั้งล่าสุดนั้นเข้มข้นขึ้นมาตั้งแต่ประมาณเดือนต.ค.ปีที่แล้ว เมื่อมีความพยายามให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในแปลงเปิด ซึ่งจะเปิดทางสู่การปลูกเพื่อการค้า โดยช่วงนั้นหลายๆกลุ่มในประเทศได้เคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อคัดค้าน เช่นในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรทาง สังคมต่างๆ เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลนิธิชีววิถี ได้ยื่นจดหมายถึงฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้องข้อหนึ่งให้ยับยั้งการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในแปลงเปิด จนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายและรับผิดชอบกรณีที่เจ้าของหรือผู้ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม
จากการประสานงานของผู้เขียน มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิ่งแวดล้อม และการพัฒนา จากประเทศต่างๆทั่วโลก 25 คน ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การเปิดเสรีจีเอ็มโอในประเทศไทย และร่วมลงนามเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องขององค์กรและกลุ่มทางสังคมที่กล่าวมาข้างต้น (อ่านจดหมายเปิดผนึกจากนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั่วโลกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรมและสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษได้ ที่นี่) ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เช่น Dr. Michael Antoniou (Head of the Gene Expression and Therapy Group, Faculty of Life Sciences, King’s College London, UK) Dr. Tushar Chakraborty (Principal Scientist & Molecular Geneticist, CSIR-Indian Institute of Chemical Biology, Kolkata, India) Professor Terje Traavik (Special Consultant, GenØk-Centre for Biosafety, Norway and Professor Emeritus of Gene Ecology and of Virology, Faculty of Health Sciences, UiT – the Arctic University of Norway) นักวิชาการด้านกฏหมายเช่น Dr. Peter Drahos (Australian National University) ด้านสังคมศาสตร์ชื่อดังคนอื่นๆ เช่น Dr. Philip McMichael (College of Agriculture and Life Sciences, Cornell University, USA) และนักเคลื่อนไหว/นักวิชาการระดับโลก เช่น Dr. Vandana Shiva (ผู้ได้รางวัล Right Livelihood Award ปี 1993) และ Dr. Raj Patel (Research professor at the Lyndon B. Johnson School of Public Affairs at the University of Texas at Austin, USA)
เมื่อเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนเป็นผล โดยคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทยได้มีมติในเดือนธ.ค.2557 ให้ยึดมติปีพ.ศ.2550 ที่มีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอภาคสนามที่ค่อนข้างเข้มงวด กลุ่มสนับสนุนจีเอ็มโอจึงผลักดันร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพต่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แต่ได้ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 ร่างพ.ร.บ.นี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เช่น สภาพัฒน์และกระทรวงพาณิชย์ สภาเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกรหลายๆเครือข่ายเช่น กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ องค์กรพัฒนาเอกชน เช่นมูลนิธิชีววิถีและกรีนเน็ท อุตสาหกรรมการเกษตร ชมรมแพทย์ชนบท และนักวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์และกฏหมาย เป็นต้น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และจะหาผู้ที่รับผิดชอบยากหรือไม่ได้เลยเมื่อมีการปนเปื้อนทางพันธุกรรม
