ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 ตุลาคม 2558: “ปลด ‘สมชัย’ ผอ.ไทยพีบีเอส เจ้าตัวลั่น ฟ้องศาลปกครอง” และ “‘ยิ่งลักษณ์’ จดหมายขอความเป็นธรรมจากนายกฯ – ‘บิ๊กป้อม’ โต้ ไม่ได้กลั่นแกล้ง”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 ตุลาคม 2558: “ปลด ‘สมชัย’ ผอ.ไทยพีบีเอส เจ้าตัวลั่น ฟ้องศาลปกครอง” และ “‘ยิ่งลักษณ์’ จดหมายขอความเป็นธรรมจากนายกฯ – ‘บิ๊กป้อม’ โต้ ไม่ได้กลั่นแกล้ง”

17 ตุลาคม 2015


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 ตุลาคม 2558

-ปลด “สมชัย” ผอ.ไทยพีบีเอส เจ้าตัวลั่น ฟ้องศาลปกครอง
-ไม่พอใจ ตร. เกินกว่าเหตุ ม็อบฮือล้อมเผาโรงพักถลาง
-ลุย สสส. เบรกจ่ายไม่ตรงวัตถุประสงค์ – หมอกฤษดาลาออก เปิดทาง คตร. ตรวจสอบโปร่งใส
-มติ ป.ป.ช. “บิ๊กติ๊ก” ไม่จงใจยื่นบัญชีเท็จ
-“ยิ่งลักษณ์” จดหมายขอความเป็นธรรมจากนายกฯ – “บิ๊กป้อม” โต้ ไม่ได้กลั่นแกล้ง

ปลด “สมชัย” ผอ.ไทยพีบีเอส เจ้าตัวลั่น ฟ้องศาลปกครอง

ที่มาภาพ: เว็บไซต์แนวหน้า http://www.naewna.com/business/183021
ที่มาภาพ: เว็บไซต์แนวหน้า http://www.naewna.com/business/183021

หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในวันที่ 9 ก.ย. 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มีมติเลิกจ้าง นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ทำให้รองผู้อำนวยการทั้ง 3 คน คือ นายมงคล ลีลาธรรม, นายสุพจน์ จริงจิตร, นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ พ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย)

เวลาต่อมา วันที่ 13 ต.ค. บีบีซีไทย รายงานข่าวการสัมภาษณ์นายสมชัยต่อกรณีดังกล่าวว่า นายสมชัย ชี้แจงถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในการเลิกจ้างคือไม่ปฏิบัติตามนโยบาย และไม่ปฏิบัติตามระเบียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของการอนุมัติโครงการที่มีงบประมาณมากกว่า 50 ล้านถึง 4 ครั้ง ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นกระบวนการที่มีการรับรู้และตรวจสอบมาโดยตลอด เพื่อให้เป็นตามเงื่อนไขของการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไม่เช่นนั้นก็จะเนิ่นนานไม่เป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนดและถูกปรับเรียกค่าเสียหาย อีกทั้งกระบวนการอนุมัติงบประมาณภายใต้การอำนวยการของตนเองก็ได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

อีกส่วนหนึ่งคือเรตติ้งของสถานี ซึ่งเขาเห็นว่าต้องไม่ติดกับดักเรตติ้งในแบบเดิม เพราะไทยพีบีเอสกำลังปรับตัวสู่พื้นที่และรูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเชียลมีเดีย

ส่วนความขัดแย้งภายในนั้นเขาเห็นว่าเป็นความขัดแย้งเนื่องจากยืนอยู่บนหลักการทำงานคนละตำรา ขณะที่ยังเชื่อว่าไม่มีการกดดันจากภายนอกหรือผู้มีอำนาจรัฐแต่อย่างใด

อดีต ผอ. ไทยพีบีเอสระบุว่า เขายังคงมีความเป็นห่วงต่อสิ่งที่ท้าทายการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งนี้ ซึ่งเรื่องหนึ่งคือการดำรงหลักการทำงานตามวิชาชีพ และโครงการพัฒนาสถานีแห่งนี้ที่ยังคงต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและไม่ควรสะดุดหยุดลงเพราะการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหาร

ทั้งนี้ นายสมชัยจะร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองต่อไป

ไม่พอใจ ตร. เกินกว่าเหตุ ม็อบฮือล้อมเผาโรงพักถลาง

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/531471
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/531471

