ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ไฟเขียวสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม – “ประยุทธ์” ลั่นปมราชภักดิ์ “จะไม่แบกใครไว้บนบ่า”

ครม. ไฟเขียวสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม – “ประยุทธ์” ลั่นปมราชภักดิ์ “จะไม่แบกใครไว้บนบ่า”

9 ธันวาคม 2015


การประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.og.th
การประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

นายกฯ แจง ห้ามกลุ่ม ปชต.ศึกษาไปราชภักดิ์เพราะหวั่นจะถูกทำร้าย

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ถึงการที่ทหารเข้าจับกุมกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “ประชาธิปไตยศึกษา” ที่จะเดินทางไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า เหตุที่ห้ามเดินทางไปเพราะมีคนรอตีอยู่ไม่รู้เท่าไร หรือจะปล่อยให้ไปโดนทำร้าย ซึ่งรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบอีก ทำไมจะต้องขยายความขัดแย้ง ในเมื่อทุกคนรู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลกำลังนำทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โครงการนี้อีกไม่นานสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็จะเข้ามาตรวจสอบ เพราะตนไม่ได้ไปห้ามไม่ให้เข้ามา

“สื่อก็รู้อยู่ว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำไมต้องทำให้เป็นประเด็น ไปให้เครดิตกับคนกลุ่มนี้ทำไม ถ้าอยากขัดแย้งกันอีกก็ให้สื่อขยายกันทุกวัน กลุ่มไหนอยากไปไหนอีกก็ไปเลย แล้วถ้าเกิดการตีกันก็ให้สื่อช่วยห้ามก็แล้วกัน ผมไม่ขอรับผิดชอบด้วย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ยังไม่คิดปรับ ครม. ดึง “กัมปนาท” เป็นรัฐมนตรีแทน “อุดมเดช”

ส่วนที่มีข่าวว่าจะปรับ ครม. โดยแต่งตั้ง พล.อ. กัมปนาท รุดดิษฐ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทน พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร เพื่อลดกระแสโจมตีจากเรื่องนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย รู้ได้อย่างไรว่าจะเอาคนนั้นคนนี้มา เขียนว่ามาเพื่อรองรับตน ตนบอกตั้งแต่วันแรกว่า ถ้าตนทำความดีก็ไม่ต้องกลัวอะไร

“หรือจะเอาอำนาจในการแต่งตั้งทั้งหมดไปให้กับสื่อ ครม. เรื่องของผม รู้ไปแล้วได้อะไร ไม่เห็นได้อะไรนี่ เรื่องของผมในการตัดสินใจ จะเอาใครเข้าใครออก” นายกฯ กล่าว

จี้ฝ่ายต้าน กม.ปิโตรเลียม ร่วมรับผิดชอบ หากมีพลังงานไม่พอใช้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มซึ่งเรียกตัวเองว่า “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย” ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. …. ว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มีขั้นตอนอยู่ แม้ ครม. จะให้ความเห็นชอบ ก็ยังต้องส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาต่ออีก 3 วาระ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลากว่าจะผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.บางฉบับส่งไปเกือบ 2 ปีแล้วยังไม่ผ่านเลย จึงไม่ใช่ว่าจะมาเดินขบวนเรียกร้องกับรัฐบาลทุกวัน ที่สำคัญในวันนี้ไม่มีการเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้ที่ประชุมพิจารณา เป็นเพียงเสนอความคืบหน้าให้ประชุมรับทราบเท่านั้น

“สิ่งที่ผมเป็นกังวลคือ ถ้ามันทำไม่ได้ ทำไม่ทัน จนเรามีปัญหาพลังงานในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ใครจะรับผิดชอบ ต้องมีสัญญาให้ชัดเจน ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สั่ง ศธ. เร่งแก้หนี้สินครู ชี้มีปัญหาแค่ 3% ของทั้งหมด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า คนที่มีปัญหามีเพียง 3% เท่านั้น ที่เหลือมีการผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนดระยะเวลา ที่เสนอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือถามว่าจะช่วยได้อย่างไร เพราะมูลค่าหนี้ทั้งหมดรวมกันถึง 2 ล้านล้านบาท จะใช้งบประมาณก็มีไม่เพียงพอ หรือจะขึ้นภาษีก็ทำไม่ได้ และที่อยากให้ยกเลิกแท่งการบริหารงานต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 5 แท่ง ตนอยากถามว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ไปเรียกผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อกำชับให้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

