ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะงบ สปสช. ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวประชาชนผิดประเภท แจกทำวิจัยและไม่ใช่หน่วยบริการตามกม.

เจาะงบ สปสช. ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวประชาชนผิดประเภท แจกทำวิจัยและไม่ใช่หน่วยบริการตามกม.

15 มกราคม 2015


ปมความขัดแย้งระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับหน่วยให้บริการ อาทิ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ฯลฯ ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ล่าสุดทางหน่วยบริการประกาศมาตรการหยุดการส่งข้อมูลแลกเงินให้ สปสช. เฉพาะข้อมูลเหมาจ่ายรายหัวเท่านั้น (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ความเหลื่อมล้ำของระบบ

ปัจจุบันระบบสุขภาพของประเทศไทยครอบคลุมการดูแลสุขภาพของคนไทยซึ่งมีประมาณ 66 ล้านคน โดยมี 3 กองทุน ได้แก่ 1. ข้าราชการและครอบครัว มีประมาณ 5 ล้านคน ใช้เงินจากงบประมาณ 2. กองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงาน ประมาณ 11.1 ล้านคน เป็นเงินจากภาครัฐส่วนหนึ่งและประชาชน (ผู้มีงานทำ) จ่ายสมทบเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง และ 3. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี สปสช. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ซื้อบริการหรือตัวแทนประชาชนในการซื้อบริการสุขภาพ ซึ่งมีประชาชนประมาณ 48 ล้านคน โดยใช้เงินงบประมาณมาซื้อบริการจากโรงพยาบาลรัฐประมาณ 70-80% ที่เหลือเป็นโรงพยาบาลเอกชนและหน่วยบริการของกรุงเทพมหานคร โดยได้เงินค่าบริหารจัดการ 1% จากเงินงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี กล่าวคือ เอาเงินจากรัฐมาซื้อบริการของรัฐ

สำหรับบริการประชาชนในส่วน 48 ล้านคนนี้ จากเดิมบทบาทของโรงพยาบาลรัฐให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนหรือผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่เรียกในชื่ออื่นตามแต่นโยบายของแต่ละยุค อาทิ ผู้ป่วยอนาถา หรือในยุคก่อนที่ยังไม่มีกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนสามารถใช้บริการ“โครงการประกันสุขภาพโดยสมัครใจ”โดยซื้อบัตรประกันสุขภาพ 500 บาทและรัฐสมทบให้อีก 500 บาท รักษาทุกโรคได้เช่นกัน นั่นเป็นระบบการร่วมจ่ายของประชาชน

แต่มาในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ปรับระบบสุขภาพของไทย ประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โอนเงินงบประมาณในการดูแลรักษาประชาชนมาให้ สปสช. เป็นโบรกเกอร์หรือตัวแทนประชาชนมาซื้อบริการจากหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่แทน (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

งปม.กองทุนหลักประกันสุ

ทั้งนี้ ปมขัดแย้งที่ปะทุรุนแรงจนถึงขั้นประกาศงดส่งข้อมูลแลกเงิน เนื่องจากทางหน่วยผู้ให้บริการได้ประเมินและสรุปปัญหารวมทั้งข้อเสนอแนะมาอย่างต่อเนื่อง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการบริหารจัดการการเงินการคลัง ส่งผลให้โรงพยาบาลขาดทุนและขาดทุนเรื้อรังต่อเนื่อง จนวันนี้ สปสช. ในฐานะโบรกเกอร์ผู้ซื้อบริการแทนประชาชนบริหารงานมาครบ 12 ปี จึงถูกหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประกาศ “มาตรการงดส่งข้อมูลแลกเงิน” ให้ สปสช. ในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัว จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขการบริหารจัดการการเงินการคลัง ทั้งนี้เพราะหวั่นว่าหากปล่อยให้ดำเนินการเช่นนี้ต่อไป ระบบสุขภาพของไทยจะมีอันต้องล้มครืน ไม่สามารถที่จะให้บริการแก่ประชาชนคนไทย 48 ล้านคนได้ และเรียกร้องให้ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. หาหน่วยงานกลางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงของเงินเหมาจ่ายรายหัวในแต่ละปีที่ผ่านมาว่านำไปใช้ทำอะไรบ้าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาหารือเพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการระบบสุขภาพของไทย

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในแต่ละปี ตัวเลขที่สปสช.ทำเสนอสำนักงบประมาณ กับตัวเลขที่จ่ายจริงให้กับหน่วยบริการไม่ตรงกับที่เสนอสำนักงบประมาณ โดยมีการโยกงบในส่วนอื่น อาทิ จากบริการผู้ป่วยนอก-ใน มาเพิ่มให้กับหมวดที่ 3 และ 4 ที่สปสช.บริหารจัดการเอง อาทิ การจัดซื้อยา เช่น น้ำยาล้างไตทางช่องท้อง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ผลจากการจัดสรรเงินที่มีความซับซ้อนให้กับหน่วยบริการ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนวิกฤติเรื้อรัง 105 แห่ง และโรคพยาบาลทั่วไปขาดทุนประมาณ 400 แห่ง

จากตารางข้างล่างเห็นได้ว่าการให้บริการของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ให้บริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ(UC) ขาดทุน ส่วนการให้บริการทั่วไป (Non UC)มีกำไร ดังนั้นถ้าโรงพยาบาลรัฐใดอยู่ในพื้นที่ที่ให้บริการหลักประกันสุขภาพอย่างเดียวก็ขาดทุนเรื้อรังต่อเนื่อง แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่มีโรงงาน เขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีผู้ใช้สิทธิประกันสังคม หรือมีข้าราชการจำนวนมาก (Non UC) โรงพยาบาลก็สามารถเอารายได้ส่วนนี้มาชดเชยUC แต่บางแห่งก็ไม่เพียงพอ

โรงพยาบาลขาดทุน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สปสช. เคยถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและสรุปรายงานผลปีงบประมาณ 2554 โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด (รายละเอียดสรุปรายงาน สตง.) และ(คำชี้แจงนพ.วินัย สวัสดิวร สปสช.)

และล่าสุด ได้มีการร้องเรียนการบริหารจัดการของ สปสช. ไปยังคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ศาลปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการทุจริตประพฤติไม่ชอบของผู้บริหารและคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยแหล่งข่าวจากวงการสาธารณสุขเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของการบริหารงานที่มีความผิดปกติ กรณีการโอนเงินให้หน่วยบริการต่างๆ ทั้งหมดในวันที่ 27 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นพฤหัสบดี ก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณในวันทำการสุดท้ายคือวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 โดยแจ้งว่าเป็นเงินโอนล่วงหน้า แต่หลังจากนั้นได้ทยอยเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนทั้งหมด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,168.66 ล้านบาท (ดูตัวอย่างจำนวนเงิน วันที่โอนและเรียกคืน) ทั้งนี้เป็นเพราะ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติระบุว่าเงินเหมาจ่ายรายหัวต้องใช้หมดปีต่อปี จึงใช้วิธีดังกล่าวเพื่อแสดงทางบัญชีว่ามีการใช้เงินหมดตามปีงบประมาณ แต่เรียกคืนในปีงบประมาณถัดไป

นอกจากนี้ สปสช. มีการจัดสรรเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถทำได้ แม้จะมีมติคณะกรรมการให้ทำได้ แต่มติคณะกรรมการขัดกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้หน่วยงานบริการที่แท้จริงได้รับงบประมาณน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเกือบพันล้านบาทต่อปี โดยในปี 2556 ได้โอนให้หน่วยงานอื่น 119 หน่วย เป็นเงิน 967.67 ล้านบาท จากงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และปี 2557 อีกจำนวน 147 หน่วย เป็นเงิน 1,249 .93 ล้านบาท โดยหน่วยงานเหล่านี้มีทั้งชมรม มูลนิธิ สมาคม วัด บุคคลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่หน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ สปสช. ได้มีการจัดสรรเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพให้หน่วยอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ในการศึกษาวิจัย โดยนำเงินจากงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในปี 2554-2556 จัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งผิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้หน่วยบริการที่แท้จริงได้รับงบประมาณน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเกือบ 1,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 105 แห่ง มีปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรงและเรื้องรัง ซึ่งสามารถใช้เงินจำนวนนี้แก้ปัญหาโรงพยาบาลได้ การจัดสรรเงินดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว อาทิ หน่วยงานใน กลุ่มตระกูล ส. เช่น

1. สัญญาระหว่าง สปสช. โดยนายประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ ปฏิบัติงานแทนเลขาธิการ สปสช. ให้การสนับสนุนเงิน 6 ล้านบาท แก่ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขามูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) วันที่ 27 มิถุนายน 2556 ในชื่อโครงการ “บูรณาการการทำงานป้องกันและส่งเสริมสุขภาพระดับเขต: กลไกพัฒนาระบบสนับสนุนวิชาการและข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ”(ดูเอกสารประกอบ)

2. สัญญาระหว่าง สปสช. โดยนายประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ ปฏิบัติงานแทนเลขาธิการสำนักงาน สปสช. กับมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) โดยนายยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขามูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 จำนวนเงินทั้งสิ้น 7.27 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่/ทำงานภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ดูเอกสารประกอบ)

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอดีตเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)

แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า สปสช. ยังได้จัดสรรเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปยังสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จากนั้นเงินดังกล่าวกลับไปยังผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการ สปสช. โดยในปี 2550 โดยผู้บริหารรายหนึ่งรับเงินทุนวิจัยจำนวน 169.40 ล้านบาท ในฐานะผู้จัดการแผนงานร่วมสร้างเสริมสุขภาพกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2549-2551

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)ได้ทำหนังสือถึง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข ให้รายงานความคืบหน้าตามหนังสือที่ได้สั่งการไปตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557โดยพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานกรรมการ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากพบว่ามีการนำเงินงบประมาณตามแผนงาน/โครงการที่ไม่สามารถใช้หมดในปีงบประมาณ (งบประมาณเหลือจ่าย) ไปใช้ในแผนงานหรือโครงการใหม่หรือโอนเปลี่ยนแปลงโดยมิชอบ นำเงินไปใช้ในกิจกรรมอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

“คำสั่งของ คตร. ส่งไปถึง นพ.รัชตะตั้งแต่เดือน 31 ตุลาคม 2557 และต้องดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวให้เสร็จภายใน 30 วัน จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ จนต้องให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมารายงานความคืบหน้าเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา”

หนังสือที่ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ดำเนินการคือให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องปรับปรุงมาตรฐานการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่น ที่ได้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณปี 2555 และปี 2556 และเร่งรัดเรื่องความรับผิดทางละเมิดและผู้รับผิดชอบต่อความเสียหาย รวมทั้งการปรับปรุงการบริหารจัดการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา(4) มาตรา 19 (3) และ 26 (4) ในเรื่องโครงสร้างการบริหารระเบียบวิธีการงบประมาณ การสร้างกลไกในการควบคุม รวมทั้งทบทวนบทบัญญัติตามมาตรา 46 (2) ในเรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อการสาธารณสุขจากกองทุนให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคคล

ดูเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545