ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แจงความคืบหน้าแก้ประมง IUU เผยเรือ 4 หมื่นลำยัง “Over Fishing” มั่นใจคุมได้ – 18-21 ม.ค. EU ตรวจการบ้านอีกรอบ

แจงความคืบหน้าแก้ประมง IUU เผยเรือ 4 หมื่นลำยัง “Over Fishing” มั่นใจคุมได้ – 18-21 ม.ค. EU ตรวจการบ้านอีกรอบ

17 มกราคม 2016


เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการแถลงข่าวความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและความพร้อมรับการตรวจสอบจากคณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พลเรือโท จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ผู้แทนศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน พลตำรวจโท ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แก้ประมง IUU คืบ 70%

พล.ร.ท. จุมพล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ EU ได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย โดยให้ข้อสังเกต และข้อแนะนำเบื้องต้น 3 ประการ ได้แก่ กฎหมายที่ไทยมีอยู่ยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) และกฎหมายต่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบบควบคุมติดตามเรือและตรวจสอบย้อนกลับยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ และการบังคับใช้กฎหมายของไทยยังขาดการบูรณาการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง

เดือนตุลาคม 2558 ครบกำหนด 6 เดือนที่ EU ต้องเข้ามาทำการตรวจประเมิน พบว่ามีข้อเสนอแนะเพิ่มขึ้นอีก 2 ประการ ได้แก่ เรื่องของการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย อีกประเด็นคือ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการดูแลแรงงานและการดูแลเรือให้ทำประมงอย่างถูกต้อง โดยข้อมูลทั้งหมดต้องเชื่อมต่อกัน

ทั้งนี้ ภายหลังไทยได้รับใบเหลือง วันที่ 29 เมษายน 2558 รัฐบาลได้สั่งการทันทีให้มีการตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มรูปแบบ เรียกว่า “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” โดยตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จากนั้นได้ตั้งศูนย์ตรวจเรือเข้าออก (Port-In, Port-Out: PIPO) อีก 28 แห่งใน 22 จังหวัดชายทะเล โดยดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ก่อนบังคับใช้อย่างจริงจัง มีการปรับปรุงเครื่องมือประมง ขยายตาอวนต่างๆ ควบคุมจำนวนวันที่จับเป็นต้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสั่งสมมาเป็นเวลานาน ไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานเดียว ทุกหน่วยงานกว่า 10 หน่วยงานต้องมีการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ อันดับแรกต้องตรวจสอบเรือก่อนว่ามีจำนวนเท่าไร กรมเจ้าท่าและกรมประมงมีข้อมูลไม่ตรงกัน ทั้งทะเบียนเรือและอาชญาบัตร ต้องทำการตรวจสอบกันใหม่ทั้งหมด ต่อมาทำการสำรวจเครื่องมือการทำประมงต่างๆ ว่าเครื่องมือชนิดใดมีประสิทธิภาพในการจับสูง ไม่ว่าจะเป็นอวนล้อมจับ อวนรุน อวนลากก็ตาม ต้องทำการกำหนดมาตรฐานใหม่ บางเครื่องมือ อาทิ อวนรุนต้องยกเลิกไปเลย” พล.ร.ท. จุมพล กล่าว

พล.ร.ท. จุมพล ได้กล่าวถึงผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาประมง IUU จนถึงปัจจุบันโดยสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

การแก้ไขด้านกฎหมาย ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดและออกกฎหมายลูกสำหรับนำกฎหมายหลักมาบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เรื่องหลักคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการจังหวัด โดยต้องมีการให้ความรู้ประชาชนผ่าน 28 ศูนย์ มีการออกคู่มือสำหรับทำการประมงอย่างถูกต้อง และคู่มือแนะนำเพื่อให้สามารถนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งแยกเป็นส่วนของกลุ่มต่างๆ ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ

การแก้ไขเรื่องระบบควบคุมติดตาม โดยวางระบบให้มีการตรวจสอบตามมาตรฐาน (Monitoring Control System: MCS) เป็นการวางระบบใหญ่ในการควบคุมและติดตามเรือในทะเลทั้งระบบ โดยที่เรือจะต้องทำการติด VMS ที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้กว่า 40,000 ลำ แต่ะจะเจาะจงเฉพาะในเรือที่มีขีดความสามารถสูง คือ เรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 10,000 ลำ

ในเบื้องต้น การติด VMS ดำเนินการในเรือที่มีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปก่อน ตามข้อกำหนดที่ EU ให้แนวทางไว้ ซึ่งปัจจุบันติดไปแล้ว 93.7% จากจำนวนกว่า 2,000 ลำ ทำให้สามารถจับกุมเรือที่ทำผิดกฎหมายได้ เรียกว่าการวางระบบนี้เริ่มมีประสิทธิภาพจับต้องได้แล้ว

การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ได้มีการวางระบบ E-License พร้อมใช้งานในวันที่ 30 มีนาคม 2559 มีการพัฒนาระบบจัดระเบียบเรือเป็นแบบ Real Time และ Online มีการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ต่างๆ ให้เข้าใจตรงกันทั้งหมด มีการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ประกอบกับมีการอบรม Observer On Board ซึ่งจะเป็นผู้เฝ้าดูพฤติกรรมการทำประมงของเรือประมงนั้นๆ ว่าถูกต้องหรือไม่แล้วให้คำแนะนำ จากนั้นเก็บบันทึกหลักฐานไว้ ขณะนี้มีการอบรมแล้ว พร้อมปฏิบัติงานได้ในเดือนมกราคม 2559 นี้

การแก้ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ปัจจุบันได้มีการบูรณาการตั้งแต่ที่ศูนย์ PIPO ทั้ง 28 ศูนย์ มีชุดบูรณาการที่จะทำการตรวจสอบ โดยเน้นเรือที่มีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป ทั้งในและนอกน่านน้ำ ซึ่ง EU กำหนดให้มีการตรวจที่ 10% แต่ขณะนี้ในประเทศมีการตรวจไป 474 ลำ คิดเป็น 215% ส่วนในเรือที่ทำการประมงนอกประเทศขณะนี้เหลือเพียง 13 ลำที่ออกทำการประมงอยู่และกำลังกลับเข้ามารับการตรวจสอบ

นอกจากนี้ ยังมีหลักการเพิ่มเติมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงห้ามมิให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. …. มีการปรับสถานะแรงงานต่างด้าวในเรือประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำให้ถูกกฎหมาย

“ทั้งหมดนี้เห็นจากเดิมที่ผิดก็จะจับมาทำให้ถูก ไม่ว่าจะเป็นในเรือประมง ในโรงงาน อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง แรงงาน หรือผู้ประกอบการอื่นๆ ก็ตาม ที่เคยคิดว่าผิดอยู่ ขณะนี้นำขึ้นมาจัดระบบให้หมด ทำให้ถูกต้อง สิ่งไหนที่อยู่ในระบบไม่ได้ก็ต้องออกไป” พล.ร.ท. จุมพล กล่าว

ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ มีการดำเนินงานใน 2 ประเด็น คือ เรื่องแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่ประสงค์จะส่งแรงงานเข้ามาทำงานในไทย อาทิ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา และเรื่องความร่วมมือประเทศหมู่เกาะ ได้มีการลงนามความร่วมมือในการที่จะพัฒนาการทำประมงร่วมกัน เช่น ฟิจิ ปาปัวนิวกินี คิริบาติ โซโลมอน หมู่เกาะมาร์แชลล์

การช่วยเหลือชาวประมงและแรงงานประมง เนื่องจากมีการใช้ค่าจับสัตว์น้ำสูงสุดยั่งยืน (MSY) ในการเปรียบเทียบระหว่างจำนวนเรือ และจำนวนสัตว์น้ำที่มีอยู่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าไทยยังมีการจับสัตว์น้ำเกินขีดความสามารถของทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ ผลที่ได้ส่งผลให้มีเรือต้องออกจากระบบ เมื่อมีการบังคับใช้เกิดขึ้น ประเด็นความช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การควบคุมในส่วนของชาวประมงที่ต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือออกจากระบบ ในรอบแรกได้ให้การช่วยเหลือชาวประมงที่ยื่นเสนอไว้ 873 ลำ ในวงเงิน 228 ล้านบาท ดำเนินการช่วยเหลือแล้วกว่า 70% และรอบ 2 คือการช่วยเหลือเกี่ยวกับการรับซื้อเรือที่ประสงค์จะเลิกกิจการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 วงเงิน 215 ล้านบาท จากงบสร้างปะการังเทียม และการให้ความช่วยเหลือเรือประมงพื้นบ้านด้วยการออกประกาศแบ่งเขตการทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ โดยเปิดเวทีรับฟังจากกลุ่มต่างๆ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จำนวนเรือประมง 41,753 ลำ ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบันนั้นยังเกินขีดความสามารถทรัพยากรหรือไม่ พล.ร.ท. จุมพล กล่าวว่า จากจำนวนเรือดังกล่าวเทียบกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่มี ทางภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการควบคุมวันในการทำประมง เพื่อควบคุมทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในเกณฑ์ที่สมดุลจากการทำประมงอย่างพอดี

“การแก้ไขปัญหาทั้ง 5 ข้อ ประเทศไทยได้เดินหน้าไปในทุกเรื่อง มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบว่ากี่เปอร์เซ็นต์ ผมตอบได้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นการพัฒนาระบบให้แข็งแรง ครอบคลุม และสามารถติดตามเรือได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ต่อไป ที่สำคัญ เป้าหมายไม่ได้เพื่อตอบ EU ว่าไทยได้มาตรฐานหรือไม่ EU เป็นเหมือนครูคอยตรวจการบ้าน แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกของชาวประมงไทย ให้มีความรู้ความเข้าใจ หวงแหนทรัพยากร จุดนี้เอง เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นมาตรฐานโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ภาครัฐมีหน้าที่เพียงกำกับดูแลควบคุมผู้ที่เอาเปรียบ” พล.ร.ท. จุมพล กล่าว

ประมงชี้ 7 เดือนทรัพยากรทะเลเพิ่มขึ้น

ด้านนายวิมลกล่าวว่า เรื่องของกรอบกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่กรมประมงจะต้องดำเนินการปรับปรุงไปพร้อมๆ กับกรอบนโยบาย ซึ่ง พ.ร.บ.ประมงเดิมตั้งแต่ปี 2490 ไม่ได้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับการทำประมงระหว่างประเทศหรือมาตรการที่ผูกพันกับต่างประเทศ

“การแก้พระราชกำหนดประมงฉบับใหม่ ปี 2558 สาระสำคัญของกฎหมายที่เปลี่ยนไปคือ มีความสอดคล้องกับมาตรการระหว่างประเทศมากขึ้น และใช้มาตรการในการบริหารจัดการประมงแบบใหม่เข้ามาในกรอบกฎหมาย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2558” นายวิมลกล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการออกกฎหมายลูกตามมาอีก 52 ฉบับ โดยเป็นกฎหมายเร่งด่วนเกี่ยวกับการควบคุมป้องกันประมง IUU และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วจำนวน 35 ฉบับ อาทิ กฎหมายในเรื่องการอนุญาตทำการประมงในน่านน้ำ นอกน่านน้ำ หรือประมงพื้นบ้าน กฎหมายเรื่องการอนุญาตใช้เครื่องมือประมง รวมไปถึงเรื่องของการมีผู้สังเกตการบนเรือประมง ซึ่งมีความสำคัญที่จะทำให้การควบคุมการทำประมงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อธิบดีกรมประมงกล่าวต่อไปว่า เรื่องแผนบริหารจัดการประมงเป็นอีกประการที่มีความสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาการทำประมงของไทยเป็นการทำประมงอย่างเสรี แต่ในกรอบนโยบายประมงฉบับใหม่จะมีการจัดสรรการใช้ทรัพยากรไปตามสัดส่วนทรัพยากรที่มีอยู่จริงที่ได้มาจากการสำรวจและเก็บข้อมูล

“จากการสำรวจทางวิชาการด้านทรัพยากรทางประมง ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจนว่าทรัพยากรประมงจำพวกปลาผิวน้ำมีอัตราการจับต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 35-50% ส่วนปลาหน้าดินมีอัตราเพิ่มขึ้น 4-10% ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังจำเป็นต้องมีการเก็บต่อเนื่องไป แต่เราเห็นแนวโน้มในการพัฒนาของทรัพยากรที่ดีขึ้น”

นิทรรศการการแก้ไขปัญหาประมง IUU ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
นิทรรศการการแก้ไขปัญหาประมง IUU ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สำหรับเรื่องการพัฒนาระบบและติดตามเฝ้าระวัง ได้มีปรับเปลี่ยนระบบการควบคุมเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างสำคัญคือ มีการบังคับให้เรือประมงติดตั้งเครื่องมือติดตามเรือ VMS ทำให้ทราบได้ว่าเรือลำนี้ทำประมงที่ใด เวลาใด เครื่องมือนี้เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับ ติดตามการทำผิดกฎหมายประมง ปัจจุบันสามารถดำเนินคดีได้จากการใช้เครื่องมือดังกล่าวถึง 87 คดี รวมถึงรับรองว่าสินค้าประมงที่ถูกต้องโดยตรวจสอบจากสถานที่และเวลาในจำนวน 127 กรณี

อีกระบบที่ได้มีการพัฒนาขึ้น คือ ระบบฐานข้อมูลเครือข่ายทะเบียนเรือประมง และการทำ Fishing Info 2 ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลเชื่อมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดการตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันได้ เช่น ทะเบียนเรือและอาชญาบัตร หรือการขออนุญาตออกไปทำการประมงจากท่าเทียบเรืออยู่ในบันทึกข้อมูลหรือไม่ ช่วยลดการใช้กำลังคนและงบประมาณ ขณะที่ประสิทธิภาพการตรวจสอบมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

“จากการใช้ระบบดังกล่าว ทำให้พบว่ามีเรือจำนวน 4,734 ลำ ที่พบความบกพร่องเรื่องเอกสาร ซึ่งจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกทำการประมง และในส่วนนี้มีจำนวน 14 ลำ ทำผิดในเรื่องของการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยได้ส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อไป” นายวิมลกล่าว

สำหรับการสร้างผู้สังเกตการณ์เรือ กรมประมงได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ข้าราชการกรมประมงที่ชำนาญ 20 คน ผ่านหลักสูตรตามมาตรฐานระหว่างประเทศ พร้อมลงเรือไปกับเรือบรรทุกและเรือใหญ่ในเดือนมกราคม 2559 นอกจากนี้ ในส่วนของกฎหมายใหม่ ยังได้กำหนดให้เรือประมงนอกน่านน้ำที่ปกติจะอยู่นอกน่านน้ำนานถึง 3–5 ปี ต้องกลับมาตรวจสภาพเรือและตรวจสอบแรงงานที่ทำงานในเรือในทุกๆ ปี ด้วย

นายวิมลกล่าวต่อไปว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับได้มีการติดตามเส้นทางการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ประมงหรือปลาที่จับได้ และได้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ตรวจสอบสินค้าจากต่างประเทศ โดยกรมประมงได้ร่วมมือกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามา มีการจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการตรวจสอบ ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรได้ประกาศพิกัดสินค้าประมงจำนวน 3,000 รายการเพื่อให้ผู้นำเข้า-ส่งออกใช้เลขพิกัดที่ตรงกัน ทำให้ปริมาณการนำเข้าส่งออกสอดคล้องกัน

“แต่เดิมผู้นำเข้า-ส่งออกอาจใช้ตัวเลขพิกัดที่ต่างกัน ทำให้ปริมาณนำเข้า-ส่งออกไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดความสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่เป็นชนิดเดียวกัน แต่ขณะนี้มีการแก้ไขปัญหาแล้ว ขณะเดียวกัน มีการประกาศท่าเรือสำหรับเรือต่างชาติเทียบท่าได้จำนวน 39 ท่า ทำให้การตรวจสอบแม่นยำขึ้น และสุดท้าย เพื่อทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ออกคู่มือ 9 ฉบับ รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายวิมลกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวิมลระบุว่า การที่คณะผู้แทน EU จะเข้ามาตรวจการแก้ไขปัญหาประมงไทยเพิ่มเติมช่วง 18–21 มกราคมนี้ เบื้องต้นคือจะเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมและลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้าไทยในทุกเรื่อง ตั้งแต่การค้ามนุษย์ การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ซึ่งเราได้ส่งข้อมูลเอกสารให้อียูตลอด โดยหลังจากที่เขามาตรวจไทยเสร็จ ก็จะนำผลไปวิเคราะห์และประเมินผล แต่ยังไม่แน่ใจว่า เขาจะประกาศผลการแก้ปัญหา IUU กับไทยอีกครั้งเมื่อไร

เจ้าท่าจ่อคิวคืนสิทธิ์เรือ 8,000 ลำ

นางจิราภรณ์กล่าวว่า ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาในส่วนของกรมเจ้าท่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม–ธันวาคม 2558 คือ การรวบรวมและตรวจสอบจำนวนเรือประมงในระบบทะเบียนเรือให้ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าจำนวนเรือจริงไม่ตรงกับข้อมูลของกรมเจ้าท่าและข้อมูลการขออาชญาบัตรจากกรมประมง

ทั้งนี้ เรือประมงในระบบทะเบียนเรือหลังการดำเนินการเพิกถอนทะเบียนเรือ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2558 มีจำนวน 8,024 ลำ เนื่องจากตรวจสอบแล้วไม่พบเรือ เจ้าของเรือไม่มาแสดงตน รวมไปถึงการที่เจ้าของเรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี ดังนั้น ยอดเรือประมงที่อยู่ในทะเบียนเรือล่าสุดอยู่ที่ 41,753 ลำ และได้สรุปยอดดังกล่าวส่งให้กรมประมงเพื่อทำการคำนวณค่า MSY

“ในเรือจำนวน 8,024 ลำที่ถูกเพิกถอนทะเบียน อาจเป็นผู้ที่ตกสำรวจ เจ้าของเรือไม่ทราบข้อมูล หรือในระยะเวลาที่ให้ยื่นขอจดทะเบียนใหม่นั้นเป็นช่วงเวลาที่เรือประมงทำการประมงอยู่ในต่างประเทศ จึงแก้ไขปัญหาโดยเปิดให้เรือประมงเหล่านั้นสามารถขอคืนสิทธิได้ โดยสามารถยื่นคำร้องได้ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2558 – 29 มกราคม 2559” นางจิราภรณ์กล่าว

รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านความปลอดภัยกล่าวต่อไปว่า กรมเจ้าท่าได้มีการลงทะเบียนเรือเพื่อตรวจสอบขนาดเรือประมงและเครื่องยนต์ที่ไม่ตรงกับใบอนุญาตใช้เรือ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้อาจมีการเพิ่มกำลังแรงม้า ส่งผลต่อการคำนวณค่า MSY ดังนั้น กรมเจ้าท่าและ ศปมผ. จึงเปิดให้เจ้าของเรือลงทะเบียนเพื่อทำการตรวจเรือใหม่ในระหว่างวันที่ 12-22 มกราคม 2558 และจะดำเนินการตรวจสอบระหว่างวันที่ 23 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ 2559

ตั้งเป้าคงจำนวนแรงงานต่างด้าว ลดการลักลอบเข้าเมือง

นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปสัตว์น้ำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาทำงาน โจทย์คือจะทำอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ สิ่งที่กรมการจัดหางานดำเนินการมี 3 ข้อ คือ 1. ปรับหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิ อาทิ ออกมติ ครม. ให้นำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง โดยแบ่งการจดออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ประมงทางทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนกว่า 1 แสนคน โดยผู้ที่มาจดทะเบียนจะได้รับการอนุญาตให้ทำงานและไม่ถูกส่งกลับประเทศ นอกจากนี้ ยังให้เปลี่ยนนายจ้างได้หากมีสภาพการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม และห้ามไม่ให้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด

2. ป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ อาทิ จัดอบรมเจ้าหน้าที่ของหลายหน่วยงานให้มีการทำงานร่วมกันในรูปแบบของสหวิชาชีพ เพราะการตรวจแรงงานมีหลายกฎหมายและหลายหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกัน การจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้น สิ่งสำคัญคือการทำงานอย่างบูรณาการ ทำงานเป็นทีม นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวร่วมกับ ศปมผ. เรื่องของเรือเข้า-ออกตามท่าเรือต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวถูกละเมิดสิทธิ และ 3. สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่นำแรงงานเข้ามา เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานหรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามร่วมข้อตกลงกับทางเวียดนามและลาวแล้ว พม่าอยู่ระหว่างขั้นตอนรอการลงนาม ส่วนลาวอยู่ระหว่างการเจรจา

“เป้าหมายของกรมการจัดหางานคือการคงจำนวนแรงงานต่างด้าวเอาไว้ให้ได้ ลดการลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย และเพิ่มการนำแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายเข้ามาทำงานให้มากขึ้น รวมถึงคุ้มครองสิทธิและป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ถูกละเมิดสิทธิ” นายอารักษ์กล่าว

เข้มค้ามนุษย์ 9 เดือน ช่วยเหยื่อแรงงานทาส 111 ราย

ด้านพล.ต.ท. ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า สตช. ถือเรื่องการดำเนินคดีค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมี ศปมผ. สำหรับสถิติการจับกุมคดีค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงนั้น ก่อนมี ศปมผ. สามารถจับกุมได้ 15 ราย มีผู้ต้องหา 41 คน มีผู้เสียหาย 43 คน หลังมี ศปมผ. สามารถจับกุมได้เพิ่มเติมอีก 35 ราย มีผู้ต้องหา 73 คน มีผู้เสียหาย 111 คน ในจำนวนผู้ต้องหา มีเจ้าของเรือ 7 คน ไต๋เรือ 24 คน ผู้คุมเรือ 15 คน และนายหน้าอีก 48 คน สามารถช่วยเหลือเหยื่อที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้ 25 คน ส่วนใหญ่มีสัญชาติไทยและพม่า

พล.ต.ท. ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ก่อนมี ศปมผ. สั่งฟ้องไปแล้ว 12 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 7 คดี มีคำพิพากษาแล้ว 4 คดี หลังมี ศปมผ. อยู่ระหว่างสอบสวน 25 คดี สั่งฟ้องไปแล้ว 10 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 2 คดี และอยู่ในชั้นศาล อีก 2 คดี

“ในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง เรือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ เพราะเป็นสถานที่ซึ่งใช้กักขังผู้เสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่มองว่าเจ้าของเรืออาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในฐานะตัวการหรือผู้สนับสนุน ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน สตช. ได้ใช้กฎหมายทุกบท ทุกกระทรวง นอกจากกฎหมายค้ามนุษย์ ยังจะใช้กฎหมายฟอกเงินของ ปปง. เข้าดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง” พล.ต.ท. ธรรมศักดิ์ กล่าว

ด้านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวว่า กต. ได้ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ผ่านทางสถานทูตไทยในประเทศสมาชิกของ EU ทั้ง 28 ประเทศ รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนของยุโรป คาดว่าจะสามารถทำให้ EU ตระหนักได้ถึงความมุ่งมั่นและความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาทาง EU ก็ส่งสัญญาณกลับมาในเชิงบวกและสร้างสรรค์