วาทกรรมแบบสองขั้วเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย และระวังกับดักทางความคิดแนวที่ว่า เทคโนโลยีจีเอ็มโอ = วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ = ดี = การเท่าเทียมอารยประเทศ แต่เกษตรกรรมยั่งยืนและพันธุ์พื้นเมือง = ล้าหลัง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ (หรืออ้างว่าเหมือนกับเป็นการกลับไปขี่ควายไถนา)
ผู้เขียนขอสรุปข้อโต้แย้งประเด็นต่างๆและเสนอความคิดเห็นในมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองเพิ่มเติมเกี่ยวกับจีเอ็มโอและพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นข้อๆไปดังต่อไปนี้
1) กระแสต่อต้านการเปิดเสรีจีเอ็มโอและการสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ใช่การต่อต้านวิทยาศาสตร์และความเจริญก้าวหน้า
ประชาชนต้องระวังวาทกรรมแบบสองขั้วเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย และระวังกับดักทางความคิดแนวที่ว่า เทคโนโลยีจีเอ็มโอ = วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ = ดี = การเท่าเทียมอารยประเทศ แต่เกษตรกรรมยั่งยืนและพันธุ์พื้นเมือง = ล้าหลัง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ (หรืออ้างว่าเหมือนกับเป็นการกลับไปขี่ควายไถนา)
มีนักวิทยาศาสตร์และผู้สนับสนุนจีเอ็มโอบางส่วนที่พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่ต่อต้านจีเอ็มโอและพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าเป็นพวกที่ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ ถ้าเข้าใจจะไม่ต่อต้านจีเอ็มโอเพราะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ปัจจุบันสนับสนุนจีเอ็มโอ แต่จริงๆแล้วประชาชนไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยตรงก็สามารถตามข่าวสารและงานวิจัยได้ ว่าไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด(ไม่มีconsensus)ว่าพืชและสัตว์จีเอ็มโอส่งผลเสียระยะยาวทั้งต่อระบบนิเวศและสุขภาพอย่างไร หรือมีผลผลิตและศักยภาพอื่นเหนือกว่าการปรับปรุงพันธุ์แบบอื่นอย่างไร ฉะนั้นควรจะต้องมีมาตรการแนว “ปลอดภัยไว้ก่อน” เช่น จะเห็นได้จากรายงานของ the International Assessment of Agricultural Knowledge, Science and Technology for Development (IAASTD) ปี 2552 ( ปี2009) ซึ่งใช้เวลาศึกษาถึง 4 ปี โดยนักวิทยาศาสตร์กว่าสี่ร้อยคน ด้วยการสนับสนุนของหลายๆรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศเช่น FAO UNEP และธนาคารโลก โดยได้รับการยอมรับจาก 60 กว่ารัฐบาล ซึ่งได้สรุปไว้ว่าผลกระทบของจีเอ็มโอยังเป็นที่เข้าใจน้อยมาก ยังมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอและขัดแย้งกัน ฉะนั้นระบบกฏหมายต้องใช้หลักป้องกันและปลอดภัยไว้ก่อน (ค้นหาและดาวน์โหลดได้ที่นี่ )
ประเด็นสำคัญที่ต้องการจะสื่อก็คือ มีงานวิจัยและความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่มากเกี่ยวกับผลกระทบของจีเอ็มโอทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งในสังคม(ที่พยายามจะเป็น)ประชาธิปไตย แทนที่จะพยายามผูกขาดความคิด ก็ควรจะต้องยอมรับในจุดนี้ว่าเรื่องจีเอ็มโอยังหาข้อสรุปไม่ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธหรือสร้างวาทกรรมกล่าวหาหรือทำลายคนที่เห็นต่างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยทำให้สังคมยอมรับเทคโนโลยีจีเอ็มโอมากขึ้นเลย เช่นในไทย วิฑูรย์ ปัญญากุล จากกรีนเนทได้แสดงความเห็นว่ากลุ่มที่โปรโมทจีเอ็มโอเลือกเอางานวิจัยแค่บางชิ้นมาทำลายความน่าเชื่อถือของเกษตรอินทรีย์
ส่วนในระดับโลก กลุ่มที่สนับสนุนจีเอ็มโอมีทั้งอำนาจเงินและอิทธิพลการเมืองที่เหนือกว่า และสามารถชี้นำสื่อและเวทีต่างๆทั่วโลกได้มาก สามารถให้ทุนวิจัยได้เยอะ เพราะพวกเขาประกอบด้วยกลุ่มทุนข้ามชาติ เช่น มอนซานโต้ และ Gates Foundation ซึ่งบางทีก็พยายามสร้างวาทกรรมเพื่อผลทางการเมืองและการค้า เช่นอ้างว่า “คนยุโรปที่ต่อต้านจีเอ็มโอทำให้คนในแอฟริกาหิวโหย” และอื่นๆ
ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนมาทางเทคนิคคล้ายกัน ก็ไม่น่าแปลกใจว่าจะคิดคล้ายกันและมักจะสนับสนุนจีเอ็มโอด้วยความเชื่อมั่น (โดยมักจะไม่ค่อยคิดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะอยู่นอกเหนือจากที่เรียนมาแบบวิทยาศาสตร์) หรือถ้าต้องการคิดต่างหรือมีงานวิจัยที่แสดงแง่ลบของจีเอ็มโอ ก็อาจจะกังวลเรื่องการถูกทำลายชื่อเสียงแบบเป็นระบบ เพราะขัดกับแนวคิดของวงการวิทยาศาสตร์และธุรกิจกระแสหลัก (อย่างที่ Séralini โดน)
วาทกรรมกระแสหลักเหล่านี้มีส่วนทำให้ประชาชนหลายส่วนทั่วโลกสงสัยว่าการโปรโมทจีเอ็มโอมีผลประโยชน์ทางกำไรของบริษัทข้ามชาติซ่อนอยู่หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีงานเขียนงานวิจัยโต้แย้ง (เช่น ที่กลุ่มมูลนิธิชีววิถีและกรีนเนทนำมาเผยแพร่) มีกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลก ที่พยายามยกตัวอย่างผลกระทบของจีเอ็มโอเพื่อต้านความเชื่อและวาทกรรมกระแสหลักเหล่านี้ เช่น พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการปลูกฝ้าย Bt ที่มีผลเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจต่อเกษตรกรในอินเดีย
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การดัดแปลงพันธุกรรมไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวในการปรับปรุงผลิตผลทางการเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหาร รัฐบาลและสังคมไทยควรจะพิจารณาเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆที่มีศักยภาพด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งมากไป (การ lock in) เช่น การผสมพันธุ์โดยการคัดเลือกด้วยยีนเครื่องหมาย (marker-assisted plant breeding) และวิธีการผลิตแบบเกษตรนิเวศ (agro-ecological production methods) และวิธีการเกษตรแบบยั่งยืนอย่างอื่น เช่นการใช้จุลินทรีย์เพื่อปรับปรุงดิน การเกษตรผสมผสาน ซึ่งการทำเกษตรแบบนี้ต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย (เช่น ใช้แล็บเพื่อศึกษาและวัดค่าจุลินทรีย์ในดิน) ซึ่งเป็น “ศาสตร์” อย่างหนึ่งที่มีมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งในโลกเปิดสอนและวิจัย (โดยมีนักวิชาการที่ทำเรื่องนี้อยู่เช่น Miguel A. Altieri, Steve R. Gliessman, Olivier De Schutter ที่เป็น UN Special Rapporteur on the Right to Food (http://www.srfood.org/en/report-agroecology-and-the-right-to-food) และคนอื่นๆ)
ในเมืองไทยมีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยหลายกลุ่มได้ทำการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแบบทดลองด้วยตัวเองหรือแบบตามมีตามเกิดมานานหลายสิบปี ถ้ารัฐบาลให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการวิจัยแนวนี้ โดยเฉพาะการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร (participatory research)อย่างจริงจัง จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีองค์ความรู้ด้านเกษตรยั่งยืนเพิ่มมากและเร็วขึ้น
ตอนที่สองของบทความจะเปรียบเทียบเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมกับแบบนิเวศต่อไปในเชิงมิติทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และจะกล่าวถึงปัญหาของพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับปัจจุบัน ที่แทนที่จะเป็นส่วนช่วยให้หลายฝ่ายที่เห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ในขณะที่การวิจัยเรื่องจีเอ็มโอยังไม่มีข้อสรุปนี้ กลับไม่สามารถวางรากฐานในการจัดการและป้องกันผลกระทบจากจีเอ็มโอได้ จนกลายเป็นประเด็นทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไป