ThaiPublica > คนในข่าว > “สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ” ผอ.สำนักงบฯกับแผนจัดสรรเงินตั้งรับการเมืองยืดเยื้อ-งบประมาณปี’58 เบิกจ่ายช้า 6 เดือน

“สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ” ผอ.สำนักงบฯกับแผนจัดสรรเงินตั้งรับการเมืองยืดเยื้อ-งบประมาณปี’58 เบิกจ่ายช้า 6 เดือน

23 เมษายน 2014


ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปลายปีที่แล้วส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง สถาบันวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 หรือ “จีดีพี” อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดจีดีพีจาก 4% เหลือ 2.6% ต่อปี สภาพัฒน์ฯ ปรับลดจาก 4-5% เหลือ 3-4% และธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดจาก 3% เหลือ 2.7%

หากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อาจจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2558 ที่มีวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ให้ต้องล่าช้าออกไปไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ถึงแม้การใช้จ่ายเงินภาครัฐเป็นเพียง 1 ใน 4 เครื่องยนต์ที่รัฐบาลใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยปกติมีน้ำหนักประมาณ 20% ของจีดีพี แต่ถ้าการใช้จ่ายเงินภาครัฐเบิกจ่ายได้เฉพาะงบประจำ งบลงทุนเบิกไม่ได้ ความหมายคือ ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 อาจจะไม่มีเม็ดเงินจากโครงการลงทุนใหม่ของภาครัฐไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การใช้จ่ายภาครัฐที่รัฐบาลเคยใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนจะมีน้ำหนักลดลงเหลือแค่ 16% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีปีนี้แล้ว หลายฝ่ายยังวิตกกังวลว่าอาจจะส่งผลเศรษฐกิจปี 2558 ด้วย

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

เร็วๆ นี้นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงปัญหาอุปสรรคในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่ปัญหาเฉพาะหน้า กรณีเบิกจ่ายงบฯ ปี 2558 ล่าช้ากว่ากำหนด 6 เดือน สำนักงบฯ เตรียมมาตรการรับมืออย่างไร รวมถึงแผนการปฏิรูประบบงบประมาณในระยะยาวมีประเด็นไหนที่ต้องแก้ไขปรับปรุง

นายสมศักดิ์กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายเป็นกลไกสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจีดีพี งบประมาณรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นงบประจำ อย่างเช่น งบฯ ปี 2557 วงเงินรวม 2.525 ล้านล้านบาท เป็นงบประจำประมาณ 80% ของวงเงินรวม งบลงทุนมีประมาณ 486,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้รวมงบอุดหนุนอื่นๆ ที่สำนักงบฯ โอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของจีดีพี

ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2556 (1 ตุลาคม 2556) เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนกระทั่งรัฐบาลประกาศยุบสภา ทั้งสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และส่วนราชการอื่น ถูก กปปส. ชัตดาวน์ไปกว่า 10 วัน ยอมรับว่าช่วงนั้นการเบิกจ่ายงบฯ ลดลงไปมากพอสมควร ประกอบกับส่วนราชการหลายแห่งคิดว่าโครงการลงทุนที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อ หลังยุบสภาส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการได้แล้ว ก็มีส่วนราชการหลายแห่งไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มาเบิกเงินกับกรมบัญชีกลาง ทางสำนักงบประมาณจึงเรียกส่วนราชการทั่วประเทศมาทำความเข้าใจโครงการลงทุนใหญ่ที่บรรจุอยู่ในงบฯ ปี 2557 ผ่านควรเห็นชอบจาก ครม. และรัฐสภาทั้งหมดแล้ว ส่วนราชการสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้โดยไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

เมื่อทำความเข้าใจกับส่วนราชการเสร็จเรียบร้อย และถ้าดูตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 4 เมษายน 2557 มีส่วนราชการเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางไปแล้ว 52.05% ของวงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท สัดส่วนใกล้เคียงกับปี 2556 เบิกจ่ายไป 52.99% ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนก็มากกกว่าปีก่อนเล็กน้อย งบลงทุนปีนี้เบิกจ่ายไป 33.62% ปีก่อนเบิกจ่าย 32.51%

“การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย 92% ของวงเงินประมาณรายจ่าย 2.525 ล้านล้านบาท ส่วนงบฯ ปี 2557 ที่เหลือ 8% คิดเป็นวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ สำนักงบประมาณจะกันเงินเอาไว้ประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านบาท เพื่อนำใช้ในมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบฯ ปี 2557 แต่มาเริ่มเบิกจ่ายในปี 2558 เป็นระยะเวลา 6 เดือน (1 ตุลาคม 2557 – 31 มีนาคม 2558) ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการเบิกจ่ายงบผูกพันก่อนปี 2556 หรือที่เรียกว่า “งบเหลื่อมปี” มาเบิกจ่ายในปี 2558 นี่ก็คือมาตรการที่สำนักงบฯ จัดเตรียมเอาไว้เพื่อรับมือกรณีงบฯ ปี 2558 ล่าช้ากว่ากำหนด ไม่สามารถเบิกจ่ายงบลงทุน เม็ดเงินของปี 2557 ที่ถูกกันเอาไว้ 1.2-1.3 แสนล้านบาท ก็จะนำมาทำเป็นงบลงทุน เบิกจ่ายในปี 2558 ”

ไทยพับลิก้า : งบฯ ปี 2558 เริ่มเบิกจ่ายได้เมื่อไหร่

การเบิกจ่ายงบฯ ปี 2558 ล่าช้าแน่นอน ปกติเริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากปัญหาการเมืองยืดเยื้อไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ จึงส่งผลกระทบต่อกระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2558 ที่ผ่านมาสำนักงบฯ ปรับปรุงปฏิทินงบประมาณใหม่มาหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งล่าสุดต้องทำเป็นแบบจำลองสถานการณ์เตรียมเอาไว้ 3 รูปแบบ แบบแรก สำนักงบฯ ตั้งสมมติฐานว่าการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ถ้าเป็นไปตามนี้ คาดว่างบฯ ปี 2558 เริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป มาถึงตอนนี้สมมติฐานดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมาก แบบที่ 2 หากการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2557 เริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2558 และถ้าการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 เริ่มเบิกจ่ายได้วันที่ 7 เมษายน 2558

“กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย หลังจากเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย ได้รัฐบาลชุดใหม่ ก็ต้องแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา จากนั้นถึงจะมาจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน และแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ทั้งนี้เพื่อนำมากำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศก่อน และถึงจะกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ขณะนี้ผมยังไม่ทราบว่างบประมาณรายจ่ายปี 2558 มีวงเงิน 2.6 ล้านล้านบาท หรือ 2.7 ล้านล้านบาท ขาดดุลเท่าไหร่ ทั้งหมดต้องรอฟังนโยบายรัฐบาลชุดใหม่”

ไทยพับลิก้า : การจัดงบฯ ล่าช้ามีกระทบอย่างไรบ้าง

กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายยังไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา ตามมาตรา 16 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และมาตรา 166 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ส่วนราชการเบิกจ่ายงบประจำไปพลางๆ ก่อนได้ อาทิ เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการของข้าราชการ และงบฯ ผูกพันตามสัญญา ส่วน “งบลงทุนใหม่วงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาทไม่มี ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่”

สำหรับการจัดสรรงบอุดหนุนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นไม่มีปัญหา เพราะสำนักงบฯ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ต้องโอนงบอุดหนุนไปให้ อปท. ไม่น้อยกว่า 25% ของประมาณการรายได้ ดังนั้น ระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีอำนาจโอนเงินไปให้ท้องถิ่น เริ่มต้นปีงบประมาณ 2558 ผมจะโอนเงินไปให้ อปท. ก่อน 1 แสนล้านบาท จากนั้นจะทยอยโอนเงินให้ทุกๆ 3 เดือน จนครบ 12 เดือน

ร่างงบประมาณปี 2558

ไทยพับลิก้า : เตรียมมาตรการรองรับกรณีเบิกจ่ายงบฯ ปี 2558 ล่าช้าอย่างไร

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ช่วงแรกๆ มีส่วนราชการหลายแห่งเข้าใจผิด คิดว่าโครงการที่ยังไม่ได้ทำสัญญา ก่อหนี้ผูกพัน หลังรัฐบาลประกาศยุบสภาไม่สามารถดำเนินการได้ จึงไม่กล้าทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ผลคืองบฯ เบิกไม่ออก ผมจึงเรียกส่วนราชการมาชี้แจงทำความเข้าใจ โครงการลงทุนที่บรรจุในงบฯ ปี 2557 ผ่านการอนุมัติจาก ครม. ทั้งหมด ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบฯ สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามระเบียบพัสดุ ถ้าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีพิเศษวงเงินเกิน 50 ล้านบาท หรือเป็นการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-auction) วงเงินเกิน 100 ล้านบาท ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีต้นสังกัด แต่ถ้าวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องส่งให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ กว่าจะทำความเข้าใจกับส่วนราชการได้เสียเวลาไปหลายเดือน ส่วนราชการเหล่านี้ก็กลับไปเริ่มทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าโครงการลงทุนเหล่านี้เบิกจ่ายไม่ทันปีงบประมาณ 2557 แน่นอน มีประมาณ 120,000 ล้านบาท งบฯ ส่วนนี้จะถูกกันเอามาทำเป็นงบลงทุนเริ่มเบิกจ่ายในปี 2558 แก้ปัญหาไม่มีงบลงทุนใหม่ไปได้ 6 เดือน

ไทยพับลิก้า : มีโครงการลงทุนใดบ้างที่มีความพร้อมใช้เงิน 1.2-1.3 แสนล้านบาท

ตอนนี้ยังไม่ได้คิดเลย ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม 2557 คงจะชัดเจน คือ ผมกำหนดมาตรการออกมาได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีก่อน และมีมติ ครม. อนุมัติให้กันงบฯ ปี 2557 เหลื่อมไปจ่ายในปี 2558 ครม. รักษาการก็อนุมัติได้ ไม่ต้องขออนุญาตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะไม่ใช้งบกลาง อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เบิกจ่ายได้เร็วกว่างบฯ ปี 2558 แน่นอน

ไทยพับลิก้า : การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีมีปัญหาอุปสรรคอะไร

ปัญหาคือโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ส่วนใหญ่เป็นงบประจำ งบลงทุนมีไม่มากนัก ต้องใช้วิธีตั้งเป็นงบขาดดุลกู้เงินมาลงทุน ปัญหาต่อมาคือ ทุกๆ ปีมีส่วนราชการยื่นคำขอใช้เงินงบประมาณเข้ามาเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น การจัดทำงบฯ ปี 2558 มีส่วนราชการทำเรื่องขอใช้เงินงบประมาณเข้ามาตอนนี้มากกว่า 4 ล้านล้านบาทแล้ว ผมมีหน้าที่ตัดทอนลงมา แต่อย่างไรก็ตามต้องรอนโยบายชุดใหม่ก่อนว่าจะตั้งวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท หรือ 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งการกำหนดตัวเลขวงเงินงบประมาณรายจ่าย ก็คำนวณมาจากประมาณการรายได้ ที่ผ่านมาก็มีการหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับตัวเลขประมาณการรายได้ปี 2558 มาโดยตลอด ตัวเลขยังไม่นิ่ง ช่วงปลายปีที่แล้วกระทรวงการคลังคาดว่าผลการจัดเก็บรายได้ปีหน้าดี แต่พอมาตอนนี้เริ่มลดลงแล้ว

นอกจากปัญหาโครงสร้างงบประมาณ ส่วนใหญ่เป็นงบประจำ และมีส่วนราชการขอใช้งบฯ เข้ามาเป็นจำนวนมากแล้ว ทุกๆ ปีสำนักงบฯ ต้องจัดงบอุดหนุนให้ อปท. ตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 25% ของประมาณการรายได้รัฐบาลในแต่ละปี อย่างในปีงบประมาณ 2557 ต้องจัดสรรงบฯ ให้ อปท. 27.37% ของประมาณการรายได้ปี 2557 สำหรับปีงบประมาณ 2558 ต้องจัดสรรงบอุดหนุนให้ อปท. ไม่ต่ำกว่านี้ แต่บางปีสำนักงบฯ ก็เคยจัดสรรงบฯ ให้ อปท. ต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ผลการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ ก็ต้องลดงบอุดหนุน อปท. ลง มิฉะนั้นสำนักงบฯ จะไม่มีเงินไปตั้งงบลงทุนให้ส่วนราชการอื่นๆ

ที่ผ่านมาสำนักงบฯ และกระทรวงการคลังเคยทำการศึกษามาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้กับท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อลดภาระในการจัดสรรงบอุดหนุนของรัฐบาล โดยมีการหารือกับกระทรวงการคลังเป็นระยะๆ แต่ อปท. ไม่อยากได้แบบนี้ เพราะการจัดเก็บรายได้เองนั้นมีความไม่แน่นอนสูง สู้วิธีเดิมไม่ได้ คือรับเป็นงบอุดหนุน รัฐบาลจัดงบฯ ให้เท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น

ส่วนรัฐวิสาหกิจ สำนักงบฯ จัดงบฯ ให้เฉพาะค่าเวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ถ้าเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างเช่น รถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) ต้องไปกู้เอง การทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็ต้องไปกู้เอง หรือทำเป็นโครงการร่วมทุนกับเอกชน (PPPs) รฟม. หนี้เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก แต่ถ้าทำโครงการเสร็จก็คุ้มค่า ช่วยแก้ปัญหารถติดได้ แต่ถ้าไม่ทำกรุงเทพมหานครมีปัญหาการจราจรแน่นอน

ไทยพับลิก้า : กระบวนการจัดทำงบฯ ควรปฏิรูปด้านไหน

ที่ต้องปรับคือเรื่องระบบฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำงบประมาณ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สำนักงบประมาณกำลังปรับปรุงวิธีการจัดทำข้อมูลงบประมาณใหม่ ประกอบด้วยข้อมูลในระดับโครงสร้างต้องครอบคลุมทุกภารกิจของส่วนราชการ อาทิ การใช้จ่ายงบฯ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ นโยบายรัฐบาล และภารกิจของส่วนราชการ ได้ครบถ้วนทุกมิติ ทางฝ่ายวิชาการของสำนักงบฯ กำลังศึกษาระบบวิธีการงบประมาณรูปแบบใหม่จากต่างประเทศ นำมาปรับปรุงให้ใช้กับประเทศไทยได้ด้วย

“ระบบงบประมาณที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบันเป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ ยังขาดคำอธิบายอะไรบางอย่างได้ไม่ครบถ้วน ปัจจุบันสำนักงบฯ มีระบบฐานข้อมูลประมาณการรายจ่ายล่วงหน้าแค่ 3 ปี ในรายละเอียดของภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในอนาคตยังขาดความชัดเจน การคาดการณ์ในอนาคตยังไม่ค่อยแม่นยำ ดังนั้นสิ่งที่ต้องปฏิรูปคือมีการจัดทำประมาณการรายจ่ายของประเทศไทยล่วงหน้า 10 ปีจะมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง”

ข้อมูลที่จะปรากฏในประมาณการรายจ่ายของประเทศล่วงหน้า 10 ปี (Long Term Expenditure Framework: LTEF) ประกอบด้วยประมาณการรายได้ รายจ่าย ดุลในงบประมาณ ดุลนอกงบประมาณ ทั้งหมดเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติใช้ประกอบการตัดสินใจ สำนักงบฯ ต้องพยายามจัดทำให้ครบถ้วน ส่วนราชการแต่ละแห่งมีรายได้-รายจ่ายเท่าไหร่ เก็บไว้นอกงบประมาณมีอยู่เท่าไหร่ ผมจะเอามาใสไว้ใน LTEF ทั้งหมด เงินนอกงบประมาณเหล่านี้เหมือนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เงินเหล่านี้เป็นเงินแผ่นดินทั้งนั้น ต้องเอาเข้ามาอยู่ในระบบงบประมาณให้หมด สามารถตรวจสอบได้ด้วย

สมมติส่วนราชการแห่งหนึ่งมีภารกิจต้องใช้จ่ายเงิน 100 บาท แหล่งเงินประกอบด้วย เงินจากงบประมาณ 80 บาท รายได้ของส่วนราชการแห่งนั้น 10 บาท และเงินกู้อีก 10 บาท รวมแล้ว 100 บาท ใช้ในภารกิจอะไรต้องตรวจสอบได้ทั้งหมด ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาประกอบการตัดสินใจจัดสรรงบฯ ให้ส่วนราชการ แต่ที่ผ่านมาข้อมูลเหล่านี้สำนักงบประมาณยังมีไม่ครบถ้วน

ไทยพับลิก้า : ทีดีอาร์ไอเสนอให้ตั้ง “สำนักงบประมาณประจำรัฐสภา” (Thai PBO) มีความคิดเห็นอย่างไร

เป็นคนละเรื่องกับที่ผมกำลังจะทำ กล่าวคือ “สำนักงบประมาณประจำรัฐสภา” ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลการจัดทำงบประมาณทั้งฉบับส่งให้ให้ฝ่ายนิติบัญญัติตัดสินใจ แต่ทำเป็นเรื่องๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติ หรือคณะกรรมาธิการ หากทีดีอาร์ไอสนใจที่จะเข้ามาทำในรูปแบบนี้ สำนักงบฯ ก็ไม่ขัดข้อง จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดทำงบประมาณแต่ละปีไป ช่วยกันหาข้อมูลเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประกอบการตัดสินใจ แต่ทุกวันนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายก็ทำหน้าที่คล้าย Thai PBO อยู่แล้ว โดยสำนักงบประมาณและฝ่ายเลขาธิการรัฐสภามีหน้าที่หาข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการฯ