ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
ในช่วงที่ผ่านมามีการนำเสนอข่าวการใช้งบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ และมีหลายฝ่ายพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหรือระเบียบมาควบคุมเรื่องการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ตลอดจนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเหมือนอย่าง Government Advertising Act
รวมทั้งรายงานการศึกษาหัวข้อ “การแทรกแซงสื่อสาธารณะโดยฝ่ายการเมือง” ของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนายธิปไตร แสละวงศ์ คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าตกปีละกว่า 8,000 ล้านบาท ที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจนำไปสู่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อ
ในรายงานชิ้นนี้ได้เปรียบเทียบโมเดลการกำกับดูแลการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐของไทย กับของต่างประเทศอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่า แม้ไทยจะมีกลไกกำกับดูแลการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐอยู่ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ และไม่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง
ปัญหาการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐไทย
– แม้จะมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ พ.ศ. 2529 (แก้ไขล่าสุดในปี พ.ศ. 2553) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น แต่ กปช. กลับไม่มีผลงานที่ชัดเจนในการกำหนดกรอบการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดภาวะ “ต่างคนต่างคน” เช่นเดิม
– แม้สำนักมาตรการงบประมาณ สำนักงบประมาณ (สงป.) จะออก “หลักเกณฑ์ อัตราค่าใช้จ่าย และแนวทางการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี” ที่มีการอัปเดตข้อมูลอยู่ทุกปี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบสำหรับโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมมีการกำหนด “ราคาอ้างอิง” สำหรับการใช้งบประเภทต่างๆ
ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2550 กำหนดแนวปฏิบัติไม่ให้ อปท. ใช้งบประชาสัมพันธ์ไปใช้สำหรับการโฆษณาตัวบุคคล เช่น มีรูป ภาพ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ในวัสดุที่ซื้อเพื่อแจกหรือช่วยเหลือประชาชนเว้นแต่ชื่อหน่วยงาน อปท. ฯลฯ หลังเกิดกรณีใส่รูปนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปในผ้าห่มที่ซื้อแจกประชาชนก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น
แต่การที่มาตรการทั้ง 2 ไม่ได้ถูกตราขึ้นเป็นกฎหมายหรือระเบียบซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน ทำให้ยากต่อการบังคับให้หน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
– แม้จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ สำหรับหน่วยงานราชการส่วนกลาง แต่การที่ระเบียบฯ นี้ไม่ได้กำหนด “ราคากลาง” สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างกรณีโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำให้เสี่ยงต่อการตั้งราคากลางที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของ สงป. เป็นอย่างมาก เช่น เมื่อปี 2557 ธนาคารออมสินตั้งราคากลางโครงการจ้างผลิตสื่อสารคดีสั้นรายการมองรอบด้านกับธนาคารออมสิน ความยาวตอนละ 2:30 นาที ในราคาตอนละ 140,000 บาท หรือเฉลี่ยนาทีละ 60,896 บาท ในขณะที่ราคาอ้างอิงของ สงป. สำหรับสารคดีสั้นและรายการสั้นทั่วไป (ในขณะนั้น) อยู่ที่นาทีละไม่เกิน 12,000 บาท
– ถึงจะมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมถึงโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่การตรวจสอบของ สตง. ยังเป็นไปอย่างจำกัด เน้นตรวจสอบการใช้จ่ายให้เป็นไปตามระเบียบ (compliance audit) มากกว่าตรวจสอบความคุ้มค่า (performance audit) นอกจากนี้ การที่ สตง. ไม่มีอำนาจยับยั้งการเบิกจ่ายเงินหากเห็นว่าโครงการนั้นไม่เหมาะสม ทำให้ สตง. เป็นได้เพียง “ผู้ตรวจบัญชี”
ข้อเสนอและความเห็นจากคณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ
- ควรบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการใช้งบประชาสัมพันธ์ของภาครัฐให้โปร่งใสที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- รัฐบาลไทยต้องออกกฎหมายแม่เพื่อกำหนดแนวทางการวางแผนงานประชาสัมพันธ์ระดับชาติ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปในทางเดียวกัน และออกกฎหมายควบคุมเนื้อหาในสื่อประชาสัมพันธ์ไม่ให้ฝ่ายการเมืองนำไปใช้ในการโฆษณาตัวเอง โดยต้องกำหนดบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน
- รัฐบาลไทยยังขาดระบบจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีฐานข้อมูลกลางหรือหน่วยงานกลางที่จะให้ข้อมูลต้นทุนการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์แห่งหน่วยงานภาครัฐ ในขณะที่มาตรฐานราคากลางของ สงป. ก็ยังเป็นแค่ “แนวปฏิบัติ” ไม่ใช่ “ข้อบังคับ” ทำให้เกิดช่องโหว่ในการตั้งราคากลางที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนจริง
- ควรมีหน่วยงานอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหา และความคุ้มค่าโครงการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐทั้งก่อนและหลังดำเนินการ