“อนันตพร” แจง ครม. ไม่ได้พิจารณา กม.ปิโตรเลียม แค่รายงานผลหารือ 2 ฝ่าย

พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มซึ่งเรียกตัวเองว่า “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย” เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. …. ของที่ประชุม ครม. ในช่วงเช้าวันเดียวกันว่า การประชุม ครม. วันนี้ไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นเพียงการรายงานผลการหารือของคณะทำงาน 2 ฝ่าย ระหว่างกระทรวงพลังงานกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ รวม 26 ประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งที่ประชุมก็มีมติรับทราบ และจะส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยจะพยายามใส่เข้าไปให้มากที่สุด ยกเว้นบางประเด็นที่หากใส่เข้าไปแล้วอาจส่งผลเสีย ทำให้การทำงานเกี่ยวกับพลังงานในอนาคตขาดความยืดหยุ่นและไม่จูงใจให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน ก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบก็จะส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาต่อไป รวม 3 วาระ

“และเพื่อให้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีการพิจารณาจากบุคคลหลากหลายกลุ่มที่สุด ทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายที่เป็นกลาง ในการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ หลังที่ประชุม สนช. รับหลักการในวาระแรก ซึ่งตามปกติจะมีจำนวน กมธ. เพียง 15 คนเท่านั้น แต่สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะเสนอให้มีจำนวนถึง 35 คน ซึ่งตามระเบียบที่เกี่ยวข้องรัฐบาลมีโอกาสเสนอตัวแทนเข้าไปใน กมธ. เพียง 1 ใน 5 ที่เหลือเป็นสิทธิของ สนช. โดยจะพูดคุยกันว่าจะเสนอบุคคลที่มีความหลากหลายที่สุด เพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นไปอย่างรอบคอบ” พล.อ. อนันตพร กล่าว

เมื่อถามว่า เท่าที่กระทรวงพลังงานหารือกับ กมธ.พลังงานฯ มีประเด็นใดที่ขัดแย้งที่สุด พล.อ. อนันตพร กล่าวว่า ไม่มีประเด็นใดที่ขัดแย้ง มีแต่ประเด็นที่เห็นต่างว่าจะทำเมื่อไร เช่น ที่มีการเสนอว่าจะตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่ต้องดูว่าจะใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ. หรือไม่ หรือออกเป็นเพียงระเบียบหรือกฎกระทรวง ขณะที่แนวทางการบริหารจัดการปิโตรเลียม ที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ. แล้ว มีอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต ส่วนระบบจ้างผลิต จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าจะใส่ไปในร่าง พ.ร.บ. หรือไม่

เมื่อถามถึงการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 ซึ่งยืดเยื้อมานาน พล.อ. อนันตพร กล่าวว่า การเปิดสัมปทานดังกล่าว มีปัจจัยต้องพิจารณา 2 อย่าง 1. ความต้องการใช้พลังงานของไทยว่าแหล่งพลังงานที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่ และ 2. ความคุ้มค่าในการเปิดสัมปทาน เพราะราคาปิโตรเลียมที่ลดลง ถ้าเจาะได้อาจจะทำให้ประเทศมีรายได้ลดลงหรือไม่

“ประวิตร” ขู่แจ้งความผิดเอาคนทำแผนผังราชภักดิ์

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีการจัดทำแผนผังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยในแผนผังดังกล่าวระบุว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ว่า ตนจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลดังกล่าว เพราะเป็นการใส่ความทำให้เสียหาย และมีการดึงบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องให้เข้ามาเกี่ยวด้วย ซึ่งนอกจากจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แต่คนที่จะไปแจ้งความไม่ใช่ตน อาจจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เขาทำขึ้นเพราะต้องการลดความน่าเชื่อของรัฐบาล ผมกับภริยาของท่านนายกฯ ไปเกี่ยวอะไรกับอุทยานราชภักดิ์ ผมจับได้ผมเอาหมด พวกนั่งเทียนเหล่านี้” พล.อ. ประวิตร กล่าว

สำหรับวาระอื่นๆ ที่น่าสนใจในการประชุม ครม. มีดังนี้

ไฟเขียวสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงิน 9.5 หมื่นล้าน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีระยะทาง 21.2 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งยกระดับ 9 กิโลเมตร ทางใต้ดิน 12.2 กิโลเมตร วงเงินรวม 9.5 หมื่นล้านบาท

“หากรถไฟฟ้าสายสีส้มในช่วงนี้เปิดให้บริการ คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 1.1 แสนคนต่อวัน หากเปิดครบทั้งสาย คือตั้งแต่ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 5 แสนคนต่อวัน”

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการว่า ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม อยากให้พยายามใช้วัสดุภายในประเทศ ให้เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในคลัสเตอร์ต่างๆ รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการของเอสเอ็มอีด้วย

ตั้ง กบพ. ดูอุตสาหกรรมในเขต ศก.พิเศษ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กบพ.) โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่งอีก 20 คน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ จะแต่งตั้งอีก 5 คน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่ง กบพ. จะมาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของ คสช. ที่มี พล.อ. ประวิตร เป็นประธาน เช่นกัน

ทั้งนี้ เดิมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษมีคณะกรรมการดูแล 3 ระดับ

  1. ระดับนโยบาย มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีนายกฯ เป็นประธาน
  2. ระดับบริหาร มีคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) มีรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมาย เป็นประธาน
  3. ระดับขับเคลื่อน มีคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ของ คสช. ที่มี พล.อ. ประวิตร เป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การลงทุนภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีนายกฯ เป็นประธาน

“เมื่อจัดตั้ง กบพ. ขึ้นใหม่ จะต้องยุบคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ของ คสช. ออก แล้วยกระดับคณะกรรมการชุดนี้เป็นระดับบริหาร ซึ่งต้องทำงานร่วมกับ กอช. ด้วย และได้ทำการแบ่งหน้าที่ดูแลอุตสาหกรรมให้ชัดเจนขึ้น โดย กอช. กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมทั่วไป ส่วน กบพ. กำกับดูแลอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

รับทราบญี่ปุ่นเข้าถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน 3 ชาติ พัฒนา “ทวาย”

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบการเข้าร่วมทุนของญี่ปุ่นในบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ รวมทั้งเห็นชอบในร่างสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ ฉบับที่ 2 ซึ่งจะมีการลงนามระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ไทย-พม่า-ญี่ปุ่น โดยจะมีการลงนามในสัญญาระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงเพื่อพัฒนาโครงการทวาย (JHC) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 14 ธันวาคม 2558

“เรื่องนี้เป็นผลจากการเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ได้มีการหารือประเด็นดังกล่าวกับรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเขาให้ความสนใจและตัดสินใจร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในพม่า โดยจะเข้าร่วมในการบริหารโครงการผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ซึ่งไทยกับพม่าได้จัดตั้งขึ้นภายใต้ชื่อ บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ถือหุ้นฝ่ายละ 50% วงเงินลงทุนไม่เกินฝ่ายละ 100 ล้านบาท โดยเมื่อญี่ปุ่นได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมใน SPV สัดส่วนการถือหุ้นจึงเปลี่ยนเป็นประเทศละ 33.33% และกำหนดวงเงินลงทุนใน SPV ประเทศละ 100 ล้านบาทเท่าเดิม” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

แจงควบรวม 2 บริษัททางด่วน “BMCL-BECL” ไม่กระทบประชาชน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบการโอนสัมปทานและแก้ไขสัญญาสัมปทานในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาการลงทุนออกแบบก่อสร้างบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษาโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กทม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ไปยังบริษัทใหม่ ที่เกิดจากการควบรวมระหว่าง BECL กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL คือ “บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” หรือ BEM

“เหตุผลที่ต้องเสนอให้ ครม. รับทราบ ก็เนื่องมาจากมีข้อสงสัยว่า การที่ BECL ซึ่งมี กทพ. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นอยู่ด้วย ไปควบรวมกับ BMCL จะทำให้รัฐได้หรือเสียประโยชน์ และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลการตรวจสอบสัญญาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า การควบรวมครั้งนี้ไม่กระทบต่อการบริหารสัญญาสัมปทานของรัฐ และไม่กระทบต่อค่าโดยสารซึ่งยังคิดในอัตราเดิม เรื่องนี้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ควักงบกลาง 700 ล้านช่วยภัยแล้ง – หนุนดอกเบี้ยปล่อยกู้ชาว “ยาง-มันสำปะหลัง”

