จากปมปัญหาแนวคิดและหลักการที่แตกต่างกันในการบริหารจัดการเรื่องเงินเหมาจ่ายรายหัวของ สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการสุขภาพแทนประชาชนกว่า 48 ล้านคน นำไปสู่ปมขัดแย้งที่ใหญ่ขึ้นระหว่าง สปสช. กับหน่วยงานบริการในสังกัดสำนักปลัดกระทรวงทรวงสาธารณสุข ตามที่มีข่าวปรากฏเมื่อปลายปี 2557
ขณะเดียวกัน มีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการของสำนักงาน สปสช. ในหลายประเด็น ต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งตั้งขึ้นตามอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
และล่าสุด พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่ามีผู้ร้องเรียนต่อศูนย์ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศตช.) ว่ามีความเสียหายจากการบริหารงานของ สปสช. ตนจึงมอบหมายให้ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องในส่วนใดบ้าง
จากปมปัญหาดังกล่าว ความขัดแย้งระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ดูแลหน่วยบริการ (โรงพยาบาลรัฐ) ทั้งหมด กับสำนักงาน สปสช. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยที่หน่วยบริการระบุว่าการบริหารเงินเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. นำเงินไปใช้ผิดประเภท ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดทุนเรื้อรัง ขณะที่ สปสช. ยืนยันว่าได้ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซื้อยา อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ รวมถึงการตั้งกองทุนดูแลสำหรับโรคเฉพาะเป็นต้น
ในที่สุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ (ดูเพิ่มเติม) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างรอผลการสอบสวน คำสั่งย้ายเกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียก นพ.ณรงค์กับ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมต.กระทรวงสาธารณสุข ไปเจรจาไกล่เกลี่ยให้หาทางตกลงวิธีการทำงานร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการบริหารจัดการเรื่องเงินเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. นั้นมีการสะท้อนปัญหามาอย่างต่อเนื่องจากหน่วยบริการ จนนำไปสู่การร้องเรียนให้ สตง. เข้าตรวจสอบ และมีรายงานผลการตรวจสอบ สปสช. อย่างเป็นทางการ แต่ไม่มีความคืบหน้าในการปรับปรุงการบริหารเงินเหมาจ่ายรายหัว ไม่เพียงแต่ สตง. เท่านั้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่า สปสช. ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวผิดประเภท ยังมีรายงานของกรมสอบสวนพิเศษยืนยันเรื่องการใช้จ่ายเงินผิดประเภทด้วยเช่นกัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า กรณีรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นมีการสอบสวนเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2556 แต่รายงานฉบับนี้เพิ่งมาถึง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะมีคำสั่งย้ายให้ไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรีไม่นานนัก โดยรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษนี้มาจากการทำหนังสือของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ให้ตรวจสอบการใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรม ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากมีปรากฏข่าวในสื่อมวลชน โดยกลุ่มแพทย์ชนบทและองค์กรภาคประชาชน ได้กล่าวถึงนักการเมืองของกระทรวงสาธารณสุขว่าได้สั่งการให้ สปสช. โอนเงินค่าส่วนลดที่ได้จากการสั่งซื้อวัคซีนและยาต้านไวรัสเอดส์จากองค์การเภสัชกรรมกว่า 70 ล้านบาท ไปให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในทางมิชอบ
จากข่าวดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า สปสช. ได้จัดซื้อเวชภัณฑ์และวัสดุวิทยาศาสตร์ให้กับหน่วยบริการ คือโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดอื่น และองค์การเภสัชกรรมได้จัดสรรเงินส่วนลดจากยอดซื้อและความรวดเร็วในการชำระเงินให้กับผู้สั่งซื้อคือ สปสช. เพื่อนำไปจัดสรรให้กับหน่วยบริการที่เบิกวัคซีนไป แต่จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้เข้าตรวจสอบ สปสช. พบว่า สปสช. ไม่ได้นำเงินจำนวนนี้ไปจัดสรรให้กับหน่วยบริการแต่อย่างใด กลับนำเงินจำนวนดังกล่าวไปจัดสรรให้กับบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนงานป้องกันโรคด้วยวัคซีน หลังจากการทักท้วงของ สตง. ทาง สปสช. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ทำหน้าที่จัดสรรยอดเงินดังกล่าวให้กับสถานบริการสาธารณสุข
ผลจากการตรวจสอบเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีความเห็นว่า เงินส่วนลดจากองค์การเภสัชกรรมที่ สปสช. ได้รับมาหลายปีแล้ว และในแต่ละปี สปสช. น่าจะได้ดำเนินการจัดสรรให้กับบุคคลและองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ อันเป็นการใช้เงินที่น่าจะไม่ถูกต้อง จึงให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวนให้เป็นที่กระจ่างชัด
หลังจากนั้น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งคณะทำงานสอบสวนระหว่างเดือนกันยายน 2556-ตุลาคม 2556 ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรายงานผลการสอบสวน ซึ่งรายงานฉบับนี้เพิ่งส่งถือมือปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งประเด็นการสอบสวนไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
1. การจัดซื้อยา วัสดุวิทยาศาสตร์ ให้กับหน่วยบริการ การจัดซื้อวัคซีนเพื่อนำไปใช้ในแผนการควบคุมโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนแห่งชาติ ของ สปสช. ถูกต้องหรือไม่
คณะทำงานสืบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สปสช. มีอำนาจหน้าที่ในการเป็นตัวแทนผู้ซื้อบริการของประชาชนกว่า 48 ล้านคน โดยต้องดำเนินการงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ให้กับหน่วยบริการเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัวต่อผู้มีสิทธิ แต่ในข้อเท็จจริง สปสช. ได้เป็นผู้จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์กังองค์การเภสัชกรรม เพื่อจัดสรรให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดอื่นเอง ขณะที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของส่วนราชการไว้แล้ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรม
ในรายงานระบุว่า อีกทั้งหน่วยบริการของส่วนราชการ ควรต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เอง เนื่องจากเป็นหน่วยให้บริการโดยตรงกับผู้ป่วย ซึ่งจะมีข้อมูลสำหรับใช้วางแผนการดำเนินการ ประมาณการค่าใช้จ่าย และกำหนดปริมาณยาและเวชภัณฑ์ในคลังเพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการ หรือหากเป็นกรณีต้องมีวัคซีนหรือยาจำเป็นที่ต้องมีสำรองไว้ ก็เป็นนโยบายหรือการสั่งการจากกระทรวงโดยรัฐมนตรีเพื่อเตรียมการระวังป้องกันอยู่แล้ว สปสช. จึงมีหน้าที่เพียงจ่ายค่าใช้จ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนที่ไปใช้สิทธิ
รายงานระบุต่อว่า เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากระบบการให้ความช่วยเหลือในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดนั้น มีระบบให้ความช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลหลายระบบ ทำให้มีการเบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน จึงนำระบบการช่วยเหลือดังกล่าวมาจัดการร่วมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมด้านสาธารณสุข ไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน และการจัดระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงมีต้อง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น การที่ สปสช. ได้ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรม จึงอาจจะไม่สอดคล้องกับอำนาจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2. องค์การเภสัชกรรม ออกข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐ พ.ศ. 2546 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การสนับสนุนให้กิจกรรมภาครัฐ ถูกต้องหรือไม่
การที่องค์การเภสัชได้ออกข้อบังคับ ดังกล่าว โดยผู้ซื้อผลิตภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรม มีสิทธิได้รับส่วนลดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่องค์การเภสัชกรรมกำหนด แต่หลักเกณฑ์ได้นำเงื่อนเวลาการชำระหนี้ค่าผลิตภัณฑ์มากำหนดด้วยนั้น น่าจะไม่ถูกต้อง เนื่องจากการจัดซื้อโดยเงินงบประมาณ ซึ่งต้องจัดหาในราคาที่เหมาะสม หากมีการให้ส่วนลดกลับคืนมาอาจจะทำให้เห็นว่ามีการคิดราคาขายที่สูงเกินไป และการนำเงื่อนเวลาการชำระหนี้มากำหนดหลักเกณฑ์ในการให้ส่วนลดนั้น ภาครัฐมีระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายควบคุมอยู่แล้ว
3. สปสช. นำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ (ส่วนลดจากการซื้อเวชภัณฑ์) ไปใช้จ่ายเป็นเงินกองทุนสวัสดิการของสำนักงาน สปสช. ถูกต้องหรือไม่
กรณีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สปสช. ได้ออกระเบียบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการจัดสวัสดิการของสำนักงาน และตามข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ. 2546ได้กำหนดให้ภาครัฐที่มีสิทธิจะได้รับเงินสนับสนุนฯ ต้องจัดทำโครงการเสนอองค์การเภสัชกรรมพิจารณา ซึ่ง สปสช. ได้จัดทำโครงการเพื่อขออนุมัตินำเงินส่วนลดจากการซื้อยาและเวชภัณฑ์มาใช้ในกองทุนสวัสดิการสำนักงาน โดย สปสช. ใช้เงินดังกล่าวไปสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรและภารกิจของสำนักงาน ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกเพื่อประโยชน์แก่การดำรงชีพนอกเหนือจากสวัสดิการที่สำนักงานจัดให้เป็นกรณีปกติ และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวหรือผู้ทำคุณประโยชน์แก่สำนักงานและรวมถึงการทำสาธารณกุศลหรือสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์แก่การสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตามหลักเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนดไว้
สำหรับเงินที่องค์การเภสัชกรรมได้อนุมัติให้กับ สปสช. ในช่วงปี 2553-2556 มีดังนี้
รายงานของกรมสอบสวนพิเศษระบุว่า การใช้เงินดังกล่าวของ สปสช. น่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องและใช้จ่ายไม่เหมาะสม เนื่องจากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของ สปสช. เป็นเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือเงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชน 48 ล้านคน ซึ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่จะต้องจ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และ สปสช. ก็ไม่ใช่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุขกับประชาชน (เป็นเพียงตัวแทนผู้ซื้อบริการแทนประชาชน 48 ล้านคน) แต่ สปสช. ได้นำเงินดังกล่าวไปเป็นค่าใช้จ่ายในกองทุนสวัสดิการสำนักงาน และตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้คณะกรรมการเสนอขอรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานอยู่แล้ว (เงินค่าบริหารได้ 1% ของเงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว อาทิ ปี 2558 จำนวน 114,963.64 ล้านบาท เป็นเงินค่าบริหารของสำนักงานสปสช. 1,149.63 ล้านบาท)
อีกประการหนึ่งคือ สปสช. ได้นำเงินส่วนดังกล่าวไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น โครงการจัดหารถยนต์เพื่อสนับสนุนภารกิจสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, โครงการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเงินส่วนลดแต่ละปี สปสช. ใช้ทำอะไรบ้าง ปี 2553, ปี 2554, ปี 2555 และปี 2556)
อย่างไรก็ตาม ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เสนอว่า เงินจำนวน 75 ล้านบาท ที่เป็นเงินส่วนลดจากองค์การเภสัชกรรมนั้น สปสช. ต้องคืนให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชน)
นพ.วินัย สวัสดิวร ยัน “องค์การเภสัชไม่มีทางที่จะมาให้ใต้โต๊ะผม”
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สัมภาษณ์ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. เมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้ตอบคำถามกี่ยวกับการซื้อยาและเวชภัณฑ์ว่า
ไทยพับลิก้า: จะถามต่อในหมวด 3 (บริการกรณีเฉพาะ) และ 4 (บริการสร้างเสริมและป้องกันการเข้าถึงบริการตามกลุ่มวัย) เพื่อให้ สปสช. ซื้ออุปกรณ์เอง ซื้อยาเอง วงเงิน 10,000 กว่าล้าน แล้วเงื่อนไขของคนเป็นโรคไตเรื้อรังจริงๆ แล้วเขามีสิทธิเลือกไหมว่าจะรักษาแบบไหน แต่เขาเหมือนถูกบังคับให้เลือก
ถ้าจะมีปัญหาอะไร ผมยอมรับว่านั่นเป็นดีไซน์ (การให้บริการ) การตัดสินใจ ผมไม่ปฏิเสธ ผมยอมรับว่านั่นเป็นความรับผิดชอบของผม ในการที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ เพราะฉะนั้นเมื่อผมทำหน้าที่อย่างนั้น แน่นอนผมมีเงินที่รัฐบาลให้มาจำกัด ผมต้องพยายามทำทุกอย่างที่จะทำให้เงินของผมมีคุณค่ามากที่สุด การซื้อหรือการอะไร ถ้ามันทำให้ได้ของดี ราคาถูก แล้วประชาชนเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น ผมถือว่าเป็นหน้าที่
ผมยกตัวอย่างเช่น ที่เราซื้อสเต็นท์ (stent: ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด) ก่อนหน้าที่เราจะมาจัดการ สมัยก่อนเราจ่ายเป็นเงิน ราคาเส้นละ 85,000 บาท ทุกวันนี้เราซื้อได้ในราคา (แบบเดียวกัน) ประมาณเส้นละ 12,000-15,000 บาท ลดไปเส้นละ 70,000 บาท ในขณะที่ปีหนึ่งใช้ไป 30,000 กว่าเส้น
ในเมื่อมีเงินจำกัด ผมต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ถ้าจะพูดว่าผมทำแล้วมีปัญหาอะไรก็ว่ามาดีกว่า แต่ผมควรจะทำหรือไม่ ผมยังคิดว่าผมควรจะทำ ถ้าผมทำแล้วมีทุจริต มีใต้โต๊ะ มีนอกมีใน คุณบอกมาเลย
ไทยพับลิก้า: กรณีนี้จะตรวจสอบได้อย่างไร
ผมซื้อผ่านองค์การเภสัช องค์การเภสัชไม่มีทางที่จะมาให้ใต้โต๊ะผม เป็นไปไม่ได้
ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมา สตง. เขาก็ตรวจสอบพบว่าองค์การเภสัชมีการจ่ายเงินคืนกลับมาแล้วเอาเงินไปเที่ยวต่างประเทศ
ขออภัย เงินที่องค์การเภสัชให้ทุกโรงพยาบาล เขาเรียกว่าเป็นเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐ จริงๆ เรื่องทักท้วงจาก สตง. ผมไม่มีปัญหา เพราะเราได้ทำรายงานชี้แจง สตง. ไปนานแล้วด้วย หากมีปัญหามันคงไม่จบ แต่มันจบไปแล้ว
ไทยพับลิก้า: ที่บอกว่าซื้อสินค้าได้ราคาถูก ประเด็นตรงนี้มีการท้วงติงจากคนไข้ว่ามันไม่ได้คุณภาพจริง แม้กระทั่งน้ำยาล้างไตที่มีปัญหา หรือบางคนที่เป็นหมอก็ไม่ได้ใช้สเต็นท์ที่ สปสช. ซื้อ แม้กระทั่งกรรมการของ สปสช. (บางคน) เองก็ไม่ใช้
ผมไม่ได้มีปัญหาว่ามันจะ satisfied (ทำให้ทุกคนพอใจ) หรอกนะ ผมพูดจริงๆ มันทำไม่ได้ แล้วก็… มันเป็นไปไม่ได้เพราะหมอมีหลากหลาย จริงๆ สิ่งที่เราซื้อ สปสช. ไม่ได้ทำเอง โดยเชิญสมาคมมัณฑนากรโรคหัวใจ ใครเป็นนายกสมาคมเราก็เชิญมาดูกระบวนการทั้งหมดเลยว่าจะเป็นอย่างไร สปสช. ไม่ได้มีองค์ความรู้ เราให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำ ไปถามนายกสมาคมด้วยว่าการทำเรื่องนี้ สมาคมรับรู้รับทราบหรือไม่ ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้น เรื่องไตก็เชิญทั้งสมาคม มูลนิธิโรคไตมา เพราะว่าเราไม่ใช่ expert (ผู้เชี่ยวชาญ) ในเรื่องนั้น
ที่เราใช้เงิน ค่าใช้จ่ายแพงๆ มี 2 ส่วน คือ โรคหัวใจ กับกระดูก ที่ใช้อุปกรณ์มาก เราก็เชิญทั้งทางสมาคมโรคกระดูกมาช่วยเราคิดช่วยเราทำว่าจะเป็นอย่างไร ผมยืนยันได้เลยว่า เราไม่ซื้อเอกชนโดยตรง เพราะเดี๋ยวจะหาว่ามี…เพราะเอกชนมันง่ายในการที่จะ… แต่องค์การเภสัชทำไม่ได้ในระบบของเขา หรือให้องค์การเภสัชร่วมรู้เห็นในการเจรจาต่อรอง เพราะว่าเราต้องการความโปร่งใสในการจัดการ
โดยแนวคิด ผมมีหน้าที่ในการพยายามทำให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะว่าเรารู้ว่าเราได้เงินมาจากรัฐบาลน้อย เมื่อเทียบกับระบบข้าราชการ ระบบอะไรก็แล้วแต่ เราได้น้อย เรามีหน้าที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นมันเกิดประโยชน์สูงสุด
ไทยพับลิก้า: แต่เงินค่าหัวของประชาชน โดยสปสช. เป็นคนซื้อบริการ ถ้าให้เงินหน่วยบริการไปแล้ว หน่วยบริการต้องบริหารจัดการเงินของเขาเอง นั่นเป็นสิทธิของเขา ที่สปสช. บอกว่าเงินมันน้อย ต้องมาบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด บทบาทนี้ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการที่ต้องดูแลเงินของเขาเอง
