ThaiPublica > คอลัมน์ > กฎหมายว่าด้วยพีอาร์ภาครัฐ

กฎหมายว่าด้วยพีอาร์ภาครัฐ

15 สิงหาคม 2013


หางกระดิกหมา

อาทิตย์ที่แล้วได้ริเริ่มด่าป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเสียใหญ่โต โดยเฉพาะพวกที่หน้าตาเหมือนป้ายหาเสียงทุกอย่าง เพราะมีแต่ชื่อกับหน้ารัฐมนตรี แต่หาเนื้อหาสาระอะไรที่เป็นประโยชน์กับชีวิตประชาชนไม่ได้ ต่างเพียงว่าป้ายพวกนี้เสกขึ้นมาด้วยเงินภาษีแทนที่จะเป็นเงินพรรคเท่านั้น

ปรากฏว่าลงบทความไปแล้ว มีคนสาธุเข้ามามากมาย แต่ละคนเข็ดเขี้ยวเคี้ยวฟันกับการเอาเงินหลวงไปสดุดีตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น ผู้รู้บางท่านก็เข้ามาช่วยเสริมว่างบป้ายโฆษณานี้ “กินเพลิน” ที่สุด เพราะค่าเช่าป้ายนั้นโก่งราคาได้ตามชอบ ใครเถียงก็อ้างว่าทำเลแพงได้ แถมต้นทุนป้ายยังต่ำ เวลากินจึงคล่องปากคล่องคอดีนัก

หลายท่านเข้ามาสนับสนุนว่าจะน่าจะผลักดันให้มีการออกกฎหรือระเบียบมาควบคุมเรื่องการประชาสัมพันธ์ภาครัฐตลอดจนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเหมือนอย่าง Government Advertising Act อันเป็นกฎหมายของรัฐออนแทริโอของแคนาดาที่ได้ยกตัวอย่างไปในคราวที่แล้วอย่างจริงจัง ในวันนี้จึงขอมาขยายความเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวเพิ่มขึ้น ต่อให้ไม่ได้ประโยชน์อะไร อย่างน้อยเราจะได้มีอะไรไว้ฝันกันเล่นๆ นอกจากเรื่องยุคพระศรีอาริย์

สาระที่น่าสนใจของกฎหมายดังกล่าว พอจะยกมาได้ดังนี้

หนึ่ง วัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ออกมาเพื่อควบคุมเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เพราะกลัวว่าจะมีการใช้เงินของรัฐไปในการหาเสียงให้กับรัฐบาล ซึ่งก็นับเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะการหาเสียงนั้นเป็นเรื่องของคนยังไม่ได้รับเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งไปแล้ว รัฐบาลก็ไม่มีหน้าที่หาเสียงอีกต่อไป หากแต่มีหน้าที่จะต้องทำงาน รัฐมนตรีที่โลกลืมนั้นมีแต่รัฐมนตรีที่ไม่ทำอะไรให้โลก ไม่เกี่ยวกับประชาสัมพันธ์อ่อนแก่อะไร

สอง กฎหมายนี้ใช้กับการโฆษณาอะไรก็ตามที่รัฐบาลเป็นคนออกค่าจ้าง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปหนังสือพิมพ์ นิตยสาร บิลบอร์ด วิทยุ หรือโทรทัศน์ รวมทั้งสื่อโฆษณาในกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ ที่รัฐบาลเป็นคนสปอนเซอร์ด้วย

สาม กฎหมายนี้ยกให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของรัฐออนแทริโอ้ หรือ สตง. เป็นเจ้าภาพในการกลั่นกรองสื่อโฆษณาของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ว่ามีเนื้อหา “เป็นไปตามกฎหมาย” หรือไม่ โดยหน่วยงานจะไม่มีสิทธิเอาสื่อโฆษณาไปใช้เผยแพร่ก่อนที่ สตง. จะให้ไฟเขียว ไม่เช่นนั้นก็จะมีความผิด

สี่ ที่ว่า “เป็นไปตามกฎหมาย” คือสื่อโฆษณานั้นๆ จะต้อง “มีสิ่งที่ควรมี” กล่าวคือ ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชน หรือข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย โครงการหรือบริการของรัฐบาล หรือข้อมูลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และในขณะเดียวกัน ก็จะต้อง “ไม่มีสิ่งที่ไม่ควรมี” กล่าวคือ ชื่อ รูปภาพ หรือเสียงของสมาชิก ครม. หรือ ส.ส. หรือข้อความที่สร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือบั่นทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามอย่างที่เคยบอกไปในตอนที่แล้ว

นอกจากนั้น สตง. ยังอาจกำหนดเกณฑ์ของตนเองขึ้นมาพิจารณาประกอบกับปัจจัยข้างต้นได้อีก เช่น สื่อโฆษณาต้องใช้ภาษาที่เป็นกลาง แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความเห็น อธิบายข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่มุ่งสร้างกระแสทางการเมือง และหน่วยงานที่ออกสื่อนั้นจะต้องมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่ตัวเองโฆษณา รวมทั้งไม่ใช้สี โลโก้ หรือสโลแกนที่เกี่ยวกับพรรครัฐบาล ไม่โฆษณาโครงการที่มีอยู่แล้วเหมือนเป็นของใหม่ และที่ชอบมากก็คือ ไม่มีข้อความ Self-congratulatory ซึ่งน่าจะแปลได้ว่า “ยกหางตัวเอง”

ห้า การโฆษณาโดยบุคคลที่สาม ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเอางบมาจากรัฐบาล ก็ต้องส่งมาให้ สตง. กลั่นกรองก่อนเหมือนกัน

หก สำหรับพวกที่เตรียมจะประท้วงว่าออกกฎหมายอย่างนี้มาก็เป็นคอขวด ทำให้การสื่อสารของภาครัฐต้องมาชะงักรอ สตง. ก็ขอให้เลิกห่วง เพราะกฎหมายให้เวลา สตง. เพียงเจ็ดวันในการพิจารณาและออกคำอนุญาต ดังนั้น ถ้าเจ็ดวันแล้ว สตง. ยังมัวแต่เว้นดีดซ้อมดนตรีอยู่ ก็ให้ถือว่าอนุญาตโดยปริยายไปเลย

เจ็ด เมื่อสิ้นปีๆ หนึ่ง สตง. ก็ต้องออกรายงานสรุปต่อรัฐสภาว่ามีการละเมิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร มีการกลั่นกรองเสร็จทันเวลาหรือไม่ รวมไปจนถึงว่าตามที่แต่ละหน่วยงานรายงานต่อ สตง. นั้น แต่ละหน่วยงานได้ใช้เงินไปกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่าไหร่ โดยอาจมีการสุ่มตรวจเอกสารการจ่ายเงินในบางหน่วยงาน เพื่อสอบดูว่ามีการรายงานครบถ้วนหรือไม่ด้วย

นอกเหนือจากกฎหมายของรัฐออนแทริโอนี้แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในระดับของรัฐบาลแคนาดาโดยรวม ทุกๆ ปีจะมีการออก Annual Report on Government of Canada Advertising Activities ซึ่งสรุปรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ มีทั้งแบบที่แสดงโดยแบ่งตามหน่วยงาน แบ่งตามประเภทสื่อ หรือแบ่งตามโครงการ และมีการบอกรายชื่อบริษัทที่ได้รับการว่าจ้าง ตลอดจนวิธีการว่าจ้าง แม้กระทั่งสัญญาจ้าง และงานวิจัยที่บริษัทโฆษณาใช้ในการทำเซอร์เวย์ก่อนโฆษณาหรือประเมินผลสัมฤทธิ์ภายหลังจากมีการโฆษณาไปแล้วก็ยังมีขึ้นบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนติดตามได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม มีคนแอบมาบอกว่า สำหรับเมืองไทย ถ้าเบื่อป้ายบิลบอร์ดพีอาร์ของนักการเมือง ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ก็ได้ แต่ให้ใช้กฎหมายควบคุมอาคารโดยให้เหตุผลว่าป้ายเหล่านี้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ขัดกับหลักสถาปัตยกรรมและสาธารณสุขก็พอแล้ว

เพราะอย่างไรมันก็ทั้ง “อุจาด” และ “สกปรก” เต็มที

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2556