ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สตง.ตรวจสอบการดำเนินงานสปสช.ระบุไม่โปร่งใส ใช้งบสุขภาพถ้วนหน้า เหมาจ่ายรายหัวผิดประเภทเกือบ 100 ล้าน

สตง.ตรวจสอบการดำเนินงานสปสช.ระบุไม่โปร่งใส ใช้งบสุขภาพถ้วนหน้า เหมาจ่ายรายหัวผิดประเภทเกือบ 100 ล้าน

7 ธันวาคม 2011


หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้ดำเนินการมาถึง 9 ปี มีการท้วงติงมากมายว่าควรปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะในช่วงที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายต่อหัวของประชาชนที่อยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประมาณ 48 ล้านคนได้เพิ่มขึ้นทุกปีๆ แต่โรงพยาบาลที่ให้บริการกลับขาดทุนมากขึ้นๆ ( อ่านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์” ย้ำ“งบสาธารณสุข” มีปัญหา บีบสปสช.ปล่อยเงินค้างท่อ 17,000 ล้าน อุ้มรพ.ขาดสภาพคล่อง)

และปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 200 ล้านครั้งต่อปี เฉลี่ยประมาณ 500,000 ครั้งต่อวันทั่วประเทศ เมื่อเทียบกับจำนวนแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านอื่นๆ ในหน่วยบริการคือโรงพยาบาล มีแพทย์ประมาณ 10,000 คน พยาบาล 100,000 คนเศษ ต้องให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งระบบไม่สามารถรองรับได้ ทั้งนี้เป็นผลจากนโยบายประกันสุขภาพถ้วน 30 บาทรักษาทุกโรค (อ่าน นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ” ชี้เป้าเมื่อ “แพทย์ – พยาบาล” โดนถล่มจากผู้ใช้บริการ 48 ล้านคน หวั่นระบบรักษาพยาบาล “ตายซาก” )

ขณะที่น.อ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการ แพทยสภา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่มีนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้า ระบุว่าวันนี้โรคมากขึ้น เด็กตายมากขึ้น มีผู้ป่วยมากขึ้น (อ่าน ปัญหาสาธารณสุขไทย ความจริงของ “แพทย์ไทย” กับอนาคตไร้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ )

ขณะที่นายวิทยา แก้วภราไดย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยกล่าวว่าปัญหาของสปสช. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคณะกรรมการบริหารมีความเป็นอิสระสูงมาก จนยากที่จะตรวจสอบ แม้ตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อเข้าไปอยู่ในวงล้อมของบอร์ดสปสช. ก็อาจตกอยู่ในที่นั่งลำบาก (อ่าน อดีตประธานสปสช. ระบุบอร์ดสปสช. มีอำนาจล้น ชงเลขาฯ อนุมัติครั้งละ 1 พันล้าน)

จากปัญหาการให้บริการสาธารณสุขดังกล่าว ล่าสุดมีรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้สรุปผลการตรวจสอบประเมินผลสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ปีงบประมาณ 2554 ระบุถึงความไม่โปร่งใสในการใช้เงิน โดยรายงานว่ามีการดำเนินงานที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีหลายข้อ รวมทั้งการจ่ายเงินเดือนเลขาธิการ สปสช.ในอัตราสูงไม่เป็นไปตามสัญญา จ่ายเบี้ยประชุมให้ประธานและอนุกรรมการเกินกว่ามติ ครม.2 เท่าตัว และจ่ายโบนัสพนักงานโดยไม่มีมติคณะกรรมการ สปสช. และการจ่ายเบี้ยเลี้ยง

จ่ายเบี้ยประชุม-โบนัสเกินจริง

รายงานสตง.ระบุว่าการปรับเงินเดือนให้เลขาธิการสปสช.ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ การปรับเงินเดือนให้เลขาธิการหลังจากการประเมินผลการปฏิบัติงานปีที่ 1 นั้นคณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ปรับเงินเดือนเป็นเดือนละ 200,000 บาท และเงินประจําตําแหน่งเดือนละ 50,000 เป็นอัตราสูงสุดของกรอบเงินเดือนเลขาธิการตามมติครม. ดังนั้น การปรับอัตราเงินเดือนของเลขาธิการปรับได้เฉพาะการปฏิบัติงานปีที่ 2 ไม่สามารถปรับเงินเดือนตามผลงานเป็นระยะ ๆ ตลอดอายุสัญญา จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการได้รับเงินเดือนของเลขาธิการตามมติคณะรัฐมนตรี(นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.ปี2553-2554)

การจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบไม่เป็นไปตามมติครม. โดยเกณฑ์ของ สปสช.นั้นเบี้ยประชุมกรรมการขั้นต่ําและขั้นสูงเท่ากับ 6,000-12,000 บาท อนุกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนตามที่คณะกรรมการกําหนดแต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราเบี้ยประชุมกรรมการ และประธานอนุกรรมการให้ได้รับในอัตราสูงกว่าอนุกรรมการร้อยละ 25 ดังนั้นอนุกรรมการตรวจสอบจะได้รับเบี้ยประชุมขั้นต่ำและขั้นสูงเท่ากับ 3,000 – 6,000 บาท และประธานอนุกรรมการจะได้รับเบี้ยประชุมไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท

จากการตรวจสอบพบว่า อนุกรรมการตรวจสอบได้รับเบี้ยประชุมคนละ 16,000 บาทต่อเดือน และประธานอนุกรรมการตรวจสอบได้รับเบี้ยประชุมเดือนละ 20,000 บาท ดังนั้นตั้งแต่มีมติครม.เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ถึงเดือนมีนาคม 2553 สปสช.ได้จ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบสูงเกินกว่าที่ครม.กําหนดเป็นเงินจํานวน 3,105,000 บาท

ขณะที่การจ่ายโบนัสให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้าง ของ สปสช. พบว่า ปีงบประมาณ 2549 จ่ายโบนัส 18,702,836 บาท โดยไม่มีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ และในปีงบประมาณ 2550-2551 ได้จ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน ซึ่งไม่เป็นลูกจ้างของ สปสช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกําหนดนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล แต่ไม่ได้นําเสนอการจ่ายโบนัสให้พนักงานเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สปสช. เป็นเงิน 2,751,615 บาท

สตง.ระบุอีกว่าการใช้จ่ายเงินบางรายการเป็นไปโดยไม่ประหยัด พบว่าการเดินทางโดยเครื่องบินของผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานตําแหน่งอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือรองผู้อํานวยการสํานัก ทุกรายการไม่ได้ระบุถึงเหตุผลความจําเป็นที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบินตามเกณฑ์การบริหารและการจัดการ สปสช. พ.ศ. 2550 รวมทั้งการจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงการเดินทางในการจัดประชุมอบรมสัมมนาของสปสช.มีการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนกัยรายจ่ายอื่นที่สปสช.ได้จ่ายให้ผู้เขาร่วมประชุมไปแล้ว

จัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส

นอกจากนี้ในเรื่องการบริหารพัสดุของ สปสช. ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และข้อบังคับที่กําหนดไว้ คือ สปสช. ไม่ได้ส่งแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในกําหนดเวลาอย่างช้าภายในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี และแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างมีรายการไม่ครบถ้วน นอกจากนั้น สปสช. ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสปสช.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 และคู่มือการจัดหาพัสดุ รวมถึงการให้เลขที่ใบสั่งซื้อสั่งจ้างในทะเบียนคุมใบสั่งซื้อสั่งจ้างไม่ครบทุกรายการ

และการคัดเลือกผู้ขาย/ผู้รับจ้างในการจัดหาโดยวิธีเปรียบเทียบราคาด้วยการเปิดประมูลทั่วไปไม่เป็นไปตามระเบียบที่กําหนด จากการตรวจสอบพบว่า สปสช. ไม่ได้พิจารณาคัดเลือกพัสดุหรืองานจ้างของผู้เสนอราคาที่ตรวจสอบแล้วมีคุณภาพและคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในขั้นตอนการยื่นซองเสนอราคา แต่พิจารณาคัดเลือกตามเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ปรากฏในประกาศการจัดหาพัสดุโดยวิธีเปรียบเทียบราคา ซึ่งขั้นตอนการต่อรองราคาที่ สปสช. กําหนดขึ้นเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาคัดเลือกคู่สัญญาดําเนินการจัดหาพัสดุนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในข้อบังคับสปสช.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2546 และประกาศสปสช.เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุ ลงวันที่ 23 มกราคม 2547 แต่อย่างใด ทําให้บางกรณีผู้ยื่นซองเสนอราคาต่ำสุดไม่ได้รับเลือก ตลอดจนไม่สามารถยืนยันได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการพิจารณาผลในกระบวนการต่อรองราคานั้นมีความโปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร

ใช้กองทุนเงินสวัสดิการไม่เหมาะสม

สตง.ระบุว่าในปีงบประมาณ 2551 -2552 สปสช.มีการนําเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นเงิน 165,564,740 บาท เงินจํานวนดังกล่าว สปสช. ได้รับเป็นเงินบริจาคเข้ากองทุนสวัสดิการตามระเบียบ สปสช. ว่าด้วยการจัดสวัสดิการของสํานักงาน พ.ศ. 2550 และ สปสช. ได้เบิกจ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการไปจัดสวัสดิการในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดทําโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศ การจ่ายเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ทําคุณประโยชน์แก่ สปสช. และการจ่ายเพื่อประโยชน์แก่การสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 มีการเบิกจ่ายเป็นเงิน 90,435,151.82 บาท ทําให้กองทุนสวัสดิการเหลือเงิน 75,129,588.18 บาท การใช้จ่ายเงินดังกล่าวเพื่อสวัสดิการ ไม่เหมาะสมเนื่องจากงบประมาณในการจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทางสตง.ได้เสนอแนะว่าให้สปสช.กําหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรมให้เป็นการนําไปใช้เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยบริการโดยตรง(โรงพยาบาล สังกัดประทรวงสาธารณสุข)

เลขาสปสช.ใช้เงินผิดประเภท ไม่จ่ายเงินรพ.

จากการตรวจสอบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 พบว่าเลขาธิการได้อนุมัติให้นําเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสําหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจํานวน 95,325,000 บาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ(โรงพยาบาล)เพื่อการดําเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ซึ่งการนําเงินกองทุนไปใช้จ่ายไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีผลกระทบทําให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดําเนินงานตามที่ควรจะเป็น

รวมทั้งการตรวจสอบการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสําหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด (P&P Expressed demand services) พบว่า สปสช. จัดสรรงบดังกล่าวแก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ซึ่งคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกําหนดให้เป็นการจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวให้แก่หน่วยบริการ ทําให้หน่วยบริการได้รับงบประมาณน้อยกว่าที่ควรได้รับ (อ่านเพิ่มเติมรายงานการตรวจสอบประเมินผลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ รายชื่อคณะกรรมการ สปสช.ในปี 2552-2554

ป้ายคำ :