11 ต.ค. เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ตำรวจ สภ.ถลาง จับยาบ้า ขับรถตราโล่ ไล่ล่า จยย.ต้องสงสัยพลิกคว่ำ ผู้ขับขี่ จยย.เสียชีวิต2 ญาติผู้ตายและเพื่อนกว่า 100 ข้องใจลุกฮือล้อมโรงพัก เหตุบานปลาย เผาโรงพัก-รถ6คัน ขอกำลังเสริม เข้าระงับเหตุที่ยืดเยื้อยาวนาน กว่า 15 ชม. ผบช.ทหารบก41 นำกำลังเข้าเจรจาต่อรอง สลายการชุมนุมก่อนรุ่งเช้า

ทั้งนี้ ทางเว็บไซต์ไทยรัฐได้มีการรวบรวมลำดับเหตุการณ์ไว้ดังนี้

วันที่ 10 ต.ค. 58

เวลา 11.20 น. ร.ต.อ.หญิงณัฐธยาน์ สุพรรณพงศ์ พนักงานสอบสวน สภ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้ง มีชายวัยรุ่น 2 คนได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชนและต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เหตุเกิดบริเวณ ถนนน้ำตกโตนไทร ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง ทราบชื่อ นายเอ (นามสมมติ) อายุ 22 ปี และชายวัยรุ่นอีกคน สวมเสื้อยืดแขนยาวสีเหลืองดำ กางเกงยีนส์ขาสามส่วนสีน้ำเงิน สภาพหูซ้ายขาด มีเลือดไหลออกจากจมูกและปาก ทราบชื่อ นายบี (นามสมมติ) อายุ 17 ปี โดยมีญาติพี่น้องและกลุ่มวัยรุ่นยืนรอดูเหตุการณ์หน้าห้องฉุกเฉินจำนวนมาก ขณะเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สภ.ถลาง จะเข้าไปดูศพ แต่บรรดาญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตตรงเข้าโวยวายเนื่องจากผู้ตายทั้ง 2 คนถูกรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ถลาง ชนจนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ชีวิต

เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ถลาง เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ถลาง ขับรถกระบะอีซูซุ ทะเบียนตราโล่ 40310 ขับไล่ติดตามรถจักรยานยนต์ ทะเบียนป้ายแดง 19-764 บริเวณถนนน้ำตกโตนไทร กระทั่งเกิดเฉี่ยวชนรถตำรวจทำให้ร่างของนายเอและนายบี กระเด็นไปกระแทกพื้นถนน จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในจุดเกิดเหตุ พบกระเป๋าสะพายหนังสีน้ำตาล ภายในมียาบ้าสีส้ม บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน

เวลา 15.00 น. ญาติผู้ตายทั้ง 2 คนเริ่มทยอยเดินทางมารวมตัวกันยัง สภ.ถลาง เนื่องจากไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้เรียกร้องให้ ผู้กำกับโรงพัก นำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายซึ่งปฏิบัติหน้าที่ไล่ล่าจับกุมผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน

เวลา 16.30 น. ได้มีประชาชนชายหญิงนับร้อย เดินทางมารวมตัวเรียกร้องให้นำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ถลาง ที่ขับรถกระบะตราโล่ชนวัยรุ่นในพื้นที่เสียชีวิตถึง 2 ศพออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ตพร้อมด้วยรอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ได้เรียกประชุมสรุป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 3 สภ.ถลาง

เวลา 18.30 น. บรรยากาศการชุมนุมด้านหน้า สภ.ถลาง เริ่มคุกรุ่น ผู้ชุมนุมไม่สามารถรอคำตอบจาก ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต หรือนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง จึงรวมตัวกันปิดถนนเทพกระษัตรีด้านหน้า สภ.ถลาง ทั้งขาเข้าและขาออก ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นทางยาว โดยเฉพาะรถบัสที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติมาจากสนามบินภูเก็ต เพื่อมุ่งหน้าไปยังโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.ภูเก็ต ต่างค้างอยู่กลางถนน กลุ่มผู้ชุมนุมนำเต็นท์ออกมากลางปิดถนนขาเข้าเมือง ส่วนขาออกนอกเมืองได้ใช้ราวเหล็กของตำรวจมาปิดกั้นไม่ให้รถทุกชนิดผ่านไปมา

เวลา 21.00 น. สถานการณ์ยังคงตึงเครียด ถนนยังคงถูกปิด การจราจรทุกเส้นทางหน้า สภ.ถลาง ไม่สามารถใช้การได้ รถทุกคันจอดนิ่งสนิท ผู้ชุมนุมเริ่มเดินทางมารวมตัวมากยิ่งขึ้น การจราจรกลายเป็นอัมพาต รถติดเป็นทางยาวนับกิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.ถลาง ต้องเร่งระบายการจราจรเป็นการด่วน

เวลา 21.30 น. เหตุการณ์ย่ำแย่กว่าเดิม เนื่องจากไม่มีนายตำรวจออกมาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม บรรยากาศเต็มไปด้วยอารมณ์ กระทั่ง พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ออกมาเจรจาพูดคุยกับกลุ่มชุมนุม แต่ไม่เป็นผล การชุมนุมกลับยิ่งวิกฤติกว่าเดิม

เวลา 21.48 น. เริ่มมีการใช้ของแข็งขวางปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมไปถึงการจุดประทัด ขวางปาไข่ใส่ สภ.ถลาง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องล่าถอยเข้าไปยังภายใน สภ.ทั้งรอง ผวจ.ภูเก็ต ปลัดจังหวัด นายอำเภอถลาง รอง ผบก.ภ.จว และสื่อมวลชนบางส่วนถูกปิดล้อมจากกลุ่มผู้ชุมนุม สลับกับการถูกขว้างปาสิ่งของใส่อาคาร สภ.เป็นระยะๆ

เวลา 22.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มจุดไฟเผารถส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยใช้น้ำมันเบนซินบรรจุใส่ขวดแก้วแล้วใช้เศษผ้าเป็น ชนวนที่ปากขวด เพื่อทำเป็นระเบิดเพลิงขวางใส่รถเก๋ง รถกระบะและรถตู้ที่เป็นของประชาชน ตำรวจและของทางราชการที่จอดอยู่ภายใน สภ.จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามสลับกับเสียงระเบิดจากล้อรถและน้ำมัน รวมไปถึงแก๊สที่มีการติดตั้งอยู่ในรถเสียงดังสนั่น เบื้องต้นรถยนต์ได้เสียหายจำนวน 2 คัน

เวลา 22.40 น. เหตุเพลิงไหม้เริ่มลุกลามใหญ่โต เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอกำลังรถดับเพลิงเข้าฉีดสกัดเพลิงไหม้ แต่เมื่อรถดับเพลิงมาถึงที่เกิดเหตุ ไม่สามรถเข้ามาฉีดสกัดได้ เพราะมีกลุ่มผู้ชุมนุมขวางทางอยู่

เวลา 23.20 น. เหตุการณ์บานปลายกว่าเดิม หลังพบรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 6 คัน ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเผาเรียบ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาพูดคุยกับกลุ่ม ชุมนุม ทำให้มีการขวางปาระเบิดเพลิง-ของแข็งที่หาได้บริเวณใกล้เคียงปาใส่กระจก สภ.แตกเสียหาย สลับกับปาระเบิดเพลิงเข้าไปภายในอาคาร โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซุ่มอยู่ภายในคอยฉีดน้ำยาดับเพลิง เพื่อไม่ให้เพลิงลุกลามเผาไหม้ข้าวของภายใน สภ.จนมีการปาระเบิดเพลิงเข้าเผาอาคารชั้นเดียวใกล้อาคาร สภ.จนเกิดเพลิงไหม้วอดเกือบทั้งหลัง

เวลา 23.25 น. ได้มีการขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลภูธรภาค 8 จำนวน 1 กองร้อย เข้าระงับเหตุการณ์ แต่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดได้

วันที่ 11 ต.ค. 58

เวลา 00.00 น. ได้มีคำสั่งย้ายด่วน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 8 นาย ที่เข้าเวรขับรถไล่ล่าจนเกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ พร้อมขอกำลังเสริมจากภายนอกเข้าช่วยเหลือนำตัวผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากบริเวร สภ.ถลาง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้อ้อมไปด้านหลังโรงพักพร้อมจุดไฟเผา

เวลา 01.00 น. ยังมีเสียประทัดดังอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์บานปลาย กลุ่มผู้ชุมนุมยังปักหลักก่อเหตุ กำลังตำรวจเริ่มเข้าพื้นที่ ควบคุมเหตุการณ์ได้ส่วนหนึ่ง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ล่าถอย จุดประทัดดังก่อกวนเป็นระยะ

เวลา 03.00 น. พล.ต.ธีร์ณฉัฏฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมลฑลทหารบกที่ 41 จ.นครศรีธรรมราช พร้อมกำลัง สห.-ทหารจำนวนหนึ่งเข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณหน้า สภ.ถลาง เพื่อขอนัดพุดคุยกับญาติผู้เสียหายอีกครั้งในช่วงสายวันเดียวกันนี้ พร้อมสั่งให้สลายการชุมนุมไปก่อน เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยใช้เวลาราว 30 นาที

เวลา 03.45 น. กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นญาติผู้เสียหายและเพื่อนๆ ตลอดจนกลุ่มผู้ไม่พอใจ ได้มีข้อตกลงกันว่าจะต้องนัดพูดคุยกัน โดยนำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก่อเหตุมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่ศาลาอเนกประสงค์ โรงเรียนวัดบ้านดอน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เมื่อมีบทสรุปดังนี้ สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชุมนุมและยอมสลายตัว

เวลา 03.55 น. ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังจะสลายตัวได้มีชาวบ้านตะโกนบอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรุมตีประชาชนที่แยกบ้านเคียน ห่างจากจุดชุมนุมราว 300 เมตร ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมนับร้อยต่างกรูเข้าไปตรวจสอบ แต่กลับพบเพียง เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งกรูใช้ของแข็งนานาชนิดขว้างปาใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ ซึ่งตำรวจบางนายถูกรุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ เช่น ศีรษะแตก ตามร่างกายมีบาดแผลแตกและถลอกจากการหกล้มในช่วงวิ่งหนี เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีเพียงโล่กำบัง ไม่มีอาวุธ

เวลา 04.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมต่างขยับตัวมาบริเวณหน้าห้าง แม็คโคร เนื่องจากบริเวณลานจอดรถมีรถตำรวจจอดอยู่หลายคัน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมคิดว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนี้อาจมีคนที่ขับรถชนผู้ตายปะปนอยู่ แต่ ผบช.มณฑลทหารบกที่ 41 จ.นครศรีธรรมราช และ สห.ได้เข้าห้ามปรามไว้พร้อมกับให้สลายตัว เหตุการณ์จึงจบลงและแยกย้ายกันกลับบ้านในที่สุด โดยในช่วงสายวันนี้จะมีการนัดพูดคุยกัน ที่ศาลาอเนกประสงค์ โรงเรียนวัดบ้านดอน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง

ต่อมา ในวันที่ 12 ต.ค. 2558 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าจะต้องดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุจลาจลหน้า สภ.ถลาง จังหวัดภูเก็ตอย่างแน่นอน ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งขณะนี้ทราบข้อมูลของแกนนำและกลุ่มผู้ก่อเหตุแล้วทุกคน แต่จะเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองหรือไม่ยังไม่สามารถระบุได้ โดยเจ้าหน้าที่จะยึดกรอบกฎหมายเป็นหลัก และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ซึ่งมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ รวมไปถึงมาตรา 44 รองรับอยู่แล้ว โดยอยากให้กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์

ลุย สสส. เบรกใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ – หมอกฤษดาลาออก เปิดทาง คตร. ตรวจสอบโปร่งใส

ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444540882
ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444540882

11 ต.ค. 2558 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.อ. ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าจากกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ คตร.เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ได้รายงานผลสอบกับนายกฯ ไปแล้ว ในนามหัวหน้า คสช. ซึ่งพบการใช้งบประมาณส่วนหนึ่ง ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยนายกฯ สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขไปดูเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบพบว่า ระยะหลังการเปิดจ่ายงบประมาณพบว่า มีการเบิกจ่ายให้บุคคลและกลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆ โดยการดำเนินการอนุมัติกองทุนดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงโดยชัดเจน ที่สำคัญยังเป็นภาษีจากเหล้าและบุหรี่ และวัตถุประสงค์กองทุนนี้คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนงดการสูบบุหรี่และงดดื่มเหล้า เพื่อทำให้สุขภาพประชาชนแข็งแรง หรือการดำเนินการกิจกรรมอะไรที่จะทำให้ร่างกายประชาชนแข็งแรง แต่บางกิจกรรมไม่ส่งผลโดยตรงให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง

พล.อ. ชาตอุดม กล่าวว่า โดยนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดู จัดทำให้ถูกต้องสอดคล้องวัตถุประสงค์กองทุน อยากให้ประชาชน ชุมชน มีผู้รายได้น้อยมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรค ถ้าไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่มีเงิน การที่จะทำหรือร่วมกิจกรรมที่จะทำให้เขามีสุขภาพแข็งแรง หรือไม่มีกิจกรรมอะไรเสริม ช่วยคนเหล่านี้ก็จะทำให้ประชาชนเจ็บป่วย ตรงนั้นต้องเสียเงินอีกส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งเท่าที่ทราบ รมว.สาธารณสุขได้มีการตั้งคณะทำงานดูแลในส่วนนี้แล้ว

ส่วนการใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์นอกจากเข้าไปปรับปรุงระบบแล้วต้องมีการตรวจสอบเรื่องของการทุจริตหรือไม่ พล.อ. ชาตอุดม กล่าวว่าต้องดูด้วย ซึ่งตรงนี้นายกฯ ได้สั่งให้กระทรวงยุติธรรมลงไปดูการอนุมัติงบประมาณส่วนที่พบไม่ตรงตามวัตถุประสงค์แล้ว ซึ่งส่วนนี้ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เข้าไปดูตรงนี้ ที่มีเอกสารการเซ็นอนุมัติที่ต้องบอกการหละหลวมการเบิกจ่ายเงิน ขอเรียนว่าเป็นเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่ ซึ่งถามว่ามันไม่ได้มาจากงบประมาณโดยตรง เป็นลักษณะเงินนอกงบประมาณ ก็ต้องดำเนินการในส่วนนี้ ไม่ใช่ปล่อยทำกันทำตามสะดวก ต้องมีกรอบ และที่ผ่านมาก็มีการให้ สตง. เข้าไปดูตรงนี้ พบในสิ่งที่ไม่ถูกต้องบางส่วน แต่ผมคงไม่บอกว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด นายกฯ อยากทำตรงนี้ให้ถูกต้องและโปร่งใส ซึ่งในส่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุขรับไปดูรายละเอียด และ คตร.จะเข้าไปช่วยดู กำกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้อยู่ในกรอบให้ตรงตามวัตถุ

เมื่อถามว่า ต้องชะลอการใช้งบประมาณของ สสส. ก่อนหรือไม่ พล.อ. ชาตอุดม กล่าวว่า นายกฯ ให้เบรกการใช้งบฯ ในส่วนที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ อะไรที่ สสส. ทำตรงตามวัตถุประสงค์ก็ให้เดินต่อ อะไรไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ให้หยุดไว้ก่อน แต่ไม่ใช่ให้หยุดทั้งหมด

ต่อมา วันที่ 16 ต.ค. 2558 เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ทพ.กฤษดา เรื่องอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ได้แถลงลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแสดงความโปร่งใสและเปิดทางให้ตรวจสอบอย่างเต็มที่ ทั้งยังกล่าวว่า การลาออกครั้งนี้ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการที่ คตร. ตรวจสอบพบ สสส. ใช้งบไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นการตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่ได้ปรึกษาใคร ซึ่ง สสส. เป็นต้นแบบของความโปร่งใส ในเมื่อมีคำถามในสังคม และเพื่อความสบายใจและเป็นมาตรฐานของสังคมควรจะลาออก ไม่เกี่ยวกับการตรวจสอบ เพราะในรายงาน คตร. ไม่มีเรื่องการทุจริตเลย สำหรับการชี้แจงการดำเนินงานของ สสส. ต่อ คตร. บอร์ด สสส. จะเป็นผู้แต่งตั้งคนไปชี้แจงแทน

มติ ป.ป.ช. “บิ๊กติ๊ก” ไม่จงใจยื่นบัญชีเท็จ

 ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407140338

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407140338

14 ต.ค. 2558 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวันว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณากรณี พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกลาโหม ช่วงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ระบุในเอกสารแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหน้าหลักว่ามีเงินฝาก 5 บัญชี มูลค่า 42,051,468 บาท นางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ไม่มีเงินฝาก แต่กลับระบุในหน้ารายละเอียดว่ามีเงินฝาก 10 บัญชี มูลค่า 89,418,876 บาท เป็นของ พล.อ. ปรีชา 5 บัญชี มูลค่า 42,051,468 บาท และบัญชีนางผ่องพรรณ 5 บัญชี มูลค่า 46,995,296 บาท ขณะเดียวกัน พล.อ. ปรีชา ระบุบัญชีเงินฝากกองทัพภาคที่ 3 ไว้ในเอกสารประกอบ แต่ไม่ได้ระบุไว้ในหน้าหลัก รวมถึงขณะนั้น พล.อ. ปรีชา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ. แล้วด้วยนั้น