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบเบิกจ่ายงบกลาง วงเงินกว่า 700 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2558/2559 โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ส่งเสริมการปลูกพืชโดยใช้น้ำน้อย และระยะที่ 2 จัดหาอาชีพอื่นนอกภาคเกษตรกรรม

ที่ประชุมยังอนุมัติให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรและชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม โดยมีกรอบวงเงิน 5 พันล้านบาท ปล่อยกู้ให้ได้ครัวเรือนละไม่เกิน 1 แสนบาท ระหว่างปี 2559-2562 โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี และค่าบริหารจัดการอื่นๆ ตลอดโครงการ รวมเป็นเงิน 625 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลัง รวม 3 โครงการ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี รวมเป็นเงิน 369 ล้านบาท

ฟรีค่าทางด่วน 11 ธ.ค. รับกิจกรรม “ไบค์ ฟอร์ แดด”

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมแจ้งมาว่าจะมีการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษให้กับทางด่วน 2 สาย ในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ (Bike for Dad) ประกอบด้วย 1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางพิเศษสายดินแดง–ท่าเรือ สายบางนา–ท่าเรือ และสายดาวคะนอง–ท่าเรือ) และ 2. ทางพิเศษศรีรัช (ทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ–บางโคล่ และสายพญาไท–ศรีนครินทร์) ระหว่างเวลา 9.00–23.00 น.

“ประยุทธ์” ลั่นกลาง ครม. ปมราชภักดิ์ “ไม่แบกใครไว้บนบ่า”

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงถึงเสียงวิจารณ์เรื่องการควบคุมตัวกลุ่มนักศึกษาที่จะเดินทางไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อุทยานราชภักดิ์ว่า ตนจะขอพูดถึงเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้าย นายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า เหตุที่ฝ่ายความมั่นคงไม่อนุญาตให้นักศึกษากลุ่มนี้ไปยังอุทยานราชภักดิ์ ไม่ใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นเพราะท่าทีของกลุ่มนักศึกษานี้ไม่ใช่ไปเพื่อตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบต้องใช้เอกสาร แต่ไปเพื่อจัดอีเวนต์ทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ กฎหมายห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนยังมีผลบังคับใช้อยู่ รัฐบาลเป็นห่วงอนาคตของนักศึกษากลุ่มนี้ เพราะหากมีคดีความติดตัวไปอาจส่งผลต่ออนาคต ทั้งนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบการปล่อยข่าวผ่านโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโยงครอบครัวของบุคคลสำคัญในรัฐบาลกับโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ พร้อมระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ

“ขณะนี้กระทรวงกลาโหมกำลังตรวจสอบโครงการนี้อยู่แล้ว และในอนาคตก็อาจจะมีหน่วยงานอื่น เช่น สตง. หรือ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบอีก ซึ่งหากพบว่าผู้ใดกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ก็ต้องรับผลจากการกระทำนั้นๆ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องไปแบกภาระใครไว้บนบ่า เพราะขณะนี้เราอยู่ระหว่างขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเหลือระยะเวลาตามโรดแมปเพียง 17-18 เดือนเท่านั้น” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

โฆษก รบ. แจง “กม.จีเอ็มโอ” ยังเหลือการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวชี้แจงถึงเสียงวิจารณ์เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ว่า กระบวนการออกกฎหมาย ไม่ใช่แค่ผ่าน ครม. แล้วจะออกมาบังคับใช้ได้เลย ยังต้องมีการตรวจแก้โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งเข้าไปพิจารณาในที่ประชุม สนช. อีก 3 วาระ บางกฎหมายใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ปี และเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. นี้ยังไม่ได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการทำจีเอ็มโอ แต่เป็นการกำหนดกติกาหรือหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ว่าจะควบคุมการตัดต่อพันธุกรรมในพืชและสัตว์อย่างไร

“ในร่าง พ.ร.บ. นี้ มีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ ไว้อย่างละเอียดยิบ ว่ากว่าจะนำสินค้าจีเอ็มโอมาขายได้ จะต้องผ่านการทดสอบในห้องแล็บ และผ่านการทดสอบภาคสนาม ที่มีการประเมินผลกระทบต่อคนและสัตว์เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการ ยังมีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้อย่างเข้มงวด จนทำให้ไม่สามารถรับเงินใต้โต๊ะได้” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว