ThaiPublica > เกาะกระแส > โจทย์ประเทศไทย หลังคลื่น IUU ประมงไทยเดินหน้าหรือหยุดนิ่ง

โจทย์ประเทศไทย หลังคลื่น IUU ประมงไทยเดินหน้าหรือหยุดนิ่ง

12 กันยายน 2019


แม้จะดูเหมือนว่าในเวลาที่ผ่านมามีความคืบหน้าของการแก้ปัญหาประมงไทยจะมีความก้าวหน้าเป็นลำดับและดูเหมือนว่าการปลดใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรปเป็นหมุดหลักสำคัญของการแก้ปัญหาแรงงานทาส การปรับระดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายประมงอีกหลายฉบับ แต่ปัญหาประมงไทยยังคงเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายและต้องได้รับการแก้ไข

เมื่อ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน จัดเสวนาเรื่อง “หลังคลื่น IUU เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง? ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมอภิปราย

“ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับไทยพับลิก้าว่า หลังสหภาพยุโรปปลดใบเหลือง IUU แล้ว แต่ปัญหาประมงไทยก็ยังคงมีอยู่ เพราะส่วนใหญ่ไทยเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาใบเหลืองโดยเน้นการบังคับกฎหมายหรือควบคุมด้วยกฎหมาย

อาทิเช่น ต้องโชว์รายชื่อหนังสือคนประจำเรือ(seaman book) ก่อนออกเรือ  โชว์บัตรเอทีเอ็ม โชว์สมุดบัญชี โชว์รายชื่อลูกเรือ หรือติดจีพีเอสเรือทุกลำ แต่ในบางกรณีเมื่อไม่รู้ว่าลูกจ้างประมงเป็นใคร มีที่มาจากไหน จึงใช้วิธีนำเข้าเอ็มโอยู ซึ่งพบว่ามีค่าใช้จ่ายของลูกจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางหรือขนาดย่อยไม่สามารถแข่งขันได้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่

ดังนั้นการใช้กำลังบังคับผ่านกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ  แต่โจทย์ที่จะต้องทำต่อในเรื่องกฎหมายคือ ทำอย่างไรให้เกิดการใช้กฎหมายโดยไม่บังคับ แต่ต้องกิดจากความสมัครใจ ยกตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทขนาดใหญ่อย่างไทยยูเนียนหรือซีเฟรชอินดัสตรี สามารถทำได้เพราะมีองค์กรประชาสังคมในประเทศเพื่อนบ้านที่คอยดูแล

ประเทศไทยอาจจะต้องคิดแบบข้ามประเทศ คือต้องคิดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นลูกเรือ ไม่ใช่มองว่าเขาเป็นต่างด้าว แต่ปัจจุบันพบว่าเราแยกเขาว่าเป็นไทยหรือไม่เป็นไทย ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรค แต่หากคิดใหม่ว่าเขาคือคนที่ทำให้จีดีพีประเทศไทยโตขึ้น เราอาจจะรู้สึกพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น

“พูดง่ายๆคือเราสามารถปลดใบเหลือง แต่บริษัทที่รอดหลังการปลดใบเหลืองจะเป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ค่อนข้างมีต้นทุน โจทย์ที่จะต้องคิดคือ จะทำยังไงให้มันไปได้ โดยที่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือขนาดกลางสามารถอยู่ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น แทนที่จะทำเป็นรูปแบบพิธีกรรม แต่ทำให้มันมีการเกิดขึ้นจริงๆ”  ดร.นฤมล วิเคราะห์

สร้างการประมงที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

ดร.นฤมล กล่าวว่า โจทย์ประการต่อมาในเรื่อง IUU ที่ประเทศไทยจะต้องคิดต่อก็คือ  “สร้างการประมงที่ยั่งยืน” ควบคู่ไปกับประมงที่เป็นธรรม ไม่ใช่เพียงเพื่อรับรอง IUU แต่ทำเพื่อให้อุตสาหกรรมประมงไทยที่มีมูลค่าสูง กลายเป็นอุตสาหกรรมพรีเมี่ยมอย่างยั่งยืนในอนาคต

“เราต้องไปไกลกว่าการพูดเรื่องความเป็นธรรม คือนอกเหนือจากประมงที่เป็นธรรม ต้องเป็นประมงที่ยั่งยืนด้วย เพราะสปิริตของ IUU มีสองเรื่องคือ การตลาดที่เป็นธรรม ไม่ขูดรีดแรงงาน ไม่ค้ามนุษย์ กับอีกเรื่องคือต้องเป็นการตลาดที่ยั่งยืน ดังนั้นต้องคุยกันว่าคุณจะจับปลาประเภทไหน ไอเดียของผู้บริโภคจะรู้จักรับผิดชอบเพิ่มขึ้นหรือไม่”

“เช่น ถ้าเราจะเอาปลาทุกชนิดที่ต้องสด แบบสามารถกินดิบได้ ก็ต้องทำใจว่าราคามันจะแพงขึ้น แต่ถ้าคุณอยากได้ปลาสดในราคาถูก มันก็มีแนวโน้มที่จะเป็นประมงที่มันไม่ยั่งยืน ดังนั้นเราก็คงต้องคุยว่าจะเปลี่ยนวิธีคิดมั้ย   ซึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องพวกนี้ มันต้องโยงกับผู้บริโภค”

“ประมงที่ยั่งยืนคือคุณจะจับปลาแบบไหน ปลาชนิดไหนบ้างที่ควรจะอนุญาตให้มันมีโอกาสเติบโต ผู้บริโภคยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมั้ย  เพราะอาหารปลอดภัย ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเอง มันไม่ใช่เป็นการลงทุนเพียงเพื่อคุณธรรม แต่ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นด้วย  ซึ่งในประเทศอื่นที่สำเร็จ ก็เพราะผู้บริโภครู้สึกว่าตัวเองเป็นภาคี เป็นหุ้นส่วนในเรื่องแบบนี้ด้วย”

ดร.นฤมล ชี้ว่า  ดังนั้นโจทย์ต่อมาหลังคลื่น IUU คือเราควรจะต้องคิดถึงคือเรื่องของหุ้นส่วนหรือภาคี หรือที่เรียกว่า “collaborative governance” ซึ่งไม่ได้หมายถึงภาครัฐอย่างเดียว  แต่ในอนาคตยังหมายรวมถึงภาคส่วนอื่นๆทั้งสายพานการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค

“หุ้นส่วนในอนาคตมันต้องมีตั้งแต่ภาคการผลิต ตั้งแต่ลูกเรือที่ไปจับปลา เรือประมงที่จับปลา บริษัทเจ้าของเรือ บริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปที่มารับปลา ไปจนถึงรีเทลเลอร์ที่ขาย และมาจนถึงผู้บริโภคที่กิน ดังนั้นสายพานการผลิต เราก็ต้องคิดว่าจะต้องทำยังไง ให้การประมงที่ว่านี้ไม่เพียงแค่เป็นธรรม แต่มันต้องยั่งยืน”

“ดังนั้นไอเดียในอนาคตควรจะเป็นแบบนี้ ซึ่งการคิดแบบ inclusive หรือหุ้นส่วนที่เข้ามาร่วมกัน มันจะช่วยแก้ปัญหาสำหรับคนที่มีต้นทุนต่ำ  เพราะว่าปัจจุบันนี้ภายใต้วิธีการแก้ปัญหา IUU ของสังคมไทย อาจจะต้องยอมระบว่ามันมีคนจำนวนหนึ่งที่มีอำนาจต่อรองน้อย ก็จะแย่ลงไป แล้วเราก็ไม่ค่อยได้มองเขา”

อย่างไรก็ดี การสร้างความยั่งยืนดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมประมง แต่ต้องยั่งยืนในความหมายของการรักษาทรัพยากรทางทะเลด้วย ซึ่งปัจจุบันมองว่าโจทย์ของสังคมไทยยังไปไม่ถึงเรื่องนี้ ในขณะที่สหภาพยุโรปนำเสนอและคิดประเด็นนี้ในเรื่อง IUU แล้ว

ตอนหนึ่งบนเวที “สุธาสินี แก้วเหล็กไหล” ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า จากการทำงานในพื้นที่กับแรงงานข้ามชาติพบว่า ยังมีปัญหาเรื่องช่องทางการร้องเรียนในการทำงานกับบริษัทหรือนายจ้างพอสมควร แม้ปัจจุบันแรงงานสามารถร้องเรียนปัญหาผ่านคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ซึ่งหลายบริษัททำได้ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ไม่อยากเห็นคณะกรรมการฯดังกล่าว มีขึ้นเพียงเพราะกฎหมายกำหนด แต่อยากเห็นสถานประกอบกิจการทำงานด้านนี้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ขณะที่การสรรหาแรงงานเข้ามาทำงานต้องคำนึงถึงสัดส่วนทุกเชื้อชาติ ไม่จำกัดสัญชาติใดชาติหนึ่ง รวมถึงคำนึงถึงเรื่องเพศสภาพด้วย

นอกจากนี้อยากให้มีการอบรมกฎหมายไทย ให้กับแรงงานได้รับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสวัสดิการฯ ขณะเดียวกันควรมีการประชุมทุก 3 เดือน โดยมีผู้บริหารของสถานประกอบกิจการนั้นๆมาร่วมประชุมสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาให้กับแรงงานได้  ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือเรื่องเหล่านี้กับหลายบริษัท อาทิ   ซีพี  ไทยยูเนี่ยน ซีเฟรชอินดัสตรี เป็นต้น ซึ่งถือเป็นบริษัทโมเดลต้นแบบที่ดี

ด้าน “เบ็ญจพร ชวลิตานนท์”  ตัวแทนบริษัทซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันซีเฟรชดูแลแรงงานต่างชาติอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพชีวิตของคนงาน ส่วนการบริหารข้อร้องเรียนของแรงงานต่างชาติถือเป็นความท้าทายที่จะต้องทำให้เกิดความสมดุลให้มากที่สุดทั้งนี้ บริษัทมีการประชุมคณะกรรมการสวัสดิการฯเดือนละ 1 ครั้ง และมีตัวแทนผู้บริหารเข้าร่วมประชุมทุกครั้งเพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาแรงงาน  “..เราพยายามให้แรงงานมีตัวตน พยายามให้เขามีความภูมิใจในหน้าที่ของเขา”

ด้าน“ปราชญ์ เกิดไพโรจน์” ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่า ปัจจุบันต่างชาติเริ่มมองไทยเป็นโมเดลที่ดีในการแก้ปัญหา IUU  แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขและพัฒนาเพิ่มเติมต่อไปในเรื่องแรงงานประมงและประเด็น IUU  พร้อมกันนี้ ปราชญ์เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีการใช้แรงงานข้ามชาติด้วย เพราะในหลายประเด็น เช่น ประเด็นคณะกรรมการสวัสดิการฯ การสรรหาแรงงานอย่างเป็นธรรม ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะเจาะจงอยู่แต่ภาคการประมงเท่านั้น

ขณะที่ “พักตร์พริ้ง บุญน้อม”  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์งานทรัพยากรบุคคล บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บอกว่า ตั้งแต่ประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง บริษัทได้พัฒนา ปรับตัว และปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างมาก โดยได้รับข้อแนะนำจากภาคประชาสังคม คู่ค้า และลูกค้าทั้งในไทยและต่างชาติ

“ก่อนที่จะเข้ามาทำงานกับซีพี  แรงงานจะได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่การปฐมนิเทศ และในช่วงตลอดการทำงาน ยังมีคู่ค้าต่างชาติมาช่วยดูแลตรวจสอบการทำงานด้วย  แต่ปัญหาหรือความท้าทายที่ทางซีพีเอฟพบในปัจจุบัน คือความคาดหวังที่สูงกว่ากฎหมายไทย ซึ่งเราจะพัฒนาต่อไป แต่ความสอดคล้องในการปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นนั้น เราปฏิบัติตามกฎหมาย 100%”