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การตรวจสอบ พล.อ. ปรีชา มิได้แสดงรายการเงินฝากคู่สมรสไว้ในหน้าหลักแต่ระบุไว้ในหน้าที่ต้องแนบท้ายรายละเอียด และแนบเอกสารประกอบเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากของคู่สมรสมาด้วย จึงมิได้เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิด ส่วนกรณีเงินฝากของกองทัพภาคที่ 3 พล.อ. ปรีชา แสดงบัญชีเงินฝากของหน่วยงานซึ่งมีอำนาจสั่งจ่ายเพื่อใช้ในกิจการราชการ แต่ไม่ใช่บัญชีเงินฝากของผู้ยื่นมาในเอกสารประกอบนั้น มิได้แสดงในรายการทรัพย์สินว่าเป็นทรัพย์สินประเภทเงินฝากของ พล.อ. ปรีชา แต่อย่างใด จึงถือว่าผู้ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินถูกต้องแล้ว และตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินถูกต้องและมีอยู่จริงตามที่ผู้ยื่นได้แสดง

นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่ากรณี พล.อ. ปรีชา ไม่ระบุรายการเงินฝากของคู่สมรสไว้ในเอกสารหน้าหลักนั้น ไม่ได้เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามมาตรา 34 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ส่วนกรณีเงินฝากของกองทัพ พล.อ. ปรีชา แสดงบัญชีเงินฝากของหน่วยงานซึ่งมีอำนาจสั่งจ่ายเพื่อใช้ในกิจการของราชการไว้ในเอกสารประกอบ มิได้แสดงในรายการทรัพย์สินว่าเป็นทรัพย์สินประเภทเงินฝากของตนแต่อย่างใด จึงถือได้ว่า พล.อ. ปรีชา ได้แสดงรายการทรัพย์สินถูกต้องแล้ว

“ยิ่งลักษณ์” จดหมายขอความเป็นธรรมจากนายกฯ – “บิ๊กป้อม” โต้ ไม่ได้กลั่นแกล้ง

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเพจ Yingluck Shinawatra https://goo.gl/Enybjb
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเพจ Yingluck Shinawatra https://goo.gl/Enybjb

12 ต.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและรมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความช่วงเช้านี้ ระบุว่า

“จดหมายเปิดผนึก เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี

ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงท่าน เพราะดิฉันไม่มีโอกาสได้พบและติดต่อใดๆ กับท่านมานับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ท่านได้เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 1 ปีเศษแล้ว ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ดิฉันได้ถูกดำเนินการในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับ “นโยบายรับจำนำข้าว” ดังนี้

1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการถอดถอนดิฉันออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีอยู่และรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงแล้ว

2. มีการแถลงสั่งฟ้องคดีดิฉันต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติถอดถอนดิฉันเพียง 1 ชั่วโมง

ทั้ง 2 กรณี ท่านอาจจะกล่าวได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับท่านโดยตรง เพราะเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัยการสูงสุด และของศาลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่ดิฉันจะกล่าวต่อไปนี้ล้วนเกี่ยวกับตัวท่านโดยตรงทั้งสิ้น คือ

การดำเนินการให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่งต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ที่ท่านออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2558 และท่านยืนยันว่า “ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากผิดก็มีกลไกอยู่แล้ว เรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่ง และยืนยันใช้มาตรฐานเดียวกับทุกพวกทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ”

ดิฉันคาดหวังว่า ท่านคงต้องให้นโยบายต่อคณะกรรมการฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยไม่ละเลยประเด็น “ความยุติธรรม” ตามกลไกของระเบียบที่มีอยู่อย่างไม่เร่งรีบและไม่รวบรัด ให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม

ตามที่ปรากฏต่อสาธารณะโดยทั่วไปว่าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลของท่าน มีความหนักใจที่รัฐต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นจำนวนมาก แต่ในอดีตที่ผ่านมาถือได้ว่า “ศาล” เป็น “กลไกตามกระบวนการยุติธรรม” เพื่อการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง ซึ่งต้องใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต

แต่ฝ่ายกฎหมายของท่านกลับ “พลิกมุมกฎหมายและกลไก” ในการเรียกค่าเสียหายใหม่ โดยหากพบว่ามีความผิด รัฐจะไม่ฟ้อง แต่ใช้วิธีให้ท่านออกคำสั่งทางปกครอง (โดยไม่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี) สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชำระหนี้เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์ เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมในการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเท่ากับว่าท่านได้ใช้อำนาจหน้าที่ของท่านเสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาล เป็นกลไกในการชี้ถูกผิดว่าจะให้ผู้ใดรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อการดำเนินนโยบาย รับจำนำข้าว ทั้งที่การพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น

ดิฉัน เห็นว่าเรื่องที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างตัวของดิฉันในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยดูแลการแก้ปัญหาสินค้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม มีกลไกบริหารนโยบาย คือ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมีท่านเป็นประธาน

อย่างไรก็ตามที่ดิฉันเสนอว่าควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณานั้น เพราะดิฉันเห็นว่าทุกคนควรได้รับ“หลักประกันแห่งความยุติธรรม” ที่จำต้องมี เพราะการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเป็นการกระทำทางการบริหารตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันกับส่วนราชการหลายส่วนที่ต้องปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสและคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ท่านในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว และในฐานะนายกรัฐมนตรี” ที่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาในเรื่องข้าวในขณะนี้ ซึ่งอาจเห็นแตกต่างกันในเชิงนโยบายและกลไกในการบริหารนโยบายในเรื่องข้าวในอดีต ที่ในสมัยรัฐบาลดิฉันได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวไป จึงมิใช่ “ผู้ที่เป็นกลาง” แต่เป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” เพราะเห็นต่างกันในนโยบายการแก้ปัญหาในเรื่องข้าว ดังนั้นการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้ตัดสินความถูกผิดโดยการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระค่าเสียหายทั้งๆที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน ถือเป็นการขัดต่อ “หลักนิติธรรม”อย่างยิ่ง

ดิฉันจึงเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ดิฉันขอให้ท่านควรจะได้มีการดำเนินการดังนี้

1. พิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินการใดๆ ที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเสนอ และดำเนินการให้ท่านใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวในปัจจุบัน ลงนามทำคำสั่งทางปกครองใดๆ อันขัดต่อหลักความเป็นกลาง และเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อมีคำสั่งให้บุคคลใดชำระหนี้ค่าเสียหาย อันเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าว ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แทนการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล

2. ภายหลังการสอบสวนโดยกระบวนการสอบสวนที่ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เสร็จสิ้น หากพบความเสียหาย รัฐเองควรให้หน่วยงานของรัฐฟ้องคดีต่อศาล เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านมีความยุติธรรมและเที่ยงธรรมต่อทุกคนที่ถูกกล่าวหา

3. การพิจารณาคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เสร็จสิ้น และอายุความในคดียังเหลือเวลาอีกนาน ตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลแถลง จึงไม่ควรเร่งรีบ รวบรัด ในการทำสำนวนการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิด ควรให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอ และเป็นธรรมต่อดิฉัน ซึ่งดิฉันได้มีหนังสือหลายฉบับมายังท่านและคณะกรรมการฯ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาและไม่แจ้งเหตุ ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงของหนังสือนั้นได้

ทั้งนี้ดิฉันได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นหนังสือถึงท่านในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล และหวังว่าเมื่อท่านได้รับหนังสือแล้ว ท่านคงจะไม่เพิกเฉย และจะได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม เพราะท่านได้ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ขอบคุณค่ะ
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรี
12 ตุลาคม 2558”

ต่อมา ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 58 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ทนายยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขอให้ใช้กระบวนการทางศาลเรียกค่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว แทนการออกคำสั่งทางปกครองว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง อะไรทำได้ก็ทำ อะไรทำไม่ได้ก็ไม่ทำ ซึ่งต้องดำเนินการในห้วงเวลา 2 ปี เพราะถ้าไม่เรียบร้อย รัฐบาลเองที่จะเดือดร้อน ยืนยันไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลจะไม่ให้ความเป็นธรรมได้อย่างไร