จริงๆ โดยส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น เรื่องการที่เรามาจัดการ จะสังเกตว่า สมมติว่าเรื่องสเต็นท์มันประหยัดเงินได้เยอะ คุณสามารถซื้อสเต็นท์เองก็ได้ เราจะจ่ายเงินคืนให้เส้นละหมื่น… เขาจะซื้อในราคาที่ สปสช. ซื้อไม่ได้ รับรองได้ เราคิดว่าถ้าเมื่อไหร่สินค้าที่เราซื้อจนราคามันคงที่ เราจะเปลี่ยนวิธีการจ่ายแบบส่งเงินไปให้เลย เพราะไม่อยากจะไปนั่น…แต่หลายอันยังทำไมได้ ถ้าเกิดว่าเราทำให้ตลาดมันคงที่ระดับหนึ่งและไม่สามารถต่อรองราคาลงไปได้มากแล้ว เราจะไม่เป็นคนซื้อ หลายเรื่อง ยกตัวอย่าง น้ำยาล้างไต ประเด็นคือว่า เรากำหนดว่าต้องส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน เพราะว่ามันหนัก 240 กิโลกรัม ซึ่งสวัสดิการข้าราชการ คนไข้ต้องแบกไปเอง ราคาจากเดิมที่มันถุงละเกือบ 200 บาท เหลือ 100 กว่าบาท
จริงๆ ผมคิดอย่างนี้ ในการเจรจาต่อรอง เราเชิญชวนพวกแพทย์ที่อยู่ในสมาคมโรคไตมาร่วมในการเจรจากับเรา ในการจัดการเรื่องประสิทธิภาพการใช้เงิน หน่วยบริการเขาก็มีกลไกของเขา ถ้าพูดถึงมูลค่ายาทั้งหมดในประเทศ มันเป็นแสนล้าน ถ้าสมมติว่ามูลค่าที่เราซื้อ ที่เราทำทุกวันนี้ เทียบกับยาทั้งหมด ผมเชื่อว่าไม่ถึง 10%
ไทยพับลิก้า: ไม่ถึง 10% แต่เป็นมูลค่าเป็น 10,000 ล้านบาท การที่ สปสช. ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าหน่วยบริการไม่มีประสิทธิภาพในการจัดซื้อของเขาเองหรือไม่
ไม่ใช่ เพราะว่าการต่อรองระดับที่ใหญ่มีอำนาจในการต่อรองสูงกว่ามาก
ไทยพับลิก้า: ทำไมไม่ปล่อยให้เขาไปจัดการกันเอง ในเมื่อเขาสามารถที่จะรวมกลุ่มกันไปซื้อเองก็ได้ เพราะโรงพยาบาลต่างๆ ก็อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
เขาก็ทำได้ ไม่ได้ห้าม มีอีกมากมายที่เขาจะทำ เขาอยากจะลองทำอะไรก็ได้ที่เขาทำได้ เรามีรายการซื้อน้อยมาก ขณะนี้กระทรวงกำลังพยายามทำอยู่ ผมเชื่อว่าถ้ากระทรวงทำได้ดี และมีตัวอย่างให้เห็น ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหาอะไรในการจัดการ
ไทยพับลิก้า: หากทำได้ ต่อไป สปสช. จะไม่ทำแล้ว
ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าลืมว่า ที่เราทำไม่ใช่เฉพาะดูแลสเต็นท์ จริงๆ แล้วสเต็นท์คนใช้เป็นคนนอกกระทรวงเสียมาก เพราะเป็นโรงเรียนแพทย์ทำ เพราะเป็นโรคยากๆ เอกชนที่อยู่ในระบบของเราด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติว่ากระทรวงฯ อยากจะเอาในส่วนของกระทรวงฯ ไปซื้อเอง ผมยินดี สมมติว่าสเต็นท์ 10,000 เส้น เป็นของกระทรวงทำสักกี่เส้น ที่เหลือเป็นของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ จริงๆ แล้วถ้าเกิดจะมีปัญหาน่าจะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เขาใช้มากกว่ากระทรวงฯ มาก โรงเรียนแพทย์ศิริราช รามาฯ จุฬาฯ พระมงกุฎฯ ทั้งหลายซึ่งเป็นศูนย์กลางใหญ่ๆ โรงพยาบาลพวกนั้นน่าจะโวยวายมากกว่า แต่ไม่ใช่ โดยธรรมชาติคนที่เข้ามาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาคม เขาก็มาจากคนที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เขาก็รู้ว่าเราทำอย่างนี้
ไทยพับลิก้า: ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเรื่องยา ขอให้เปิดเผยชัดเจนได้หรือไม่ ว่าซื้อยา อุปกรณ์อะไรบ้าง จากบริษัทอะไร มูลค่าแต่ละปีเท่าไหร่ ขอย้อนหลัง 5 ปีได้หรือไม่
ได้ครับ ไม่เป็นปัญหา ข้อมูลเราไม่ได้ปิดบัง ทั้งหมดเราซื้อผ่านองค์การเภสัช ผมจะให้ข้อมูลทั้งราคาที่เราประหยัดได้ เพราะว่านั่นคือส่วนที่ผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ จริงๆ แล้วการรวมซื้อผมเห็นเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งถ้ากระทรวงฯ เขาจะทำในส่วนที่เขาจะทำก็ดี ไม่เห็นมีปัญหา (ไทยพับลิก้าสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลดังกล่าว)
แต่ระบบสำนักงาน สปสช. เนื่องจากว่าเราไม่ได้ให้หน่วยบริการเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ข้างหน้าเราไปคิดเรื่องของยามะเร็ง คนไข้มะเร็งส่วนใหญ่ไปรักษาที่โรงเรียนแพทย์ พวกโรคยากๆ เราไม่ได้ไปเอายาหวัดมาทำ ตอนนั้นนโยบายผมบอกว่าถ้าเกิดเราประหยัดเงินไม่ถึง 100 ล้าน อย่าไปทำ เพราะว่าไม่มีประโยชน์ พอเรา manipulate (จัดการ) ตลาดไประดับหนึ่งแล้วเราก็พอ เพราะว่าเราต้องการทำเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมันต้องสมดุลกับคนใช้แน่นอน
ในระบบการแพทย์มันไม่ง่ายที่จะอยู่ดีๆ ไปบังคับให้เขาใช้ ผมรับประกันได้ สิ่งที่เราทำ เราไม่มีทางทำเอง หมอหัวใจ ไม่ง่าย เราโดนโวยวายพอสมควร หรือยาซีแอล (CL) เช่น ยา Clopidogrel ที่เราทำ เวลาเราจ่ายยาหลังจากนี้เราก็ซื้อยาซีแอล เราไม่ได้ให้โรงพยาบาลซื้อ เราซื้อเม็ดละ 1 บาทกว่า ขณะที่บริษัทราคาเม็ดละ 70 บาท ปีหนึ่งไม่รู้ว่าใช้กี่ล้านเม็ด
หรือยากำพร้า พวกพิษงู ยาสำหรับขับตะกั่ว ยาแก้พิษจากหน่อไม้ดอง เราก็เลยซื้อวัคซีนไว้ตรงกลาง เพราะว่าวัคซีนนี้โรงพยาบาลไหนก็ไม่อยากซื้อสต็อกไว้หรอก เพราะซื้อไว้แล้วอาจจะไม่ได้ใช้ก็ได้ พวกนี้เราก็ซื้อจากตรงกลาง ให้องค์การเภสัชให้โรงพยาบาลรามาเป็นคนสต็อก แล้วก็จัดระบบในการจัดการ
อย่างพิษงู ใครจะสต็อก เก็บไว้แล้วหมดอายุไป ราคาแพง ต้นทุนเก็บรักษาอีก ใครจะเก็บ ถ้าไม่จัดระบบในการจัดการแล้วเข้าไม่ถึงบริการจะทำอย่างไร ฉะนั้น การซื้อตรงกลางไม่ใช่เป็นปัญหาของระบบ จะทำอย่างไรให้ได้ของดีมีประโยชน์ อย่าไปต่อต้านในการซื้อเลย
ไทยพับลิก้า: ไม่มีใครต่อต้าน แต่ต้องการความโปร่งใส
โอเค ใครอยากเห็นกระบวนการ ผมยินดี อยากดูอะไรก็ได้ เวลาเจรจาอยากจะ observe (สังเกตการณ์) ผมจะเชิญมาด้วย
ไทยพับลิก้า: การจัดซื้อของ สปสช. มีการคุยกับกระทรวงสาธารณสุขมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
สมัยก่อน ยกตัวอย่าง วัคซีน กรมควบคุมโรคเขาก็ซื้อ เขาไม่ได้ปล่อยให้โรงพยาบาลซื้อหรอก วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เขาก็ซื้อที่ส่วนกลางกันทั้งนั้น ยารักษาวัณโรค เขาก็ซื้อที่กรมควบคุมโรค
ไทยพับลิก้า: ทำไมฐานข้อมูลระบบสาธารณสุขไม่เชื่อมโยงกัน ไม่สามารถเห็นภาพรวมสาธารณสุขทั้งหมดของประเทศว่าจุดไหนต้องการอะไร อย่างไร ทั้งที่ทำมานาน หากมีข้อมูลที่เพียงพอมันสามารถประหยัดได้มากมาย
จริงๆ เคยเสนอต่อสาธารณะ แต่ว่าพอเสนอไปมันก็ผ่านไป ไม่มีคนสนใจ ข้อมูลพวกนี้เคยเสนอต่อสาธารณะ
ไทยพับลิก้า: ต้องทำระบบฐานข้อมูล และต้องเปิดเผยได้ ประชาชนเอาไปใช้ได้
ประเด็นเรื่องการซื้อยา ผมคิดว่าเราไม่ได้พูดว่าไม่ควรจะทำ หลายเรื่องที่มันต้องทำ อย่างยากำพร้า ยาแก้พิษต่างๆ ที่มันต้องมี สอง อะไรที่มันทำแล้วเกิดประโยชน์ ประชาชนเข้าถึงบริการ
สมมติว่า สปสช. ทำให้ราคามันลงได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว แล้วมันลงไปกว่านี้ไม่ได้ และหน่วยบริการสามารถหาซื้อได้ในระบบ ผมคิดว่า สปสช. ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม อย่างสเต็นท์ หากเราดูแล้วว่าราคาคงไม่ลงไปกว่านี้แล้ว เช่น ราคาประมาณ 10,000 กว่าบาท ข้างหน้าใครจะซื้ออะไรก็ได้เรายินดี จ่ายเป็นเงินก็ได้ ไม่เป็นไร ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร