ThaiPublica > เกาะกระแส > คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (3): ความบกพร่องของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ-ความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎระเบียบ

คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (3): ความบกพร่องของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ-ความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎระเบียบ

15 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำวินิจฉัยการดำเนินการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไม่มีการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing: IUU) พร้อมทั้งแจกใบเหลืองให้ไทย ทางสหภาพยุโรปจึงมีหนังสือให้ไทยแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วด้วยการบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด หลายภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากยาแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรือประมงพาณิชย์หรือเรือประมงพื้นบ้าน แพปลา ตลาดปลา และภาครัฐเองก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานแก้ปัญหามีความหละหลวม

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 กรมประมงได้นำส่งรายงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขให้กับคณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณา ก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะมาตรวจการบ้านว่าประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขตามที่ได้แจ้งมาหรือไม่ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีคำตอบว่าประเทศไทยสอบผ่านหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ปรากฏข้อมูลรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปในรายละเอียดว่าประเทศไทยได้ทำและไม่ได้ทำอะไรบ้าง ต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไม่มีการควบคุม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าขอนำเสนอรายละเอียดของหนังสือที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งต่อประเทศไทย โดยได้ลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดเป็นข้อๆตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันดังนี้

ในตอนที่ 2 ได้กล่าวถึงคำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (2) : เมื่อไทยถูกจับโกหก ทำรายงานเท็จ-หมกเม็ด ในตอนที่ 3 ความล้มเหลวในการให้ความร่วมมือและการบังคับใช้กฎระเบียบ IUU

……

3.2. ความล้มเหลวในการให้ความร่วมมือและการบังคับใช้กฎระเบียบ IUU

(54) ภายใต้มาตรา 31 (5) (a) คณะกรรมาธิการฯ ได้วิเคราะห์ความร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพความร่วมมือของประเทศไทยในการตอบสนองต่อปัญหา การให้ข้อมูลตอบกลับหรือตรวจสอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงแบบ IUU และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

(55) การให้ความร่วมมือถูกประเมินจากผลสำเร็จของความก้าวหน้าของประเทศไทย ในแต่ละปี

(56) หลังการตรวจเยี่ยม ในปี 2554 คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญชวนประเทศไทยทำงานร่วมกันในประเด็นการจัดการการทำประมงที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยเร่งด่วนในหลายประเด็น ดังต่อไปนี้ กรอบกฎหมายและการบริหารจัดการสำหรับการจัดการประมงที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน โดยการให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประมง ฉบับใหม่ และนำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมมาบรรจุไว้ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการนำบทบัญญัติหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการการประมงระหว่างประเทศและภูมิภาคมาบัญญัติไว้ในกฎหมายของไทยด้วย

คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญชวนให้ประเทศไทยพัฒนาแผนการลงโทษที่สอดรับและยับยั้งได้ โดยการบันทึกทะเบียนการละเมิดกฎหมายและการลงโทษ คณะกรรมาธิการฯ แนะนำให้มีการปรับปรุงแผนการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง เพื่อความแน่ใจในการควบคุมกองเรือประมงไทย และเรือประมงของประเทศที่สามที่เข้ามา (ขนถ่ายสินค้า-ผู้แปล) ในท่าเทียบเรือไทย การพัฒนาระบบการติดตามเรือประมง รวมทั้งแผนการตรวจสอบด้วย ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและแผนการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อการส่งออก (สินค้าประมง-ผู้แปล) ที่มีปลายทางในตลาดสหภาพยุโรป

(57) การตรวจเยี่ยมประเทศไทย ในปี 2555 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความก้าวหน้าในประเด็นความกังวลที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำในปี 2554 (ตามที่อธิบายไว้ในการบรรยายข้างต้น) ร่างพระราชบัญญัติกฎหมายการประมง และแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA-IUU) ยังเป็นเพียงฉบับร่างที่ไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการได้รับความเห็นชอบ (โดยรัฐสภา-ผู้แปล) ไม่มีพัฒนาการของแผนการตรวจสอบ ควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง (MCS) และยกเว้นการเพิ่มเติมการเชื่อมโยงระหว่างเอกสารการนำเข้าและใบรับรองการจับสัตว์น้ำของประเทศที่สามในขอบข่ายงาน ระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่นำไปใช้ไม่มีผลความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญให้สังเกตเห็นได้ จากรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ เมื่อพฤศจิกายน 2555 ที่กล่าวจะถึงดังข้อต่อไปนี้ เป็นเช่นเดียวกับที่คณะกรรมาธิการฯ พบในการตรวจเยี่ยมครั้งล่าสุด เมื่อสุดพฤศจิกายน 2557

ที่มาภาพ : http://www.greenpeace.org/africa/en/News/Blog/heres-how-well-eradicate-illegal-fishing-in-w/blog/49837/
ที่มาภาพ : http://www.greenpeace.org/africa/en/News/Blog/heres-how-well-eradicate-illegal-fishing-in-w/blog/49837/

(58) คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นสำหรับความร่วมมือ และการดำเนินการให้ถูกต้องตามรายงานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ประเทศไทยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ตอบกลับความคิดเห็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 โดยเน้นว่า การกระทำของไทยอ้างถึงการเริ่มดำเนินการในอนาคตโดยปราศจากรายละเอียดของวัตถุประสงค์ หรือระยะเวลาแล้วเสร็จ ไม่มีการดำเนินการหรือการแก้ไขในประเด็นปัญหาสำคัญที่ได้จากการตรวจเยี่ยมในปี 2554 และ 2555 อย่างเป็นรูปธรรม และยังคงไม่มีคำตอบในประเด็นคำถามเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประมง (โดยรัฐสภา-ผู้แปล) และการปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ

(59) ไทยตอบกลับ (คณะกรรมาธิการฯ-ผู้แปล) โดยส่งแผนปฏิบัติการว่าด้วยการปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสินค้าประมงที่นำเข้า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 แผนปฏิบัติการดังกล่าวมีการทำให้สมบูรณ์จากการประชุมทางเทคนิคเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำหนดไว้ว่าจะให้ความเห็นชอบกรอบกฎหมายใหม่ (กำหนดไว้ในปี 2556) และให้รายละเอียดวัตถุประสงค์ของโครงการทำประมงและตรวจสอบย้อนกลับที่ต่อเนื่อง

(60) การติดต่อกันครั้งต่อไปได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 โดยคณะกรรมาธิการฯ ขอเข้าตรวจเยี่ยมเพื่อติดตามผล (การดำเนินงานจากการ) ตรวจเยี่ยมในปี 2555 ผลการตรวจเยี่ยมในเดือนตุลาคม 2555 แสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานนับตั้งแต่ปี 2555 ไม่มีความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติการประมง ที่จะให้อำนาจในการดำเนินงานและการบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการการประมงและเครื่องมือในการตรวจสอบย้อนกลับไปบังคับใช้ ยังคงเป็นฉบับร่างที่มีกำหนดการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในเวลาใดเวลาหนึ่ง ในปี 2558 การใช้ระบบติดตามเรือ (VMS) ครอบคลุมจำนวนเรือน้อยลงกว่าในปี 2555 และการวิเคราะห์กระบวนการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำในประเทศไทย เน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมงแบบ IUU จะเข้าไปในตลาดสหภาพยุโรปได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขประเด็นปัญหาทั้งหมดที่คณะกรรมาธิการฯ ระบุไว้ในปี 2555 และไม่สามารถใช้อำนาจในเขตอำนาจตามกฎหมายของตนในการบริหารจัดการ การดำเนินการทางเทคนิคและสังคม เหนือกองเรือประมงของตน ตามมาตรา 94 ของอนุสัญญา UNCLOS

นอกจากนี้ยังไม่สามารถดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 24 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ในเรื่องการตรวจสอบ การควบคุม และการเฝ้าระวังกองเรือประมงของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการดำเนินงานในเรื่องระบบติดตามเรือ และการให้เรือประมงจัดทำสมุดปูมเรือ ได้เป็นผลสำเร็จ [ตามที่อธิบายไว้ในข้อ (36) ถึง (38) และ ข้อ (69) ถึง (74)]

(61) โดยรวม ทางการไทยให้ความร่วมมือและตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการขอข้อมูลหรือการตรวจสอบยืนยันทั้งจากประเทศสมาชิกและคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 17 (6) ของกฎระเบียบ (EC) No 1005/2008 แต่ความถูกต้องของการตอบสนองดังกล่าวถูกทำลายลงโดยความบกพร่องของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 3 (1) ของคำวินิจฉัยนี้ จุดอ่อนเหล่านี้มาจากการขาดความร่วมมือระหว่างทางการไทยกับประเทศที่สามที่เป็นรัฐเจ้าของธงซึ่งประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบ

(62) ภายใต้มาตรา 63 และ 64 ของอนุสัญญา UNCLOS รัฐชายฝั่งและรัฐเจ้าของธงควรให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในการจัดการสัตว์น้ำชนิดสายพันธุ์ที่ย้ายถิ่นอยู่ระหว่างเขตทางทะเลและสัตว์น้ำชนิดสายพันธุ์ที่อพยพย้ายถิ่นไกลอยู่เสมอ แผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ข้อ 28 และ 51 กำหนดข้อปฏิบัติและพื้นที่การทำงานที่รัฐชายฝั่งและรัฐเจ้าของธงควรแสวงหาความร่วมมือร่วมกัน รวมทั้งการพัฒนานโยบายร่วม กลไกในการแบ่งปันข้อมูลและการทำงานร่วมกันในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก บรรจง นะแสhttps://www.facebook.com/bnasae?fref=ts
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก บรรจง นะแสhttps://www.facebook.com/bnasae?fref=ts

(63) ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีการนำเข้าที่นำเข้าปลาทูน่า 800,000-850,000 ตันต่อปี (ข้อมูลปี 2551) เพื่อป้อนให้กับโรงงานแปรรูปมากกว่า 50 โรงงานซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแปรรูปปลาทูน่าร้อยละ 90 ของปลาที่นำเข้ามาจากมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันตก ส่วนที่เหลือมาจากมหาสมุทรอินเดียตะวันตก ตัวเลขเหล่านี้เน้นให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของไทยในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปที่ส่งไปยังยุโรป ดังนั้น จึงหมายความถึง ความสำคัญของความร่วมมือกับประเทศที่สามที่ประเทศไทยนำเข้าสินค้าประมงที่เป็นวัตถุดิบ

(64) นับตั้งแต่ปี 2553 ประเทศไทยมีการดำเนินการพิสูจน์ยืนยันใบนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สามที่เป็นรัฐเจ้าของธงเพียง 26 กรณีจากจำนวนหลายพันกรณี และมีเพียง 14 กรณีของการตรวจพิสูจน์ ที่ได้รับการตอบกลับจากประเทศที่สามที่เป็นรัฐเจ้าของธง การพิจารณาในประเด็นนี้ เน้นย้ำให้เห็นปัญหาที่ได้กล่าวไว้ในข้อ (51) และ (52) เกี่ยวใบรับรองการจับสัตว์น้ำของประเทศที่สาม คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถให้ความร่วมมือกับรัฐอื่นๆ ในการอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร โดยประการแรก ไม่มีการแสดงจุดติดต่ออย่างเป็นทางการเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐ และประการที่สอง ไม่มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงกับรัฐที่ประเทศไทยนำเข้าสินค้าประมงเพื่อการแปรรูป

(65) ในปี 2554 ประเทศไทยมีความตกลงทวิภาคีด้านการประมงกับประเทศพม่า เยเมน โอมาน อิหร่าน ปาปัวนิวกินี และบังกลาเทศ ในประเทศที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีเพียงความตกลงเดียวที่ยังคงมีผลบังคับมาจนถึงปัจจุบัน คือ ความตกลงกับบริษัทประมงเอกชนเฉพาะรายในปาปัวนิวกินี

(66) ในเดือนตุลาคมปี 2557 เรือประมงไทย 5 ลำ ถูกจับกุมในข้อหาทำการประมงผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะปาปัวนิวกินี กรณีดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 แต่กรมประมงของไทยชี้แจงว่า ไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้เน้นให้เห็นถึงความอ่อนแอในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่สามอื่นๆ แม้แต่กับประเทศที่มีความตกลงกันในระดับทวิภาคีก็ตาม

(67) ตามมาตรา 31 (5) (b) คณะกรรมาธิการฯ ได้วิเคราะห์การบังคับใช้มาตรการที่มีอยู่เพื่อป้องกันยับยั้งและกำจัดประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในประเทศไทย

(68) กฎระเบียบการขึ้นทะเบียนเรือและการออกอาชญาบัตรไม่มีความชัดเจน และความล้มเหลวในการปฏิบัติให้เป็นไปตามภาระผูกพันในการขึ้นทะเบียนเรือตามกฎหมายไทย ทางการไทยยังไม่มีวิธีการบังคับอย่างเพียงพอ สถานการณ์นี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการขาดความร่วมมือระหว่างผู้บริหารองค์กรเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเรือและอาชญาบัตร ซึ่งระบบเปิดโอกาสให้มีการทุจริต (ดังที่กล่าวไว้ในข้อ 35 และ 36) มาตรา 94 ของอนุสัญญา UNCLOS และข้อ 42 และ 43 ของแผนปฏิบัติการสากล NPOA-IUU ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงภาระผูกพันที่รัฐเจ้าของธงจะต้องควบคุมบันทึกการขึ้นทะเบียนเรือประมงของตน ในการนี้ คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาว่า ประเทศไทยไม่สามารถทำให้แน่ใจได้ว่าเรือที่ติดธงไทยได้รับการขึ้นทะเบียนและมีอาชญาบัตร และประเทศไทยไม่สามารถใช้มาตรการบังคับที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขสถานการณ์

(69) การประชุมในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญในประเด็นการกำหนดบทลงโทษในระดับต่ำที่ปรากฏอยู่ในร่างพระราชบัญญัติการประมง ฉบับปรับปรุงใหม่ ค่าปรับที่กำหนดไว้ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะกีดกันเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่จากผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำกิจกรรม (ประมง) ผิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น บทลงโทษในรูปแบบปัจจุบันไม่ครอบคลุมและรุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการป้องปราม

นอกจากนี้ กรมประมงไม่มีการจัดเก็บทะเบียนการละเมิดกฎหมายหรือการลงโทษ ดังนั้นจึงไม่สามารถเชื่อมโยงการการละเมิดเพื่อตรวจจับการกระทำผิดซ้ำได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์ดังกล่าวนี้มีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการขาดความชัดเจนและความโปร่งใสของกฎหมายและวิธีดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงการลงทะเบียนเรือกับอาชญาบัตร และการตรวจสอบย้อนกลับกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลเกี่ยวกับการขนถ่ายขึ้นกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ ประเทศไทยไม่สามารถยืนหยัดในภาระหน้าที่ของตนในอันที่จะกำหนดให้มีการบังคับใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 94 ของอนุสัญญา UNCLOS และไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่มีระบบการลงโทษที่เพียงพอที่จะต่อสู้กับการทำประมงแบบ IUU ตามที่ระบุไว้ในข้อ 21 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA IUU

(70) ข้อกำหนดในเรื่องระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System: VMS) ไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฎหมายไทย เรือไทยจึงไม่ถูกกฎหมายบังคับให้ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ในน่านน้ำไทย

(71) ในปี 2554 กรมประมงนำเสนอการเปิดตัวโครงการนำร่องการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ที่จะมีเรือประมงเข้าร่วมมากกว่า 300 ลำ ระบบดังกล่าวดำเนินการโดยผู้ให้บริการเอกชน และความถี่ในการรายงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานระบบติดตามเรือสากล เช่น มาตรฐาน RFMOs [องค์การจัดการประมงในระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organisations)] นอกจากนี้แล้ว ความถี่ในการรายงานไม่มีสม่ำเสมอ และกรมประมงไม่มีการติดตามความก้าวหน้าในรายงานการติดตามเรืออย่างเพียงพอ

(72) ในปี 2557 โครงการนำร่องการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ครอบคลุมเรือ 110 ลำ เรือเหล่านี้ทำการประมงในรัฐชายฝั่งหรือในเขตทะเลหลวงที่ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ ตามโครงการจะมีการขยายการติดตั้งระบบฯ ไปยังกองเรือพาณิชย์ทั้งหมดในปี 2557-2558 อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2557 การติดตั้งระบบติดตามเรือครอบคลุมเรือประมงเพียง 50 ลำ และไม่มีกรอบทางกฎหมายที่บัญญัติให้กองเรือประมงไทยต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ

เรือประมง-2

(73) การที่เรือส่วนใหญ่ไม่มีการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) แสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถในการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมการประมงในทะเล และทำลายความสามารถของกรมประมงในการบังคับใช้กฎระเบียบที่สามารถนำไปปรับใช้บังคับกับพื้นที่ทะเล (แหล่งประมง-ผู้แปล) อื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อประกอบกับการขาดความร่วมมือกับประเทศที่สาม จึงส่งผลให้เรือประมงไทยที่ไม่มีระบบติดตามเรือเข้าทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศปาปัวนิวกินี (PNG) ซึ่งกฎหมายของปาปัวนิกินีกำหนดให้เรือของประเทศที่สามทุกลำที่เข้าทำการประมงต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ ประเทศไทยมีการจัดทำร่างแผนงานการติดตั้งดาวเทียมระบบติดตามเรือสำหรับกองเรือไทย (เรือทุกลำที่มีขนาด 30 ตันกรอส ขึ้นไป) ความล้มเหลวของประเทศไทยในการใช้ระบบติดตามเรือที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติตามมาตรา 94 UNCLOS และคำแนะนำในข้อ 24 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงเชื่อว่า ประเทศไทยไม่สามารถทำให้แน่ใจได้ว่ามีการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังเรือประมงที่ติดธงไทยได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

(74) ความสัมพันธ์ของการตรวจพิสูจน์รายงานการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สามมายังประเทศไทยที่ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเจ้าหน้าที่เพียง 2-3 กรณี (ดังที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 64) แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความร่วมมือในเชิงรุกกับประเทศที่สามเพื่อให้แน่ใจถึงความถูกต้องตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์ประมง ซึ่งทำให้ความโปร่งใสของห่วงโซ่การตรวจสอบย้อนกลับและความสามารถของกรมประมงในการตรวจสอบการละเมิดและดำเนินการบังคับใช้ที่เหมาะสมอ่อนแอลง

(75) คณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้มาจากการปฏิบัติภารกิจของไทยตามที่คณะกรรมาธิการฯ กำหนดในปี 2554 และปี 2555 นั้น ไม่สามารถพิจารณาได้ว่าทางการไทยขาดแคลนงบประมาณ แต่กลับขาดแคลนกฎหมายและสภาพแวดล้อมทางการบริหารที่จำเป็น ที่จะทำให้แน่ใจในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานในการปฏิบัติหน้าที่ของไทยในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง และรัฐเจ้าของตลาด

(76) ประเทศไทยถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวหน้า ได้รับความช่วยเหลือผ่านการเป็นหุ้นส่วนกับองค์การระหว่างประเทศหลากหลายองค์กร เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสหภาพยุโรป ตามดัชนีการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ ในปี 2557 ประเทศไทยมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ในอัตราที่สูง โดยอยู่ในอันดับที่ 89 จาก 187 ประเทศทั่วโลก เมื่อพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้และข้อมูลที่ได้จากการตรวจเยี่ยมระหว่าง ปี 2554–2557 คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยไม่ขาดแคลนแหล่งงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่า และรัฐเจ้าของตลาด เพื่อให้บรรลุผล แต่กลับขาดแคลนกฎหมายและเครื่องมือทางการบริหารที่จำเป็นที่จะทำให้แน่ใจในประสิทธิภาพและประสิทธิของผลการดำเนินงานในการปฏิบัติหน้าที่ของไทย

(77) ในมุมมองของสถานการณ์ที่อธิบายไว้ในมาตรานี้ และบนพื้นฐานของทุกองค์ประกอบของข้อเท็จจริงที่คณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รวบรวม ประกอบกับหลักฐานข้อชี้แจงทั้งหมดที่จัดทำขึ้นโดยราชอาณาจักรไทย อาจยอมรับตามข้อ 31 (3) และ (5) ของกฎระเบียบ IUU ได้ว่า การที่ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศได้นั้นเกี่ยวข้องกับความร่วมมือและความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย

หมายเหตุ: แปลอย่างไม่เป็นทางการโดยนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ และทีมงาน(อ่านฉบับแปลอังกฤษ-ไทย)

(อ่านต่อตอนที่ 4: ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามกฎระเบียบระหว่างประเทศตามกฎระเบียบ IUU)