เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 นายฐากร ตัณธสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ในวันนี้ มีมติด้วยคะแนน 9 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบให้กระทรวงการคลังยืมเงินจำนวน 14,300 ล้านบาท จากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เพื่อนำไปใช้แทนเงินกู้บางส่วนสำหรับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 อนุมัติให้ยืมเงินจากกองทุนฯ เพื่อนำไปใช้แทนเงินกู้บางส่วนสำหรับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วนเป็น 14,300 ล้านบาท ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 80/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ข้อ 6 ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงินกองทุนฯ เพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
เห็นชอบประกาศประมูลเลขสวย
นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช.ยังได้มีมติเห็นชอบต่อสรุป “ผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย” และการเผยแพร่สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะบนเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. และ “ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย” ให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยเนื้อหาของร่างประกาศได้กำหนดนิยาม “เลขหมายสวย” คือเลขหมายที่มีรูปแบบสวยตามโครงสร้างการจัดเรียงของเลข และให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการประมูลเลขหมายสวยตามที่กำหนด โดยจะมีการนำเลขหมายสวยแบบ 9 ตัวเหมือน 1 เลขหมาย ไปประมูลเป็นครั้งแรกในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ปี 2558 ซึ่งตรงกับวันที่ 4 สิงหาคม 2558
กทค.ให้ใบอนุญาต 4 บริษัทรับติดตั้งระบบติดตามเรือ
เลขาฯ กสทช. ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการอนุญาตการให้บริการระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring Systems: VMS) เพื่อสนับสนุนนโยบายของ คสช. ในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558 ซึ่งกำหนดให้เรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น ตลอดจนยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทำการประมง ขนถ่ายหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้จากยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทำการประมง ที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสส์ขึ้นไป จะต้องติดตั้งระบบ VMS และต้องแจ้งรหัสการเข้าถึงระบบการติดตามเรือ (Access Code) พร้อมต้องเปิดเครื่องไว้ตลอดเวลาขณะอยู่ในทะเล เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตำบลที่เรือได้
โดยให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 1 แก่บริษัท 4 แห่ง ในการให้บริการระบบ VMS ได้แก่
- บริษัท เอทนีก้า (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท เอ. แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด
- บริษัท วันลิ้งค์ เทคโนโลยี่ จำกัด
- บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด
พร้อมกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต 3 ข้อ ประกอบด้วย ให้ผู้ให้บริการระบบ VMS ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการได้, ให้บริการระบบ VMS เฉพาะเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น ตลอดจนยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทำการประมง ขนถ่ายหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้จากยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทำการประมงเท่านั้น กรณีที่จะใช้ระบบ VMS กับเรือกลุ่มอื่น จะต้องได้รับอนุญาติจาก กสทช. ก่อน และเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้งานในระบบ VMS จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตมี ใช้ หรือนำออกซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยผู้ให้บริการหรือผู้นำเครื่องเข้ามาจำหน่ายจะต้องได้รับอนุญาตทำ นำเข้า หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม แล้วแต่กรณี