ThaiPublica > คอลัมน์ > ป้ายคอร์รัปชัน

ป้ายคอร์รัปชัน

5 สิงหาคม 2013


หางกระดิกหมา

วิกฤติการณ์น้ำมันรั่วของปตท.ทำให้คนไทยหูตาสว่างหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ชัดมากๆ ก็คือพีอาร์นั้นป้องกันความพินาศของบริษัทไม่ได้ ถ้าพีอาร์นั้นมีไว้แค่สร้างภาพลักษณ์ แต่ไม่ได้มีสาระที่แท้จริง

ตรงกันข้าม พีอาร์จะทำให้พินาศไวขึ้นอีก เพราะพีอาร์ที่ไม่ใช่ของจริง ก็ไม่ต่างอะไรจากคำโกหกแบบขึ้นบิลบอร์ด ถ้าประชาชนไม่รู้ความจริงก็แล้วไป แต่ถ้ารู้เมื่อไร ก็มีแต่จะโกรธอย่างที่สุด เพราะเหมือนโดนดูถูกว่าโง่มานานแสนนาน คนเขาโกหกเป็นคุ้งเป็นแคว ยังดูไม่ออก

แต่สัจธรรมนี้ไม่ได้จริงเฉพาะกับบริษัทเท่านั้น แต่จริงกับรัฐด้วย แถมจะจริงกว่าเสียอีก เพราะรัฐนั้นมีเรื่องต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนมากมาย ไม่ใช่แค่กลั่นน้ำมัน อย่าว่าแต่งบพีอาร์ของรัฐบาลนั้น สืบสาวไปจนถึงที่สุดก็คือเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น ถ้าปรากฏว่าสิ่งที่รัฐพีอาร์ไปเป็นแค่การสร้างภาพ ประชาชนก็ไม่รู้จะเลี้ยงรัฐบาลอย่างที่ว่าไว้ทำไม

ก็เพราะรู้อย่างนี้ พอประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเข้ารับตำแหน่งแล้วถึงได้รีบออกมาตรการมาห้ามการพีอาร์ของภาครัฐไม่ให้แยงนัยตาประชาชน โดยเฉพาะพวกที่หาสาระอะไรไม่ได้ อย่างเช่นป้ายต้อนรับเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ซึ่งบอกแต่ชื่อแซ่หน้าตาเจ้าหน้าที่ ประชาชนอ่านแล้วก็ไม่ได้ฉลาดหรือรู้อะไรขึ้นมามากกว่าอ่านฉลากน้ำจิ้มไก่ จนว่ากันว่าเดี๋ยวนี้ ป้ายหน้าคนในปักกิ่งเหลืออยู่เพียงป้ายเดียวเท่านั้น ก็คือป้ายประธานเหมาฯ ในจตุรัสเทียนอันเหมิน

จะว่าไปแล้ว ประเทศที่เจริญแล้วไหนๆ ในโลกก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะอย่างที่บอกงบประมาณประชาสัมพันธ์ของภาครัฐนั้นมาจากเงินประชาชน ดังนั้นจะหยิบจะใช้แต่ละทีจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของเงินจึงจะสมควร

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=152984421571532&set=pcb.152985401571434&type=1&theater
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=152984421571532&set=pcb.152985401571434&type=1&theater
อย่างประเทศแคนาดานี่เขามีกฎหมาย Government Advertising Act คุมเลยว่าเรื่องอะไรที่รัฐบาลมีสิทธิจะทำพีอาร์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการแจ้งให้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชน ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือบริการของรัฐบาล หรือข้อมูลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ เท่านั้น เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้ และรู้แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อตัวประชาชนเอง อย่างเช่นว่าจะจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวต้องไปที่นี้ในวันนี้ หรือจะขอความช่วยเหลือในเรื่องนั้น ต้องไปที่โต๊ะไหน ข้อมูลอื่นๆที่นอกเหนือจากทำนองนี้ ไม่เป็นประโยชน์อันใดต่อประชาชน ทำป้ายไปก็รกขอบฟ้าเปล่าๆ

ที่สำคัญก็คือเขาห้ามขาดไม่ให้มีการใส่ชื่อ รูปภาพ หรือเสียงของสมาชิกครม. หรือสส. คนใดลงในสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐเหล่านี้ทั้งสิ้น หรือแม่้แต่จะใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์เพียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือบั่นทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านก็ยังไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการยักยอกเอาเงินประชาชนมาเป็นทุนเล่นการเมือง ซึ่งแปลอีกทีก็คือการเอาเงินประชาชนมาตุ๋นประชาชนเอง อันนับเป็นคอร์รัปชันอย่างที่เฮงซวยแบบหาอะไรเปรียบยาก

ไม่เท่านั้น ครบปีหนึ่งๆ รัฐบาลแคนาดา เขาก็ยังมีรายงานประจำปีออกมาสรุปว่ารัฐใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ไปในด้านไหน โดยวิธีใด ได้ผลอย่างไร แยกเป็นรายหน่วยงาน แยกเป็นตามประเภทสื่อ เรียกว่าบอกทุกอย่าง แม้กระทั่งสัญญาจ้างบริษัททำสื่อก็ยังเอามาเปิดเผยด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินเห็นและติดตามได้จริงๆ ว่ารัฐบาลเอาเงินไปใช้ทำประโยชน์อะไรบ้าง ตื้นลึกหนาบางอย่างไร

นอกจากนั้น ผลดีอีกอย่างหนึ่งของการเปิดเผยอย่างนี้ ก็คือการที่ประชาชนจะสามารถตั้งแง่ได้ถูกว่าสื่อหัวไหนๆ รับเงินรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจไปเยอะๆบ้าง จะได้ไม่แปลกใจเวลาสื่อบางสื่อเชียร์เรื่องที่ควรด่า หรือด่าเรื่องที่ควรเชียร์ เพราะเวลาสื่อไม่ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ โดยมากก็เป็นได้ด้วยเหตุเดียวคือสื่อซื่อสัตย์ต่อเงินค่าโฆษณามากกว่าเท่านั้นเอง

เรื่องนี้จะเห็นเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้ เพราะสื่อนั้นมีบทบาทอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย คนจะออกนโยบาย หรือจะลงคะแนนเสียงอย่างไร จะมากน้อยก็เจือไปด้วยข้อมูลและอคติที่มาจากสื่อทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าสื่อเพี้ยนเสียอย่าง การตัดสินใจในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม ก็หนีไม่พ้นที่จะคลาดเคลื่อนไปด้วยทั้งหมด ใน American Economic Journal ยังเคยลงงานวิจัยในประเทศอาเจนตินาที่สรุปทำนองว่า “จำนวนเงินที่สื่อได้รับจากรัฐในแต่ละเดือนนั้น แปรผกผันกับจำนวนข่าวฉาวของรัฐบนหน้าหนึ่งของสื่อ” ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือถ้ารัฐจ่ายน้อย ข่าวก็ฉาวมาก แต่ถ้าจ่ายมาก ข่าวก็จะฉาวน้อยหน่อย ฟังแล้วรู้สึกคลับคล้ายคลับคลามาก จนถ้าไม่รู้มาก่อน ก็เห็นจะต้องนึกว่าเขามานั่งทำวิจัยกันที่อ่าวพร้าวนี่

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประเทศไหนจะไม่กล้าประชาสัมพันธ์ตัวเองก็แล้วไป เพราะรัฐบาลไทยดูเหมือนจะไม่อาย เพราะป้ายโฆษณานักการเมืองแบบน้ำจิ้มไก่ยังมีเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด อย่าว่าแต่จะลดเลย วันดีคืนดี รัฐบาลยังเคยออกมาบอกว่าตัวเอง “อ่อนประชาสัมพันธ์” ว่าแล้วก็เตรียมจะทุ่มความสำคัญให้มันมากขึ้นไปอีก

จนบางคนบอกว่าดีที่ป้ายรูปประธานเหมาฯ ไม่ได้อยู่เมืองไทย

ไม่งั้นป้ายก็คงมีลูกไฟวิ่งแบบไทม์สแควร์ไปนานแล้ว

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ” วันที่ 5 สิงหาคม 2556